โลกอินเทอร์เน็ตนอกจากไม่เคยเงียบเหงา แต่ยังแพร่กระจายความนิยมไปในทุกที่ที่มันสามารถเข้าถึง โดยเฉพาะ แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ทั้งสื่อลามกอนาจารและเว็บหรือแอปพลิเคชันหาคู่ ซึ่งทุกวันนี้มีมากมาย และมีการแข่งขันสูงในตลาด เห็นได้จากช่วงวิกฤตไวรัสโคโรนา ที่มียอดผู้ใช้งานถล่มทลาย จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ชอบเสพความสุขจากโลกออนไลน์ วันนี้ เรามาทำความรู้จัก 3 คนเก่งที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแพลตฟอร์มชื่อดัง อย่าง Pornhub, Tinder และ Bumble ว่าเขาและเธอเป็นใคร และมีบทบาทอย่างไร?
:: ฟาเบียน ทิลมันน์
ภายในสวนบริเวณบ้านของนักธุรกิจสื่อลามกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เต็มไปด้วยกุหลาบหลากพันธุ์ ทั้ง Gloria Dei จากฝรั่งเศส, Just Joey จากอังกฤษ และ Trosroos Maria Teresa จากเบลเยียม โดยเฉพาะ สายพันธุ์ดอกสีแดง เขาปลูกมันเพื่อภรรยาของเขา ส่วนตัวเขาเองนั้นไม่โรแมนติกเลย เพราะหมกมุ่นอยู่กับตัวเลข ชอบวิเคราะห์ด้วยเหตุและผล เป็นโปรแกรมเมอร์หรือคอมพิวเตอร์เนิร์ดจากเมืองอาเคน ที่นำทุกอย่างที่เขารู้จากเยอรมนีสู่สังคมโลก ปัจจุบัน ทิลมันน์ในวัย 45 ปี เป็นเจ้าของสื่อลามกบนอินเทอร์เน็ตที่มีกำไรมหาศาลชื่อ MindGeek ในจำนวนนั้นมี YouPorn, Pornhub, Men.com, Webcams.com อาณาจักรของเขาประกอบด้วยบริษัท อย่าง Brazzers, Reality Kings และ Digital Playground ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในอุตสาหกรรม ทำให้อพาร์ตเมนต์หลังเล็กๆ ใกล้กรุงบรัสเซลส์ของเขากลายเป็นบ้านซึ่งมีพื้นที่ขนาด 19,000 ตร.ม. และไม่ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ระดับกลางอีกต่อไป แต่ใช้เครื่องบินเจ็ทส่วนตัว
ผู้คนกว่า 300 ล้านคนคลิกเข้าในเว็บโป๊ของทิลมันน์ 1.6 หมื่นล้านครั้งในแต่ละเดือน สูงมากจนทำให้บันทึกข้อมูลที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับการตั้งค่าทางเพศของแต่ละประเทศได้ ตัวอย่างเช่น ชาวแคนาดาชอบเลสเบี้ยน ชาวเยอรมันชอบผู้หญิงสูงวัย และแทบทุกชาติชอบผู้หญิงหน้าอกใหญ่ ชาวอินเดียใช้เวลาโดยเฉลี่ยเจ็ดนาทีบนเว็บไซต์ของทิลมันน์ ซึ่งน้อยกว่าชาวอเมริกันสองนาที เป็นต้น บริษัทของทิลมันน์มีโครงสร้างที่ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่า “ซับซ้อน” โดยมี Manwin (ชื่อเดิมของ MindGeek) เป็นเครือข่ายของบริษัทและผู้เหมาช่วงที่มีกำไรสูงสุด แต่มีการจ่ายภาษีต่ำสุดในประเทศ อย่าง ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ หรือไซปรัส จึงเป็นเหตุให้เขาต้องสงสัยในข้อหาเลี่ยงภาษี เมื่อปลายปี 2016 เขาถูกตำรวจจับกุมที่บ้านในเบลเยี่ยม และถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในเยอรมนี บริษัท MindGeek ของทิลมันน์ถูกขายไปในปี 2013 ในราคา 73 ล้านยูโร หรือราว 2.8 พันล้านบาท ทุกวันนี้ ฟาเบียน ทิลมันน์ ยังเป็นนักลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในบรัสเซลส์ที่กำลังขยายตัว เติบโตจากพนักงาน 200 คนเป็น 1,200 คน แต่ก็ยังไม่หลุดจากคดีเลี่ยงภาษีในเยอรมนี
:: แมนดี้ กินสเบิร์ก
อดีต CEO ของ Match Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Tinder, OKCupid, Hinge และแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอีกกว่า 45 แบรนด์ บริษัทดำเนินงานใน 190 ประเทศทั่วโลก และให้บริการใน 42 ภาษา เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียงไม่กี่คนในโลกของ CEO ด้านเทคโนโลยีที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ กินสเบิร์กทำงานให้กับ Match Group มานานถึง 12 ปีแล้ว โดยในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาในตำแหน่ง CEO ของบริษัททั้งกลุ่ม เธอให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันในองค์กร ทันทีที่ได้รับตำแหน่ง CEO เธอสั่งให้ตรวจสอบทั้งบริษัท เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานได้รับค่าตอบแทนที่เท่ากันสำหรับงานที่เท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนี้ เธอยังสนับสนุนระบบที่เธอนำมาใช้อย่างเปิดเผย เช่น การขึ้นเงินเดือนโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของพนักงาน เพราะจากสถิติแล้วผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเรียกร้องน้อยกว่าผู้ชาย
โดยส่วนตัว กินสเบิร์กสนใจด้านภาษา แม้จะสำเร็จการศึกษาด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แต่เธอยังเลือกเรียนต่อด้านวรรณคดีอังกฤษ สเปน และฮิบรู แม้จะมีงานยุ่งมาก แต่เธอก็หาเวลาเรียนรู้ภาษาใหม่อยู่เรื่อยๆ และในฐานะแม่ลูกสองที่เธอทุ่มเทให้พอๆ กับงานประจำแล้ว เธอยังต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง เป็นเหตุให้เธอต้องขอลดบทบาทจากตำแหน่งบริหารใน Match Group เมื่อช่วงต้นปี 2020 โดยให้ว่า “ทำไมฉันต้องออกไปตอนนี้? สี่เดือนที่ผ่านมาเป็นเหมือนบททดสอบฉันจริงๆ ในระดับส่วนตัว มีพายุทอร์นาโดในดัลลาสเมื่อเดือนตุลาคม มันถล่มบ้านของฉันจนทำให้ครอบครัวของฉันไม่มีที่อยู่ สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวของฉันอย่างแน่นอน และเมื่อเร็วๆ นี้ฉันยังมีปัญหาสุขภาพอีกด้วย” ตามรายงานของนิตยสาร TechCrunch บุคคลที่จะก้าวขึ้นแทนกินสเบิร์กคือ “ชาร์ ดูบีย์” ผู้หญิงอีกคนที่ทำงานในบริษัทมานานถึง 14 ปี เคยนั่งตำแหน่ง COO ของ Tinder Business ก่อนหน้านี้ และได้สร้างช่องพรีเมียม Tinder Gold จนประสบความสำเร็จมาแล้ว
:: วิตนีย์ วอล์ฟ เฮิร์ด
หลังออกจาก Tinder แล้ว เธอก็เริ่มธุรกิจแอปหาคู่ Bumble ของตนเอง จนกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่สร้างความร่ำรวยด้วยตัวเองเพียงไม่กี่รายในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2021 ชื่อของเธอก็ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ การเสนอขายหุ้น IPO ของแอป Bumble ทำให้เธอกลายเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยวัย 31 ปี (ปัจจุบันอายุ 34 ปี) เธอปฏิวัติโลกแห่งแอปหาคู่ด้วยแนวคิด “ผู้หญิงสามารถสร้างก้าวแรกได้” และยัง “ทำลายบรรทัดฐานรักต่างเพศที่ล้าสมัย” ลงด้วย ซึ่งเท่ากับเป็นการตอบโต้ Tinder ที่เธอเคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งในปี 2012 และก้าวออกมาในปี 2014 หลังจากเกิดข้อพิพาทกัน ครั้งนั้นเธอยังฟ้อง Tinder ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ และได้รับเงิน 1 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งหุ้นของบริษัทในการตกลงยอมความนอกศาล
ทุกวันนี้ เธอมีรายได้จากแบรนด์ Bumble และทรัพย์สินสูงถึง 1.2 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ เธอยังมีเว็บหาคู่ Badoo เป็นส่วนหนึ่งของบริษัทแม่ มีพนักงานราว 700 คนทำงานให้กับบริษัทในออสติน, บาร์เซโลนา, ลอนดอน และมอสโก ปัจจุบันมียอดผู้ใช้แอป Bumble มากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ไม่เพียงแต่ผู้คนที่ต้องการหาคู่เท่านั้นที่พอใจกับ Bumble แต่ยังมีกลุ่มนักลงทุนที่สนใจโมเดลธุรกิจของวอล์ฟ เฮิร์ด จากกรณีศึกษาของบริษัทลงทุน Susquehanna มีรายงานว่า Bumble ได้สร้างฐานในตลาดด้วยการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่มั่นคงด้วยแอปหาคู่ที่เน้นผู้หญิงเป็นศูนย์กลาง และ Bumble ไม่เพียงแต่จะได้รับประโยชน์จากเทรนด์ที่กำลังสร้างอยู่เท่านั้น หากยังจะขับเคลื่อนเทรนด์นั้นด้วย และถ้าใครอยากนัดเจอกันในสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับการออกเดทจริงๆ ในนิวยอร์ก ตอนนี้ก็สามารถเข้าไปที่ Bumble Brew ได้แล้ว วอล์ฟ เฮิร์ดได้ก้าวเข้าไปผจญภัยในโลกแห่งความจริงและเปิดร้านอาหารของตัวเอง ซึ่งเป็นร้านอาหารในย่านโนลิตาที่ทันสมัย