xs
xsm
sm
md
lg

จะกี่ร้อนกี่หนาว 'กี่เพ้า'ก็ยังเร้าใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชีวิตคนเมืองจีน / ใครจะคิดว่าชุดประจำชาติของสาวจีนหรือ‘กี่เพ้า’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นเมื่อเกือบ 400 ปีที่แล้ว จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ด้วยเอกลักษณ์ของกี่เพ้าที่เรียบแต่สง่า หวานแต่ไม่เลี่ยน ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของชาวจีนที่รู้จักดัดแปลงให้กี่เพ้าเข้ากับยุคสมัยและความนิยม ทำให้กี่เพ้าไม่เคย‘ล้าสมัย’ และยังครองใจสาวๆได้จนถึงทุกวันนี้

กี่เพ้าหรือฉีเผา(旗袍) ตามสำเนียงจีนกลางนี้ มีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) ซึ่งปกครองแบบ 8 แว่นแคว้น(ปาฉี八旗)โดยชนเผ่าแมนจู ผู้นิยมเสื้อผ้าชุดยาวตลอดลำตัวที่เรียกว่า‘เผา(袍)’ จึงเป็นที่มาของ ‘ฉีเผา’นั่นเอง โดยได้รับความนิยมสูงสุดในรัชสมัยคังซีและหยงเจิ้ง (ค.ศ.1662-1736) ยุครุ่งเรืองแห่งราชวงศ์ชิง

หลังปีค.ศ.1840 วัฒนธรรมตะวันตกได้ค่อยๆ จู่โจมเข้าสู่แดนมังกรพร้อมกับยุคล่าอาณานิคม เมืองชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะเมืองสำคัญอย่างเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีชาวตะวันตกเข้าอยู่อาศัยปะปนกับชาวจีน จึงได้รับอิทธิพลตะวันตกก่อนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่แฟชั่นการแต่งกายแบบฝรั่งที่ค่อยๆ แทรกซึม และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

รูปแบบของชุดกี่เพ้าที่เราเห็นกันในปัจจุบัน จึงมีวิวัฒนาการจากชุดสตรีชาวแมนจู ที่ถูกสตรีชาวฮั่นนำไปประยุกต์ดัดแปลง ผสมผสานการดูดซับเอาวัฒนธรรมเครื่องแต่งกายที่เน้นส่วนโค้งเว้าเข้ารูปแบบตะวันตก โดยจะมีลักษณะของแขน ปก ชาย การผ่าข้าง และความสั้นยาวเปลี่ยนไปตามความนิยมในแต่ละยุคสมัย

(ภาพจากซ้าย-ขวา)
# ชุดกี่เพ้าต้นแบบเดิมในสมัยราชวงศ์ชิงนั้น จะค่อนข้างหลวม ยาวถึงเท้า มักมีปักเลื่อม และกุ้นขอบตลอดชุด
# พอถึงปลายราชวงศ์ชิง เข้าสู่ยุคสาธารณรัฐ(ตั้งแต่ปีค.ศ.1911) ชุดกี่เพ้าจะผสมแบบชาวฮั่น ที่แยกกระโปรงกับเสื้อเป็นสองชิ้น ช่วงแขนจะสั้นลงและกว้างขึ้น
# ก่อนสงครามปราบขุนศึกภาคเหนือ(ค.ศ.1926-1927) ชุดกี่เพ้ากลับมายาวอีกครั้ง แต่เป็นแบบแขนกุด ที่ต้องใส่เสื้อแขนทรงระฆังไว้ข้างในอีกที
# ค.ศ.1926 เสื้อแขนทรงระฆังสั้นถูกเย็บติดกับกี่เพ้าชุดยาวเป็นชิ้นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นแบบฉบับของชุดกี่เพ้าในปัจจุบัน

(ภาพจากซ้าย-ขวา)
# อารยธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้าสู่จีน ทำให้แฟชั่นทันสมัยในปีค.ศ.1927 ถูกผู้คนขนานนามว่าเป็น ‘ชุดแห่งอารยธรรมใหม่(เหวินหมิงซินจวง)’ คือเสื้อท่อนบนเข้ารูปกับกระโปรงบานยาวถึงข้อเท้า
# หลังปีค.ศ.1927 ความยาวของกระโปรงเริ่มสั้นลง ส่วนปลายแขนเสื้อก็นิยมอัดกลีบบานคล้ายผีเสื้อ
# ค.ศ.1930 ด้วยอิทธิพลกระโปรงสั้นแบบยุโรป ส่งผลให้กี่เพ้าสั้นขึ้นอยู่เหนือหัวเข่า 1 นิ้ว และช่วงแขนหดสั้น จนชุดมีลักษณะกระชับเข้ารูปมากขึ้น ซึ่งช่วงนั้น เรียกกี่เพ้าแบบใหม่นี้ว่า ‘ชุดนักเรียน(เสี่ยว์เซิงฝู)’ เนื่องจากเริ่มใช้อย่างแพร่หลายในหมู่นักเรียนก่อน
# หมวยจีนนิยมใส่กี่เพ้าสั้นได้เพียงปีเดียว ค.ศ.1931 ชุดกี่เพ้ากลับมายาวอีกครั้ง แต่เพิ่มความเร้าใจด้วยการผ่าข้างที่ไม่สูงนัก ส่วนแขนก็ยาวขึ้นถึงข้อศอก กระดุมคอเพิ่มเป็น 2 เม็ด และนิยมกุ้นขอบชุดด้วย

(ภาพจากซ้าย-ขวา)
# นับวันการแต่งกายที่เน้นสรีระแบบตะวันตกก็เข้ามามีอิทธิพลต่อเสื้อผ้าชาวจีนมากขึ้น ค.ศ.1933-1934 แฟชั่นผ่าข้างชุดกี่เพ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ถึงระดับน่อง และรัดรูปเข้าเอวมากขึ้น
# ในปีถัดมา ค.ศ.1935 สาวจีนนิยมกี่เพ้าที่ยาวคลุมเท้ามิดชิด ซึ่งถูกเรียกว่า ‘กี่เพ้ารุ่นกวาดพื้น(เส่าตี้ฉีเผา)’ แต่กลับผ่าข้างต่ำลงมาอยู่ใต้หัวเข่า
# วิวัฒนาการของชุดกี่เพ้าฉีกแนวโบราณอีกครั้งในปีค.ศ.1937 จากเดิมที่เป็นแบบกระดุมเปิดอกข้างขาวอย่างเดียว ก็เริ่มมีแบบกระดุมเปิดอกทั้งซ้ายขวา และส่วนแขนสั้นขึ้น คือจะยาวจากช่วงไหล่ลงมาเพียง 2 นิ้ว
# ค.ศ.1938 ชุดกี่เพ้าในเซี่ยงไฮ้เริ่มนิยมคอปกที่สูงขึ้น ชายกระโปรงยาวคลุมถึงพื้น เน้นรัดรูป และแขนกุด ซึ่งช่วยเพิ่มความเซ็กซี่ให้กับชุดกี่เพ้า

# (ซ้าย) ช่วงสงครามต่อต้านญี่ปุ่น ความยาวของกี่เพ้าขยับสูงขึ้นอีกครั้งเพื่อความทะมัดทะแมง มีผ่าข้างเล็กน้อย คอปกสูงติดกระดุม 3 เม็ด และแขนสั้น

# (ขวา) ยุคทศวรรษ 40 ที่ผ่านมา กี่เพ้ามักจะมีขอบลวดลายสวยงามทั้งส่วนคอ แขน และชายกระโปรง

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 จนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรม(ค.ศ.1966-1976) ชุดกี่เพ้าถูกตีตราว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่านิยมคร่ำครึทั้ง 4 (แนวคิด วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตแบบเก่า) ที่สมควรถูกขจัดให้สิ้นแผ่นดินจีน

เมื่อผ่านพ้นยุคแห่งความขัดแย้งภายใน เข้าสู่ยุคเปิดประเทศ สังคมจีนเริ่มเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ เสื้อผ้าที่เคยถูกบังคับให้ใช้ได้ไม่เกิน 3 สี คือ ดำ เทา และน้ำเงิน ก็ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรเสรีทางสีสัน บรรดาสาวจีนจึงเริ่มสลัดชุดฟอร์มสมัยปฏิวัติ แล้วหยิบกี่เพ้าที่ถูกแช่เย็นไว้ราว 30 ปี มาปัดฝุ่นและแปลงโฉม แต่เนื่องจากปิดประเทศไปนาน ทำให้ชุดกี่เพ้าในช่วงทศวรรษที่ 80 ดูค่อนข้างจะเชยไปนิด

(ขวา) # ชุดกี่เพ้ายุคหลังปฏิวัติวัฒนธรรมมักจะตัดเย็บออกมาคล้ายรูปขวด โดยส่วนเอวจะคล้ายคอขวด สะโพกค่อนข้างหลวม แขนกุด ถือเป็นดีไซน์ ‘โบราณ’ ผสม ‘โมเดิร์น’ และมักใช้ผ้าที่มีลวดลายมาตัดเย็บ

กระทั่งปลายปีค.ศ.2000 ‘ฮวายั่งเหนียนหัว花样年华’(In the mood for love) ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมของผู้กำกับหว่องการ์ไว(หวังเจียเว่ย) ออกฉายทั่วประเทศ ปลุกกระแสแฟชั่นชุดกี่เพ้าให้ตื่นขึ้นในแดนมังกรอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้ได้ออกแบบให้นางเอก จางมั่นอี้ว์ สวมชุดกี่เพ้าสุดคลาสสิกให้ผู้ชมได้ยลโฉมอย่างจุใจถึง 23 ชุด

ช่วง 10 กว่าปีมานี้ ชุดกี่เพ้าถูกออกแบบให้ทันสมัย มีรูปลักษณ์ใหม่ๆ ให้เห็นตามเวทีแคทวอล์กอยู่เสมอ ตลอดจนจัดเป็นเครื่องแต่งกายพิธีการของชาติจีนที่ปรากฏในเวทีระดับโลก

ศาสตร์แห่งศิลป์ของชุดกี่เพ้ายังมีความต่างกันระหว่างสไตล์นครเซี่ยงไฮ้กับกรุงปักกิ่ง โดยกี่เพ้าของเซี่ยงไฮ้จะได้รับอิทธิพลเสื้อผ้าแบบตะวันตกมากกว่า มีรูปแบบที่หลากหลาย ดูทันสมัยและคล่องแคล่ว ส่วนสไตล์ปักกิ่งนั้น จะดูเป็นทางการ และสุภาพเรียบร้อย

ทุกวันนี้ชาวจีนส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า ช่างตัดเย็บชุดกี่เพ้าฝีมือเยี่ยมนั้นอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ขณะที่มีหลายเสียงลงความเห็นว่า หุ่นเนื้อนมไข่แบบสาวฝรั่ง ใส่ชุดกี่เพ้ายังไงก็ไม่มีเสน่ห์เท่าสาวจีนและสาวเอเชีย!
เรียบเรียงจาก Shanghai Online และ เฉียนหลงเน็ต

*****************************************************************
หุ่นแบบไหน ใส่กี่เพ้าสวย

1. ไหลควรลู่ลงเล็กน้อย ถ้าไหลตั้งหลังกว้างใส่กี่เพ้าแล้ว จะดูบึกบันเกินไป ไม่อ่อนโยนน่าทะนุถนอม
2. คนเอวเล็ก ใส่กี่เพ้าสวยกว่าคนเอวหนา
3. บันท้ายควรมีเนื้อแน่นเต็มก้น
4. ช่วงคอสูง ใส่ชุดกี่เพ้าที่มีคอปกสูงแล้ว จะยิ่งดูรูปร่างสะโอดสะองสวยมากขึ้น
5. หน้าอกต้องไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป
6. สูงประมาณ 160-170 ซม. จะเหมาะที่สุด เพราะถ้าสูงหรือเตี้ยเกินไป จะทำให้เสน่ห์ของชุดกี่เพ้าลดลง


*****************************************************************


จุใจกับภาพชุดดาราสาวจีนคนโปรดในชุดกี่เพ้า ที่ 'โฟโต้ แกลลอรี่ : มุมจีน'
กำลังโหลดความคิดเห็น