องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ร่วมกับกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จัดงานแนะนำเมนูหอยเชลล์โฮตาเตะ "JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - " ณ โรงแรมดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ
สำหรับการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นได้ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ร่วมมือกับผู้นำเข้า ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกในประเทศไทยจัดแคมเปญประชาสัมพันธ์หอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ "HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น" ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมีนาคม 2567 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 14 เท่า และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) ซึ่งในปี 2567 นี้ เจโทร กรุงเทพฯ มีความตั้งใจที่จะต่อยอดความสำเร็จนี้ต่อไป
“รังสรรค์เมนูหอยเชลล์โฮตาเตะโดยเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย"
ซึ่งในปี 2567 นี้ เจโทรฯ ประเดิมจัดงาน "JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - " เป็นกิจกรรมแรก โดยเชิญผู้นำเข้า ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก รวมถึงสื่อมวลชนและอินฟลูเอนเซอร์ที่เกี่ยวข้องและมีความสนใจในหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นรวมกว่า 100 คนเข้าร่วมงาน โดยมีเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย “เชฟอาร์ - ธีรภัทร ตียาสุนทรานนท์” ผู้ชนะการแข่งขันรอบวัตถุดิบหลักหอยเชลล์โฮตาเตะในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย ONE-ON-ONE BATTLE 2023 | EP.38 ที่ออกอากาศเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้มาสาธิตทำเมนูอาหารไทย อาหารอิตาเลียน และอาหารญี่ปุ่นสุดพิเศษจากหอยเชลล์โฮตาเตะ เสิร์ฟพร้อมกับเหล้าสาเก สปาร์คกิ้งสาเก และไวน์ชั้นดีของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทางเจโทรฯ คาดว่าเมนูหอยเชลล์โฮตาเตะที่ถูกรังสรรค์โดยเชฟอาร์ในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในไอเดียที่จะช่วยเสริมศักยภาพของหอยเชลล์โฮตาเตะ พร้อมขยายช่องทางการจัดจำหน่าย ผ่านการจัดทำแบบสอบถามผู้เข้าร่วมงาน เพื่อนำไปสู่การจับคู่เจรจาธุรกิจในอนาคตอีกด้วย
นายซากาโมโตะ เท็ตสึชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่นได้ให้เกียรติมาร่วมงาน พร้อมพูดคุยกับเชฟอาร์ และอินฟลูเอนเซอร์ โดยกล่าวถึงจุดแข็งและเสน่ห์ของหอยเชลล์โฮตาเตะจากประเทศญี่ปุ่นว่า "เป็นวัตถุดิบที่มีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถนำไปปรุงเมนูใหม่ๆ ให้เข้ากับอาหารหลากหลายสัญชาติ จึงอยากให้หอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นเป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างแพร่หลาย และสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายออกไปยังพื้นที่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย”
"มูลค่าการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2.3 เท่า (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) หลังความสำเร็จจากแคมเปญ HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น"
ในปี 2566 ที่ผ่านมา เจโทรฯ ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดงาน "HOTATE Festival เทศกาลหอยโฮตาเตะส่งตรงจากญี่ปุ่น" เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในประเทศไทยรู้จักหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่น พร้อมกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายร่วมกับผู้นำเข้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังต่อไปนี้
กิจกรรมที่ 1 จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์หอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและพื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพฯ และส่งเสริมการนำไปใช้ในเมนูอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น เช่น อาหารไทย และอาหารอิตาเลียน โดยร่วมมือกับร้านอาหาร จำนวน 73 แบรนด์ 391 ร้าน และร้านค้าปลีกในประเทศไทย 6 แบรนด์ 29 ร้าน
กิจกรรมที่ 2 จัดงานอีเว้นท์ประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะ อาทิเช่น งานสัมมนา เวิร์คช็อป งานแนะนำเมนูอาหารโดยเชฟชื่อดังให้กับร้านอาหารต่างๆ รวมทั้งสิ้น 23 งาน
กิจกรรมที่ 3 นำหอยเชลล์โฮตาเตะญี่ปุ่นไปเป็นวัตถุดิบหลักของการแข่งขันทำอาหารในรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย รวมถึงการจัดงานแถลงข่าว การประชาสัมพันธ์ผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และเทศกาลอาหาร "Heliconia Food Festival" เพื่อให้แคมเปญนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
จากกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ในช่วงระยะเวลาการจัดแคมเปญ (พฤศจิกายน 2566 ถึงมีนาคม 2567) มีปริมาณการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็น 14 เท่า และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 เท่า (เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว) หากดูจากสถิติมูลค่าการนำเข้าหอยเชลล์มายังประเทศไทยแยกตามประเทศผู้ส่งออกแล้ว ญี่ปุ่นติดอันดับหนึ่งหรือสองมาโดยตลอด แต่ในช่วงระยะเวลาจัดแคมเปญ HOTATE Festival ญี่ปุ่นส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะมายังประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งโดยทิ้งห่างจากอันดับสองอย่างเห็นได้ชัด
“จัดประชุมใหญ่สามัญแพลตฟอร์มส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารญี่ปุ่นมายังประเทศไทย พร้อมประกาศแคมเปญขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายอาหารทะเลของญี่ปุ่น”
เพื่อต่อยอดและกระตุ้นการบริโภคหอยเชลล์โฮตาเตะอย่างต่อเนื่อง เจโทรฯ จึงจัดงานแนะนำเมนูหอยเชลล์โฮตาเตะ "JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - " ขึ้นอย่างเป็นทางการ
และในวันเดียวกัน ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญแพลตฟอร์มส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ซึ่งนายซากาโมโตะ เท็ตสึชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมประชุมพร้อมกับผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าอาหารทะเล โดยในที่ประชุมได้หารือและมีข้อตกลงร่วมกันสนับสนุน “แคมเปญขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายอาหารทะเลของญี่ปุ่น” ผ่านแพลตฟอร์มส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ซึ่งแคมเปญนี้ถูกบรรจุุไว้ในยุทธศาสตร์การขยายการส่งออกสินค้าเกษตร ป่าไม้ และการประมง และผลิตภัณฑ์อาหาร (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 25 ธันวาคม 2566) จะดำเนินงานโดยประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการญี่ปุ่นและผู้ประกอบการในท้องถิ่น เพื่อขยายปริมาณการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะมายังประเทศไทย ซึ่งแต่เดิมตั้งเป้าให้มีมูลค่าส่งออก 2,400 ล้านเยนหรือประมาณ 575 ล้านบาท ภายในปี 2568 (คิดเป็น 2 เท่าของมูลค่าส่งออกในปีงบประมาณ 2566) แต่ปัจจุบันได้เร่งอัดฉีดงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 15 ล้านเยนหรือประมาณ 3.6 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในปีงบประมาณ 2567 นี้
หลังจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังคงมุ่งมั่นต่อยอดเพื่อขยายการส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะพรีเมียมจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยต่อไป