ว่ากันว่า เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ในสโมสรฟุตบอลต่างๆ ของยุโรป ถ้าไม่ใช่มหาเศรษฐีจากรัสเซีย ก็เป็นเศรษฐีน้ำมันจากตะวันออกกลาง หรือไม่ก็ยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้าง นักธุรกิจทั้งหลายต่างกระโจนเข้าสู่ตลาดกีฬา ซึ่งเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่มีมูลค่ามหาศาล
หลายคนถูกตั้งข้อสงสัยว่า ซื้อทีมฟุตบอลไปก็เพื่อใช้กีฬาฟอกขาว ทีมสโมสรเก่าแก่ในยุโรปถูกเปลี่ยนมือผู้ครอบครอง แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแบบนั้นไปเสียทั้งหมด เรามาดูกันว่า ตอนนี้ทีมดังของลีกต่างๆ เป็นของใครกันบ้าง?
:: Manchester United
เริ่มจากทีมสโมสรที่ครองสถิติสูงสุด และประสบความสำเร็จมากที่สุดในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ เจ้าของหุ้นข้างมากคือ “ตระกูลเกลเซอร์” สัญชาติอเมริกัน ที่กว้านซื้อไปในปี 2005 มูลค่าถึง 1 พันล้านดอลลาร์ แมนยูฯ เริ่มเข้าตลาดหุ้นในนิวยอร์กตั้งแต่ปี 2012 และมีมูลค่าหุ้นราว 3.25 พันล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2020 แต่ตอนนี้ด้วยระยะที่ผ่านมา ผลงานที่ไม่ค่อยเข้าตาเหมือนเดิม ทำให้เกลเซอร์ได้มีการประกาศขาย ซึ่งว่ากันว่าตัวเลขสำหรับดีลนี้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์
มีเหล่าคนดังและมหาเศรษฐีเงินหนาหลายรายให้ความสนใจ ทั้งกลุ่มทุนจากตะวันออกกลาง อย่าง ชีคห์ ยัสซิม บิน ฮาหมัด อัล ธานี ผู้คุมตลาดการเงินของกาตาร์ เซอร์ จิม แร็ตคลิฟฟ์ มหาเศรษฐีของอังกฤษที่รวยติดอันดับท็อปของโลก ซึ่งเป็นแฟนบอลพันธุ์แท้ ไปจนถึง เดวิด เบกแฮม อดีตซุปตาร์แข้งทองในสังกัด ที่มีข่าวว่าได้ทำการระดมทุนเพื่อยื่นขอเสนอซื้อทีมเก่า และเขาเองก็เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลที่ลีกอื่นด้วยเช่นกัน
:: Manchester City
ถัดมาอีกหนึ่งสโมสรร่วมเมืองแมนเชสเตอร์ ทีมที่ได้ “เปป กอร์ดิโอลา” เป็นโค้ชมือหนึ่งนั้น อยู่ในความครอบครองของ City Football Group (CFG) ที่หุ้นส่วนใหญ่อยู่ในเครือบริษัท Abu Dhabi United Group ของ “ชีค มานซูร์ บินซาเยด อัล นาห์ยาน” นักการเมืองผู้มีบทบาทสำคัญในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากแมนเชสเตอร์ซิตีแล้ว กลุ่มบริษัท CFG ยังถือครองหุ้นสโมสรฟุตบอลในออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน สเปน อินเดีย และอุรุกวัยอีกด้วย
:: FC Arsenal
“สแตน ครองกี” มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ตัดสินใจเข้าไปควบกิจการสโมสรฟุตบอลที่มีอายุยาวนานกว่า 130 ปีเมื่อปี 2018 โดยซื้อหุ้น 30 เปอร์เซ็นต์จาก “อลิเชอร์ อุสมานอฟ” ผู้ถือหุ้นชาวรัสเซีย ในราคาที่ไม่เป็นที่เปิดเผย แล้วกระจายหุ้นส่วนที่เหลือให้กับนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ ทุกวันนี้มูลค่าหุ้นของเอฟซีอาร์เซนอลอยู่ที่ราว 2 พันล้านดอลลาร์
:: Inter Milan
ทีมสโมสรในอิตาลีที่เมื่อปี 2016 ได้รับข้อเสนอซื้อหุ้นกิจการจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของจีน Suning Commerce และได้สัดส่วนไป 70 เปอร์เซ็นต์มูลค่า 270 ล้านดอลลาร์ จนถึงทุกวันนี้มูลค่าประเมินของอินเตอร์ มิลานอยู่ที่ประมาณ 700 ล้านดอลลาร์ ยืนเป็นอันดับสองของทีมสโมสรอิตาลี
:: Paris Saint-Germain
กลุ่มบริษัทเงินทุน Qatar Sports Investments (QSI)-ซึ่งมี “ชีค ตะมีม บิน ฮะมัด อัษษานี” เอมีร์ผู้ครองรัฐกาตาร์ อยู่เบื้องหลัง-เข้าถือครองหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ไปตั้งแต่ปี 2011 รายได้หลักของ PSG มาจากสปอนเซอร์ ทุกวันนี้มูลค่าหุ้นของ PSG สูงถึง 1.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณดาวเด่นอย่าง “ลีโอเนล เมสซี” “เนย์มาร์” และ “คีลีองเอ็มบัปเป” ด้วย
:: FC Bayern München
ทีมสโมสรเยอรมนีเจ้าของสถิติมีสัดส่วนหุ้น 75 เปอร์เซ็นต์เป็นของสโมสรเอง และ 8.33 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัท Adidas, Audi และ Allianz ตอนที่บริษัทประกันเข้าร่วมถือหุ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มูลค่าหุ้นของสโมสรได้รับการประเมินที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ทุกวันนี้มูลค่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึงสองเท่าตัว
:: Borussia Dortmund
ทีมคู่แข่งสำคัญของบาเยิร์น มิวนิก เป็นสโมสรฟุตบอลทีมแรกของเยอรมนีที่เข้าตลาดหุ้นในปี 1999 หุ้นราว 60 เปอร์เซ็นต์ถูกแบ่งปันให้กับแฟนคลับ, 14.78 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทเคมีภัณฑ์ Evonik, 9.35 เปอร์เซ็นต์เป็นของ “แบร์นด์ เกสเค” นักธุรกิจชาวเยอรมัน, 5.53 เปอร์เซ็นต์เป็นของสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์, 5.43 เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทประกัน Signal Iduna และอีก 5เปอร์เซ็นต์เป็นของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬา Puma
:: Real Madrid / FC Barcelona
ทีมสโมสรทั้งสองของสเปน ค่อนข้างแตกต่างจากทีมคู่แข่งอื่นๆ ในยุโรป เพราะทั้งสองทีมไม่มีบริษัทเงินทุนถือครอง แต่เจ้าของล้วนเป็นสมาชิกสโมสร และเพราะความเป็นที่นิยม ทั้งสองทีมจึงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำกว่าทีมสโมสรอื่นๆ ในยุโรป จากการประเมิน “เรอัล” มีมูลค่าราว 3.2 พันล้านดอลลาร์ ส่วน “บาร์ซา” อยู่ที่ 2.7 พันล้านดอลลาร์