xs
xsm
sm
md
lg

เจาะแนวคิดเซเลบไทยท็อปลิสต์ หลังเข้าเป็นสมาชิก “คลับเฮาส์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นาทีนี้คงไม่มีโซเชียลมีเดียไหนจะฮอตฮิตไปกว่า “คลับเฮาส์” (Clubhouse) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่มีจุดขาย คือ สื่อสารกันโดยใช้เสียงเท่านั้น ที่สำคัญผู้ที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของคลับเฮาส์ นอกจากจะต้องถูกเชิญเข้ามายังต้องใช้สมาร์ทโฟนระบบ IOS เท่านั้น เมื่อเข้ามาแล้วจะสามารถเข้าไปร่วมวงสนทนาในห้องต่างๆ ซึ่งมีการตั้งหัวข้อที่แตกต่างกัน โดยเสน่ห์ของแอปฯ ที่ทำให้หลายคนติดงอมแงม คือ เป็นการฟังการสนทนาแบบสดๆ สามารถพูดคุยแสดงความคิดเห็นได้ด้วย ถ้าเจ้าของห้องนั้นอนุญาตให้พูดได้


เรียกว่าเป็นมิติใหม่ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่น่าจับตามอง และไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคนดังจากหลากหลายวงการถึงตบเท้าเข้าไปอยู่ในชุมชนนี้กันอย่างคับคั่ง ไม่เว้นแม้แต่เหล่าเซเลบคนดังที่ไม่ยอมตกขบวน ต้องมาร่วมแจมในคลับเฮาส์กันอย่างพร้อมเพรียง


เริ่มจากสาว “โบว์-ณชา จึงกานต์กุล” เซเลบริตีสาวแห่งแบรนด์ผลไม้แปรรูป “คันนา” (Kunna) สารภาพตามตรงว่า หลังจากเข้าสู่สมาคมคลับเฮาส์เมื่อวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาก็ตกอยู่ในวังวนนี้ทันที ผ่านไป 3 วัน ใช้เวลาอยู่ในคลับเฮาส์ไปแล้ว 32 ชั่วโมง!


“ห้องแรกที่เข้าไป คือ ห้องเกี่ยวกับธรรมะ เข้าไปได้แค่ 2 นาที ก็ถูกเชิญให้เป็น Speaker แล้ว ตอนนั้นก็ยังงงๆ เพราะยังใช้งานแอปฯ ไม่เป็นด้วยซ้ำ เลยอยู่ห้องนั้นแค่ประมาณ 10 นาที ก็ออกไปสำรวจห้องอื่นๆ อยูู่ประมาณ 2-3 ชม. ถึงได้ลุกไปทำอย่างอื่น (หัวเราะ)” โบเล่าอย่างออกรส ก่อนเผยว่า ปกติไม่ได้เป็นคนติดโซเชียลฯ ขนาดนี้ แต่สำหรับคลับเฮาส์อาจเพราะยังใหม่เลยยังเห่อๆ อยากศึกษาและเรียนรู้


“หลังจากเช้าวันนั้น โบเข้ามาเล่นอีกทีตอนบ่าย 3 คราวนี้ยิงยาวถึงเที่ยงคืน ได้เป็นทั้งคนฟัง ถูกเชิญเป็นคนพูด และผู้ดำเนินรายการ ก็สนุกดี ถามว่าตอนนี้ติดคลับเฮาส์ขนาดไหน โบผ่านจุดที่ออนไลน์ทั้งวันทั้งคืนมาแล้ว นอนก็ไม่ปิด เข้าห้องน้ำก็ยังต้องพกโทรศัพท์เข้าไป เพราะกลัวว่าเราจะพลาดอะไรไป”


โบเผยถึงเหตุผลที่ทำให้คลับเฮาส์ฮิต เพราะคนสมัยนี้เหงา โควิด-19 ทำให้เราไปมาหาสู่กันได้น้อยลง พอมีแอปฯ นี้เลยทำให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้มากขึ้น อีกเสน่ห์ของแอปฯ นี้คือ ความเรียล ผู้คนที่เข้ามาสามารถพูดคุยโต้ตอบกันได้ทันที แถมยังสามารถเลือกฟังในสิ่งที่ตัวเองสนใจ


“ที่โบชอบมากๆ อีกอย่างคือ ทำให้เราได้เห็นความเชี่ยวชาญของหลายๆ คน ที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า เขาก็รู้เรื่องนี้ หรือทำเรื่องนี้ได้ดี แต่ก็บอกตัวเองว่าหลังจากนี้คงต้องเพลาๆ เวลาที่เทให้คลับเฮาส์ลง โบเชื่อว่าธรรมชาติของคนเราจะเห่อกับของใหม่อยู่ 1 อาทิตย์ ฉะนั้น โบเชื่อว่าโบจะดีขึ้น (หัวเราะ) อย่างตอนนี้ก็เริ่มกำหนดเวลาในการใช้งานมากขึ้น และก็ใช้อย่างรับผิดชอบ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องพูดหรือแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ เราต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเองเสมอ แม้ว่าจุดเด่นของแอปฯ นี้จะเป็นการไลฟ์สดที่ไม่มีการบันทึกเสียงไว้ก็ตาม”


มาถึง “มั้งค์-ชัยลดล โชควัฒนา” ทายาทนักธุรกิจหมื่นล้านแห่งเครือสหพัฒน์ อีกหนึ่งหนุ่มที่ขยันอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ อยู่เสมอ บอกว่าหลังจากเห็นคลิปของ “หนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” แห่งแบไต๋ พูดถึงคลับเฮาส์ก็โหลดแอปฯ นี้มาติดเครื่องทันที พร้อมให้เพื่อนต่างชาติส่งคำเชิญให้

“ผมชอบเข้าไปฟัง Speaker ต่างชาติ พูดถึงเรื่องการทำโปรดักชัน หรือการถ่ายทำหนังของฮอลลีวูด แต่ฟังนานๆ ก็เริ่มง่วง (หัวเราะ) เพราะเดิมผมก็ไม่ใช่สายพอดแคสต์ ผมว่าการฟังคลับเฮาส์เหมือนการไปงานสัมมนาใหญ่ๆ ที่มีหลายเวที หลายหัวข้อให้เข้าไปเลือกฟัง แถมยังสามารถยกมือเพื่อถามโต้ตอบได้ ซึ่งถ้าใครเป็นสายนั้นผมว่าน่าจะเข้าทาง แต่อย่างที่บอกว่าผมอาจจะไม่อินกับการฟังอะไรนานๆ ต้องนั่งฟัง 3 ชั่วโมงกว่าจะได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้ แถมยังต้องฟังสด เลือกเวลาไม่ได้ กดหยุดไม่ได้ เลยคิดว่าไม่ใช่ทาง เราน่าจะชอบฟังอะไรที่สรุปมาแล้วมากกว่า ตอนนี้ผมเลยเป็นแนวเล่นเพื่อให้รู้มากกว่า”

อย่างไรก็ตาม มั้งค์มองว่า คลับเฮาส์ก็เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ อยู่ที่ว่าใครจะเลือกนำไปต่อยอดแบบไหน ส่วนตัวเขาเองมองว่าอาจจะมาปรับใช้กับการสร้างห้องเพื่อประชุมกับทีมงานที่บางครั้งอาจต้องใช้เวลานานๆ


ด้าน “พาย-เขมณัฏฐ์ จิราธิวัฒน์” อีกหนึ่งเซเลบสาวรุ่นใหม่ไฟแรง ที่เริ่มเข้าสู่วังวนคลับเฮาส์ช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา เล่าว่า เธอเริ่มต้นจากการเข้าไปสำรวจห้องนักธุรกิจ สตาร์ทอัปต่างชาติ เพื่อหวังนำไอเดียมาต่อยอด เพราะตอนนี้เรียนใกล้จบแล้ว และกำลังวางแผนปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง

“ส่วนใหญ่พายจะฟังห้องต่างชาติ แต่ห้องของไทยก็ฟังบ้าง ล่าสุดเพิ่งลองเปิดห้องของตัวเอง เพื่อแชร์ประสบการณ์การไปเรียนต่างประเทศ ครั้งแรกก็มีคนฟัง 100 กว่าคน คุยยาวเกือบ 2 ชั่วโมง ก็ได้ประสบการณ์มาใช้สำหรับการเปิดห้องในครั้งต่อไปว่าควรจะตั้งหัวข้ออะไร พูดอย่างไรให้ลื่นไหล ไม่ให้มี dead air เพราะถึงพายจะเป็นยูทูบเบอร์ มีไลฟ์ผ่านอินสตาแกรม แต่อันนี้จะเป็นคนละแบบ ข้อดีที่พายชอบคือ ไม่ต้องกังวลว่ามีใครคอมเมนต์เข้ามาหรือเปล่า เพราะ สามารถโต้ตอบกันได้เลย”

พายบอกว่า ถึงจะเป็นแอปฯ ที่เพิ่งเริ่มใช้ แต่เธอก็ไม่ได้ใช้เวลากับคลับเฮาส์เยอะ แต่ใช้งานเหมือนเป็นหนึ่งในช่องทางโซเชียลมีเดียมากกว่า

“ตอนนี้นอกจากฟังห้องที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารเป็นหลัก ยังเข้าไปฟังห้องนักร้องเกาหลีบ้าง ดีใจมากที่ได้ไปเจอดีเจเกาหลีที่ชอบ ไม่กล้าหวังว่าจะเจอศิลปินวงโปรด อย่าง Blackpink ถ้าเจอจริงคงเป็นลมไปก่อน ส่วนตัวพายมองว่า คลับเฮาส์น่าจะเป็นแค่เทรนด์ สุดท้ายคนก็คงกลับไปใช้โซเชียลมีเดียที่มี เพราะถึงในอนาคตอาจจะฟีเจอร์มารองรับให้ไม่ต้องฟังสด เก็บไว้ฟังทีหลังก็ไม่ได้ แต่พายว่าก็คงผิดวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สำหรับพายวันนี้ คลับเฮาส์เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ให้เข้ามาเรียนรู้ ทดลองอะไรใหม่ๆ มากกว่า”


ปิดท้ายที่ “นพนริศร์ เลียวพานิช” เอ็มดีของ Group Z International ซึ่งทำธุรกิจด้านการสื่อสารอย่างครบวงจร เล่าว่า โหลดคลับเฮาส์มาตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน แต่เพิ่งมาเริ่มเล่นจริงจังตอนช่วงตรุษจีน ส่วนใหญ่เน้นเข้าไปจอยห้องที่ให้ความรู้เรื่องการตลาด Martech และ Data Science และยังได้ฟังมุมมองจากคนเก่งๆ รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ ที่ปกติอาจจะไม่มีโอกาสมากนัก เพราะถ้าไปตามงานสัมมนา คนที่จะมาขึ้นเวทีก็ต้องมีความรู้และประสบการณ์มาพอสมควร

“คลับเฮาส์ค่อนข้างตอบโจทย์ผม เพราะปกติถ้ามีเวลาผมก็จะหาโอกาสเดินทางไปเข้าร่วมงานสัมมนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นประจำอยู่แล้ว แต่พอโควิด-19 มา ทำให้การเดินทางไม่สะดวกเหมือนเก่า เท่าที่ทดลองเล่นมา ผมยังเน้นเป็นผู้ฟัง แต่หลังจากนี้มีแผนว่าจะลองเปิดห้องสวมบท Speaker และ Moderator ดูบ้างเหมือนกัน ตอนนี้ผมยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ติดมาก

ส่วนใหญ่จะเล่นช่วงก่อนเข้านอน ประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพราะตอนนี้ห้องส่วนใหญ่ก็จะเริ่มตอนก่อนนอน แต่ผมมองว่า หลังจากนี้อาจจะมีการจัดช่วงเวลาที่กระจายมากขึ้น อย่างบางคนอาจจะอยากฟังตอนเช้า ช่วงที่ออกกำลังกาย หรือบางคนอาจจะฟังตอนพักเที่ยง ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนทำงานยุคนี้ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ที่สำคัญ ยังไม่เบียดบังเวลาครอบครัวด้วย”

นพนิรศร์ ทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า บางคนอาจจะมองว่าคลับเฮาส์เป็นแค่เทรนด์หรือเปล่า เขามองว่าคนที่เล่นคลับเฮาส์ตอนนี้มีทั้งคนที่เล่นตามกระแส ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่อยู่ไม่นานและจากไป แต่อีกกลุ่มซึ่งรวมถึงตัวเขาเอง คือกลุ่มที่เข้ามาเล่นเพราะเห็นประโยชน์จริงๆ ว่านอกจากจะเป็นช่องทางอัปเดตความรู้ และสร้างเน็ตเวิร์กใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่อยู่กับแอปฯ นี้ไปอีกพักใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้หลายคนจะเห็นประโยชน์จากคลับเฮาส์ ในฐานะแหล่งรวมความรู้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ได้ใช้แอปฯ นี้ จะสูญเสียโอกาส หรือกลายเป็นคนตกเทรนด์ เพราะยังมีอีกหลายช่องทางที่จะเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ

สุดท้ายแล้ว คลับเฮาส์ก็เป็นอีกหนึ่งในแอปฯ นับล้าน ที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น