xs
xsm
sm
md
lg

สู่ ซานซี:เหิงซาน ที่ 2,017 เมตร

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล


ในสายตาของผม แม้ในตัวเมืองต้าถง จะค่อนข้างไร้ระเบียบ นอกจากวัดวาอารามเก่าแก่ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ไม่มีอะไรดึงดูดการมาเยือนได้มากนัก แต่เมื่อได้กระเถิบตัวออกจากเมืองแล้วผมกลับพบว่าที่ผมเห็นในวันแรกนั้นยังเป็นเพียงเศษเสี้ยวอันน้อยนิดนัก สเน่ห์ของ "ต้าถง" นั้นยังมีให้ค้นหาอีกมากมาย

เช้าวันถัดมา ผมเลือกที่จะท่องพื้นที่รอบต้าถงแบบ ไปเรื่อยๆ เพราะทราบดีว่า การไปกับบริษัททัวร์แม้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแต่ ความประหยัดเช่นนี้ก็มักจะสวนทางกับคุณภาพและอิสระในการเดินทางของเราเสมอ

เช้าตรู่ของวันใหม่ ผมเลือกที่จะเช่ารถแท็กซี่ในเมือง เพื่อเดินทางไปยัง "เหิงซาน"

เหิงซาน (恒山) ในมณฑลซานซี หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ภูเหนือ (北岳) ถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 5 ยอดภูแห่งแผ่นดินจีน ร่วมกับ, เหิงซาน (衡山) หรือ ภูใต้ (南岳) ในมณฑล หูหนาน สังเกตว่าออกเสียงเหมือนกับภูเหนือแต่ ตัวเขียนแตกต่างกัน, ไท่ซาน (泰山) หรือ ภูตะวันออก (东岳) ในมณฑลซานตง, หัวซาน (华山) หรือ ภูตะวันตก (西岳) ในมณฑลส่านซี และ ซงซาน (嵩山) หรือ ภูกลาง (东岳) แห่งมณฑลเหอหนาน โดยคนจีนเรียก 5 ยอดภูแห่งแผ่นดินจีนนี้ รวมๆ กันว่า "อู่เยว่ (五岳)"

มีสำนวนจีนกล่าวเอาไว้ว่า

"ไปชม 5 ภู กลับมาไม่มองภูเขา - 五岳归来不看山" อันเป็นการบ่งบอกว่า ภูทั้ง 5 นั้นมีความสวยงามติดอยู่ในระดับหัวแถวของแผ่นดิน

จริงๆ แล้วเมืองจีนมีภูเขาอยู่ในทุกมณฑล ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่มีความสวยงาม ผิดแผกกันไป แต่ทำไมคนจีนจึงยกเอา ภูเขา 5 แห่งนี้ นี้เป็นยอดภูแห่งแผ่นดินจีน?

การจะตอบคำถามนี้นั้นมีความจำเป็นที่จะต้องย้อนไปค้นหาเรื่องราวในประวัติศาสตร์ ...

ในยุคชุนชิว แล้วคำว่า "เยว่ (岳)" ในยุคชุนชิว นั้นมีความหมายบ่งบอกถึง ตำแหน่งขุนนางผู้ดูแลภูเขาใหญ่ๆใน 4 ทิศรอบดินแดนจงหยวน (中原) ทั้งนี้ในเวลาต่อมาคำว่า "เยว่" นอกจากจะมีความหมายถึงขุนนางผู้ดูแลภูเขาใหญ่แล้วก็ถูกนำมาเรียกขาน ขุนเขาทั้ง 4 แห่งซึ่งขุนนางทั้ง 4 ดูแลอยู่ด้วย ในตอนนั้นคำว่า 4 ยอดภู (四岳) จึงปรากฎขึ้นสู่บรรณพิภพ

ในยุคถัดจากชุนชิว คือ ยุคสงครามระหว่างรัฐ (战国; ก่อนคริสกาลราว 475-221 ปี) เมื่อความเชื่อที่ว่า สรรพสิ่งในโลกประกอบขึ้นด้วยธาตุ 5 ประการคือ เหล็ก ไม้ น้ำ ไฟ และ ดิน จากสองเจ้าทฤษฎี "ยินหยาง (阴阳)" คือ โจวแหย่น (邹衍) และ โจวซื่อ (邹奭) เป็นที่เชื่อถือกันโดยทั่วไป ก็เริ่มมี 'เยว่ที่ห้า' ปรากฎขึ้น จนต่อมา "5 ยอดภู" ก็มาแทนที่ "4 ยอดภู" ในที่สุด*

ทั้งนี้การที่มีการยกย่องว่า 5 ภูเขา ดังกล่าวเป็น ยอดในแผ่นดินนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะพิจารณากันที่ "ความสูง" แต่อย่างใด แต่เขาพิจารณากันตรงที่ รูปลักษณ์และความสวย สง่างาม ตามคตินิยมของคนจีนตั้งแต่โบราณกาล โดยตั้งแต่สมัยของ จิ๋นซีฮ่องเต้ (หรือ ฉินสื่อหวงตี้) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฉิน และ ฮั่นอู่ตี้ (汉武帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น ก็ปรากฎประเพณีขององค์ฮ่องเต้เมื่อออกตรวจราชการตามพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของ 5 ยอดภู มักจะต้องแวะไปทำการ เซ่นสรวงบูชาเทวดาฟ้าดิน ที่ภูเหล่านี้ อันเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นว่า ฮ่องเต้เป็นโอรสสวรรค์ได้รับอาณัติจากสวรรค์จริง**

อย่างไรก็ตามในบรรดา 5 ยอดภูนี้ ก็มีจัด ที่สุดของที่สุดอีก โดย ภูตะวันออก หรือ ไท่ซาน แห่งมณฑล ซานตงถูกจัดให้อยู่หัวแถวที่สุด ... ไว้ผมมีโอกาสไปพิสูจน์ความเป็นที่สุดแล้วจะกลับมาเล่าให้ฟัง

ผมนั่งกินลมชมวิว อยู่บนเบาะหลังได้ไม่ถึงสองชั่วโมงดี แท็กซี่ ก็เลาะเลี้ยวมาถึง ตีนเขาเหิงซาน

หลังจากควักกระเป๋าจ่ายค่าบัตรเข้าเขตภูเขาไปจนตัวเบา พี่โชเฟอร์ก็เหยียบคันเร่งพาผมชมวิวต้นสนจีนโบราณที่อยู่รายทาง โดยบางต้นมีอายุย้อนรอยกลับไปได้ถึงสมัยถัง (ค.ศ.618-907) ซึ่งก็แน่นอนว่า ไม้ใหญ่ต้นใดที่มีอายุหลายร้อย หลายพันปี รัฐบาลจีนก็ย่อมเห็นคุณค่า โดยทำการอนุรักษ์ และแปะป้ายบ่งบอกถึงรายละเอียดของต้นไม้แต่ละต้นไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้มาเยือนเหิงซาน ระมัดระวังกันเป็นพิเศษ

ลานจอดรถใหญ่ข้างหน้า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า 4 ล้อของ โฟล์กซานตานา สามารถพาผมขึ้นมาได้ที่ความสูงเพียงเท่านี้ ส่วนระดับต่อๆ ไปนั้นต้องอาศัยกระเช้า อาศัยกำลัง และอาศัยความมุ่งมั่นส่วนบุคคล

ค่ากระเช้าเหิงซาน ย้ำรอยแผลไปบนกระเป๋าตังค์ผมอีกหนึ่งครั้ง โดยมีผลตอบแทนเป็นทิวทัศน์เหนือทิวเขา น้ำสีเขียวมรกตของอ่างเก็บน้ำเหิงซานที่อยู่ไกลๆ และ อารามใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผาด้านบน .... น่าเสียดายที่ถ้าหากผมมีเวลาเพิ่มขึ้น ผมคงไม่ง้อกระเช้า และค่อยๆ เดินละเลียด เก็บบรรยากาศริมทางมาฝากท่านผู้อ่านได้มากกว่านี้

การขูดรีดของ 'เหิงซาน' ยังไม่จบ เพราะ กระเช้าไม่ได้พานักท่องเที่ยวขึ้นไปถึงยอดเขา แต่พาไปหยุด ณ จุดที่ห่างจากยอดเขาเหิงซาน อันต้องใช้เวลาเดินกันอีกราวหนึ่งชั่วโมง และก็แน่นอนว่า นักท่องเที่ยวเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้วก็จำเป็นจะต้องควักกระเป๋า เป็นคำรบที่สาม

ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นอิทธิพลจากค่าธรรมเนียมขึ้นเขา หรือ ทิวทัศน์อันงดงามของเหิงซาน ที่ทำให้ผมต้องตกอยู่ในภวังค์ วางสัมภาระลง และหยุดนั่งซึมซับกับทิวทัศน์ของเหิงซานอยู่พักใหญ่ โดยเมื่อหลุดจากภวังค์ ผมก็เริ่มควักกล้องออกมาเก็บภาพ มาฝากท่านผู้อ่าน

ริมผาของเหิงซาน เต็มไปด้วยปูชนียสถานของลัทธิเต๋า ที่ล้วนแล้วแต่งดงาม มีเอกลักษณ์ มีเรื่องราว และมีประวัติศาสตร์อันยาวนานด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะให้อธิบายกันอย่างละเอียดคงต้องใช้เนื้อที่กันสัก สองสามตอน เอาเป็นว่าผมขออนุญาตหยิบและคัดเลือก เอาเรื่องราวบางส่วนที่น่าสนใจมาเล่าให้ดีกว่า

บริเวณรอบๆ เหิงซาน มีวัดพุทธ อารามเต๋า รวมถึงศาลาใหญ่น้อย อยู่มากถึง 60 แห่ง (ส่วนใหญ่เป็นอารามเต๋า) ทั้งนี้ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุด และใหญ่ที่สุด ซึ่งหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ ตำหนักเหิงจง (恒宗殿)

อย่างไรก็ตาม สถานที่อันเป็นไฮไลต์ของ เหิงซาน กลับไม่ใช่ สิ่งก่อสร้างอันอยู่รอบบริเวณยอดเขา แต่เป็น วัดที่อยู่ห่างจากตีนเขาที่ชื่อ เสวียนคงซื่อ (悬空寺) หรือน่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า "วัดแขวน (Hanging Monastery หรือ Suspended Temple)"

สาเหตุที่วัดนี้ถูกขนานนามว่า "วัดแขวน" ก็เนื่องจากวัดไม้แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างอัศจรรย์บนหน้าผาของเทือกเขา โดยผู้ออกแบบได้ตอกโครงของอาคารเข้าไปในหิน และเชื่อมกลุ่มอาคารของวัดเข้าไว้ด้วยทางเดิน และแม้ว่าวัดนี้จะเล็กแต่ ด้วยความที่วัดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นไว้เมื่อ 1,500 กว่าปีก่อนในสมัยเว่ยเหนือ (北魏) วัดแขวนจึงเป็นสถานที่สำคัญที่เมื่อผู้ใดไปเห็นแล้วอดจะออกอาการตื่นตะลึงมิได้

ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญที่สุดของ วัดแขวน ก็คือ อารามที่ชื่อว่า ตำหนักสามศาสนา (三教殿 หรือ Three Religions Hall) ที่บรรจุเอาสัญลักษณ์ของ พุทธ เต๋า และขงจื๊อ ไว้ด้วยกัน

นอกจากเรื่องราวของวัดวาอารามของเหิงซาน แล้ว ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ขุนศึกตระกูลหยาง เคยมาตั้งกองบัญชาการที่เหิงซาน เพื่อคอยป้องกันการโจมตีของพวกซงหนู (匈奴) และ ในศตวรรษที่ 20 ยุคสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น กองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เคยมาซุ่มโจมตีกองทัพของญี่ปุ่นที่เหิงซานแห่งนี้เช่นกัน***

แน่นอนว่าไฮไลต์สุดท้ายของเหิงซาน ที่ผมพยายามดั้นด้นขึ้นไปถึงให้ได้ก็คือ ยอดเทียนเฟิง (天峰) จุดบนสุดของเหิงซานที่เหยียดตัวเหนือน้ำทะเลขึ้นไปท้องฟ้า 2,017 เมตร

ไม่อยากบอกว่าเมื่อยืนที่ ณ จุดบนสุดของยอดเขาแล้วทำให้ผมรู้ซึ้งถึง สำนวนโบราณที่ว่า "ยิ่งสูงยิ่งหนาว (แถมลมยังแรงอีกต่างหาก)" นั้นมันรสชาติเป็นอย่างนี้นี่เอง

Tips สำหรับการเดินทาง:
- ค่าเช่ารถแท็กซี่จากต้าถง ไปยังเหิงซาน, เสวียนคงซื่อ รวมถึงสถานที่รอบๆ ในเวลาหนึ่งวันราคาเหมารวมค่าน้ำมันและคนขับ จะอยู่ที่ประมาณ 200-300 หยวน ไม่รวมค่าตั๋วเข้าชม ส่วนหากไปกับบริษัททัวร์ค่าทัวร์จะรวมทั้งหมดอยู่ที่ราว 100 หยวน
- จากประสบการณ์ขึ้นเขาลงห้วย ที่มีอยู่พอตัว แม้ไม่มากนักแต่ ผมรู้สึกว่าการปีน เหิงซาน นั้นไม่นับว่าหฤโหดมากนัก และหากต้องการมาเที่ยวแบบคร่าวๆ ก็อาจแบ่งเวลาเที่ยวได้สักประมาณครึ่งวัน หรือ หากไม่ต้องการนั่งกระเช้า และต้องการเดินชมแบบเจาะ ก็ควรเผื่อเวลาไว้สักหนึ่งวัน แน่นอนว่า ควรซื้ออาหารกลางวัน ขนม และน้ำไปเผื่อ เพื่อความประหยัด
- ค่าธรรมเนียมแบ่งได้ดังนี้ คือ ค่าเข้าเขตเหิงซาน 20 หยวน, ค่ากระเช้าขึ้น-ลง 35 หยวน, ค่าเข้าชมวัดบนเขาเหิงซาน 35 หยวน, ค่าเข้าชมวัดเสวียนคงซื่อ 35 หยวน ทั้งนี้ยังมีค่าประกันชีวิตที่ต้องซื้อแถมมาด้วยทุกรายการในราคารายการละ 1-2 หยวน
- หากเป็นนักเรียน บัตรนักเรียนจีน (学生证; บัตรนักเรียนอินเตอร์ ของ STA หรือที่ทำเอาแถวถนนข้าวสารไม่มีประโยชน์ที่เมืองจีนนะครับ) จะมีประโยชน์มากเพราะสามารถลดค่าเข้าชมได้ครึ่งราคา ในหลายรายการอย่างเช่น ค่าเข้าเขตภูเขาจาก 20 หยวน ถ้าใช้บัตรนักเรียนก็จะลดเหลือ 10 หยวน (ยกเว้นค่ากระเช้า)

อ้างอิงจาก :
*หนังสือจงกั๋วเหวินฮั่วซื่ออี๋ (中国文化释疑) ปี ค.ศ. 1999 โดย สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง
**หนังสือจงกั๋วหลี่ว์โหยวตี้หลี่ (中国旅游地理) ปี ค.ศ. 2003 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแร่ธาตุจีน
***จากหนังสือที่สุดของเมืองจีน โดย สุขสันต์ วิเวกเมธากร : สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2543







กำลังโหลดความคิดเห็น