มูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดม่านการแสดงโขนหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี 2566 ในชุด “โมกขศักดิ์” โดยคณะโขนเยาวชนจากศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ซึ่งจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 รอบการแสดง รอบบ่ายเวลา 13.30 น. และ รอบค่ำเวลา 18.00 น.(รอบเสด็จ) ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวว่า “เราได้จัดเตรียมการแสดงโขนรามเกียรติ์ ครั้งใหญ่ประจำปี 2566 ชื่อชุด โมกขศักดิ์ ซึ่งจะแสดงหน้าพระที่นั่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรามีการเตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมเยาวชนกว่า 300 ชีวิตที่จะขึ้นบนเวทีในครั้งนี้ และในปีนี้ทางสถาบันคึกฤทธิ์ยังเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานในทุกจุดของโขนรามเกียรติ์ โดยที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กที่ฝึกรำ ฝึกเล่นโขน เพราะเราเชื่อว่าการสืบทอดศิลปะวัฒนธรรมไม่จำเป็นแค่เรียนโขน หรือ เล่นดนตรีไทย พวกเขาสามารถเรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมผ่านการทำงานได้อีกหลายวิธี หลายรูปแบบ ซึ่งในรามเกียรติ์ ตอนโมกขศักดิ์ของเราได้เด็กมัธยมมาเป็นทีมโซเชียล ทีมกราฟฟิคดีไซน์ ที่มาออกแบบ เสื้อ กระเป๋าของชำรวยที่ขายในงาน ซึ่งออกมามีสไตล์จนผมเองยังแปลกใจ ขอเพียงเราเปิดโอกาสให้พวกเข้าได้สัมผัสใกล้ชิดกับศิลปะวัฒนธรรมของเรา เยาวชนเหล่านี้ก็จะเกิดความผูกพัน และ สืบต่อความสวยงามของศิลปะชาติด้วยตัวเขาเอง”
โขนรามเกียรติ์ตอน “ โมกขศักดิ์ ” เป็นเรื่องราวของ กุมภกรรณ พญายักษ์ซึ่งเป็นอนุชาของทศกัณฐ์ กุมภกรรณเป็นพญายักษ์ซึ่งครองธรรม รักษาไว้ซึ่งสัจจะ ทศกัณฐ์เรียกกุมภกรรณมาปรึกษาเรื่องการศึก กุมภกรรณจึงจำใจรับอาสาออกทำสงคราม โดยจะนำหอกโมกขศักดิ์อันมีฤทธิ์ร้ายกาจออกทำศึก แต่ด้วยเหตุอาเพศที่ต้องเสียสัจสุจริตหอกนั้นกลับเป็นสนิมทั้งสี่คม กุมภกรรณต้องประกอบพิธีลับหอก ริมแม่น้ำใหญ่ โดยจัดสั่งให้ตั้งโรงพิธีพร้อมทั้งเครื่องบูชาตามตำรา และได้สั่งไพร่พลกวดขันดูแลมิให้สิ่งปฏิกูลใดๆ ผ่านเข้ามาเป็นอันขาด ทางฝ่ายพระราม พิเภกกราบทูลว่า สิ่งที่จะทำลายพิธีได้ คือ ให้หนุมานและองคตแปลงกายเป็นอีกาที่จิกกินซากหมาเน่า ลอยผ่านเข้าไปใกล้บริเวณพิธี เมื่อกุมภกรรณได้กลิ่นก็จะประกอบพิธีต่อมิได้ ถึงกุมภกรรณเสียพิธีแต่ก็ต้องยกทัพออกรบกับพระลักษณ์ ในการรบครั้งนี้ พระลักษณ์เป็นฝ่ายเสียทีถูกหอกโมกขศักดิ์ปักพระอุระจนสลบลง กองทัพของกุมภกรรณจึงกลับเข้ากรุงลงกาอย่างฮึกเฮิม ฝ่ายพิเภกทูลพระรามว่าสรรพยาที่จะแก้ฤทธิ์หอกนี้ได้ คือ ต้นสังกรณีตรีชวาและน้ำปัญจมหานที แต่ที่สำคัญที่สุดคือถ้าแสงพระอาทิตย์สาดส่องเมื่อใดจะหมดโอกาสแก้ไขได้ หนุมานรับอาสาเหาะขึ้นไปบนฟากฟ้าเข้ายุดรถพระอาทิตย์ จนตนเองต้องพินาศเพราะอำนาจของแสงอาทิตย์ พระอาทิตย์เห็นเหตุการณ์ประหลาดครั้งนี้จึงชุบหนุมานขึ้นมาแล้วถามถึงสาเหตุ ในที่สุดพระอาทิตย์ก็ช่วยเหลือโดยชักรถหลบเข้าไปในกลีบเมฆ หนุมานไปเก็บสรรพยา และน้ำปัญจมหานทีจากกรุงอโยธยามาถวาย จนพระลักษณ์ฟื้นคืนสติ นำกองทัพกลับคืนสู่พลับพลา
การแสดงโขนชุดนี้ทางศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ได้จัดทำฉากใหม่ เพื่อให้วิจิตรตระการตากับผู้เข้าชม โดยให้อาจารย์ปาน สุธี ปิวรบุตร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศิลปกรรมในการออกแบบและสร้างฉากละคร สํานักการสังคีต กรมศิลปากร มาออกแบบฉากใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ผู้ชมได้อรรถรสให้การชมการแสดงโขนครั้งนี้ ประกอบกับฉากการยกขบวนกองทัพวานร และทัพอสูร ที่ออกแสดงบนเวทีพร้อมกัน จะสร้างปรากฏการณ์ความตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก และนอกจากนั้นทางสถาบันคึกฤทธิ์ ยังมีการแสดงประกอบชุดอื่นๆ จากเยาวชนของสถาบันคึกฤทธิ์ อาทิ มโหรีบรรเลงเพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุม เพลงถวายพระพร และรำถวายพระพร
โดยการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุด “โมกขศักดิ์” ได้จัดขึ้น ในวันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน 2566 จำนวน 2 รอบ รอบบ่าย เวลา 13.30-15.30 น. และรอบค่ำ เวลา 18.00-21.00 น. (รอบเสด็จ) ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ ซอยรางน้ำ เตรียมติดตามกิจกรรมการแสดงศิลปะและวัฒนธรรมของไทย พร้อมอัพเดทข่าวสารต่างๆ จากมูลนิธิคึกฤทธิ์ ๘๐ ฯ ผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute Tiktok: kipac.kukrit.2454@gmail.com IG: @kukritinstitute