หลายจังหวัดในประเทศไทยมีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ จนทำให้มีความร้อนสะสมสูงจนเกินไป อาจทำให้เป็นโรคที่มาจากความร้อนชนิดต่างๆ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) แบรนด์ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพผิวและเส้นผม ‘ธัญ’ (THANN) ร่วมกับ แพทย์หญิงอณัฏฐ์ชา อัศดามงคล แนะ “วิธีเติมความสดชื่นให้กับร่างกายภายใต้ภาวะอากาศร้อนจัด” กับผลิตภัณฑ์ Time to Refresh, Eastern Orchard Essential Oil และEastern Orchard Aromatherapy Shower Gel พร้อมชวน 3 เซเลบริตี้ร่วมเผยวิธีเติมความสดชื่นให้กับร่างกายเมื่อเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด
ไนล-ภาสิริ ตั้งคารวคุณ เล่าว่า “ไนลเป็นคนที่ไม่ชอบสภาพอากาศร้อน เพราะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไหร่ ยิ่งช่วงนี้ที่สภาพอากาศร้อนจัดก็ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ โดยจะพกน้ำดื่มและจิบตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากจนเกินไป (Dehydrated) และน้ำยังช่วยเติมความสดชื่นให้กับร่างกายของเราด้วย หากวันไหนที่ต้องออกไปเผชิญอากาศร้อนจัดข้างนอก เมื่อกลับถึงบ้านไนลก็จะอาบน้ำทันที เพื่อทำให้ร่างกายสดชื่นด้วย Eastern Orchard Aromatherapy Shower Gel เป็นประจำ ที่ชอบตัวนี้เพราะกลิ่นหอมสดชื่นจากส่วนผสมของ Japanese Yuzu และ Lemon ผสานกลิ่นหอมของดอก Brazilian Neroli และ Jasmine ทำให้ความรู้สึกสดชื่นมากๆ ทุกครั้งหลังการอาบน้ำค่ะ”
เอย-ธัญวรรณ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เผยว่า “ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัดแบบนี้ เอยจะมีการเตรียมตัวก่อนที่ออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งๆ สวมใส่สบาย ไม่หนา และในระหว่างวันจะพยายามดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้อาจทำให้เราเป็นลมแดดหรือ Heat Stroke ได้ ดังนั้นเอยจึงต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพและสังเกตอาการของตัวเอง โดยในระหว่างวันหากรู้สึกว่าร่างกายมีอุณหภูมิสูงจนเกินไปก็จะหาผ้าชุบน้ำเย็นที่ผสม Eastern Orchard Essential Oil มาเช็ดตามตัว นอกจากเป็นการลดอุณหภูมิแล้วกลิ่นหอมสดชื่นของน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติยังช่วยคืนความสดชื่นให้กับเอยได้เป็นอย่างดี ส่วนที่บ้านและที่ทำงานเอยก็จะสร้างบรรยากาศด้วยกลิ่นหอมสดชื่นด้วย Eastern Orchard Essential Oil ซึ่งใช้งานร่วมกับเครื่องกระจายกลิ่นหอม Electric Aroma Diffuser เพราะถือว่าเป็นการชาร์จพลังให้กับตัวเอง ทำให้ตัวเองรู้สึกสดชื่นตลอดวันได้เป็นอย่างดี”
หมิว-กมลพร วงศ์รักมิตร เล่าว่า “ช่วงนี้หมิวเองกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง จึงต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ยิ่งในช่วงอากาศร้อนจัดแบบนี้ ทำให้คนท้องเสี่ยงต่อการเกิดอาการเป็นลมแดดได้ง่ายกว่าคนทั่วๆ ไป ส่วนตัวก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด และมักจะพกพัดลมแบบพกพาติดตัวเอาไว้เวลาออกไปข้างนอกอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ร่างกายเรารู้สึกร้อนจนเกินไป นอกจากนี้หมิวก็จะมีผลิตภัณฑ์ Time to Refresh เป็นเจลบาล์มสูตรเย็นที่มอบความสดชื่น ใช้แล้วช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย เพราะขณะตั้งครรภ์ก็มักมีอาการเวียนศีรษะอยู่บ่อยๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวนี้สามารถช่วยคุณแม่แบบเราๆ ได้เป็นอย่างดีค่ะ”
แพทย์หญิงอณัฏฐ์ชา อัศดามงคล แนะวิธีดูแลสุขภาพและเติมความสดชื่นให้กับร่างกายภายใต้ภาวะอากาศร้อนจัดว่า “ช่วงสภาพอากาศที่ร้อนจัดแบบนี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อสุขภาพของเราทั้งภายในและภายนอก ทำให้รู้สึกอึดอัด ไม่สบายร่างกาย อารมณ์แปรปวนหงุดหงิดง่าย ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลียไม่สดชื่น และสามารถก่อให้เกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) โดยเฉพาะคนที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หากร่างกายมีอุณหภูมิสะสมสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะส่งผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท และอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โรคลมแดด (Heat Stroke) สามารถแบ่งตามสาเหตุทีเกิดได้ 2 ประเภท คือ
1. โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (Classic Heat Stroke or Non–exertional Heat Stroke) เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงนานเกินไป ส่วนมากมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนและการขาดน้ำ (Dehydration) ได้ รวมถึงผู้ที่มีการใช้ยารักษาโรคบางชนิดที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ หรือทำให้ไม่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้อย่างเต็มที่ เช่น ยากลุ่มกระตุ้นการหดตัวของหลอดเลือด (Vasoconstrictors) ยาลดความดันหรือรักษาโรคหัวใจ (Beta – Blockers) ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) และยาทางจิตเวชบางกลุ่ม (Antidepressants, Antipsychotics และ Psychostimulants) หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2. โรคลมแดดที่เกิดจากการใช้กำลังกายหนัก (Exertional Heat Stroke) เกิดจากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจากการทำงานหรือการออกกำลังกายอย่างหนักในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูง มักเกิดกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับอากาศร้อน รวมถึงการสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาและมากเกินไป จนเหงื่อระเหยและระบายความร้อนได้ยาก มักเกิดร่วมกับสภาวะร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
อาการของโรคลมแดดที่อาจสังเกตหรือตรวจเช็คได้ด้วยตนเอง คือ อุณหภูมิร่างกายจะสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ลุกลี้ลุกลน พูดช้า สับสน ชัก เพ้อ หมดสติ ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติ ตัวอย่างเช่น การอยู่ในสถานที่ร้อนจัด แต่ไม่มีเหงื่อออก คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังและหน้าเปลี่ยนเป็นสีออกแดง เหนื่อย หายใจเร็ว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ รวมถึงมีอาการปวดศีรษะ บางรายมีปัสสาวะสีเข้มผิดปกติ โรคลมแดดหากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่ออวัยวะภายใน อาทิ หัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ โดยหากได้รับการรักษาล่าช้าก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงที่มักเกิดอาการโรคลมแดด (Heat Stroke) เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศได้ช้า ไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว และเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวาน รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐานหรือมีภาวะเป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน เช่น ออกกำลังกาย นักกีฬา เกษตรกร เป็นต้น
- ผู้ที่ทำงานออฟฟิศที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ทัน
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนปกติ และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยจะมีความเสี่ยงและมีโอกาสเกิดอาการเป็นลมแดดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป หากอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อนจัด จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูง ทำให้ร่างกายขับเหงื่อมากกว่าปกติ จนเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดข้น และกระตุ้นให้การหลั่งฮอร์โมนอ็อกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดได้
ส่วนวิธีดูแลตนเองเมื่อต้องอยู่สภาวะอากาศที่ร้อนจัด เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดด สามารถปฏิบัติดังนี้
- ดื่มน้ำหรือจิบน้ำในระหว่างวันให้มากๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้รู้สึกกระหาย เพื่อชดเชยเหงื่อที่ถูกขับออกมาตามผิวหนัง ช่วยในการระบายความร้อนให้กับร่างกาย และป้องกันการเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ
- ลดอุณหภูมิของร่างกายด้วยการอาบน้ำที่อุณภูมิปกติ (ประมาณ 32 องศาเซลเซียส) เนื่องจากน้ำเป็นตัวกลางนำความร้อนที่ดีในการช่วยลดความร้อนให้กับร่างกาย โดยสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ (Essential oil) เพื่อเสริมสร้างความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย (Aromatherapy)
- ระหว่างวันสามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นที่ผสมน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ (Essential Oil) หรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ ข้อพับ ขาหนีบ ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมพ่นละอองน้ำ เพื่อช่วยระบายความร้อน
- หากรู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือต้องการความสดชื่นในระหว่างวัน สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการให้ความสดชื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติ (Essential Oil) ได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้น้ำในร่างกายถูกขจัดออกได้มากกว่าปกติ แนะนำให้ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ที่ไม่ผสมน้ำตาลแทน เพราะน้ำผลไม้ไม่เพียงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย แต่ยังให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ในระหว่างที่ร่างกายเสียเหงื่อได้ด้วย
- สวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ อาทิ ผ้าลินินหรือผ้าฝ้าย ควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีดำ เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้มากกว่าสีอื่นๆ รวมถึงไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพราะทำให้การระบายเหงื่อได้ไม่ดี”