“ผมไม่ได้รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่เป็นคนที่รู้ว่าตัวเองอยากได้อะไรมาตั้งแต่เด็ก” นี่คือคำตอบของ “พลับ-จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์” ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ที่หลายคนอาจเคยคุ้นภาพเขาในฐานะศิลปินตัวน้อยเจ้าของเพลงฮิต อย่าง ใครใครก็ไม่รักผม และคุณครูครับ ซึ่งแม้จะเป็นคำตอบที่ราบเรียบ แต่กลับเฉลยคำถามที่คาใจหลายๆ คนว่า ทำไม “น้องพลับ” ในวันนี้ ถึงเลือกที่จะเติบโตในเส้นทางของหนุ่มนักพัฒนาแอปพลิเคชันมากกว่าสายดนตรี
“อย่างที่บอก ผมรู้ตัวว่าผมชอบอะไร อย่าง สมัยเด็กผมชอบร้องเพลง ก็เลยมาเป็นนักร้อง จนพออายุ 14 ปีอยากไปเรียนต่อ ผมก็ตัดสินใจไปเรียนตั้งแต่ไฮสกูล จนจบปริญญาตรี ด้านคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่นิวยอร์ก พอเรียนจบก็กลับเมืองไทย ทำงานที่ Boston Consulting Group และได้ทำงานด้านการบริหารโรงพยาบาลชื่อดัง ก่อนที่จะมีโอกาสดีๆ เข้ามาในชีวิต”
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานอยู่ร่วม 3 ปี พลับก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เขาเริ่มสนใจโลกการลงทุน และได้มีโอกาสร่วมกับหุ้นส่วนปั้นธุรกิจสตาร์ทอัปชื่อว่า BrainKey พัฒนาแพลตฟอร์มเฮลท์เทค ที่ช่วยให้คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์สามารถนำฟิล์ม MRI มาอัปโหลดบนแพลตฟอร์ม เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของสมอง จะได้รู้ว่าไลฟ์สไตล์ที่ทำอยู่ส่งผลให้สมองเสื่อมมากหรือน้อยขนาดไหน แต่พอหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เขาต้องกลับเมืองไทย และไม่ได้สานต่อโปรเจกต์นี้ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้ประสบการณ์ และทำให้ได้สัมผัสกับโลกของเทคโนโลยีมากขึ้น
แม้จะโลดแล่นอยู่ในโลกของดิจิตัล ที่ดูเหมือนว่าจะหมุนตลอด 24 ชม. แต่เขาก็ยังยิ้มได้ จากการมี Work-Life Balance ที่ดี
“ช่วงปีแรกๆ ที่เข้ามาร่วมงานกับเอไอเอ เป็นช่วงเริ่มต้น อาจจะเหนื่อยหน่อย แต่พอเข้าสู่ปีที่ 3 ทุกอย่างเป็นระบบ บวกกับทีมงานเก่ง ทุกคนมี Ownership ชัดเจน ทำให้งานตอนนี้ลงตัวมากๆ ถามว่าเสียดายมั้ยที่ตอนนั้นไม่ได้ทำสตาร์ทอัปต่อ ผมมองว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันก็ให้โอกาสผมเยอะ ในการนำความสามารถเข้ามาทำงาน และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ฉะนั้น การทำงานตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ชอบและมีความสุขเหมือนกัน”
คุยเพิ่มเติมเรื่องไลฟ์สไตล์วันว่างกันบ้าง พลับบอกว่า ด้วยความที่ไม่อยู่เมืองไทยมานาน เพื่อนในไทยอาจจะไม่เยอะ จะมีบางกลุ่มที่สนิทไปกินข้าวด้วยกันบ่อยๆ ดังนั้น ถ้ามีเวลาว่างจะชอบใช้เวลากับครอบครัว พ่อแม่และพี่สาวมากกว่า
“ผมเป็นคนเงียบๆ ไม่ได้ชอบเจอคนเยอะ เป็นคนค่อนข้างติดบ้าน นอกเวลางาน ถ้าไม่มีนัดผมจะไปยิม ออกกำลังกาย อยู่บ้านนอนดูเน็ตฟลิกซ์ หรือไม่ก็ท่องเที่ยว ผมชอบไปเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อย่าง ทริปประจำที่ไปมาสองปีแล้วติดใจ และคิดว่าจะไปอีกเป็นปีที่ 3 คือ ช่วงซัมเมอร์จะไปชมป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ สูดอากาศดีๆ ที่ออสเตรีย สัก 4 คืน 5 วัน แล้วก็ขับรถไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ต่อ”
นอกจากนี้ เขายังสะสมและลงทุนเกี่ยวกับนาฬิกา ซึ่งเริ่มมาจากการที่ได้รับมรดกตกทอดจากพี่สาว และได้รับเป็นของขวัญจากครอบครัวบ้าง
“ถึงจะบอกว่าสะสม แต่ผมก็ไม่ได้มีเยอะนะครับ เน้นสะสมไปเรื่อยๆ อาศัยว่าเวลามีเงินหรือโบนัสมา ก็เอาไปทยอยซื้อ สมัยก่อนพี่สาวใส่เบื่อแล้วก็ส่งต่อมาบ้าง (หัวเราะ) แบรนด์โปรดก็คงเป็น Patek Philippe ครับ”
หากถามถึงความสนใจและแผนในอนาคตช่วงนี้ เขาบอกว่าอยากที่จะลองพัฒนาธุรกิจของตัวเอง แม้ว่าตอนนี้มีไอเดียอยู่บ้างแต่ก็ขออุบไว้ก่อน ส่วนเรื่องงานเพลง ดนตรี นั้น เขาบอกกับเราว่า “ตอนนี้ความสนใจของผมเปลี่ยนไปแล้วครับ” ความสนใจหลักของพลับในทุกวันนี้คือ การเริ่มต้นบทบาทใหม่ของชีวิต ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา ดิจิทัล โซลูชันส์ แอนด์ ดีไซน์ เอไอเอ เวลเนส หน้าที่หลักคือ ดูแล 3 แอปพลิเคชัน ทั้งแอปฯ AIA+, แอปฯ AIA One และแอปฯ ALive Powered by AIA เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าและตัวแทน รวมถึงคนทั่วไป
“ผมอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ในการพัฒนาแอปฯ มาเยอะ แต่ผมเชื่อว่า หัวใจสำคัญของทุกงานคือ เราต้องมี Customer Obsession หรือความหลงใหลในลูกค้า อย่างการพัฒนาแอปฯ ผมไม่ได้มองว่าเราต้องวิ่งตามเทรนด์อย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ได้ อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจ แต่เราต้องศึกษาและเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน ส่วนตัวผมเป็นคนชอบคุยกับลูกค้า หรือผู้ใช้งานแอปฯ ของเราอยู่แล้ว จะได้รู้ว่าเขาเข้ามาใช้แอปฯ ในลักษณะไหน หรือแอปฯ ของเราตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของเขาหรือปัญหาที่เขาเจออย่างไร?”
ถ้าถามว่า พลับไปค้นพบจุดแข็งของการเป็นคนที่มี Customer Obsession ตอนไหน พลับบอกว่า เป็นเทคนิคที่นำมาปรับใช้ในการทำงานทุกงาน “อย่างตอนเป็นนักร้อง เราก็ต้องศึกษาว่าคนฟังเพลงของเราคือใคร ตอนทำบริษัทที่ปรึกษา โรงพยาบาล หรือจนมาทำแอปฯ เราก็ต้องศึกษาลูกค้าเช่นกัน” พลับกล่าวทิ้งท้าย