ได้ชื่อว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบทำงานช่วยเหลือสังคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สำหรับ โม–ม.ล. รังษิอาภา และ โก้-ม.ล. รังษิธร ภาณุพันธุ์ บุตรสาวและบุตรชายของ ม.ร.ว. พันธุรังษี ภาณุพันธุ์ กับ อาภาวรรณ ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ดังนั้น ต่อให้เป็นช่วงที่ทั้งโลกเจอกับวิกฤตโรคระบาด ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย ทั้งคู่ยังร่วมแรงแข็งขันแท็กทีมมาทำงานจิตอาสา ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกปั้น Zero Covid Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือ “0” ให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งคลังความรู้ที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้เกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อหวังช่วยยุติการแพร่กระจายของเชื้อในประเทศไทยให้เหลือศูนย์ โดยมีหลากหลายช่องทางให้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ Blockdit
โม–ม.ล.รังษิอาภา ในฐานะ Core Team ของ Zero Covid Thailand เผยถึงที่มาของการมาร่วมงานจิตอาสาในครั้งนี้ว่า ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว เธอก็ได้มีโอกาสมาร่วมทำงานจิตอาสากับทาง endcoronavirus.org ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอ ที่มุ่งเผยแพร่ความรู้และวิธีรับมือกับโควิด-19 อย่างถูกต้องให้กับประชาชน โดยหน้าที่หลักในตอนนั้นคือ ช่วยแปลเอกสารเกี่ยวกับโควิด-19 เป็นภาษาไทย เพื่อให้ความรู้กับคนไทย
“พอสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกเริ่มคลี่คลาย งานอาสาที่ทำอยู่ก็เริ่มเพลาลงไป จนพอเดือนเมษายนที่ผ่านมา เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่ ทีมที่ทำงานด้วยกันตอน endcoronavirus.org เลยชวนให้มาทำ Zero Covid Thailand ซึ่งบทบาทก็ไม่ได้ต่างจากเดิม ยังคงเป็นช่องทางให้ความรู้เรื่องโควิด- 19 โดยทีมอาสาที่เราทำงานด้วยกันมีประมาณ 10 กว่าคน โมดูในส่วนของคอนเทนต์ ตั้งการคัดเลือกข้อมูลหรืองานวิจัยที่น่าสนใจมาแปล หรือถ้าเรื่องไหนมีศัพท์เทคนิคเยอะ ก็ต้องให้ทางล่ามแพทย์ที่เป็นอาสาช่วยแปลให้ พร้อมกับเลือกรูปแบบในการนำเสนอคอนเทนต์ เพื่อแปลงข้อมูลที่เป็นเรื่องยากให้เข้าใจง่าย โดยบางเรื่องอาจจะทำเป็นบทความ อินโฟกราฟิก หรือวิดีโอ
นอกจากในส่วนคอนเทนต์ โมยังรับหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เช่นตอนนี้เรามีแคมเปญแจกเครื่องวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขนาดจิ๋วในไทยและเอเชีย โมก็ต้องประสานงานและประชุมกับนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งด้วยความที่เราทำงานกับทีมต่างประเทศ ก็อาจจะมีทำงานดึกๆ บ้าง เพราะ Zero Covid Thailand เป็นส่วนหนึ่งของ Zero Covid Alliance ซึ่งมีในหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ล่าสุด กำลังจะมีที่ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม จะเรียกว่าเป็นครั้งแรกของโมก็ว่าได้ ในการทำงานจิตอาสารูปแบบใหม่คือ ไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่ แต่ใช้วิธีให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และถูกต้องกับประชาชน ซึ่งหากวัดจากจำนวนผู้ที่ให้ความสนใจมากดติดตามเพจ ก็ต้องถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเลยทีเดียว เพราะหลังจากเปิดตัวเพจเมื่อเดือนพฤษภาคม เพียงไม่กี่เดือนนี้ Zero Covid Thailand รวมพลังไทยลดยอดติดเชื้อ ให้เหลือ “0” มียอดไลก์เพจ 84,011ไลก์ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค. 2564)
“เป้าหมายสูงสุดของเราคือ อยากเห็นยอดผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นศูนย์ แม้ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหน แต่โมตั้งใจว่าจะทำงานตรงนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”
โมยังเสริมด้วยว่า การทำงานจิตอาสาครั้งนี้ เธอยังชวนพี่ชาย (โก้-ม.ล. รังษิธร) มาร่วมด้วยช่วยกัน ตั้งแต่ฟอร์มทีม เพราะที่ผ่านมาพี่ชายก็ทำงานด้านจิตอาสาอยู่แล้ว และเห็นว่าน่าจะช่วยเป็นกระบอกเสียงได้ดี โดยหน้าที่หลักคือ ช่วยประชาสัมพันธ์และติดต่อกับอินฟลูเอนเซอร์ ในการโปรโมตแคมเปญต่างๆ
“อย่างที่บอก ตอนนี้เรามีโครงการแจกเครื่องวัด CO2 ตัวจิ๋ว เพื่อวัดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ตามอาคารที่สำคัญต่างๆ โดยระดับค่าคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 )ที่แสดงผลจะใช้แทนความเสี่ยงในการกระจายเชื้อโควิดนั่นเอง หากห้องที่คุณอยู่มีผู้อื่นอยู่ด้วย CO2 ก็จะถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การพูดคุย ตะโกน หรือร้องเพลง ทำให้ค่า CO2 สูงขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เราควรระวังตัวและระบายอากาศในห้องได้แล้ว
ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงประชาสัมพันธ์โครงการ ซึ่งพี่โก้ก็จะเข้ามาช่วยได้เยอะ รวมถึงในอนาคตเรามีแผนจะจัดคอร์ส เชิญวิทยากร มาให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องโควิด ก็ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง หรืออย่างล่าสุด พี่โก้ไปออกรายการ Witcast ก็มีกลุ่มหมอและผู้เชี่ยวชาญด้าน Airborne ในประเทศไทย ให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาทางเพจ อยากมาร่วมทีม เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา เพจเรามีการนำเสนอข้อมูลอัปเดต เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอากาศผ่านละอองลอย (Airborne Transmission) อย่างต่อเนื่อง”
ถามว่าการทำงานอาสาด้วยใจ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ทำให้มีช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยหรือท้อใจบ้างมั้ย โมยอมรับว่า “มีวันที่เหนื่อย หรือไมเกรนขึ้น (หัวเราะ) เป็นธรรมดา แต่โมจะไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่กับความรู้สึกนี้นาน พอเรียกสติกลับมาได้ก็จะลุยงานต่อ เพราะโมไม่ได้โฟกัสว่าการทำงานตรงนี้ต้องได้ค่าตอบแทนกลับมา แต่มองที่เป้าหมายของการทำงาน ซึ่งทำด้วยใจ โฟกัสไปที่การให้
โมว่าคนเราจะนึกถึงแต่ตัวเองไม่ได้ แต่ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย การที่ได้มาทำงานตรงนี้ ทำให้โมดีใจ ทุกครั้งที่เห็นคนไทยตื่นตัวมากขึ้น โมคิดว่าแทนที่เราจะรอคอยความช่วยเหลือ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือ ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัย ไม่เพียงแค่เป็นประโยชน์กับครอบครัว คนรอบข้าง และไม่เป็นภาระบุคลากรทางการแพทย์ โมเชื่อว่าเป้าหมายที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ทำได้จริง เพียงแต่ทุกคนต้องช่วยกัน” โมทิ้งท้าย