นับถอยหลัง เตรียมบอกลาปี 2020 ปีที่ทั่วโลกต่างระทมเพราะเจอพิษโควิด-19 เล่นงานถ้วนหน้า ที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยต่างเจ็บหนักกันระนาว โดยเฉพาะ ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ยอดขายหาย ไปในพริบตา บรรดาเจ้าของธุรกิจต้องกัดฟัน งัดสารพัดกลเม็ดเพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากช่วงวิกฤต จนสถานการณ์โควิดในไทยเหมือนจะทุเลา แต่แล้วก็เหมือนฟ้าผ่า สถานการณ์ร้ายกลับกลายมาระบาดในระลอกใหม่ ต่อจากนี้คงต้องเฝ้ารอด้วยความหวังว่า ปีหน้าจะมีวัคซีนมากำราบกันทันมั้ย?
เพื่อเป็นไอเดียให้เหล่านักธุรกิจที่กำลังสู้ไม่ถอย Celeb Online ชวน 5 เซเลบนักธุรกิจที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีจากหลากหลายแวดวง มาแชร์กลเม็ดเอาตัวรอดจากโควิด-19 พร้อมแชร์ทิศทางในการนำทัพธุรกิจจากนี้ว่า จะเดินไปข้างหน้าอย่างไร?
เริ่มจาก “แวว–ธีรวัลคุ์ เตชะอุบล” ผู้บริหารหญิงเก่ง ซึ่งดูแลเครือโรงแรมเคปแอนด์แคนทารี และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เครือเกษมกิจ อัปเดตภาพรวมตลาดให้เช่าโดยเฉพาะ ในกลุ่มไฮเอนด์ว่า ตั้งแต่โควิด-19 ตลาดนี้ค่อนข้างมีปัญหา เนื่องจากผู้เช่าบางส่วนก็ถูกตัดงบจากบริษัท สมมติจากเดิมเคยได้งบอยู่อาศัย 250,000 บาท ก็อาจจะเหลือ 180,000-200,000 บาท จากที่เคยอยู่บ้านหลังใหญ่ ก็ย้ายไปอยู่ที่หลังเล็กลง แต่ในส่วนเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ระดับกลางค่อนข้างดี เช่นเดียวกับ Warehouse ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ผิดกับธุรกิจโรงแรมไม่ต้องพูดถึงค่อนข้างซบเซา ตอนนี้อาศัยนักท่องเที่ยวไทยเป็นหลัก
“กลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการเอาตัวรอดช่วงวิกฤตแบบนี้คือ การลดราคา (หัวเราะ) ได้ผลดีที่สุด ไม่ว่าจะในตลาดไหน อย่างน้อยช่วยประคองธุรกิจในช่วงที่รอให้โควิด-19 หาย และความเชื่อมั่นกลับมา”
ส่วนทิศทางของธุรกิจจากนี้ แววมองว่า ด้วยธรรมชาติของธุรกิจที่ทำค่อนข้างตายตัว และต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก สิ่งที่ทำได้นอกจากปรับระบบหลังบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะไม่มีเวลามาใส่ใจ คือ รอคอยวัคซีนด้วยความหวัง
อย่างไรก็ตาม แววบอกเล่าอย่างออกรสว่า “สิ่งดีๆ ที่เห็นในวิกฤตนี้คือ น้ำใจของพนักงาน ซึ่งมีอยู่ 5,000 กว่าชีวิตที่ต้องดูแล ทุกคนช่วยกันเต็มที่ แม้บางคนจะต้องถูก leave without pay ลดเงินเดือนก็ไม่บ่น ขณะเดียวกัน โควิดยังสอนให้รู้ว่า กระแสเงินสดเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำธุรกิจ ขนาดเราเป็นองค์กรค่อนข้างอนุรักษ์นิยมประมาณหนึ่ง ไม่ได้ตั้งเป้าว่าแต่ละปีต้องขยายกี่ห้อง เพราะเราบริหารธุรกิจเอง ไม่ได้มีผู้ถือหุ้น หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ เน้นเรื่องความยั่งยืน ซึ่งมีข้อดีคือช่วยให้ตัดสินใจหลายๆ เรื่องได้ง่ายขึ้น อย่างตอนที่คิดว่าจะลดเงินเดือนพนักงาน เราคิดเลยว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่บริษัทกลับมาเท่าทุนหรือกำไร เงินเดือนพนักงานต้องกลับมาเท่าเดิม เพราะการที่เราลดเงินเดือนเท่ากับว่าพนักงานขาดทุน แต่ก็หมายความว่าธุรกิจเรากำลังขาดทุนในสเกลที่ใหญ่กว่าเช่นกัน ซึ่งแววก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเราต้องเอาตรรกะนี้ไปอธิบายกับผู้ถือหุ้น จะเข้าใจและคิดเหมือนเราหรือเปล่า เรารู้แค่ว่าการตัดสินใจแบบนี้ ทำให้เรานอนหลับได้อย่างมีความสุข” แววทิ้งท้าย
ด้านเจ้าแม่แห่งวงการอาหาร อย่าง “ปลา-อัจฉรา บุรารักษ์” ซึ่งมีร้านอาหารถึง 6 แบรนด์ ประกอบด้วย ไอเบอร์รี่, กับข้าวกับปลา, รสนิยม, ทองสมิทธิ์, โรงสีโภชนา และเจริญแกง ที่เพิ่งเปิดในช่วงโควิด-19 ยอมรับว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อภาพรวมธุรกิจ แม้จะไม่เท่าธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว แต่ด้วยความที่มีกว่า 50 สาขาที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดขายหายไปพอสมควร ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาใช้บริการเดลิเวอรี่ และทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ก็ถือเป็น New Normal ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจไม่น้อย
“อย่างช่วงที่ล็อกดาวน์ ร้านอาหารในห้างต้องปิดหมด โชคดีที่เราเป็นร้านอาหารไทย ซึ่งอาหารสามารถนำไปอุ่นร้อนได้ ไม่เหมือนอาหารบางประเภทที่ต้องกินตอนร้อน ๆ เท่านั้น หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวเรือทองสมิทธ์ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีตลอดจนถึงตอนนี้ เพราะรสชาติที่ไม่เหมือนใคร จะทำกินเองที่บ้านก็อาจจะลำบาก เราแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการหันมาให้บริการเดลิเวอรี่ได้ภายใน 2 วัน ด้วยการโยกย้ายให้พนักงานของร้านมาเป็นคนส่งอาหาร เพราะถ้ารอเข้าระบบแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างๆ ต้องกินเวลาถึง 2 สัปดาห์”
สำหรับทิศทางของธุรกิจอาหารจากนี้ ปลามองว่า ถึงอาหารจะเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 คน แต่ถ้ามองภาพรวมตลาดอาหารไทยคู่แข่งเยอะมาก ดูจากปริมาณร้านอาหารในแกร็บ จากเดิมมี 20,000 ราย ตอนนี้มีเป็นแสนราย เพราะฉะนั้นปลาคิดว่า หัวใจสำคัญของการทำธุรกิจในช่วงวิกฤตแบบนี้คือ ปรับตัวให้เร็วถึงจะมีโอกาสรอด อย่าง พอโควิด-19 มา ปลาเปิดแบรนด์ใหม่ อย่าง เจริญแกง (ตอนนี้มี 7 สาขาแล้ว) ถึงเม็ดเงินที่เข้ามาจะไม่สามารถทดแทนตัวเลขที่หายไป แต่ก็ดีกว่าไม่ปรับตัว ปลาเชื่อว่าอย่างน้อยถ้าช่วงนี้อดทน หายใจเบาๆ จนผ่านพ้นไปได้ ธุรกิจอาหารก็ยังมีอนาคต
“หนึ่ง-สุริยน ศรีอรทัยกุล” เจ้าพ่อบิวตี้ เจมส์ ยอมรับว่า โควิด-19 ทำให้ธุรกิจทรุดทั้งระบบ จนเข้าสู่เดือน ก.ค. สถานการณ์ถึงเริ่มคลี่คลาย คำสั่งซื้อเริ่มกลับมา ในส่วนธุรกิจที่ดูแล ซึ่งมีหลากหลายตั้งแต่ธุรกิจประกันไปจนถึงจิวเวลรี สำหรับประกันภัยและทองคำ ถือว่าเป็นปีที่ดีมีผลกำไร ส่วนธุรกิจสนามกอล์ฟและห้างพาร์คเลน ได้รับผลกระทบหนัก โดยเฉพาะ ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ต้องปิดให้บริการ
“ในส่วนของบิวตี้เจมส์ ก็ไม่ต่างจากเพื่อนๆ ในวงการ ช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. ต้องมีการชะลอการผลิต จนกระทั่งเดือน ก.ค.-ก.ย. ถึงเริ่มมีเม็ดเงินเข้ามาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยยังคุมสถานการณ์การติดเชื้อได้ดี ยังเป็นเหมือนห่านทองคำไม่กี่ตัวในโลก ทำให้ธุรกิจ โดยเฉพาะ ในภาคการผลิตยังไปต่อได้ ผมเชื่อว่านอกจากคนไทยช่วยไทยด้วยการเที่ยวเมืองไทย เม็ดเงินที่เหลือจากการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังสามารถนำมากระตุ้นธุรกิจได้”
หนึ่งยังเสริมด้วยว่า ในช่วงล็อกดาวน์ บิวตี้เจมส์ได้ริเริ่มโครงการร้านสะดวกแบ่งปันที่พาร์คเลน เพื่อแบ่งปันสิ่งของอุปโภค- บริโภค ฟรี! ให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยดีไซน์ให้เป็นเสมือนร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ประชาชนเลือกสิ่งของอุปโภค-บริโภคได้ฟรีทุกวันศุกร์ พอสถานการณ์คลี่คลาย จึงตัดสินใจเปลี่ยนจากร้านสะดวกแบ่งปันมาเป็น บิวตี้เจมส์ บูทีคแห่งใหม่ มีการจัดงานแฟชั่นโชว์ เพื่อสร้างสีสันและเรียกความเชื่อมั่น
“ผมมองว่า จากนี้ทุกคนจะนั่งเฉยไม่ได้ แต่ต้องแอคชัน สามัคคีกัน ผมเองผ่านพ้นวิกฤตมาหลายครั้ง สิ่งสำคัญคือ ช่วงที่มีต้องสะสม เพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรเกิดขึ้นทุก 10 ปี ดังนั้น ยามมีถ้ารู้จักสะสม ช่วงเวลาไม่มีเงินเข้า เราก็แค่เอาเงินออมออกมาใช้”
ด้าน “นัท-อภิชาติ ลีนุตพงษ์” นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงจากค่ายรถยนต์หรูบริษัท เรนาสโซ มอเตอร์ จำกัด นำเข้าและจำหน่ายรถแบรนด์หรูจากยุโรป กล่าวว่า ในภาพรวมของเซกเมนต์ซูเปอร์คาร์ยังไม่ได้รับกระทบ เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ มี Budget ที่เตรียมไว้อยู่แล้ว ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นแบบไหน ถ้าโปรดักต์ใช่ ราคาสมเหตุสมผลก็ซื้อ โดยส่วนใหญ่ซื้อเพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเอง และเพราะมองเห็นศักยภาพในตลาด ปีนี้เลยนำเข้ารถไฮเปอร์คาร์ที่เร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่าง Koenigseg มาตอบโจทย์กลุ่มคนที่มองหาซูเปอร์คาร์
“ในแง่การบริการธุรกิจ ส่วนตัวผมให้ความสำคัญกับสินค้า ราคา และบริการที่ไม่ใช่แค่บริการซ่อม แต่รวมไปถึงการสร้าง client engagement ที่แสดงความใส่ใจที่มีต่อลูกค้า ซึ่งตั้งต้นจากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า ถ้าเราเป็นลูกค้าเราอยากได้อะไร ฉะนั้น จะเห็นว่าการสร้าง client engagement เราไม่ได้ทำแค่ช่วงโควิ -19 แต่เราทำอย่างสม่ำเสมอ และถ้าถามว่าอะไรคือ new normal ที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบกับธุรกิจ ผมมองว่าเป็นเรื่องรองจาก 3 ปัจจัยที่กล่าวมา แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการผ่านธุรกิจมาหลายครั้งคือ ต้องกระจายความเสี่ยง ไม่มีอะไรแน่นอน ต้องเข้าใจ เผื่อใจ และพร้อมรับกับธรรมชาติของสิ่งที่เกิดขึ้น”
ปิดท้ายที่ “ริน-ศรินญา มหาดำรงค์กุล” ทายาทธุรกิจโรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด และโรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา บอกว่า เป็นปีที่ค่อนข้างสาหัสสำหรับธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่ว่าจะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป 100% เนื่องจากการปิดพรมแดน และการท่องเที่ยวภายในประเทศก็ยังไม่กลับมา 100% รวมถึงรายได้จากการจัดประชุมต่างๆที่น้อยลง เนื่องจากหลายบริษัทต้องปรับแผนลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ไว้ว่า 2020 จะปีทองของธุรกิจโรงแรม
“โควิด-19 ทำให้โรงแรมต้องหันมาใส่ใจเรื่องการดูแลความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด จุดคัดกรอง จุดบริการแอลกอฮอล์ การรักษาระยะห่างต่างๆ เพื่อให้แขกที่เข้ามาใช้บริการสบายใจ อย่างไรก็ตาม แม้แคมเปญที่ภาครัฐออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ อย่าง เราเที่ยวด้วยกัน จะทำให้ธุรกิจกลับมาคึกคัก มียอดจองช่วงสุดสัปดาห์เต็ม แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ตอนนี้ ทำให้ต้องมีการปรับกลยุทธ์มาหาลูกค้าที่อยู่ในจังหวัดใกล้เคียง เพราะคนนิยมเดินทางด้วยรถส่วนตัวมากกว่าเครื่องบิน อย่าง โรงแรมที่พัทยาค่อนข้างโอเค มีแค่การจัดประชุมวันธรรมดาที่หายไป แต่โรงแรมที่ภูเก็ตซึ่งอยู่ที่ป่าตองค่อนข้างหนัก ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องมาเจาะกลุ่มลูกค้าจังหวัดใกล้ๆ อย่าง ตรัง สุราษฎร์ธานีแทน
รินยังมองว่า ด้วยรูปแบบการให้บริการของโรงแรม อาจจะไม่ได้เปลี่ยนไป ต้องรอคอยวัคซีนและนักท่องเที่ยว แต่ทิศทางที่น่าสนใจในธุรกิจและรัฐบาลน่าจะช่วยส่งเสริมคือ การทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในวันธรรมดา หรือแพกเกจการจัดประชุมหรืองานแต่งงานขนาดกลาง-เล็ก
“จากการติดตามข่าวและการคาดการณ์ คาดว่า ไตรมาส 3 ปีหน้า การเดินทางจะเริ่มกลับมา ถึงจะยังไม่ดีเท่าเดิม แต่ก็น่าจะเป็นความหวัง รินเชื่อว่า เกือบ 1 ปีที่โควิด-19 มาเยือน ทำให้ทุกคนเริ่มปรับตัวที่จะอยู่กับโรคได้ สิ่งสำคัญคือ ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอกชน และ ประชาชนต้องช่วยกัน ต่อให้รัฐบาลมีแคมเปญดีๆ เอกชนขานรับ แต่ประชาชนไม่รับผิดชอบต่อสังคม ปล่อยให้เกิดการระบาดเกิดขึ้นอีก ทุกคนก็แย่กันหมด ฉะนั้น เราต้องสู้ไปด้วยกันค่ะ” รินทิ้งท้าย