หนึ่งในรางวัลอันทรงเกียรติที่สุดในโลก ของสินค้าหมวดฟุ่มเฟือยคือ ‘Royal Warrant’ ซึ่งมอบให้แก่ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่น เครื่องประดับ และสินค้าหรูอื่นๆ อย่างเป็นทางการ ให้แก่กษัตริย์อังกฤษ การขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปที่แบรนด์ต่างๆ ว่าจะมีแบรนด์ไหนถูกพระทัยพระองค์ ถึงขั้นได้รับมอบ Royal Warrant กันบ้าง?
ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระองค์ทรงโปรดสินค้าหลายยี่ห้อ เช่น Burberry, Barbour, Pringle of Scotland, Hunter และ Launer ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์กระเป๋าถือของพระองค์ อย่างเป็นทางการมานานหลายสิบปี บริษัทอื่นๆ ที่มี Royal Warrant ได้แก่ Cartier สำหรับเพชรและนาฬิกา, Garrard ผู้ออกแบบเครื่องเพชรมงกุฎอย่างเป็นทางการ, Fortnum และ Mason’s สำหรับผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนและอาหาร ส่วน John Lewis สำหรับเครื่องแต่งกายบุรุษ ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับ Royal Warrant ประมาณ 800 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในหมวดแฟชั่น อาหาร และบริการ
การเป็นเจ้าของ Royal Warrant ช่วยให้บริษัทเหล่านั้น สามารถใช้ ‘Royal Coat of Arms’ หรือตราสัญลักษณ์ของสำนักพระราชวัง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนได้ เช่น บนโลโก้หรือบรรจุภัณฑ์ แนวทางปฏิบัตินี้ย้อนกลับไปในยุคกลาง เมื่อการแข่งขันเพื่อชิงความโปรดปรานของราชวงศ์ เป็นไปอย่างดุเดือดในศตวรรษที่ 15 ลอร์ดแชมเบอร์เลน ในฐานะต้นห้องของราชวงศ์ ได้แต่งตั้งพ่อค้าอย่างเป็นทางการ โดยมีใบสำคัญแสดงสิทธิ์ในการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้สถาบันกษัตริย์สามารถคัดเลือกช่างฝีมือที่ดีที่สุดในประเทศได้ แต่ถึงอย่างนั้น สมาคมที่เกี่ยวข้องนี้ เพิ่งเริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 1840 ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย
เมื่อมีกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ สำนักพระราชวังจะทบทวนการออกตราสัญลักษณ์ใหม่ แต่บริษัทหรือแบรนด์สินค้าที่เคยได้รับ Royal Warrant อยู่เดิมนั้น ทาง Royal Warrant Holders Association จะอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต่อไปได้ถึงสองปี
ในขณะเดียวกัน ก็มีนักออกแบบแฟชั่นจำนวนมากที่ทำงานให้กับราชวงศ์โดยไม่มี Royal Warrant แสดงสิทธิ์ อาทิ Alexander McQueen, Erdem และ Emelia Wickstead เพียงแต่พวกเขาเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดบางประการ เพื่อให้มีสิทธิ์ได้รับ Royal Warrant แต่ละบริษัทหรือแบรนด์ จะต้องทำงานถวายกษัตริย์ พระมเหสี/พระสวามี หรือเจ้าชายแห่งเวลส์และพระชายา เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีจาก 7 ปีที่ผ่านมา
การได้รับการยอมรับจากสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ คุณภาพ และความเป็นเลิศ ซึ่งสามารถช่วยสร้างภาพพจน์ให้กับบริษัทหรือแบรนด์ และเพิ่มยอดขายได้ การได้ครอบครอง Royal Warrant ยังเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีและประวัติศาสตร์อันยาวนาน ซึ่งอาจมีค่าอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์หรู ผู้ถือครอง Royal Warrant มักจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเผยตัวเพิ่มขึ้น และการรายงานข่าวของสื่อ ก็จะสามารถผลักดันแบรนด์ของพวกเขาไปสู่สังคมที่กว้างขึ้น และผู้บริโภคส่วนใหญ่มักจะมีความรู้สึกในเชิงบวก กับสินค้าที่มี Royal Warrant
ผู้เชี่ยวชาญในอังกฤษเชื่อว่า ยอดขายของสินค้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ หากมีตรา Royal Warrant ประทับอยู่ที่สลากหรือบรรจุภัณฑ์