ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรีมาครึ่งตัวแล้ว สำหรับ โอลาฟ โชลซ์ ที่เพิ่งนำพาพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) กลับขึ้นมาเรืองอำนาจอีกครั้ง หลังชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย SPD นับเป็นพรรคการเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุดในเยอรมนี ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1945
โอลาฟ โชลซ์ ยังต้องสร้างพันธมิตร ในการเข้ามาแทนที่ แองเกลา แมร์เคิล จากพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (CDU) ในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังจากที่เธออยู่ในตำแหน่งมาถึง 16 ปี
ก่อนหน้านี้ พรรค SPD ของโอลาฟ เป็นรัฐบาลผสมกับพรรค CDU ของแองเกลาถึง 3 สมัยติดต่อกัน แน่นอนว่า ไม่ใช่ความพอใจเท่าไหร่ในการตกเป็นรองบ่อยๆ และต้องอยู่ในฐานะคล้ายๆ ไม้ประดับ แต่การอยู่ร่วมในคณะรัฐบาล ก็ช่วยยกระดับโพรไฟล์ของพรรค จนมีวันที่กลับมาเป็นอันดับหนึ่งได้เสียที
โอลาฟ โชลซ์ นั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยของแองเกลา แมร์เคิล ซึ่งในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 รมว.คลัง วัย 63 มีบทบาทอย่างมากในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการดูแลการแจกจ่ายเงินช่วยเหลือหลายพันล้านยูโร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส รวมทั้งให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้ประสบอุทกภัยในฤดูร้อนในเยอรมนีตะวันตก
โอลาฟ มีฉายาในเยอรมนีว่า "สโคลโซมัต" เพราะปากแห้งจากการหมกมุ่นอยู่กับรูปแบบการเมืองที่น่าเบื่อ แต่นั่นกลายเป็นประโยชน์ต่อเขา เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ยังคงผูกพันกับ แองเกลา แมร์เคิล ที่เหมือนจะวางตำแหน่งเขาให้เป็นผู้สืบทอดโดยธรรมชาติของเธอ แม้ว่าจะอยู่กันคนละพรรคก็ตาม
“16 ปี ของแองเกลา ได้สร้างผลกระทบอย่างมาก ต่อวัฒนธรรมทางการเมืองของเยอรมนี” ฟรังก์ สเตราส์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารทางการเมืองที่เคยทำงานร่วมกับ SPD กล่าว “โอลาฟ โชลซ์ ไม่ใช่ clone ของแองเกลา แต่เขามีสไตล์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกันมากพอที่จะดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาจกำลังมองหาสิ่งเดียวกัน”
โอลาฟ โชลซ์ เกิดในเมืองออสนาบรึค ในรัฐโลเวอร์แซกโซนี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเยอรมนี และเติบโตในรัฐฮัมบูร์กที่มั่งคั่งบนชายฝั่งทางเหนือของเยอรมนี ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีด้วย สลับไปมาระหว่างการเมืองระดับรัฐและระดับชาติ
เขาเคยดำรงตำแหน่งในรัฐสภาหรือ Bundestag และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมในคณะรัฐมนตรีชุดแรกของแองเกลา แมร์เคิล
อาชีพทางการเมืองของเขาเต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาว ในขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองฮัมบูร์ก เขาต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์ในการจัดการประชุมสุดยอดกลุ่ม 20 ในปี 2017 เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวลุกลามไปสู่ความรุนแรงในวงกว้างระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจ
นอกจากนี้ เขายังเจอการการไต่สวนของรัฐสภาโดยฝ่ายนิติบัญญัติเมื่อต้นปีนี้ หลังจากเห็นว่าเขาบกพร่องในการกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน ที่มีการเปิดเผยเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการฉ้อโกงหลังสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งเขาได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
นอกจากนี้ โอลาฟ ยังถูกสอบสวน ว่าเขาได้กระทำการเพื่อโน้มน้าวหน่วยงานด้านภาษีในนามของธนาคารฮัมบูร์กที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องอื้อฉาวการฉ้อโกง ซึ่งทำให้รัฐขาดรายได้หลายพันล้านยูโรในเยอรมนีหรือไม่ เขาได้ปฏิเสธการกระทำผิดเช่นเคย และไม่มีหลักฐานที่เป็นรูปธรรมใดๆ ที่จะเอาผิดได้
ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง โอลาฟ ยังถูกบังคับให้กลับไปเบอร์ลิน เพื่อตอบคำถามคณะกรรมการการเงินของรัฐสภา หลังจากอัยการสั่งการค้นกระทรวงการคลัง อันเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการขัดขวางกระบวนการยุติธรรมที่หน่วยปราบปรามการฟอกเงิน ฝ่ายกฎหมายของ SPD บอกเป็นนัยว่า น่าจะเป็นการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง เนื่องจากพรรคของพวกเขากำลังเป็นผู้นำในการเลือกตั้ง เคราะห์ดีที่เรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อคะแนนเสียงหลังจากนั้น
ทว่า สิ่งที่ส่งเสริม โอลาฟ โชลซ์ และ SPD อย่างแท้จริงคือแคมเปญที่สะดุดของคู่แข่งมากกว่า โดยพรรค CDU เดิมมีปัญหาเรื่องนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและการเก็บภาษีกับคนรวย ขณะที่พรรคกรีน ชูการเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2030 ขณะที่ SPD อะลุ้มอล่วยให้ยึดตามวันที่เป้าหมายที่มีอยู่ในแผนเก่า คือปี 2038 ฯลฯ
นอกจากนี้ ทีมหาเสียงของโอลาฟ ยังทำงานได้ดีอย่างต่อเนื่องในการสำรวจที่ถามคำถามเชิงทฤษฎีกับชาวเยอรมันว่า พวกเขาจะลงคะแนนให้ใครหากพวกเขาสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง ซึ่งคล้ายเป็นการหาเสียงกลายๆ อย่างแยบยล
อดีต รมว.คลัง ที่พูดจานุ่มนวล ได้แสดงความมั่นใจอย่างเงียบๆ ว่าเขาจะประสบความสำเร็จ แม้ในช่วงแรก ๆ ของการรณรงค์จะยังไม่มีวี่แววเลยก็ตาม
สำหรับด้านชีวิตส่วนตัว โอลาฟ โชลซ์ สมรสกับ บริตตา แอร์นสท์ ในปี 1998 โดยเธอเองก็เป็นนักการเมืองสังกัดพรรค SPD เช่นกัน และเป็นโฉมหน้าที่รู้จักกันดีในระดับท้องถิ่น โดยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และการกีฬาแห่งเมืองบรันเดนบูร์ก