เชื่อว่าทุกสายตาของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในมองไทย ต่างจับตาโมเดล “Phuket Sandbox” บนไข่มุกอันดามันของไทย ที่ถูกจัดเป็นพื้นที่นำร่องเตรียมการเปิดประเทศ ทดลองเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้ามาช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ซบเซาอย่างหนัก จากผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งหากการทดลองเวลา 3 เดือนประสบความสำเร็จ จะเป็นต้นแบบขยายไปสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ ซึ่งนับเป็นทางรอดสำคัญ ที่จะมาช่วยต่อท่อหายใจให้เศรษฐกิจของประเทศได้เดินหน้าต่อไป
งานนี้เหล่าเซเลบที่มีกิจการในท้องที่ภูเก็ตต่างก็ลุ้นหนัก พร้อมเดินหน้าธุรกิจอย่างเต็มกำลัง วางแผนรับมือ และคาดหวังต่อ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” อย่างไรบ้าง?
ด้วยประสบการณ์ด้านการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวระดับนานาชาติมานานกว่า 20 ปี ทั้งริเริ่มการจัด ไทยแลนด์ บอลลูน เฟสติวัล ที่เชียงใหม่ งานอาร์ตเฟสติวัล ที่ราชประสงค์ การร่วมงานกับองค์กรดังช่วยสนับสนุนงานฝีมือของไทยสู่ระดับนานาชาติ เมื่อถึงคราวตัดสินใจกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดทางภาคใต้ ทำให้ “อ้อม–สรณ์ฉัตร ไกรนรา” ถูกเชื้อเชิญให้มาสร้างสีสันใหม่ๆ ให้การท่องเที่ยวของภูเก็ต
“ตอนนี้พี่มีตำแหน่งเป็น อุปนายกสมาคมส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA) เข้ามาช่วยดูแลเรื่องการจัดกิจกรรม สร้างอีเวนต์ที่น่าสนใจให้กับที่นี่ เพราะจะว่าไปแล้วก่อนหน้านี้แม้ภูเก็ตจะมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ แต่ถ้าให้นึกถึงเทศกาลหรืออีเวนต์ประจำปีต่างๆ แทบจะนึกกันไม่ออก โดยเฉพาะ ในเรื่องเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ซึ่งที่นี่มีเยอะมาก มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ มีคนต่างชาติพันธุ์อาศัยอยู่มากมาย มีอะไรให้เล่นเยอะ แต่กลับไม่เคยมีการรวบรวม จัดสร้างเทศกาลที่จะถูกบรรจุลงปฏิทินโลกเลย
ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภูเก็ตมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวมาก ด้วยสภาพภูมิประเทศ ทำเลที่ตั้ง ธรรมชาติ และองค์ประกอบต่างๆ ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวติดอันดับโลก โดยไม่ต้องพยายามอะไรมากมายเลย ทุกปีก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็น 10 ล้านคน ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์โควิด-19 ขึ้น ต้องบอกเลยว่ามันกระทบไปหมด นักท่องเที่ยวไม่มี ธุรกิจต่างๆ ที่อาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลักก็เจ็บหนัก”
แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีสิ่งดีๆ เพราะอ้อมมองเห็นอีกมุมหนึ่งว่านี่ก็เป็นโอกาส “พี่มองว่าพอเกิดวิกฤตขึ้น มันทำให้ทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกันมากขึ้น หันมามองว่ามีอะไรดี อะไรที่มีคุณค่า ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมากขึ้น เห็นมุมใหม่ๆ ที่จะนำเสนอ หาเสน่ห์ดึงดูดใหม่ๆ เพราะจะมากินบุญเก่า หวังให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเองแบบเดิมไม่ได้แล้ว คือแอคทีฟกันมากขึ้น ต้องมีทางเลือก จะได้มีทางรอดเวลาเกิดวิกฤต และช่วยกันลบล้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีออกไป พวกมาเฟีย ขาใหญ่ โก่งราคา ตอนนี้คนในท้องที่ก็พร้อมจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ใครทำไม่ดีใครทำเสียชื่อคือโดนแน่ หันมาร่วมสร้างภูเก็ตเวอร์ชันใหม่ เป็น New Normal Phuket”
ส่วนงานเทศกาลที่น่าสนใจ ก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จะช่วยสร้างเสน่ห์ใหม่ๆ ให้กับเกาะภูเก็ตได้ “งาน Festival ต่างๆ สามารถช่วยสร้างสีสันให้การท่องเที่ยว และดึงเม็ดเงินให้เข้ามาได้อีกมาก สร้างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พี่เลยอยากให้ภูเก็ตมีตรงนี้ ก็ได้เริ่มทำงาน Living Art festival ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวบรวมเอาศิลปะหลากหลายแขนงมานำเสนอ และดึงสิ่งที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนมารวมด้วย ให้ทุกคนรู้สึกเข้าถึงและสัมผัสได้ง่าย ซึ่งที่นี่ศิลปะแข็งอยู่แล้ว เราแค่นำออกมาให้คนชื่นชมและส่งต่อไปถึงระดับโลก”
นอกจากจะดำรงตำแหน่งอุปนายกฯ แล้ว หมวกอีกใบของอ้อมคือ ประธานบริหาร บริษัท เดอะ ลิฟวิ่ง อาร์ต จำกัด ดูแล The Living Art Gallery ในโครงการบลูทรี ภูเก็ต แหล่งรวมไลฟ์สไตล์ เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีทั้งแหล่งชอปปิ้ง สวนน้ำ และแกลอรี
“The Living Art Gallery เป็นไลฟ์สไตล์แกลอรีขนาดใหญ่ โดยแบ่งออกเป็นหลายโซน อย่าง โซนโอเชียน โซนธรรมชาติ โซนเพอรานากัน จัดโชว์ศิลปะที่แตกต่างกันออกไป โดยศิลปะที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงภาพวาด หรือของแบบในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น แต่เป็นศิลปะที่ใช้ได้ในชีวิตจริง อย่าง ของใช้ ของแต่งบ้าน เครื่องสานถักทอ ไปจนถึงต้นไม้ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้น และในการทำภูเก็ตแซนด์บอกซ์นี้ ทางแกลอรีของเราก็พร้อมรับมือ เตรียมการจัดอาร์ตเวิร์กชอปต่างๆ ไว้รองรับ จัดสรรกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวที่จะมาอยู่ในเกาะ 14 วัน ให้มีอะไรสนุกๆ ทำได้แบบไม่รู้เบื่อ
นอกจากนี้ ยังได้วางแผนระยะยาวไปถึงช่วงเดือนตุลาคม ที่กำลังแพลนงาน Tenth Lunar x The Carnival (บุญเดือนสิบ เดอะคาร์นิวัล) ที่ดึงวัฒนธรรมเดือนสิบของทั่วโลกมาผสมผสานกัน ทั้งงานบุญเดือนสิบที่เป็นความเชื่อของคนใต้ที่เกี่ยวกับความตาย วันฮาโลวีนเทศกาลปล่อยผีของนานาชาติ และงาน day of the death งานเฉลิมฉลองให้กับคนตายของทางฝั่งละติน ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมตรงกันหมด เราก็จะนำเอาวัฒนธรรมของทุกเชื้อชาตินี้มาไว้ด้วยกัน ก็เชื่อว่าจะเป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อยค่ะ”
ด้าน ประวิช จรรยาสิทธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การค้าจังซีลอน ป่าตอง ภูเก็ต ก็ได้ออกมาแสดงความพร้อม โดยกล่าวว่า ศูนย์การค้ารับตราสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA Plus+ อย่างเป็นทางการ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงสาธารณสุข ต่อยอดจากมาตรฐาน SHA ในโครงการ “Amazing Thailand Safety and Health Administration” ที่ยืนยันว่าสถานประกอบการมีมาตรการทางสาธารณสุขในการควบคุมโรคโควิด-19
“ตอนนี้พนักงานของเราได้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสไปแล้วมากกว่า 90% ซึ่งทางศูนย์การค้าของเรา ได้เปิดเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนเป็นแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต พร้อมส่งข้อมูลข่าวสารอัปเดต เพื่อให้ร้านค้าพิจารณากลับมาเปิดให้บริการมากขึ้น และเพื่อที่จะให้พนักงานทุกคนภายในร้านค้า มารับการฉีดวัคซีนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข เราจะคอยช่วยอัปเดตข่าวสารกับร้านค้าอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและสร้างความมั่นใจแก่ร้านค้า และอีกหน้าที่สำคัญของเราคือ การช่วยเหลือร้านค้าในการทำการตลาด เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้มาชอปได้อย่างสบายใจ
ซีอีโอใหญ่ของจังซีลอน อธิบายเพิ่มเติมถึงแนวทางการจัดเตรียมกลยุทธ์โปรโมชันแผนการตลาดต่างๆ ไว้รองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติว่า
“เราได้ทำการประชาสัมพันธ์ความงดงาม หรือไฮไลต์ของจังหวัดภูเก็ต ในทำนองเดียวกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อสื่อสารให้นักท่องเที่ยวเห็นความงดงามของเกาะภูเก็ตที่มากกว่าเดิม ในสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของจังซีลอน เพราะตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกาะภูเก็ตก็มีนักท่องเที่ยวลดลงไปอย่างมาก จึงทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เกาะต่างๆ ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง
ต้องยอมรับว่านักท่องเที่ยวที่เดินทางมาภูเก็ตส่วนใหญ่ ไม่ได้มาเพื่อชอปปิ้งเป็นหลัก เขาต้องการมาชื่นชมความงดงามของท้องทะเล และวัฒนธรรมต่างๆ ของภูเก็ต แต่การชอปปิ้งนั้นเป็นประสบการณ์เสริม เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งที่เพิ่มเติมจากการท่องเที่ยว ซึ่งทางเราก็ได้จัดเตรียมโปรโมชันดีๆ ไว้มากมายเลยครับ”
ประวิชมองว่า การเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดประเทศ ไม่เช่นนั้นธุรกิจต่างๆ มันไปต่อไม่ได้ เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นที่จะทำอะไร ประเทศไทยของเราก็จะไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ และทุกการเริ่มต้นย่อมต้องเผชิญกับปัญหามากมาย เข้ามาให้แก้ไขตลอดเวลา ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ผ่านพ้นไปให้ได้ เพราะนี่จะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังจะเปิดประเทศ และถ้าเกาะภูเก็ตทำสำเร็จก็จะกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ และเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า “ภูเก็ตต้องชนะ”