xs
xsm
sm
md
lg

ต้องรอด! 5 เซเลบเจ้าของแบรนด์แฟชั่นงัดไม้เด็ดสู้โควิดระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบแรกว่าสาหัสแล้ว ธุรกิจแต่ละแขนงต่างพากันเซแทบไม่เป็นท่า พอจะเริ่มตั้งตัวได้ก็ดันมาเจอการแพร่ระบาดรอบสองและสั่นกระเพื่อมมาถึงรอบสาม ที่ทุกคนล้วนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มันหนักหนาสาหัสกว่าครั้งไหนๆ ยิ่งกว่าถูกสงครามโลกมาโจมตีก็ไม่ปาน โดยเฉพาะ ตลาดเสื้อผ้าเมืองไทย ที่ต่างต้องลุกขึ้นมาปรับตัวให้สอดรับกับการชอปปิ้งแบบนิวนอร์มัล

ดังนั้น Celeb Online จะพาไปสำรวจตลาดแบรนด์แฟชั่นเมืองไทยกันว่า เขามีวิธีปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตั้งรับกับการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายอย่างไร จาก 5 เซเลบเจ้าของแบรนด์ชื่อดังของเมืองไทย ซึ่งวิธีแต่ละคนนั้นสุดว้าวแจ่มแจ๋วยิ่งกว่าอะไร เพราะเขาได้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสทองอย่างไม่คาดคิด แต่จะมีแบรนด์ไหนกันบ้างตามมากันเลย


เริ่มที่ “ข้าวโพด-มัญชุมาศ นำเบญจพล” ดีไซเนอร์ชื่อดังเจ้าของแบรนด์ “มัญชู” (Munchu’s) เล่าให้ฟังว่า กระแสแบรนด์แฟชั่นเมืองไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากมาหลายปีแล้ว ประกอบกับเมื่อปีที่แล้วจนมาถึงปีนี้ประเทศไทยประสบปัญหาโรคระบาดร้ายแรงอย่างโควิด-19 จึงทำให้แบรนด์แฟชั่นเมืองไทยก้าวเข้าสู่สถานการณ์ย่ำแย่หนักเข้าไปอีก โดยเฉพาะการระบาดระลอกที่ 2 และระลอกที่ 3 หนักหนาสาหัสกว่าทุกครั้ง เพราะคนไม่กล้าใช้เงิน แต่ด้วยความที่มัญชูเคยปรับตัวมาก่อนหน้านี้แล้วจึงได้รับผลกระทบไม่มากนัก แต่ที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ ชุดเดรสราตรีอีฟนิ่ง ที่ถูกลูกค้าส่วนใหญ่ยกเลิกอย่างกะทันหันตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา


“แบรนด์เราได้มีการปรับตัวมาก่อนหน้าที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาบ้างแล้ว คือเปลี่ยนช่องทางการจำหน่ายใหม่ จากระบบออฟไลน์มาเป็นการขายแบบออนไลน์ และรับออกแบบเสื้อผ้าและตัดชุดให้ลูกค้าแบบชุดต่อชุด หรือ By Order ตัดชุดตามที่ลูกค้าต้องการ แต่ที่มีปัญหาในตอนนี้คือ ชุดเดรสสไตล์อีฟนิ่งที่เราเพิ่งตัดเสร็จเมื่อตอนต้นปี แต่ช่วงนั้นบ้านเราเจอกับพิษโควิด-19 ระลอก 2 และลากยาวมาถึงรอบที่ 3 จึงทำให้ไม่สามารถเปิดตัวคอลเลกชันใหม่นี้ให้ลูกค้าชมได้ และลูกค้าบางส่วนก็ขอเลื่อนการนัดวัดตัวเพื่อตัดชุดออกไปก่อน เพราะทุกงานเลี้ยงและงานปาร์ตี้ต่างๆ ถูกยกเลิกไปก่อนตามมาตรการการควบคุมโรคระบาดของกระทรวงสาธารณสุข เราจึงยังไม่สามารถขายชุดที่ตัดไว้ได้ทั้งหมด”

ถึงจะออกตัวว่าแบรนด์ของเธอได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกับแบรนด์อื่น แต่ดีไซเนอร์สาวเก่ง ก็ปรับเปลี่ยนสไตล์การทำงานให้เล็กลง โดยเฉพาะการคลอดคอลเลกชันใหม่ๆ เพื่อสอดรับกับสภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงอยู่ในขณะนี้


“เมื่อก่อนหนึ่งคอลเลกชันเราจะออกแบบประมาณ 30-50 ชุด แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนมาออกแบบเพียงคอลเลกชันละแบบสองแบบเพื่อให้ง่ายต่อการนำเสนอและลดต้นทุนการผลิต ซึ่งซัมเมอร์นี้ทางแบรนด์ได้ร่วมมือกับ “ปอม-ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง” หรือที่คนรู้จักในฐานะ “Pomme Chan” นักวาดภาพประกอบมือหนึ่งของเมืองไทย มาร่วมออกแบบลายพิมพ์บนผืนผ้าให้กับแบรนด์เราในคอลเลกชัน Collabiration ที่เราเพิ่งนำเสนอในชุดมะนาวไปก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ เรายังเพิ่มการจำหน่ายสินค้าอย่าง หน้ากากผ้ามาเสริมในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสด้วย”

ข้าวโพดยังเล่าต่ออีกว่า ถ้าลูกค้าคนไหนที่สนใจอยากเข้าไปเลือกชม ชอปเสื้อผ้าคอลเลกชันต่างๆ สามารถติดตามได้ 3 ช่องทาง ทั้ง IG@Munchu’s Offical, Lazada และ maizon Munchu


ด้านเจ้าแม่โปรเจกต์ “เปเป้-วาริธร กันท์ไพบูลย์” เจ้าของ “Varithorn Boutique” แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์เก๋ที่เธอทำร่วมกับน้องสาว “บูบี-วารีนิธิ” มากว่า 9 ปีแล้ว พอเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เธอจำใจต้องยอมปิดหน้าร้านที่อยู่ในห้างดัง แล้วหันมาขายผ่านทางออนไลน์อย่างเดียว

“เราปิดการขายผ่านทางหน้าร้านมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาดครั้งแรกในเมืองไทย เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะจบลงเมื่อไหร่ ประกอบกับคนมาเดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าน้อยลง เราไม่มีความจำเป็นต้องฝืนที่จะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงจำใจปิดทุกสาขาภายในห้างลง แล้วเปลี่ยนมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าง IG “Varithorn Boutique” เพียงอย่างเดียว”


เปเป้บอกว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบนี้รุนแรงกว่าทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ชุดที่เธอดีไซน์ออกมา อย่าง ชุดเดรส ชุดราตรี แทบขายไม่ได้เลย เพราะงานเลี้ยงต่างๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด ฉะนั้น เธอจึงดีไซน์ชุดเดรสที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ให้สวมใส่ง่ายขึ้นทั้งกลางวัน และกลางคืน

“ความโดดเด่นของแบรนด์เราคือ ชุดเดรสและชุดราตรีใส่สำหรับไปงานเลี้ยงตอนกลางคืน แต่พอมีการประกาศล็อกดาวน์งดจัดงานต่างๆ ชุดที่เราออกแบบมาจึงขายไม่ได้ เราจึงนำชุดมาดีไซน์ใหม่ให้สามารถใส่กลางวัน ไปซื้อของตามห้างสรรพสินค้า หรือใส่เป็นชุดลำลองอยู่บ้าน เพื่อให้สามารถขายสินค้าได้ ซึ่งหลังจากที่เราได้มีการปรับเปลี่ยนชุดให้สวมใส่ได้ง่าย จึงทำให้เรามียอดจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ก็ทำให้เราสามารถประคับประคองแบรนด์ของเราต่อไปได้” เปเป้เล่าด้วยน้ำเสียงเชื่อมั่น


ส่วนน้องนุชคนสุดท้องแห่งบ้านอิสสระ “ปลาเข็ม-กรัชเพชร อิสสระ” ที่นอกจากจะช่วยดูแลกิจการของครอบครัวแล้ว ยังเลือกเดินตามความฝันของตัวเองบนเส้นทางสายแฟชั่น ด้วยการเปิดแบรนด์เสื้อสุดชิกในชื่อ “KEMISSARA” ที่เปิดขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ในห้างสรรพสินค้าชื่อดัง แต่เมื่อเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เล่นงานไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่ป็อปอัพที่โชว์คอลเลกชันเสื้อผ้าต่างๆ ในห้างมีอันได้รับผลกระทบไปด้วย

“ตั้งแต่โควิดรอบแรกซึ่งป็อปอัพของเราที่อยู่ในห้างต้องปิดลงไป เพราะห้างสรรพสินค้าปิดจึงทำให้ไม่สามารถขายสินค้าได้ แต่เราก็ปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์ www.kemissara.com ทาง IG : kemissara และทางไลน์ ซึ่งในช่วงการระบาดรอบแรกเราก็ยังพอประคับประคองไปได้ในระยะหนึ่ง”


กระทั่งมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องมาถึงรอบนี้ แม้ป็อปอัพในห้างสรรพสินค้ายังไม่ได้ปิดตัวลง แต่ก็ไม่สามารถเปิดหน้าร้านได้เช่นกัน ดังนั้น เธอจึงเริ่มปรับเปลี่ยนการทำงานนอกจากจะทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์หนักขึ้นกว่าเดิมแล้ว เธอยังร่วมมือกับแฟชั่นแบรนด์ดังอย่าง Pomelo ในการทำคอลเลกชันสปริงซัมเมอร์ และปรับเปลี่ยนรูปแบบชุดให้สามารถใส่ได้กับคนทุกทรวดทรง

“เราได้เพิ่มช่องทางการขายเสื้อผ้าผ่านทางออนไลน์ คือการขายใน Lazada และเมื่อตอนต้นปีได้ร่วมกับ Pomelo ในการออกแบบชุดรับซัมเมอร์ ทั้งชุดว่ายน้ำและชุดเดินชายหาด นอกจากนี้ ทางแบรนด์ได้หันมาทำชุดที่เป็นยางยืดมากขึ้น เพื่อให้สาวๆ ทุกไซส์สามารถสวมใส่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงดีไซน์ชุดที่เหมาะสำหรับการทำงานที่บ้าน ใส่เล่นอยู่ในบ้าน มาออกจำหน่ายมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนิวนอร์มัล แม้จะเหนื่อยแต่เราก็ต้องสู้ไปด้วยกันค่ะ” ไฮโซสาวเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส


ในวิกฤตย่อมพบกับโอกาสเสมอ ขอเพียงแค่รีบลงมือทำ ดังเช่น “พั้นช์-ภัคญดา ชุติดนัยกุล” ดีไซเนอร์คนเก่งแห่งแบรนด์ Phakyada ที่ลุกขึ้นมาปรับกลยุทธ์ในการผลิตแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบแรก จนตอนนี้เธอได้กลายเป็นบริษัทชั้นนำต้นๆ ของเมืองไทยที่รับผลิตชุดทางการแพทย์ที่ใช้ทั้งในโรงพยาบาล และตามสถานเสริมความงามต่างๆ

“เริ่มจากโควิด-19 ระบาดรอบแรก ตอนนั้นร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าก็ต้องปิดตามไปด้วย แต่พันช์โชคดีที่มีโอกาสได้รับงานเย็บหน้ากาก และชุด PPE ให้แก่โรงพยาบาล เมื่อรับเย็บไปเรื่อยๆ เราจึงมองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจ และต้องดูแลพนักงานอีกหลายสิบชีวิต เราจึงหยุดการผลิตคอลเลกชันใหม่ของแบรนด์ไว้ชั่วคราว แล้วสั่งผ้าตัดชุด PPE มาจากต่างประเทศ เพื่อขอใบรับรองในการเป็นผู้ผลิตเอง หลังจากนั้นเราก็กลายเป็นผู้ผลิตชุด PPE ถุงมือ และหน้ากากอนามัยอย่างเต็มตัว ซึ่งได้รับผลตอบรับจากโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ ดีมาก แม้กระทั่งรอบนี้ยอดสั่งจองชุดก็มีเข้ามาอย่างไม่หยุด”


ด้วยความที่รับผลิตชุด PPE ให้โรงพยาบาลมาตั้งแต่โควิด-19 รอบแรก ดังนั้น เธอจึงมีโอกาสได้รู้จักกับบรรดาคุณหมอเป็นจำนวนมาก และคุณหมอบางคนก็ว่าจ้างให้เธอตัดชุดกาวน์สีขาวขนาดพอดีกับรูปร่างให้ และด้วยฝีมือตัดเย็บระดับ Phakyada จึงทำให้เธอได้รับงานตัดชุดกาวน์ ชุดยูนิฟอร์มตามคลินิกเพิ่มขึ้นมาอีก

“คุณหมอหลายคนล้วนออกมาเปิดคลินิกเอง โดยเฉพาะคุณหมอศัลยกรรม ดังนั้น นอกจากจะสั่งตัดชุดกาวน์สีขาวที่ใช้สำหรับในโรงพยาบาลแล้ว เขายังสั่งตัดชุดยูนิฟอร์มให้เจ้าหน้าที่ในคลินิก รวมไปถึงชุดที่ใส่สำหรับผ่าตัดอีกด้วย ซึ่งคุณหมอหลายๆ คนก็จะบอกต่อกันไปเรื่อยๆ ว่ามีร้านตัดชุดยูนิฟอร์มและชุดกาวน์ จึงทำให้เราได้รับงานเพิ่มจากคลินิกเสริมความงามอีกหลายแห่งทั่วประเทศไทย”


ดีไซเนอร์คนเก่งเล่าต่อว่า แม้ตอนนี้แบรนด์ Phakyada ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวใดๆ นอกเสียจากการขายสินค้าจากคอลเลกชันเก่าผ่านทาง IG, Line, Lazada เท่านั้น แต่เธอยังรับเป็นผู้ผลิตและออกแบบแบรนด์เสื้อผ้าให้แบรนด์อื่นอีกด้วย

“การจะเปิดตัวคอลเลกชันใหม่แต่ละทีต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และเราก็ไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าเมื่อเปิดตัวแล้วจะได้รับผลตอบรับดีหรือไม่ ดังนั้น ตอนนี้พั้นช์จึงรับออกแบบแบรนด์เสื้อผ้า รวมถึงผลิตให้กับหลายเจ้าที่สนใจอยากเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าแต่ไม่มีเวลาในการดีไซน์และผลิต ซึ่งเจ้าของแบรนด์ก็จะให้โจทย์มาว่าต้องการแบบไหน แล้วเราก็มีหน้าที่ดีไซน์และตัดเย็บให้แก่เขา โดยเราไม่ได้ออกหน้าว่าเป็นผลงานของเรา สถานการณ์แบบนี้เราต้องพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด เพราะโอกาสมักเป็นของคนที่รีบลงมือทำเท่านั้นค่ะ” พั้นช์เล่าด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น


ปิดท้ายที่ “นิดหน่อย-ขนิษฐา ดรุณเนตร” แห่งแบรนด์แฟชั่นสตรีหรู ‘คานิท’ (Canitt) บอกว่า ได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดในการนำเสนอขายเสื้อผ้าตั้งแต่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกแล้ว โดยมีการเปลี่ยนจากการขายแบบออฟไลน์มาขายผ่านทางออนไลน์มากขึ้น


“ตอนนี้เราเปิดขายชุดแบบออฟไลน์ทั้งหมด 3 สาขาด้วยกัน คือ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เซ็นทรัลชิดลม และดิ เอ็มโพเรียม แต่พอเจอเหตุการณ์ไวรัสแพร่ระบาดเมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมาคนไม่ค่อยเดินห้างสรรพสินค้า เราจึงหันมาเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทั้งทางไอจี, เฟซบุ๊ก และไลน์ Canitt_official ซึ่งเน้นการส่งเสริมการขายทั้งฟรีค่าส่ง และสามารถเปลี่ยนคืนไซส์ได้ และออกแบบชุดที่สามารถใส่ลำลองสบายๆ อยู่ที่บ้าน นอกจากนี้ เรายังทำวิดีโอนำเสนอเกี่ยวกับวัตถุดิบในการตัดเย็บว่าเราเน้นแต่สินค้าคุณภาพเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า” ผู้บริหารสาวเก่งปิดท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น