xs
xsm
sm
md
lg

3 คลื่นลูกใหม่วงการแฟชั่น เตรียมปฏิวัติแบรนด์หรูให้ทรงอิทธิพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“แฟชั่นมาแล้วก็ไป แต่สไตล์ยังอยู่” โกโก ชาเนลเคยกล่าว มดงานในแวดวงแฟชั่นก็เช่นกัน หมุนเวียนเปลี่ยนค่ายกันเป็นเรื่องปกติ จนกว่าจะถอยห่างหรือวางมือจากวงการไป เรามาอัปเดตแฟชั่นของ 3 ค่ายที่เพิ่งมีคลื่นลมใหม่พัดไปเยือน นั่นคือแบรนด์ Helmut Lang, Prada และ Tom Ford พวกเขาเป็นใคร มาจากไหน ไปทำความรู้จักกัน?


:: ปีเตอร์ โด

ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่ของค่าย Helmut Lang แฟชั่นแบรนด์สัญชาติออสเตรียสไตล์มินิมัลลิสม์แบบแยกส่วน ที่มีอิทธิพลในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ปัจจุบันเป็นแบรนด์ในเครือ Fast Retailing ของญี่ปุ่น ซึ่งมีแบรนด์ Uniqlo, Theory และ J Brand ในสังกัดด้วย “ปีเตอร์ โด” ดีไซเนอร์เชื้อสายเวียดนาม โยกย้ายจากถิ่นกำเนิดมายังฟิลาเดลเฟียตั้งแต่อายุ 14 ร่ำเรียนด้านออกแบบแฟชั่นที่ Fashion Institute of Technology (FIT) ในนิวยอร์ก และคว้ารางวัล LVMH จากผลงานคอลเลกชันวิทยานิพนธ์ในปี 2014 เขาเริ่มต้นทำงานให้กับ Celine ภายใต้การดูแลของ “ฟีบี ฟิโล” และต่อมา “ดีเรค แลม” ก่อนจะออกไปสร้างแบรนด์ของตนเองในปี 2018 โดเข้ารับตำแหน่งที่ Helmut Lang สดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ของเขาคือ การเติมชีวิตใหม่ให้กับแบรนด์ที่กำลังซบเซา ทั้งไลน์เสื้อผ้าสตรีและบุรุษ เขาให้สัญญาผ่านอินสตาแกรมว่า เขาจะทำให้นิวยอร์กซิตีกลับมาเป็นศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงอีกครั้ง สำหรับทุกคนที่สนใจความคิดรุนแรงในแฟชั่น ในขณะที่ W Magazine ก็ส่งแรงเชียร์ ยกย่องโดเป็น “นักออกแบบมินิมัลของโมงยามนี้”


:: ลอเรนโซ แบร์เตลลี

เมื่อราวสองปีก่อนลูกชายคนที่สองของ “ปาตริซิโอ แบร์เตลลี และ มิวเซีย ปราดา” ต้องวางมือจากอาชีพแข่งรถแรลลีชั่วคราว เพื่อเข้าไปเรียนรู้งานและระบบการจัดการในบ้านหรูของ Prada ล่าสุด เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของบริษัท และยังดูแลด้านความยั่งยืนด้วย ในฐานะที่เป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอกำลังตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าแบรนด์หรูอย่าง Prada ไม่ได้อยู่ในกลุ่มตลาด ‘Fast Fashion’ โดยตรงก็ตาม แต่เขาก็พร้อมจะรับผิดชอบต่ออุตสาหกรรมทั้งหมด ในฐานะแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ดังนั้นบริษัทของเขาจึงร่วมมือกับแบรนด์ยุโรปอื่นๆ อีกหลายแบรนด์ นำเสนอความคิดริเริ่มร่วมกันในการรีไซเคิลเสื้อผ้าและเครื่องหนัง ภายใต้ชื่อ ‘Re.Crea’ ในส่วนของ Prada นั้น ได้ร่วมมือกับบริษัท Aquafil ของอิตาลี ผลิตไนลอนที่นำกลับมาใช้ใหม่ ได้จากอวนจับปลาที่ถูกทิ้งร้างกลางทะเล นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา Prada ยังเดินหน้าผลิตเครื่องประดับทองจากทองรีไซเคิลด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเจนเนอเรชันใหม่ แบร์เตลลีผู้พ่อได้แต่งตั้ง “อันเดรีย กูแอร์รา” ซึ่งเคยผ่านงานหินจาก Luxottica และ LVMH มาก่อน ให้นั่งตำแหน่งซีอีโอ ในขณะที่ ตัวเขาเองค่อยๆ ถอนตัวออกจากตำแหน่งผู้บริหารใหญ่ และภายในเวลา 2-3 ปี เมื่อลอเรนโซพร้อมและพ่อแม่เห็นชอบ เขาก็จะก้าวขึ้นแทนผู้เป็นพ่อ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นนักบริหารหนุ่มวัย 34 ปียังต้องพิสูจน์ตัวเอง ในการทำให้บริษัทมีสถานะทางนิเวศน์วิทยาที่ดีขึ้นด้วยเป้าหมาย นั่นคือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน “เราต้องเข้าใจว่า ระบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือ เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง” เขากล่าว “เราไม่สามารถหยุดการผลิตแฟชั่นได้ ดังนั้น เราจำเป็นต้องสร้างสมดุลใหม่”


:: ปีเตอร์ ฮอว์กินส์

ก้าวเข้าสู่สปอตไลต์หลังจากเป็นที่กล่าวถึง เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างแบรนด์แฟชั่นของ Tom Ford เคยทำงานเบื้องหลังและเป็นมือขวาของ ทอม ฟอร์ด มานานถึง 25 ปี นับตั้งแต่ฟอร์ดก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงกับแบรนด์ Gucci และเมื่อมีโอกาสได้ช่วยทำงานสร้างสรรค์เสื้อผ้าบุรุษที่ Tom Ford ตั้งแต่ปี 2006 “ปีเตอร์ ฮอว์กินส์” ก็เป็นเรี่ยวแรงสำคัญต่อความสำเร็จของแบรนด์ เขาเป็นผู้นำที่มีพรสวรรค์ อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมแฟชั่นมายาวนาน แม้แต่ ทอม ฟอร์ด เองก็ออกปากรับรองคุณภาพในตัวผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนใหม่นี้ หน้าที่ความรับผิดชอบของฮอว์กินส์ มีตั้งแต่การดูแลหมวดหมู่เสื้อผ้าสตรี เสื้อผ้าบุรุษ และเครื่องประดับ ไปจนถึงดูแลแผนกแฟชั่นและงานโชว์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น