xs
xsm
sm
md
lg

บ้านคนดังริมน้ำเตรียมรับมือน้ำท่วมอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดต่างๆ ทั้งทางภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองกรุงและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะ ผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ มักจะใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กับปัญหาน้ำท่วมที่มีมาตลอดหลายสิบปี ไม่ท่วมตรงนั้นก็ท่วมตรงนี้ ไม่เคยที่จะแก้ปัญหาได้เลย ต้องตั้งรับอย่างเดียว ดังนั้น เหล่าเซเลบที่มีบ้านริมน้ำ ต่างก็ต้องเตรียมการเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน ซึ่งใครจะมีวิธีรับมืออย่างไรลองมาฟังกัน?


เริ่มที่ทายาทตระกูลเก่าแก่เห่งเมืองนนท์ “ตุ้ย-มณวิภา อรรถยุติ” ผู้ซึ่งไม่ประมาท สร้างแก้มลิงไว้ในบ้านเพื่อรับมือกับน้องน้ำในปี 2564 นี้

ตุ้ยเป็นบุตรีของ มงคล ปุสสเด็จ (บุตรชายขุนสมัตถ์รัชฎารักษ์ (ชื่น ปุสสเด็จ) ส่วนทวดของ มงคล ปุสสเด็จ คือ สมเด็จพระสังฆราช สา ปุสฺสเทโว สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เธอเล่าว่าคุณพ่อมาเจอคุณแม่ที่เมืองนนท์ ขณะที่ ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณแม่เป็นลูกสาวคนเดียวของคุณตาคุณยาย ซึ่งมีฐานะเป็นคหบดีในสมัยนั้น นอกจากคุณตาคุณยายจะมีสวนทุเรียนหลายแห่ง แล้วยังปลูกผลไม้อื่นๆ อีกมากมาย สมัยก่อนก็จะอยู่บ้านแบบโบราณซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา


“พี่อยู่ที่นั่นมาตั้งแต่เกิด แต่บ้านริมน้ำเกิดปัญหาน้ำท่วมบ่อย เลยย้ายมาอยู่บ้านในสวนแทน ซึ่งก็หนีไม่พ้นเรื่องน้ำท่วมอยู่ดี เพราะสวนอยู่ติดคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา ปี 2554 เรามีประสบการณ์เรื่องน้ำท่วมค่อนข้างจะเป็นฝันร้ายเลย เพราะขณะที่เราคิดว่าเราป้องกันอย่างดี มีการปิดกั้นทุกส่วนดีแล้ว แต่เราลืมนึกถึงกำแพงรั้วซึ่งอยู่ติดน้ำความยาวประมาณ 20 กว่าเมตร กำแพงถือเป็นด่านแรกที่ต้องปะทะกับปริมาณน้ำจำนวนมากในปีนั้น จึงเกิดพังขึ้นมาโดยที่เราไม่คาดหมาย จำได้ว่าน่ากลัวมาก น้ำไหลทะลักเข้ามาในบ้านเราทุกส่วน สูงระดับเอวเลยค่ะ ช่วงนั้นได้น้ำใจจากเพื่อนๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือดูแลอย่างดี”


เหตุการณ์ที่เป็นดั่งฝันร้าย ทำให้ตุ้ยเฝ้าระวังเรื่องน้ำมากขึ้น ในปี 2564 เมื่อมีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำที่ปริมาณมาก บวกกับพายุที่ถาโถมเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น และสิ่งแรกที่เธอทำคือ สำรวจกำแพงก่อนว่ายังไหวไหม


“เราสำรวจท้องร่อง ทำการขุดลอกเพิ่มการรับน้ำ และพยายามสูบน้ำออก เช้า กลางวัน เย็น เพราะถ้าน้ำเข้ามาก็ไหลลงท้องร่อง ซึ่งเปรียบเสมือนแก้มลิง ตรงนี้ช่วยเราได้มากจริงๆ ค่ะ เวลาน้ำในแม่น้ำขึ้นเมื่อซึมไหลเข้ามาในบริเวณรอบๆ บ้าน ก็จะไหลลงไปรวมกันอยู่ในท้องร่องนี้ เมื่อน้ำเริ่มเยอะ เราใช้เครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งไว้ที่ท้องร่อง โดยต่อท่อยาวๆ ผ่านคันกั้นน้ำ เพื่อคอยสูบน้ำออกไปลงแม่น้ำเจ้าพระยาอีกที สิ่งเหล่านี้คุณพ่อทำให้พวกเราตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอนและบอกกับพวกเราเสมอว่า การอยู่บ้านริมน้ำ ใกล้แม่น้ำหรือคลอง ต้องทำใจค่ะ ต้องหาทางป้องกันด้วยตัวเองตลอด น้ำเวลาสบายๆ เขาสวยให้ความสดชื่น รื่นรมย์ แต่เวลาเขาร้ายขึ้นมาก็จะน่ากลัวมากๆ เลยค่ะ” ตุ้ยเล่าฟังอย่างเป็นกันเอง


ส่วน “ทิปปี้-สุพรทิพย์ ช่วงรังษี” นอกเหนือจากบ้านสุขุมวิทที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และตกแต่งภายในอย่างงดงามแล้ว เธอยังมีบ้านริมแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นบ้านสีขาวสไตล์อังกฤษ 3 หลัง ท่ามกลางธรรมชาติอันเขียวขจี อันเป็นผืนดินที่รับมรกดตกทอดมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด

ทิปปี้เล่าถึงการเตรียมรับมือกับน้ำท่วม สำหรับคนที่มีบ้านอยู่ริมน้ำทุกคนต่างวิตกกังวลว่า วิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง ทุกคนต่างไม่เคยรับมือกับปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำบางปะกง ใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาทมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว

“คนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกงทุกคน ต่างรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่ต้นเหตุเสมอ ด้วยความที่แม่น้ำบางปะกงอยู่ปากอ่าวแม่น้ำ ดังนั้น ทุกคนจะชินกับสภาพน้ำขึ้นน้ำลง อันเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นตามสภาพภูมิประเทศ แต่ชาวบ้านบางปะกงที่อยู่ริมแม่น้ำรวมทั้งบ้านพี่ เราจะรับมือกันที่ต้นเหตุด้วยการปลูกบ้านบนที่สูงเหนือผืนน้ำ และยกพื้นสูงเมื่อเวลาน้ำทะเลหนุน หรือช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลง น้ำก็จะไม่ท่วมตัวบ้าน”


เซเลบสาวรสนิยมวิไลยังเล่าอีกว่า ถ้าทุกคนที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่ริมน้ำ หากไม่อยากประสบกับปัญหาบ้านโดนน้ำท่วมซ้ำซาก ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติให้ได้

“ตั้งแต่อยู่ที่บ้านริมน้ำบางปะกงมา เราไม่เคยประสบกับปัญหาน้ำท่วมเลย ถ้าไม่นับเรื่องโดนน้ำทะเลหนุนท่วมบ้าน แถวริมน้ำบางปะกงแทบไม่เคยโดนน้ำท่วม เพราะเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ สังเกตได้ว่าบ้านแถวริมน้ำบางปะกงเกือบทุกหลัง จะสร้างอยู่ในป่าชายเลน มีความร่มรื่นของแมกไม้สีเขียว เพราะป่าชายเลนจะเป็นแนวป้องกันชายฝั่งทะเลจากการกัดเซาะพังทลาย กำบังคลื่น ลม กระแสน้ำและพายุ ที่สำคัญ ทุกคนไม่ควรสร้างบ้านบุกล้ำน่านน้ำ อันจะก่อให้เกิดปัญหาท่วมซ้ำซาก อย่างที่เห็นกันตามข่าว” เซเลบสาวสาธยายถึงวิธีการเตรียมพร้อมรับน้ำท่วม


สำหรับคนดังอีกหลายคนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำ อย่าง วังจักรพงษ์ หรือจักรพงษ์วิลล่า ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ คุณตาของนักร้อง นักดนตรี และนักแสดงหนุ่ม “ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ที่ปัจจุบันตกทอดมาถึงฮิวโก้ ซึ่งเขาและครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านเรือนไทยติดกับริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเดียวกับวังจักรพงษ์


คฤหาสน์สุดหรูหราริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของ ไก่-วรายุฑ มิลินทจินดา ที่สามโคก จ.ปทุมธานี กลุ่มบ้านโทนสีขาวสะอาดตา แถมยังมีเรือสีขาวชื่อว่า “วราวารี” ตกแต่งอย่างหรูหราอลังการสมกับเป็นผู้จัดละครสุดเวอร์วังอลังการ อีกต่างหาก


บ้านริมน้ำบนพื้นที่ 4 ไร่ในจังหวัดนนทบุรีของ แซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี ซึ่งปกติการมีบ้านริมน้ำเปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน เพราะบรรยากาศของน้ำใสๆ ลมแม่น้ำที่พัดมาเอื่อยๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้ผ่อนคลายและสงบ แต่ถ้าเป็นช่วงเดือนตุลาคมที่มักจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม ก็ต้องพร้อมรับมือตลอดเวลา

ผู้บริหารกิจการเรือด่วนเจ้าพระยาและท่ามหาราช รวมทั้งธุรกิจอีกมากมาย “สุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม” ผู้ผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา และรักแม่น้ำเป็นชีวิตจิตใจ เพราะใช้ชีวิตอยู่ริมแม่น้ำมาตั้งแต่เด็กๆ แถมปัจจุบันยังได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับแม่น้ำ ที่ผ่านมา เจอกับวิกฤตน้ำท่วมมาตลอดหนักบ้างเบาบ้าง แต่ก็ผ่านมาได้ เพราะเตรียมรับมือมาแล้วอย่างดี

บ้านใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในจังหวัดนนทบุรี ที่มีบริเวณกว้างขวางของ สุชาติ ตันเจริญ คุณพ่อของพิธีกรสายมู มดดำ-คชาภา ตันเจริญ ซึ่งแม้ไม่ใช่ช่วงหน้าน้ำ บ้านนี้ก็มีการเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วมอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีบ้านหลังใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ของโรงเรียนทิวไผ่งาม ที่มี ณรงค์ ทิวไผ่งาม คุณพ่อของ ดร. อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม เป็นผู้ก่อตั้ง

ทั้งนี้ ทุกบ้านริมน้ำต่างก็มีการตระเตรียมเพื่อรับการมาแบบไม่ได้รับเชิญจากมวลน้ำในครั้งนี้ ซึ่งบางพื้นที่ที่ไม่คิดว่าจะท่วมก็ยังท่วม ประสบการณ์จากหลายๆ ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ทุกคนประมาทไม่ได้ พร้อมรับมืออยู่เสมอ ดังนั้น ก็ขอเอาใจช่วยให้บ้านริมน้ำทุกบ้านรอดพ้นจากภาวะน้ำท่วมในปีนี้ด้วยคร่า


กำลังโหลดความคิดเห็น