xs
xsm
sm
md
lg

ดร.พิมพ์ขวัญ ชวนไขหาคำตอบ สุขภาพจิตคุณแม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตามปกติแล้วผู้หญิงช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทางร่างกายมากมาย หลายคนอาจเผชิญสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และยิ่งช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณแม่มือใหม่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน Work From Home หรือไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอกที่ตนชอบได้เหมือนเดิมก็อาจทำให้มีความสุขน้อยลงกว่าแต่ก่อน วันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ ต่อการดูแลจิตใจมาฝากคุณแม่ทุกคน


ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล ผู้บริหาร Vital Glow Skin & Aesthetic และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เครือโรงพยาบาลนวมินทร์และนวมินทร์สหคลินิก ผู้บริหารคนเก่ง และกำลังสวมบทบาทคุณแม่มือใหม่ เผยว่า โดยส่วนตัวเป็นคนใส่ใจในสุขภาพอยู่แล้ว นอกจากหาความรู้ด้วยการเรียนอย่างจริงจัง เพื่อใช้กับงานแล้ว เวลามีปัญญาด้านสุขภาพเรื่องไหนก็ชอบที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ประกอบกับครอบครัวทำธุรกิจโรงพยาบาล นอกจากหาความรู้ด้วยตัวเองยังไม่พอ พิมพ์ก็ได้มีการเช็กเพื่อความถูกต้องกับหมอเฉพาะทางอีกครั้ง สำหรับการตั้งครรภ์อารมณ์ของคุณแม่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาวะทางอารมณ์ มีความผันผวนปรวนแปรได้ตลอด สาเหตุหลักเกิดจากการอะไร พิมพ์ได้ไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ

ทีมสูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 กล่าวว่า สำหรับการตั้งครรภ์อารมณ์ของคุณแม่จะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาวะทางอารมณ์ในแต่ละไตรมาสอาจจะเรียกได้ว่า มีความผันผวนปรวนแปรได้ตลอด สาเหตุหลักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โลน ฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน ฮอร์โมนโปรแลกติน และ ฮอร์โมนออกซิโตซิน เป็นต้น เรียกได้ว่าช่วงนี้ของคุณแม่เป็น Hormonal Storm เลยทีเดียว อีกทั้งเมื่อคลอดลูกก็จะมีปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับอารมณ์ได้ง่าย ทำให้รู้สึกอารมณ์ไม่คงที่ เช่น การนอนไม่เป็นเวลาที่ต้องดูแลลูก การพักผ่อนไม่เพียงพอ การที่เห็นร่างกายเปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงไปของกิจวัตรประจำวัน


ความกังวลในภาระหน้าที่ความรับผิดชอบในการเลี้ยงลูก หรือ ทั้งหมดเหล่านี้ จะทำให้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ทำงานมากกว่าเหตุผล รวมไปถึงสภาพแวดล้อม ยิ่งมีสถานการณ์การเผยแพร่ของโควิด-19 การใช้ชีวิตในรูปแบบเดิมได้เปลี่ยนไป ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมข้างนอก หรือความกังวลเรื่องการนำเชื้อโรคมาสู่ลูกน้อยมากจนเกินไป ก็อาจเป็นการสะสมความเครียดในรูปแบบหนึ่ง รวมถึงฮอร์โมนดังกล่าวยังส่งผลต่อการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ทำให้อ้วนง่าย เป็นเบาหวานง่ายอีกด้วย ซึ่งก็ล้วนส่งผลถึงสุขภาพจิตของคุณแม่

เมื่อร่างกายมีความเครียดมักจะมีหลั่งฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ 1. ฮอร์โมนคอร์ติซอล 2. อะดรีนาลีน ทำให้ร่างกายของคุณแม่แสดงอาการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความดันสูง หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนรู้สึกเบื่ออาหาร เป็นต้น แต่เมื่ออาการเหล่านี้เกิดกับคุณแม่แล้วสิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือสามารถส่งผลต่อเด็กในครรภ์ได้อีกด้วย เช่น การเติบโตช้า เพราะคุณแม่เครียดรับประทานอาหารได้น้อยทำให้สารอาหารไปถึงลูกไม่เพียงพอ พัฒนาการด้านอารมณ์เมื่อคลอดออกมาลูกจะมีอาการที่งอแง ขี้โมโห และผลกระทบอันตรายที่สุดคือการแท้งลูก นอกจากนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องอยู่บ้านนาน ๆ เราจะพบว่า

- พฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตมีผลกับอารมณ์ของคุณแม่ แนะนำว่าคุณแม่ควรทำกิจกรรมที่ตนเองชื่นชอบเป็นหลัก สามารถทำได้ที่บ้าน เป็นการทำกิจกรรมโดยมีลูกน้อยของเราเป็นแรงบันดาลใจ เช่น การทำอาหารสำหรับเด็ก ศึกษาคุณค่าอาหารโภชนาการที่เหมาะกับลูก ถักชุดไหมพรมให้ลูก ทำของเล่นให้ลูก อ่านหนังสือหรือนิทานให้ลูกฟัง เล่นดนตรีกล่อมลูกน้อยของเรา ออกกำลังกายเบา ๆ พอให้ร่างกายได้รู้สึกเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ เมื่อฮอร์โมนความรักหลั่งออกมา แม่ก็จะมีความสุข แล้วลูกก็จะรับรู้ถึงความสุขจากแม่ได้

- ให้คุณแม่มองโลกในแง่บวกไว้มาก ๆ ใช้ความคิดเชิงเหตุผลมากกว่าอารมณ์ การมี Mindset เชิงบวกช่วยคุณแม่ได้มาก ให้มองว่าการมีลูกในช่วงนี้มีข้อดี เพราะเราจะได้อยู่บ้านดูแลลูกน้อยได้เต็มที่ มีเวลาเล่นกับลูก แถมสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ ก็มีเวลาช่วยดูแลเจ้าตัวน้อยของเราที่บ้านด้วย

- เมื่อคุณแม่รู้สึกซึมเศร้าบ่อยมากขึ้น รู้สึกไม่อยากให้นมลูก ไม่อยากได้ยินเสียงร้องของลูก นอนไม่หลับ รู้สึกหมดพลัง แม้จะทำกิจกรรมที่ชอบแล้วยังไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบจิตแพทย์ได้เลย หากรู้สึกเครียด ให้เน้นพูดคุยกับคนรอบข้าง เพื่อน และคนในครอบครัว ก็เป็นวิธีที่ช่วยบรรเทาความเครียดได้

ผู้หญิงที่กำลังเป็นแม่คนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าสภาพจิตใจเราแข็งแรง เราสตรองเพียงพอทุกอย่างก็จะออกมาดี เพราะฉะนั้นเราต้องคิดบวกเข้าไว้เพราะในทุกสถานการณ์มันต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย และถ้าเรามองข้อดีให้มากกว่าข้อเสีย การมีลูกในช่วงนี้ก็จะเป็นไปได้ดี แม่เองก็มีความสุขและมีน้ำนมเลี้ยงลูกน้อยต่อไปด้วย ขอให้คุณแม่ลูกอ่อนหรือแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ทุกท่านสู้ต่อไป พยายามคิดบวกในสิ่งที่เราเป็นเข้าไว้ พิมพ์ขอเป็นกำลังใจให้ ดร.พิมพ์ขวัญกล่าวสรุป

สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ในช่วงนี้แล้วกำลังรู้สึกเครียด อาจต้องหาเวลาทบทวนจุดดีหรือจุดแข็งของตัวเรา อาชีพที่เราทำอยู่ ความสามารถที่เรามี โฟกัสสิ่งดี ๆ มากกว่าสิ่งที่จะมาบั่นทอนกำลังใจ การทำกิจกรรมดี ๆ ที่บ้าน และปรับความคิดช่วยให้สภาพจิตคุณแม่แฮปปี้ขึ้นได้ เชื่อว่ารอบตัวเรานี้มีคนที่เข้าใจ พร้อมมอบพลังบวกให้คุณแม่ทุกท่านได้เสมอ คุณแม่ที่ต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือมีความสนใจเรื่องแม่และเด็ก สามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ หรือฝากคำถามไว้ได้ที่ Facebook Fanpage: Dr.Pimkhwan แม่พิมพ์ แม่มือใหม่ YouTube Channel: dr.PIMKHWAN และ Instagram: dr.pimkhwan และ dr.pimkhwan.official


กำลังโหลดความคิดเห็น