สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบเเละพระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับ โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มีความหมายอันลึกซึ้ง โดยทรงออกแบบเป็นภาพตัวอักษรภาษาอังกฤษคำว่า “BATIK MODEL” เพื่อใช้สื่อสารอย่างเป็นสากล ต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน การพัฒนาทักษะ และองค์ความรู้ด้านผ้าบาติก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าให้มีความทันสมัย ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ภายในตัวอักษรคำว่า BATIK มีลวดลายสายน้ำและกัลปังหา แทรกอยู่ ซึ่งสื่อความหมายดังนี้
“สายน้ำ” สื่อถึงหยาดหยดสี ที่ช่างบาติกถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านผืนผ้าบาติกชิ้นเอก ส่วน “กัลปังหา” สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย หนึ่งในแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ลวดลายผ้าบาติกภาคใต้
รวมทั้งสัญลักษณ์ “ภาพนกยูง” ที่ใช้แทนตัวอักษร “I” ภาพนกยูง สื่อถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และนกยูงยังเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความสวยงามของธรรมชาติ
“ภาพดอกดาหลา” ตรงตัวอักษร “A” คือดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความมุ่งมั่นของช่างบาติก ในการสร้างสรรค์ผ้าผืนงามที่มีเอกลักษณ์
ทั้งนี้ ภายในตราสัญลักษณ์ยังประกอบด้วย “ดอกพุดตาน” ที่เป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ภาคใต้ จุดกำเนิดภูมิปัญญาการรังสรรค์ผ้าบาติก เเละ “ผีเสื้อ” ที่หมายถึงการยกระดับผืนผ้าและผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกภาคใต้ ให้เป็นที่ยอมรับสู่ระดับสากล
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้พระราชทานตราสัญลักษณ์สำหรับ โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” สู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่มีความหมายอันลึกซึ้ง ก่อกำเนิดแรงบันดาลใจให้กับสมาชิกทั้ง 7 ชุมชนได้แก่ เก๋บาติก, SALOMA (ซาโลมา ปาเต๊ะ), วิสาหกิจชุมชนไฑบาติกเขาคราม (ไฑบาติก), กลุ่มผ้าปาเต๊ะ (นินา ปาเต๊ะ), บาติก เดอ นารา, ยาริง บาติก และรายา บาติก ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก “บาติกโมเดล” ดำเนินงานโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย
ที่มา FB : HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya, FB : ผ้าไทยใส่ให้สนุก