ด้วยตั้งพระทัยที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะ ศิลปหัตถกรรมผ้าทอในแต่ละท้องถิ่น ที่ไม่เพียงงดงามและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน หากยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้เลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ THAI TEXTILES TREND BOOK Spring/Summer 2022 เล่มแรกขึ้น โดยทรงรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการบริหารด้วยพระองค์เอง ต่อเนื่องมาถึงเล่มล่าสุด THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ที่นำเสนอข้อมูลตั้งแต่ประเภทเนื้อผ้า การเลือกสี การออกแบบลวดลาย รวมไปถึงเทรนด์และแนวโน้มความเป็นไปในอนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้กับงานผ้าไทยได้อย่างมีทิศทาง โดยนำไปมอบให้แก่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน ช่างทอผ้า และผู้ที่ต้องการเป็นนักออกแบบในทุกสาขาทั่วทุกภูมิภาค ได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบสัมมาอาชีพ และร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาไทยที่ทรงคุณค่านี้ต่อไป
เทนด์บุ๊กเล่มนี้มี กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษา ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ได้ผลงานคุณภาพและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง
โอกาสนี้ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีเสด็จไปทรงเปิดงาน “THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 และงานเสวนาวิชาการ” พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย อีกทั้งทรงเป็นประธานในงานเสวนาวิชาการ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” ซึ่งจัดโดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทยให้มีความทันสมัย สร้างรายได้ต่อยอดให้แก่ชุมชน กลุ่มทอผ้า และผู้ประกอบการด้านผ้าไทย อีกทั้งเสริมสร้างให้เกิดภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัยแก่วงการผ้าไทย ณ สุราลัย ฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
งานนี้ 12 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์แถวหน้าระดับประเทศ ได้นำผ้าทอมือจากชุมชนต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ มาตัดเย็บเป็นชุดสวยภายใต้กลุ่มโทนสีในทิศทางต่างๆ ได้แก่ SIRIVANNAVARI BANGKOK, ARCHIVE026, ASAVA, EK THONGPRASERT, KLOSET, RENIM PROJECT, ISSUE, T AND T, THEATRE, VICKTEERUT, VINNPATARARIN และ WISHARAWISH
จากนั้น ทรงร่วมการเสวนาวิชาการ Symposium หัวข้อ “การส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล” เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเทรนด์บุ๊กของปีนี้ ที่นำเสนอกลุ่มโทนสีใน 6 ทิศทางหลัก ซึ่งใช้เป็นแนวทางในการผลิตและพัฒนาผ้าไทยในตลาดยุคปัจจุบัน โดยมีใจความสำคัญในพระราชดำรัสโดยสรุปว่า “สำหรับเล่มที่แล้วแนะนำเรื่องลวดลายผ้า มาเล่มนี้นำเสนอเกี่ยวกับสี โดยเฉพาะ “คราม” ซึ่งเป็นสีย้อมเย็นที่ทั่วโลกมีการใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าญี่ปุ่น อเมริกา อินเดีย แต่เฉดสีอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศหรือภูมิประเทศ สำหรับบ้านเราครามถือเป็นราชาในการย้อม และเป็นหัวใจของสีย้อมเลยก็ว่าได้ นำไปผสมผสานวัสดุต่างๆ จะได้เฉดสีที่หลากหลาย ซึ่งเล่มก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จมากในแง่ของผลตอบรับ และอุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความกระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่เรามีหนังสือด้านแฟชั่นอย่างจริงจังเสียที ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เล่มนี้สอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อๆ ไป”
กว่าจะสำเร็จเป็น THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาความรู้ เปรียบเสมือน “คัมภีร์” เพื่อการพัฒนาผ้าไทยนั้น ผ่านกระบวนการค้นคว้าข้อมูลเป็นแรมปี โดยมีคณะที่ปรึกษาในการจัดทำ กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้กประเทศไทย วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข นักออกแบบเจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH และ ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อให้ได้ผลงานคุณภาพและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้จริง
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือแบบ e-book ได้ทาง http://www.culture.go.th หรือที่ link http://book.culture.go.th/ttt2022/mobile/index.html#p=1 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โทร. 0-2247-0013 ต่อ 4305 และ 4319-4321 ในวันและเวลาราชการ