xs
xsm
sm
md
lg

วี ทรีโอ้ 3 พี่น้องหัวใจนักดนตรี! มุ่งมั่นพาเด็กไทยโชว์ฝีมือเวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลายคนอาจรู้จัก “วี ทรีโอ้” (Vietrio) ในฐานะวงดนตรีคลาสสิกไทย ที่ประกอบด้วยสามพี่น้องตระกูลศรีณรงค์ นำทีมโดย “เป้-ดร.อัครวัฒน์, ป่าน-กัญภัส และปุย-อริยา” แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ ทั้งสามคนยังมีความฝันที่ยิ่งใหญ่คือ การเปิดประตูแห่งโอกาสให้เด็กไทยที่มีใจรักเสียงดนตรี ได้เฉิดฉายบนเวทีโลก

จากครอบครัวนักดนตรีสู่ผู้สร้าง

ย้อนไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนที่วง “วี ทรีโอ้” ถือกำเนิดขึ้น นอกจากจะเป็นการจุดพลุให้คนไทยได้สัมผัสดนตรีคลาสสิก ยังเป็นช่วงที่สามพี่น้องตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนดนตรี “VIEMUS” ซึ่งมาจากคำว่า VIE ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ชีวิต และ Mus มาจากคำว่า Music หรือ ดนตรี เพื่อสื่อให้เห็นว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

ปุย น้องสาวคนเล็ก เล่าถึงเส้นทางนักดนตรีควบคู่ไปกับการสร้างนักดนตรีว่า เกิดจากวิสัยทัศน์ของคุณพ่อที่เป็นนักดนตรี อยากจะสร้างสถาบันพัฒนาเด็ก ที่มีความสามารถรอบด้านผ่านดนตรี พอเห็นว่าลูกๆ กำลังเริ่มต้นวง Vietrio เลยมองว่าเป็นช่วงที่เหมาะที่จะเปิดสถาบันสอนดนตรี ซึ่งนอกจากให้ความรู้ด้านดนตรี ยังต่อยอดคอนเนกชันที่มี เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักดนตรีจากทั่วโลก


เป้ พี่ชายคนโตเสริมว่า “เราพยายามต่อยอดคอนเนกชันที่มีกับต่างประเทศ เปิดโอกาสให้เด็กไทยได้ไปแคมป์ และร่วมแสดงคอนเสิร์ตที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรีย ฮ่องกง รวมถึงญี่ปุ่น ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ทุกเดือนธันวาคมเราจะมีแคมป์ดนตรีและการแสดงที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะเปลี่ยนสถานที่แสดงไปตามความเหมาะสม หรือบางครั้งก็จะมีนักดนตรีจากต่างประเทศ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งจัดเชลโล เฟสติวัลเล็กๆ ชวนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย Yale ที่รวมตัวกันเป็นชมรมเล็กๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้ หลังจากนั้น เราก็เชิญนักเรียนดนตรีจากเกาหลีใต้กว่า 50 ชีวิต มาร่วมเวิร์กชอปและเปลี่ยนความรู้ที่เมืองไทย”

เป้มองว่าการที่เด็กไทยได้มีโอกาสขึ้นเวที ในฐานะนักแสดงดนตรี นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจ และเป็นพอร์ตโฟลิโอส่วนตัว ยังได้ฝึกทักษะของการเป็นนักดนตรี ที่เวลาขึ้นแสดงจริงต้องพร้อมแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ทั้งยังฝึกความรับผิดชอบ รู้จักการเซอร์วิสผู้อื่นผ่านเสียงดนตรี ฝึกความมั่นใจ

“อย่างเวลาไปแคมป์หรือไปโชว์ต่างประเทศ เด็กๆ จะได้ฝึกการช่วยเหลือตัวเอง การอยู่ร่วมกับคนอื่นไปด้วย จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไต้หวันถึงมีหลักสูตรที่ให้นักเรียนเรียนดนตรีทุกคน โดยจะเลือกเรียนดนตรีจีนหรือดนตรีคลาสสิก เพราะเขามองว่า ดนตรีสามารถเติมเต็มสิ่งที่ความรู้ทางวิชาการ หรือครอบครัวก็ให้ไม่ได้”


ย้อนกลับมาที่สังคมไทย เป้มองว่าเด็กไทยไม่จำเป็นต้องเป็นนักดนตรี แต่ทุกคนควรมีดนตรีในหัวใจ

“ดนตรีเป็นมากกว่างานอดิเรก สามารถนำไปสร้างประโยชน์ ทั้งในมุมของนักดนตรีเอง คือการสร้างพอร์ตโฟลิโอเพื่อไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นในไทยหรือต่างประเทศ รวมถึงมหาวิทยาลัยระดับไอวีลีก หรือออกซฟอร์ด ผมคิดว่าเด็กเจนฯ นี้เขาทำอะไรได้มากกว่าที่เราคิด เราไม่ต้องไปกำหนดว่าเขาต้องเลือกเรียนวิชาใด แต่สามารถทำกิจกรรมที่เขารักไปด้วยกัน และสร้างประโยชน์ให้สังคมไปพร้อมกัน หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่แต่มีแพสชั่นด้านดนตรี ก็สามารถมาเรียนเพื่อใช้ดนตรีสร้างความสุขให้กับตัวเองและคนรอบตัว”

ขณะที่ ปุยเสริมว่า การที่เด็กได้ไป Music Camp ที่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ทำให้ได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ได้เห็นว่าโลกนี้ยังมีคนเก่งอีกมากมาย ที่สำคัญ นิยามความเก่งก็ไม่ได้มีแบบเดียว แต่ละคนอาจจะเก่งได้หลายแบบ ซึ่งข้อดีของการเปิดมุมมองแบบนี้ จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการ ไม่ปิดกั้นตัวเอง แต่กล้าคิดและมีความเป็นตัวของตัวเอง

“เราจะไม่บล็อกความคิดของเด็ก แต่ให้ทำในสิ่งที่ชอบ และเบลนด์อินกับไลฟ์สไตล์ อย่าง สมมติเด็กอยากเล่นดนตรีให้คุณยายฟัง เราก็จะสอนว่า ก่อนอื่นเขาต้องรู้ก่อนว่าคุณยายชอบหรืออยากฟังอะไร ไม่ใช่เล่นตามใจตัวเอง เพราะแม้ทุกอย่างจะมีคุณค่าในตัวเองก็จริง แต่ต้องมองให้ออกว่าต้องนำไปใช้ตอนไหน เช่น มีแบงค์พัน 1 ใบ ปกติอาจจะใช้ซื้อของได้ แต่ถ้าไปทะเลทรายอาจจะอยากได้น้ำเปล่ามากกว่า”

ถามว่าพ่อแม่ที่อยากปลูกฝังดนตรีให้ลูก ควรเริ่มตั้งแต่วัยนั้น ป่านและปุยประสานเสียงว่า การเริ่มอะไรเร็วไม่ได้ดีเสมอไป แต่เน้นที่ความพร้อมของเด็กเป็นหลัก


ความสุขของคนฟัง คือรอยยิ้มของนักดนตรี

ในฐานะที่ทั้งสามคนถูกหล่อหลอมมาในครอบครัวนักดนตรี อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้ชีวิตยังโลดแล่นด้วยดนตรี ปุยบอกว่า ความสุขของการเล่นดนตรี ไม่ได้เป็นความสุขเฉพาะบุคคล เพราะถ้าสภาพแวดล้อมหรือคนรอบข้างไม่ได้มีความสุขไปด้วย ก็คงไม่ได้มีความสุขกับการเล่นดนตรีเต็มที่

“ดนตรี เป็นสิ่งที่ช่วยถ่ายทอดความรู้สึก มีความหมายในตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในการสื่อสาร และเป็นวัฒนธรรมของโลก ซึ่งในแต่ละประเทศอาจจะมีรูปแบบดนตรีที่แตกต่างกันไป พูดง่ายๆ ว่า โลกของดนตรีนั้นไร้พรมแดนเป็นศิลปะที่ทุกคนเข้าถึงได้ และสามารถชื่นชมได้ เป็นคุณค่าที่ทำให้มวลมนุษยชาติมีความเบิกบาน งดงาม สร้างมิตรภาพ”

เช่นเดียวกับ ป่าน ที่มองว่าการได้เล่นดนตรี ไม่ว่าจะที่ไหนหรือเมื่อไหร่ แค่ได้เห็นคนฟังมีความสุข มีรอยยิ้ม หรือคนที่เศร้าอยู่ฟังแล้วจิตใจเบิกบานขึ้น ก็เป็นความสุข จนทำให้ทุกครั้งที่ขึ้นเวที ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรือใหญ่ จะไม่ได้รู้สึกว่ากำลังทำงาน แต่มองว่ากำลังมอบความสุข เพียงแค่ให้คนฟังยิ้ม สนุก ได้ปลดปล่อยจากความเครียด แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็มีความสุขมาก


ส่วนเป้มองว่าการได้เล่นดนตรีคือความสุขอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เหนือกว่าคือ การเทรนตัวเองให้พร้อมกับการให้ความสุขคนอื่น ดังนั้น การเล่นดนตรีจึงไม่ได้อาศัยแค่แพสชั่น แต่ต้องทุ่มเททั้งพลังและเวลา

“การที่ศิลปินคนหนึ่งจะเป็นระดับท็อปได้ เขาต้องอยู่กับสิ่งนั้นเป็นเวลาหลายปี ไม่ใช่เรื่องฉาบฉวย หรือแค่แพสชั่น อย่าง ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ป กว่าจะเดบิวต์ได้แต่ละวงต้องเทรนหนักมาก สำหรับผมแพสชั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเริ่มทำบางอย่าง แต่วินัยคือสิ่งที่ทำให้เราทำสิ่งนั้นสำเร็จได้จริงๆ ดังนั้น เราต้องไม่เป็นทาสของแพสชั่น เพราะต่อให้เรามีมากแค่ไหน วันหนึ่งมันอาจจะหายไป เพราะมันจับต้องไม่ได้ และไม่มีอยู่จริง ผลลัพธ์ต่างหากคือสิ่งที่มีอยู่จริง ต่อให้ทำไปแล้วผลที่ออกมาไม่ดี ก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำ อาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น การเก็บที่นอน ซักผ้า เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่น่าเสียดายที่สุดคือ ความเสียใจที่ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ”

“ที่โรงเรียนของเรา ไม่ได้มีแต่เด็กๆ แต่มีผู้ใหญ่ที่มีอาชีพที่มั่นคงมาตามหาแพสชั่นด้านดนตรี ด้วยเป้าหมายต่างกัน อย่างบางคนเป็นคุณแม่มาเรียนเชลโลเพื่อเล่นกับลูก บางคนเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม อยากได้เพลงเก่งมาสร้างความมั่นใจ เวลาไปอยู่ในกลุ่มเพื่อน ฉะนั้น ความสุขที่ส่งผ่านดนตรีหลากหลายมาก เป้าหมายของคนที่มาเล่นดนตรีก็ต่างกัน”


ทลายกำแพง ไปสู่โลกดนตรีที่ไร้พรมแดน

ถ้าถามว่า ดนตรีคลาสสิกยังเป็นเรื่องไกลตัวหรือไม่ เป้มองว่า ปัจจุบันไม่มีใครมองว่าอะไรตะวันตกตะวันออก ทุกอย่างครอสกันไปหมด หัวใจสำคัญคือ ดนตรีแบบไหนที่ตอบโจทย์ความเป็นเรา

“คนไทยทุกวันนี้ไม่ได้มองว่า ดนตรีคลาสสิกต้องปีนบันไดฟัง โดยเฉพาะคนเจนฯ ใหม่ ที่มองว่าดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสาร ดังนั้น นักดนตรีต้องตอบโจทย์ 3 ข้อหลักๆ ให้ได้คือ เครื่องดนตรี ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือของนักดนตรีที่ต้องใช้ให้คล่อง ถัดมาคืออารมณ์ หรือการถ่ายทอด สุดท้ายคือ การสื่อสารกับผู้ฟัง ผมมองว่าตอนนี้ดนตรีคลาสสิกกำลังไปสู่จุดที่สนุก การเรียนดนตรีของเด็กเจนฯ ใหม่ต่างจากยุคก่อน พร้อมเปิดกว้างและซับซ้อนขึ้น”


จากโจทย์นี้เอง กลายเป็นแนวคิดที่ทั้งสามพี่น้องยึดถือ และมองว่าหน้าที่ของพวกเขาคือ การป็นลมใต้ปีกที่ซัพพอร์ตเขาไปในทิศทางที่ดีที่สุดในการเป็นตัวของตัวเอง

“นอกจากเราจะนำแนวคิดนี้มาใช้ในมุมของนักดนตรี การทำสถาบันยังเป็นที่มาของการเปิดตัวทาเลนต์เอเจนซี ในช่วงโควิด-19 ชื่อว่า “DTRN” (ดี-ตรน) ซึ่งเป็นการผวนคำมาจากคำว่า “ดนตรี”

โจทย์ของเราคือ ดนตรีคลาสสิกจะอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างไร จะก้าวออกจาก 40 ปีที่ผ่านมา ไปสู่ 40 ปีข้างหน้าได้มั้ย เหตุผลที่เป็นเลข 40 เพราะ ดนตรีคลาสสิกในบ้านเรามีอายุประมาณ 40 ปี อย่าง การเปิดทาเลนต์เอเจนซี เริ่มจากเราเห็น Pain Point ในฐานะที่อยู่ในวงการและเป็นผู้อำนวยการออร์เคสตราเยาวชนไทยมา 7 ปี สิ่งที่เราเห็นคือ คนไทยมีความสามารถด้านดนตรีเยอะมาก ทั้งที่บางคนอาจจะไม่ได้เรียนดนตรีอย่างเดียว แต่เรียนควบคู่ไปกับวิชาการ ดังนั้น เพื่อให้คนที่มีความสามารถหลากหลายได้มารวมตัวกัน ได้มาคิดต่าง สร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้สังคมผ่านดนตรี เลยเกิดไอเดียว่าน่าจะมีแพลตฟอร์มที่ซัพพอร์ตคนเหล่านี้”


หน้าที่หลักๆ ของดีตรน จะแตกต่างจากออร์กาไนเซอร์ทั่วไป ที่แค่ตอบโจทย์ในแต่ละงานว่าต้องการเครื่องดนตรีกี่ชิ้น แต่ดีตรนจะสร้างงาน สร้างผลงาน ติดต่อกับลูกค้า

“ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้ามีโปรดักต์แต่ขาดดนตรีที่จะมาสนับสนุน หรืออีเวนต์ที่จะตอบโจทย์กับโปรดักต์ ก็มาคุยกับเรา เหมือนเราเป็นผู้ช่วยร่วมคิด ผมมองว่า นี่คือยุคของสเปเชียลลิสต์ที่สามารถคิดต่าง เอาครีเอทีฟเข้าไปในดนตรีที่มีความหลากหลายมากขึ้น ตรงนี้จะเพิ่มมูลค่าให้ศิลปิน คล้ายๆ กับที่ VieTrio ทำมา 15 ปี ซึ่งจนถึงวันนี้เราเป็นกลุ่มที่ตลาดไม่รู้จะวาง Position อย่างไร ซึ่งเป็นจุดที่เราภาคภูมิใจ เพราะอย่างที่ปุยบอก ดนตรีไม่มีพรมแดน ประเทศไทยมีคน 70 ล้านคน โลกนี้มีเจ็ดพันล้าน ทำไมจีนกับญี่ปุ่นชอบออร์เคสตรามาก เวลาทำโอลิมปิกต้องมีออร์เคสตรา เพราะเป็นการสื่อสารของคน โดยดนตรีเป็นส่วนเล็กๆ ไปซัพพอร์ตในหลายๆ วงการ มันต้องเชื่อมโยงไปกับสิ่งต่างๆ”

ปัจจุบัน ทั้งสามพี่น้องยังเล่นดนตรีทุกวัน “การเล่นดนตรีคืออาชีพ เราต้องลับมีดเราให้คมตลอด ไม่ใช่จะมีคอนเสิร์ตค่อยมาซ้อม ยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายเปลี่ยน เราต้องเรียนรู้การปรับตัวของร่างกาย เราจะซ้อมเหมือนตอนอายุน้อยๆไม่ได้ แต่ด้วยประสบการณ์ทำให้เรา Work Smart ขึ้น บริหารจัดการเวลาได้ดีขึ้น แต่ก็ยังต้องทำการบ้าน ไม่ใช่คิดว่าทำมา 10 ปี ก็ทำซ้ำๆ ไป แบบนั้นอันตรายที่สุด เราต้อง Recover ตัวเองทุกปี มีเกณฑ์ใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ ทำให้ตัวเองแข็งแกร่งขึ้น ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่าต้องการเติมอะไร”

“สำหรับใครที่อยากเข้าวงการดนตรีคลาสสิก เริ่มต้นง่ายๆ คือ กดเข้ายูทูบ แนะนำให้เลือกฟังคอนเสิร์ตที่ได้เห็นมูฟเมนต์ของนักดนตรี เพื่อให้ได้อรรถรสหรือถ้าไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน เริ่มจาก Vietrio” ปุยกล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น