xs
xsm
sm
md
lg

ยุคเฟื่องฟูของโรงเรียนนานาชาติ ตระกูลดังพากันเปิดโรงเรียนอินเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคนี้ที่ใครๆ ต่างก็ส่งลูกเรียนอินเตอร์ อยากให้ได้ภาษาเพื่อหนทางก้าวหน้าในอนาคต จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่ามกลางข่าวว่าการศึกษาขาลง เนื่องด้วยอัตราการเกิดต่ำ ไม่ค่อยมีเด็กๆ เข้าเรียนในโรงเรียน แต่กลับมีเหล่านักธุรกิจตระกูลดัง เลือกกระโจนเข้าไปร่วมแวดวงธุรกิจนี้ ด้วยการลงทุนเปิดโรงเรียนนานาชาติ รองรับความต้องการทั้งเด็กไทยและลูกๆ ชาวต่างชาติที่มาทำงานในบ้านเรา ไปจนถึงบรรดาเพื่อนบ้านต่างเมืองที่ส่งทายาทมาร่ำเรียนในบ้านเราก็มีจำนวนไม่น้อย ว่ากันว่าตลาดโรงเรียนนานาชาติมีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท ทำให้แต่ละตระกูลดัง มีโรงเรียนนานาชาติเป็นของตัวเองกันทั้งนั้น จะมีใครบ้างลองไปดูกัน?

เริ่มจากน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวแบบยิ่งใหญ่ อย่าง “ตระกูลพรประภา” กลุ่มสยามกลการ ที่ขยายพอร์ตธุรกิจที่มีอยู่หลากหลายในมือ ลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติที่จังหวัดชลบุรี ใกล้กับสนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับ ด้วยการจับมือกับโรงเรียนไฮเกตแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1565 หรือเกือบ 460 ปีมาแล้ว และติด TOP10 โรงเรียนเอกชนที่มีผลงานการศึกษายอดเยี่ยมที่สุดในลอนดอนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยโรงเรียนนานาชาติ Highgate (ไฮเกต) ประเทศไทย มีกำหนดเปิดทำการในเดือนสิงหาคม 2569 ตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาลและประถมศึกษา พร้อมมีแผนขยายไปยังระดับมัธยมศึกษา และเปิดเป็นโรงเรียนประจำในอนาคต รองรับนักเรียนสูงสุดถึง 1,400 คน

ตระกูลพรประภาและทีมผู้บริหาร Highgate Thailand

โรงเรียนนานาชาติไฮเกต

โรงเรียนนานาชาติไฮเกต
ตระกูลใหญ่อย่าง “จิราธิวัฒน์” ก็มีโรงเรียนนานาชาติเรนทรี Raintree International School ที่ก่อตั้งโดย ใหม่-พรรณรจน์ ชลิตอาภรณ์ กับ ทิพ-วรจรรย์ จิราธิวัฒน์ 2 พี่น้อง และ กรณ์ จาติกวณิช เป็นโรงเรียนระดับอนุบาลที่เน้นให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เน้นบรรยากาศธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่ บ้านต้นไม้ บ่อทราย ฟาร์มออร์แกนิก ในย่านสาทรมาเกือบ 7 ปีแล้ว และเพิ่งขยายสาขาไปเปิดที่สุขุมวิท 26

สามผู้ก่อตั้งโรงเรียนเรนทรี

โรงเรียนนานาชาติเรนทรี

โรงเรียนนานาชาติเรนทรี
ส่วนตระกูลนี้แม้จะไม่ได้เป็นหน้าใหม่ แต่ก็สร้างความฮือฮาได้ไม่หยุด สำหรับการเปิดโครงการใหม่ๆ ของบ้าน “อัสสกุล” เจ้าของโรงเรียนนานาชาติเซนต์สตีเฟ่นส์ ที่ก่อตั้งมาหลายสิบปี และโรงเรียนนานาชาติไบรท์ตัน คอลเลจ ที่เตรียมเงินลงทุนกว่า 1,400 ล้านบาท เปิดคอลเลจใหม่สุดยิ่งใหญ่ย่านวิภาวดี ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมปี 2568

นุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์

ตระกูลอัสสกุล กับ ทีมงาน ไบรท์ตัน คอลเลจ

โรงเรียนนานาชาติไบรท์ตัน คอลเลจ
สำหรับ “ตระกูลศรีวิกรม์” ตำนานด้านการศึกษาที่ทำโรงเรียนมาตั้งแต่เมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว ก็ไม่น้อยหน้า มีบรรดาลูกหลานต่อยอดเปิดโรงเรียนนานาชาติ โดยทายาทสาว “ทยา” ได้จับมือกับสามี “ณัฐพล ทีปสุวรรณ” ทุ่มเงินทุนกว่า 1,500 ล้านบาท สร้างโรงเรียน Rugby School Thailand โรงเรียนเอกชนชั้นนำของอังกฤษที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี บนที่ดินเกือบ 200 ไร่ ย่านชลบุรี ถ่ายทอดการศึกษาสไตล์อังกฤษไว้อย่างแท้จริง

ณัฐพล และทยา ทีปสุวรรณ กับ กรณ์ จาติกวณิช

ทยา ทีปสุวรรณ กับ นักเรียน Rugby School Thailand

โรงเรียน Rugby School Thailand
อีกหนึ่งขาใหญ่ด้านการศึกษา อย่าง “ตระกูลอุไรรัตน์” ที่ตอนนี้มีการก่อตั้ง ‘สถาบันอาทิตย์ อุไรรัตน์’ (AOI) ขึ้นมา รวมพอร์ตโรงเรียนนานาชาติที่อยู่ในมือไว้ด้วยกัน มีทั้ง โรงเรียนนานาชาติบริติช ภูเก็ต (BISP) ที่เปิดมานานกว่า 25 ปี, โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต (SBS Rangsit) ที่สอนแบบสองภาษา, โรงเรียนสาธิตนานาชาติทวิภาษาแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต เชียงใหม่ (SIBS Chiangmai) สอนหลักสูตร 3 ภาษา (ไทย-อังกฤษ-จีน) และล่าสุดเตรียมเปิดโรงเรียนนานาชาติเอสบีเอส แบงค็อก (SBS Bangkok) ย่านลาดกระบัง ในปีการศึกษา 2568

อภิรมณ อุไรรัตน์

อภิรมณ อุไรรัตน์ กับผู้บริหาร AOI

โรงเรียนนานาชาติเอสบีเอส แบงค็อก
นอกจากนี้ ยังมีตระกูลใหญ่ๆ ที่ครองพื้นที่ในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมายาวนาน อย่าง “ตระกูลโสภณพนิช” กับ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี, “ตระกูลเจียรวนนท์” มีโรงเรียนนานาชาติคอนคอร์เดียน, เครือโรงเรียนเซนต์จอห์นของ “ตระกูลควรทรงธรรม”, อีกแห่งที่อยู่มาอย่างยาวนานคือ โรงเรียนนานาชาติเครือรีเจ้นท์ของ “ตระกูลเตชะวิจิตร์” ที่มีทั้งที่กรุงเทพฯ และพัทยา ส่วน “ตระกูลธรรมวัฒนะ” ก็ไม่น้อยหน้าเปิดกับโรงเรียนไทย อินเตอร์เนชั่นเนล ย่านรังสิต ด้าน “ตระกูลจุฬางกูร” ที่มีหลากหลายธุรกิจ ก็มีโรงเรียนนานาชาติเบิร์กลีย์ ส่วนยักษ์ใหญ่ในวงการธุรกิจ อย่าง “ตระกูลโชควัฒนา” แห่งสหพัฒน์ ก็ร่วมลงทุนสร้างโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจ ย่านพระราม 3 ที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาทเลยทีเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น