xs
xsm
sm
md
lg

“ปลาเร็วกินปลาใหญ่” แนวคิดวัยเก๋า! “วีรชัย มั่นสินธร” ต่อยอดธุรกิจยุคดิจิทัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากถามคนทั่วไป ส่วนใหญ่จะบอกว่าช่วงอายุ 60 ปีคือวัยเกษียณ แต่สำหรับ “เอี๋ยม-วีรชัย มั่นสินธร” เจ้าของธุรกิจกระดาษลูกฟูกที่สามารถฝ่าวิกฤตทางการเงินโลกมาได้ด้วยดี โดยปีนี้มีอายุครบ 66 ปีกลับตรงกันข้าม เพราะเขาคือข้อพิสูจน์ที่ว่า “ขอเพียงตั้งใจ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ ก็สามารถเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ” และอายุ 66 คือช่วงอายุที่เขายังไม่ยอมเกษียณ แต่กลับบอกว่า “ชีวิตผมเริ่มต้นที่อายุ 66”

เอี๋ยมก้าวสู่วงการธุรกิจกระดาษครั้งแรกแบบไม่สวยหรู แต่เป็นการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเลขติดลบ และต้องหยุดเรียนกลางคันเพื่อกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว จากวิกฤตทางการเงินที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ต้องมีหนี้สินก้อนใหญ่ แต่เด็กหนุ่มในขณะนั้นกลับมีจิตใจมุ่งมั่นที่จะกอบกู้กิจการ โดยไม่มีการปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว และนำหลักคิดที่ได้รับการปลูกฝังจากการร่ำเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น กลับมาบริหารกิจการจนกระทั่งผ่านพ้นวิกฤต ธุรกิจกระดาษในร้าน 2 คูหาเล็กๆ แถวถนนเสือป่า เติบโตอย่างมั่นคง จนในปัจจุบันบริษัท อุตสาหกรรมไทยบรรจุภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) มีมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 5 ผู้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศ

“ผมผ่านวิกฤตการณ์ทางการเงินมา 2 รอบ ครั้งแรกช่วงปี พ.ศ. 2523 ผมถูกเรียกตัวกลับมาจากญี่ปุ่น เพราะที่บ้านแจ้งไปว่าไม่มีเงินจะส่งเรียนแล้ว ตอนกลับมามีหนี้ 8 ล้าน ดอกเบี้ย 5 ล้าน ผมเริ่มจากการไปเจรจากับธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แล้วเริ่มต้นใหม่ ซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี จนมาเจอวิกฤตใหญ่อีกครั้งในปี 2540 รอบนั้นหนักมาก เพราะผมกู้เงินจากธนาคารเพื่อสร้างโรงงาน พอรัฐบาลประกาศค่าเงินลอยตัว จากหนี้ 500 ล้าน รวมดอกเบี้ยแล้วผมมีหนี้ 1,800 ล้านทันที อยู่ในสถานะล้มละลาย แต่ก็กัดฟันชำระหนี้มา 10 กว่าปี จนหมดหนี้สินเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ก็ถือว่าก็โชคดี ซึ่งผมคิดว่าที่ผ่านมาได้ เพราะเราซื่อตรงกับธนาคารมาตลอด เช็กประวัติแล้วบริษัทผมเป็นลูกค้าที่ดี ชำระหนี้ตรงเวลาทุกครั้ง ธนาคารก็เข้าใจและเห็นใจ ยอมให้เราปรับโครงสร้างหนี้ เพราะวิกฤตนี้เกิดทั้งประเทศ แม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ก็เป็น”


การทำธุรกิจกระดาษที่เห็นมาตั้งแต่เกิด จนเหมือนอยู่ในสายเลือดอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะนำธุรกิจที่มีหนี้สินเป็นตัวตั้งให้กลับมายืนหยัดอีกครั้งนั้นไม่ง่าย แต่สิ่งที่เขาเชื่อว่ามีส่วนช่วยให้ธุรกิจได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าและเจ้าหนี้ให้ได้รับ “โอกาส” ในการเริ่มใหม่ คือหลักคิดที่ได้รับการปลูกฝังและใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจมาโดยตลอด

“ผมได้ประสบการณ์จากญี่ปุ่นเรื่องความตรงต่อเวลา และวิธีการทำงานจะเขียนเป็นขั้นตอนไว้เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเอามาปรับใช้ ทำให้บริษัทเรา ณ วันนั้นเทียบกับคู่แข่ง เราแม่นยำ ผิดพลาดน้อย เพราะเราเป็นบริษัทรับจ้างผลิต ถ้าสื่อสารไม่ดี เวลาผลิตแล้วผิดก็จะมีปัญหากับลูกค้า แต่ด้วยกระบวนการนี้ทำให้เราเป็นบริษัทที่ลูกค้าพอใจ เพราะข้อผิดพลาดน้อยมาก ทำให้เติบโตได้รวดเร็วขึ้น และสิ่งที่ผมยึดถือมาตลอดคือความซื่อสัตย์ ทั้งต่อลูกค้า พนักงาน และคู่ค้า ซึ่งผมคิดว่ามีส่วนช่วยทำให้บริษัทรอดพ้นวิกฤตมาได้”


ธุรกิจกล่องกระดาษลูกฟูกแม้จะได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจ Low–Technology แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ผู้บริหารหัวทันสมัยอย่างเอี๋ยม ก็ไม่ลังเลที่จะปรับธุรกิจเข้าสู่ระบบดิจิทัล

“บริษัทเรามีอายุกว่า 50 ปี การจะเปลี่ยนระบบไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรายังมีพนักงานเก่าๆ ที่เขาก็คิดว่าระบบเก่าดีอยู่แล้ว ผมจึงต้องใช้วิธีค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ทำความเข้าใจให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งผมเอาการทำงานของคนรุ่นใหม่มาผสมกับคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นใหม่ใช้เครื่องมือเป็น แต่ขาดประสบการณ์ที่จะใช้เครื่องมือให้ตรงกับความต้องการของบริษัท เมื่อเราเอาสองรุ่นมาผสมกันมันจะออกมาสมบูรณ์ ซึ่งตอนนี้ระบบการบริการลูกค้า หรือด้านสื่อสารกับบริษัท เราปรับเป็นดิจิทัลแล้วเกือบทุกช่องทาง ส่วนด้านอื่นๆ เป็นระบบดิจิทัล 90% เพราะมีบางส่วนที่ยังต้องใช้ประสบการณ์ หรือคนมาประกอบการตัดสินใจ แต่ทุกอย่างทำบนแพลตฟอร์ม กระดาษที่พิมพ์ออกมาส่วนใหญ่ก็เอาไว้เป็นเรฟเฟอเรนซ์ ไม่ใช้วิธีการทำงานที่ใช้เขียนแล้ว”

แน่นอนว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาย่อมเป็นทั้งบทเรียนที่สอบผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง ณ วันนี้ เขาย่อมจะต้องมีคำแนะนำที่อยากส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ “ผมคิดว่าสมัยก่อนจะเริ่มทำธุรกิจมันยากเพราะต้องใช้ทุน แต่การแข่งขันไม่สูง ในขณะที่ปัจจุบันการแข่งขันสูงมาก สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เมื่อเทียบกับยักษ์ใหญ่ ถ้าทุนไม่มีก็จะสู้ยาก แต่มีคำหนึ่งที่บอกว่า สมัยก่อนปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว สมัยนี้ปลาเร็วกินปลาใหญ่ จะตัวเล็กหรือใหญ่ไม่เกี่ยว ถ้าเล็กและเร็วก็มีโอกาสกินปลาใหญ่ได้ ซึ่งเดี๋ยวนี้มีช่องทางทำธุรกิจฟรีๆ เช่น ออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ผมแนะนำคนรุ่นใหม่ให้ใช้ความเร็วและความคล่องตัวของปลาเล็กในการทำธุรกิจ คุณก็สามารถอยู่รอดในตลาดได้”


ส่วนเรื่องความเครียดของคนทำธุรกิจ ถ้าจะบอกว่าไม่มีก็คงไม่ใช่ แต่ความเครียดจะลดลงได้เมื่อมีแผน 2 อยู่เสมอ รวมถึงการเป็นคนมองโลกในแง่ดี และไลฟ์สไตล์ในวันว่างที่มีส่วนช่วยให้สุขภาพกายและใจดีไปพร้อมๆ กัน

“ผมเป็นคนคิด Worst Case Scenario เสมอ คิดว่าถ้าแย่ที่สุดเราจะไปต่ออย่างไร ถ้าล้มละลายบ้านถูกยึดเราจะทำอย่างไรต่อ ก็คิดไว้ว่าไปสอนหนังสือดีมั้ย เพราะเราจบญี่ปุ่นและได้ภาษาจีนด้วย เลยรู้สึกว่าไม่เป็นไรถึงเวลาก็ยังมีทางออกให้กับชีวิต ยังมีช่องทางที่พอจะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ ส่วนเวลาว่างผมก็ตีกอล์ฟหรือว่ายน้ำ เพราะเป็นกีฬาที่ไม่ทำร้ายร่างกายมาก ร้องเพลงคาราโอเกะ เดินทางท่องเที่ยวกับครอบครัวหรือเพื่อนบ้าง ส่วนประเทศที่ชอบน่าจะเป็นจีน เพราะตื่นตาตื่นใจทุกครั้งที่ไป ญี่ปุ่นถิ่นเดิมของเราก็เป็นประเทศที่ระเบียบวินัย คนไปเที่ยวสบายทุกอย่าง แต่จริงๆ อยากไปจีน เพราะทุกครั้งที่ไปคุณจะรู้สึก ”โอ้โห” แม้กระทั่งผ่านไปแค่ครึ่งปียังโอ้โหเลย เพราะมันเปลี่ยนเร็วมาก ผมว่าจีนเป็นประเทศที่น่าไปศึกษา ว่าเขาเปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้ได้อย่างไร”


ในวัย 66 ปี เขาส่งไม้ต่อให้ลูกชายบริหารบริษัท ส่วนตัวเขาไม่ได้เกษียณไปใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ไหน หากแต่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้นกับโปรเจกต์ใหม่ในการถ่ายทอดประสบการณ์ที่สั่งสมมา เพื่อส่งต่อ “โอกาส” ให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มก้าวได้มีช่องทางการขายสินค้า

“ผมอยากทำอะไรเพื่อคืนให้สังคมบ้าง แต่จะสอนทำกล่องก็คงไม่ใช่ พอดีผมได้ไปทำงานที่สภาอุตสาหกรรม (เคยเป็นนายกสมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย ปี 2540-2543 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาและสมาชิกกิตติมศักดิ์ สมาคมบรรจุภัณฑ์กระดาษลูกฟูกไทย) ได้ดูแลสถาบันความร่วมมือกับจีน เพราะผมเรียนจบจากปีนังสื่อสารภาษาจีนได้ดี ได้เข้าไปคลุกคลีกับคนที่เขาเอาของไปขายในจีน เลยรู้ว่าคนไทยจะเอาของไปขายจีนยากมาก แต่การทำงานในสภาฯ ทำให้ได้เห็นช่องว่างหลายอย่าง เลยเอาตรงนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยคนตัวเล็กๆ ให้สามารถทำมาหากินได้ ผมเลยคิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อต่อยอดเอาของไปขายในจีนผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นช่องทางที่ฟรี มีทั้งไอจี เฟซบุ๊ก และตอนนี้ที่ฮอตมากคือ ติ๊กต่อก

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเปิดไปรอบหนึ่ง 300 คน พอจบมีคนมาขอบคุณที่ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้าง แค่นี้ผมก็มีความสุขแล้ว เป็นการใช้เงินซื้อความสุขอีกแบบที่ไม่เคยได้ ตรงนี้ใช้เงินมากกว่าการไปเที่ยวเพราะผมเปิดอบรมฟรีทั้งหมด แต่ความสุขที่เราได้มันอิ่มเอมกว่าหลายสิบเท่า ผมรู้สึกดีและอยากทำต่อ เพราะนอกจากจะได้กูรูด้านต่างๆ มาช่วยแชร์ความรู้ และยังเกิดเน็ตเวิร์กกิงในการช่วยเหลือกัน ที่ผ่านมาเขาเหมือนหันซ้ายหันขวาไม่รู้จักใคร แต่วันนี้เขามีกลุ่ม 300 คนให้แชร์ ให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนคอยเป็นกำลังใจ เป็นโอกาส และเป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาสู้ต่อ ซึ่งผมจะนำวิดีโอมาตัดเป็นคลิปแล้วแชร์ลงใน Facebook Page: เอี๋ยม วีรชัย ให้คนอื่นๆ ได้ดูย้อนหลังด้วยครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น