xs
xsm
sm
md
lg

มองจีน 3 ยุค ผ่านหนัง 3 เรื่องของ "หลีหมิง" (จบ)

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ผมไม่ได้เป็นแฟนภาพยนตร์ของ หลีหมิง หรือชื่นชอบการแสดงของหลีหมิงเป็นการส่วนตัวอย่างใด แต่ โปหลิจือเฉิง (玻璃之城) หรือ City of Glass (1998) ก็เป็น หนังเรื่องถัดมาที่ผมหยิบจากชั้นวาง นำกลับมาเปิด ย้อนทบทวนความทรงจำอยู่คนเดียวเงียบๆ

City of Glass เป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวจีน (ฮ่องกง) 4 คน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาสองยุค ยุคแรก เป็นยุคของรุ่นพ่อ-แม่ หลีหมิง แสดงคู่กับ ซูฉี (舒淇) ส่วน ยุคที่สอง เป็นยุคของรุ่นลูก คือ แดเนียล อู๋ และ นิโคลา ชุง (จางซางเยว่:张桑悦)

จะว่าไปเรื่อง City of Glass นั้นไม่ได้โยงใยไปถึงชีวิตคนจีนแผ่นดินใหญ่มากนัก แต่จะเน้นไปในส่วน ชีวิตของคนฮ่องกงในยุคเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อปี พ.ศ.2540 (ค.ศ.1997) ก็คือ เหตุการณ์เกาะฮ่องกง จากการปกครองของอังกฤษกลับคืนสู่อ้อมกอดของประเทศจีน และเป็นจุดเริ่มของการใช้ระบบหนึ่งประเทศสองระบบ (One Country Two Systems:一国两制 คือ จีนแผ่นดินใหญ่ใช้ระบบสังคมนิยมแบบผสมผสาน ส่วนเกาะฮ่องกงมีอำนาจในการปกครองตัวเองอย่างอิสระ และยังคงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเต็มใบ)

ผมขออนุญาตท่านผู้อ่าน เล่าถึงเรื่องราวของ City of Glass แบบรวบรัดตัดความ และ จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อย หรืออ้างถึงพัฒนาการความสัมพันธ์ของตัวละครมากนักแต่จะขอพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดออกมา เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านเสียเวลา

เรื่องเริ่มต้นใน คืนวันขึ้นปีใหม่ของปี ค.ศ.1997 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่พรากชีวิตของ หลีหมิงและซูฉี ในวัยกลางคนไป ทั้งเป็นคู่รักกันมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เรียนหนังสืออยู่ในระดับมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือ เหตุการณ์ประท้วงเกี่ยวกับเกาะเตี้ยวหยูไถ (钓鱼台) ทำให้ทั้งสองคนต้องพลัดพราก และไม่ได้เคียงคู่กันสมดังที่ตั้งใจ

ทั้งสองเมื่อต้องจากกันต่างฝ่ายต่างก็แยกกันไปมีครอบครัวของตนเอง จนกระทั่งปี ค.ศ.1992 ก่อนที่ฮ่องกงจะกลับคืนสู่อ้อมกอดของจีนแผ่นดินใหญ่ ทั้งสองก็กลับมาพบกันอย่างบังเอิญใน ชั้นเรียนฝึกพูดภาษาจีนกลาง จนเป็นเหตุให้ถ่านไฟ ความรักและความสัมพันธ์ที่ถูกเก็บงำไว้นับสิบปีลุกโชนขึ้นมาอีกครั้ง และในเวลาต่อมาก็เชื่อมโยงมาถึงการเสียชีวิตของคนทั้งสองในลอนดอน

เมื่อทั้งสองเสียชีวิต ลูกชายของหลีหมิง (แดเนียล อู๋) และ ลูกสาวของซูฉี (นิโคลา ชุง) ก็ต้องเป็นธุระมาจัดการรับศพของพ่อและแม่ไปจัดการ และกลับมาที่เกาะฮ่องกงเพื่อจัดการทรัพย์สินที่พ่อแม่ร่วมกันซื้อเอาไว้

คนฮ่องกงที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษมาเกือบศตวรรษเมื่อต้องถึงเวลาใกล้กลับเข้าสู่การปกครองของจีน ก็มีความตื่นตระหนกอย่างมากว่า วิถีชีวิต ธุรกิจ-การเงิน ความอิสระเสรีที่เคยเป็นอยู่จะพบกับความเปลี่ยนแปลงแบบไม่มีทางหวนคืน เศรษฐีชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยอพยพไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งก็เช่นเดียวกัน ในเรื่องหลีหมิงก็พาครอบครัวอพยพไปอยู่แคนาดา โดย แดเนียล อู๋ ที่ไปเติบโตในต่างประเทศและพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่าภาษาจีน เมื่อกลับมาฮ่องกง พูดอังกฤษคำจีนกวางตุ้งคำ ก็ถูก นิโคลา ชุง สาวคู่กัด เหน็บแนมเอาว่า

"เดี๋ยวนี้ที่ฮ่องกงเขาไม่นิยมพูดอังกฤษแล้ว ไปฝึกพูดภาษาจีนกลางไป๊!!!"

City of Glass จบลงด้วย พลุอันสวยงามของคืนรอยต่อวันที่ 30 มิถุนายน กับ 1 กรกฎาคม 2540 (หลังจากนั้นอีกวันรัฐบาลไทยก็ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) อันถือเป็นจุดเปลี่ยนและรอยต่อชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์จีน ....

City of Glass แม้จะไม่ดีเด่นเท่าเรื่องเถียนมี่มี่ แต่ก็สอดแทรกทั้งความโรแมนติก สาระทางสังคม และเพลงประกอบที่เพราะพริ้งไว้อย่างเต็มเปี่ยม

ตบท้ายกันด้วย "เรื่องเล็กในเมืองใหญ่" (ต้าเฉิงเสี่ยวเส้อ:大城小事 หรือ Leaving Me Loving You (2004)) คล้อยหลัง เถียนมี่มี่ได้ 8 ปี, City of Glass ได้ 6 ปี หลีหมิงก็กลับมาอีกครั้งในบทของหมอหนุ่มชาวเซี่ยงไฮ้ (หลีหมิงเป็นผู้เขียนบทร่วมด้วย) คราวนี้เขามารับบทคู่กับราชินีเพลงป๊อปแห่งเกาะฮ่องกง เฟย หว่อง (หวังเฟย:王菲) ที่ช่วงหลังผันตัวมาออกจอเงินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่ผมเคยเล่าไปแล้ว "เรื่องเล็กในเมืองใหญ่" เป็นเรื่องราวความรัก แบบพ่อแง่แม่งอนของยัปปี้จีนยุคมิลเลนเนียม

หลีหมิงเป็นหมอหนุ่มชาวเซี่ยงไฮ้ที่รับงานตรวจคนไข้นอกสถานที่ โดยเขาดัดแปลงรถ SUV ของตัวเองให้เป็นคลีนิกเคลื่อนที่ออกตรวจ-รักษาคนไข้ ขณะที่ เฟย หว่อง ตั้งบริษัทออร์กาไนเซอร์ รับจัดฉาก สร้างความเซอร์ไพรซ์ให้กับลูกค้าในงานวันเกิดและวันพิเศษต่างๆ

พระเอก-นางเอก ทั้งสองคนเดิมรักกันอยู่ แต่มีเรื่องผิดใจกันในเมื่อต่างฝ่ายต่างคิดว่า "จังหวะชีวิต" ของตนไม่สอดคล้องกันกับอีกฝ่าย ทั้งคู่จึงตัดสินใจแยกทาง

"เรื่องเล็กในเมืองใหญ่" แม้จะเป็นหนังของผู้สร้างจากฮ่องกง ตั้งใจจะถ่ายทำโดยบทเป็น ภาษาจีนกลาง ตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อให้สอดคล้องกับ พื้นเพของตัวละคร ท้องเรื่อง สถานที่เกิดเรื่อง และอีกประเด็นที่ผมคิดว่ามีความสำคัญไม่น้อยสำหรับสาเหตุของการถ่ายทำเป็นภาษาจีนกลางก็ คือ "ตลาด"

ปัจจุบันแม้ปักกิ่งจะเป็นเมืองหลวง แต่เซี่ยงไฮ้คือ หัวใจทางเศรษฐกิจของจีน เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองหน้าด่านของจีนที่รับเอาความเปลี่ยนแปลงมาจากโลกภายนอกก่อนเสมอ เช่นกัน สังคมและ หนุ่มสาวเซี่ยงไฮ้ก็เป็นผู้ที่ล้ำหน้ากว่าคนจีนที่อยู่ในภูมิภาคอื่นเสมอ

หนังเรื่องนี้ พยายามถ่ายทอดเอาเสี้ยวชีวิตเสี้ยวหนึ่งของคนจีนแผ่นดินใหญ่รุ่นใหม่ให้ผู้ชมได้รับรู้ นอกจากการเน้นถ่ายภาพทิวทัศน์ของเซี่ยงไฮ้ในมุมต่างๆ แล้ว ยังมีการใส่เอารายละเอียดอย่าง เช่น แนวการดำเนินชีวิตของคนจีนรุ่นใหม่ การอยู่กินกันก่อนแต่งของหนุ่มสาว การหลีกหนีออกมาจากระบบครอบครัวเพื่อใช้ชีวิตอย่างอิสระ สภาพเมือง สภาพความเป็นอยู่ของยัปปี้เซี่ยงไฮ้ที่ดูทันสมัย ไม่เหมือนเมืองที่อยู่ในประเทศจีนหรือคนจีน แต่กลับเหมือนคนจีนที่อยู่ในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาซะมากกว่า

เพียงแค่พิจารณาจากอาชีพของ เฟย หว่อง ก็เชื่อได้แล้วว่า เมืองจีนยุคนี้เปลี่ยนไป ...

ผมไม่ได้กล่าวถึงภาพยนตร์สามเรื่องนี้ ไปในแนวการเปรียบเทียบกันว่า เรื่องไหนดีเด่นกว่ากัน สิ่งที่ผมพบในภาพยนตร์ทั้งสามเรื่อง ไม่ใช่แต่เป็นเพียงดารานำชายเป็นคนเดียวกัน หรือ ความต้องการจะนำเสนอเพียงเรื่องราวความรักโรแมนติกระหว่างหนุ่ม-สาว แต่จากที่ผู้สร้างภาพยนตร์แต่ละเรื่องได้สอดแทรกสาระและบริบททางสังคมจีนในแต่ละยุคเอาไว้ ซึ่งหากหยิบมาดูต่อเนื่องกัน ก็จะพบภาพการก้าวเดิน ความเปลี่ยนแปลง และ พัฒนาการของสังคมจีนที่น่าสนใจ และน่าติดตามไม่น้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น