ครั้งหนึ่งเรื่องราวรักแท้ราวกับเทพนิยายของ “เลดี้หริ่น-เนตรนภา แก้วแสงธรรม ยาเนซโกวา ฟอน ดูด๊าซ” อดีตนักข่าวสาว และนักเขียนเลือดอีสาน “หัวใจใส่เกิบ” ที่แสนจะเปิ่น โก๊ะ และติดดิน แต่กลับไปพบรักกับ “ท่านเซอร์มาเร็ก อติลา ยาเนเชค บารอน วอน ดูด๊าซ” ลูกชายอดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเช็กประจำประเทศไทย และเลขารัฐมนตรีต่างประเทศ เชโกสโลวาเกีย (ในสมัยนั้น) จนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ หลายคนเรียกเธอว่า “เลดี้หริ่น” หรือ “ซินเดอเรลลาเมืองไทย” หลังจากตัดสินใจลั่นระฆังวิวาห์และย้ายไปตั้งรกรากที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก
ไม่ว่าจะด้วยอาถรรพ์ความรักที่เดินทางมาครบ 7 ปี หรือเพราะทั้งคู่ไม่มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ ทำให้สุดท้ายแล้วเส้นทางความรักเดินทางมาถึงจุดที่ฝ่ายหญิงใช้คำว่า “อิ่มตัว” จึงตัดสินใจลดระดับความสัมพันธ์เหลือไว้เพียงมิตรภาพที่ดีต่อกันในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยฝ่ายหญิงเลือกที่จะกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้งที่เมืองไทย โดยสร้างครอบครัวใหม่กับสามีคนไทย มีพยานรักด้วยกัน 1 คน คือ น้องพุท-ด.ช.พุทธิเดช ปาลีขัด วัย 5 ขวบ
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อวันหนึ่งซินเดอเรลลาเมืองไทยตัดสินใจถอดรองเท้าแก้ว บอกลาชีวิตเจ้าหญิงในนิยาย กลับมาใช้ชีวิตติดดินอีกครั้ง Celeb Online พร้อมแล้วที่จะพาทุกคนไปหาคำตอบผ่านบนสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟจากนี้
ถอดรองเท้าแก้วมาใช้ชีวิตติดดิน
ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นเส้นทางความรักที่ราวกับเทพนิยายของหริ่น ทั้งคู่พบรักกันที่เมืองไทย โดยฝ่ายหญิงโลดแล่นอยู่ในแวดวงสื่อมวลชน ในฐานะนักข่าวและนักเขียน กระทั่งพรหมลิขิตนำพาให้ทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่เวทีมวยราชดำเนิน เพราะนอกจากท่านเซอร์มาเร็กจะชื่นชอบกีฬามวยไทยเป็นพิเศษ ยังเป็นโปรโมเตอร์มวย นำนักมวยไทยไปชกโชว์ที่ยุโรปหลายประเทศ เช่น สเปน สาธารณรัฐเช็ก และเยอรมนี ส่วนเธอเป็น Ghost Writer ให้กับหนังสือหมัดๆ มวยๆ จนเกิดเหตุไม่บังเอิญบนเวทีรัก
ครั้งหนึ่งหริ่นเคยให้สัมภาษณ์ว่า ประสบการณ์เจอกันครั้งแรกไม่ได้ชวนประทับใจ หรือเป็นรักแรกพบแต่อย่างใด แต่เพราะความใกล้ชิดหลังจากได้รับการทาบทามให้ไปเขียนหนังสือท่องเที่ยวที่กรุงปราก ทำให้ได้ศึกษาเรียนรู้กันมากขึ้น จากตอนแรกที่มองว่าฝ่ายชายออกจะขี้เก๊กจึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความรัก ทั้งคู่คบหาดูใจกันได้ปีกว่าก็ตัดสินใจแต่งงาน โดยฝ่ายหญิงตัดสินใจย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ที่ปราก เมืองในฝันของใครหลายคน
“ช่วงแรกๆ ที่ไปอยู่ที่ปราก เราใช้เวลาไปกับการท่องเที่ยวเยอะมาก โซนยุโรปไปมาหมด อย่างเมืองฮัลล์สตัทท์ (Hallstatt) ซึ่งถ้าย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อย่าว่าแต่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก นักท่องเที่ยวก็ยังไม่ค่อยมี ตอนที่ไปเรายังเจอคนท้องถิ่นออกมาเล่นน้ำที่ทะเลสาบอยู่เลย” หริ่นฉายภาพชีวิตหลังแต่งงานด้วยแววตาเป็นประกาย
“สมัยนั้นยังไม่มีไอโฟน ไม่มีกูเกิลแมป ไปถึงต้องไปหา Tourist Center ขอแผนที่มากางดูเวลาจะไปไหนมาไหน ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเขียน สมัยนั้นถ้าไม่เขียนหนังสือก็เขียนลงบล็อก ได้นำความชอบของตัวเองมาช่วยงานสังคม ช่วยสามีต้อนรับแขกของสถานทูต เวลามีคนไทยไปดูงาน นักเรียน นักศึกษา นักกีฬาที่ไปแข่งขัน เราพาไปเที่ยว เลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี หมดไปเป็นล้านๆ เหมือนกัน”
หลังจากใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วม 7 ปี หริ่นบอกว่าช่วงหลังๆ ด้วยความคิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารไทย เลยกลับมาเมืองไทยถี่ขึ้น “ช่วงนั้นรู้สึกเหมือนความรักมาถึงจุดอิ่มตัว เลยเริ่มห่างกัน เพราะเราก็ไม่ได้มีลูกด้วยกัน สุดท้ายเลยตัดสินใจแยกกันไปใช้ชีวิตของตัวเอง โดยเราเลือกกลับมาอยู่เมืองไทย แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ยังติดต่อกันในฐานะหุ้นส่วนธุรกิจ”
ถามว่า พอสถานะเปลี่ยนไป จากเลดี้หริ่น พอวันนี้ต้องกลับมาใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงธรรมดาอีกครั้ง ต้องปรับตัวอย่างไร หริ่นตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า “จะเลดี้หริ่นก็ดี ซินเดอเรลลาเมืองไทยก็ตาม ล้วนเป็นคำที่คนภายนอกเรียกเรา เราไม่เคยเรียกตัวเองแบบนั้น จะเห็นว่าหลังจากแต่งงานเราไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อไหน เพราะเราบอกตัวเองเสมอว่าแม้ชีวิตเปลี่ยน แต่ตัวตนเราไม่เปลี่ยน เราชอบอยู่แบบธรรมดา ชอบทำงาน อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว การไปอยู่ที่ปรากอาจจะได้กินหรู อยู่สบาย แต่บางครั้งกินอีกแบบเราก็ว่าสนุกดี ถามว่าเป็นชีวิตในฝัน ก็ใช่ ทำให้ได้มีโอกาสเดินทาง อยากไปไหนก็มีคนขับรถให้ แต่สิ่งที่เราบอกตัวเองเสมอคือ หรูเกินไปก็เป็นภาระ สิ่งที่อยู่ติดตัวเรามากที่สุด คือ ความรู้ การอ่าน การเดินทาง ประสบการณ์ ทัศนคติที่เรามีต่อคน เราต้องคุยกับคนทุกระดับ ต้องเข้าใจชีวิต”
ทุกวันนี้ หริ่นพูดได้อย่างเต็มปากว่า มีความสุขกับการใช้ชีวิตเรียบง่ายที่อุบลราชธานี บ้านเกิด สลับกับการเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ทุก 2 สัปดาห์ เพื่อจัดการเรื่องธุรกิจ ประชุมงาน
“ใจจริงชอบใช้ชีวิตที่อุบลฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ ค่าครองชีพไม่สูง ผู้คนมีรากวิธีคิดแบบวัดป่า อยู่กันแบบเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ทั้งที่เป็นเมืองที่มีความเจริญ มีทุกอย่าง ที่สำคัญอากาศเมืองไทยอบอุ่นตลอดทั้งปี ออกจากบ้านได้ทุกวัน ไม่เหมือนอยู่ต่างประเทศอากาศหนาว ออกนอกบ้านได้แค่ 4 เดือน อีกหนึ่งเสน่ห์ของเมืองไทยคือ โครงสร้างสังคมที่อบอุ่น แค่ไปซื้อของแล้วเห็นคนขายอายุมากกว่าเราก็นับญาติแล้ว (หัวเราะ)” หริ่นเล่าอย่างออกรสถึงชีวิตใหม่ที่เธอเลือกออกแบบเอง ก่อนเสริมว่า
“อย่างที่บอกว่า ทุกวันนี้ยังติดต่อกับอดีตสามี เขาเป็นทั้งเพื่อน คนที่มีบุญคุณ คอยซัปพอร์ตเราในทุกเรื่อง แม้แต่ลูกชายเราซึ่งตอนนี้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ที่อุบลฯ เขาก็เอ็นดูและรักลูกเรา ตั้งชื่อฝรั่งให้ว่า “บุ้ดดี้” (หัวเราะ) ทุกวันนี้เป้าหมายที่ทำให้ชีวิตเรายังสนุกคือ ความฝันที่จะเดินทางทั่วโลกกับลูกชาย”
ต่อยอดแพสชันสู่ธุรกิจแสนรัก
หันมาอัปเดตเรื่อง “ธุรกิจทัวร์" ซึ่งตั้งแต่จากความชอบ ทำมาตั้งแต่อยู่ปราก จนตอนนี้แม้เส้นทางชีวิตจะเปลี่ยนไป โควิด-19 มาเยือน ก็ยังรักในเส้นทางนี้อยู่
“ถึงตอนนี้จะเจอโควิด-19 แต่เรายังทำธุรกิจทัวร์อยู่ค่ะ ทำมา 10 กว่าปีแล้วตั้งแต่ตอนอยู่ที่ปราก เพราะอย่างที่เล่าไปตอนต้น เราชอบท่องเที่ยว บวกกับมีโอกาสได้นำเที่ยวให้กับแขกจากเมืองไทยอยู่เสมอ เลยเห็นช่องทางว่าน่าจะมาต่อยอดเป็นธุรกิจนำเที่ยวในยุโรป ตอนนั้นเราทำในนามบริษัท โอซีที ทราเวล จำกัด ซึ่งจดทะเบียนที่ยุโรปมาตั้งแต่ปี 1999 จนตอนหลังมาเปิดที่เมืองไทยในชื่อ See You Again ช่วงแรกๆ เราทำเป็นทัวร์ Outbound เน้นพาคนไทยไปเที่ยวยุโรปตะวันออก จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายไปเส้นทางอื่นๆ เพราะลูกค้าเราส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ มาเที่ยวแล้วติดใจอยากกลับมาอีก เราก็เลยขยายไปทั่วยุโรป แม้แต่โครเอเชีย บอลข่าน รัสเซีย ซึ่งลูกค้าของเรามีทั้งที่เอเยนต์ส่งให้ และลูกค้าติดต่อมาเอง ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าวีไอพี เพราะทัวร์เราเน้นคุณภาพ ในราคามาตรฐาน”
หริ่นยังบอกด้วยว่า จุดแข็งของทัวร์ที่เธอจัดคือ เอ็กซ์คลูซีฟกว่าทัวร์ทั่วไป “เราไม่ได้ดูต้นทุน ค่าใช้จ่าย แต่เน้นความประทับใจของลูกค้า ไม่ได้เน้นว่า 1 วัน ต้องเดินทาง 3 เมือง แต่ทุกทริปตั้งต้นจากความชอบและความต้องการของลูกค้า โชคดีที่เราเป็นคนมีเซอร์วิส มายด์ แคร์คนอื่นมาก เวลาจัดโปรแกรม เราจะถามก่อนเลยว่าไปกับใคร ชอบเที่ยวสไตล์ไหน แนวธรรมชาติ ชอปปิ้ง หรือไปพิพิธภัณฑ์ เราเชื่อว่าแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่มี Best plan สำหรับทุกคน เราจะจัดโปรแกรมแบบเทเลอร์เมดสำหรับลูกค้าแต่ละกรุ๊ป ซึ่งต้องอาศัยพลังเยอะมาก โชคดีที่เราไปเองมาแล้วทุกที่ ไม่ได้ดูจากรีวิว เวลาเลือกร้านอาหารก็เหมือนกัน บางคนอ่านรีวิวเดียวก็เชื่อ ทั้งที่บางทีคนรีวิวอาจจะไปกินมาไม่กี่ร้านก็มาเขียน แต่เราเป็นคนในพื้นที่ เราไปลองมาทุกร้าน ภูเขาที่ออสเตรียทั้งที่ดังและไม่ดัง เราไปขึ้นมาหมด ฉะนั้น เราแนะนำได้หมด”
โควิด-19 ทำให้ชีวิตสะดุด เพื่อก้าวต่อ
แม้จะมีจุดแข็งที่ทำให้ธุรกิจไปได้สวย แต่พอมาเจอวิกฤตโควิด-19 หริ่นยอมรับว่าทำให้ธุรกิจสะดุดแต่ไม่ถึงกับชะงัก
“โควิด-19 เป็นสิ่งที่โทษใครไม่ได้ เหมือนภัยธรรมชาติ แต่อันนี้คือภัยของโลก ในภาวะแบบนี้จะเริ่มต้นธุรกิจอะไรใหม่ก็คงยาก เพราะคนไม่มีกำลังซื้อ แต่เราเชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่คงอยู่ตลอดไป สิ่งที่เราทำได้คือ ใช้โอกาสในวิกฤตกลับมาพัฒนาสตาร์ทอัพแพลตฟอร์มที่เราเตรียมไว้ เพื่อรอวันที่โควิด-19 หายไป ธุรกิจทัวร์กลับมาอีกครั้ง”
สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มที่เธอพูดถึง คือ www.Landtraveller.com “Land” ในที่นี่หมายถึง Land Operator คือ ตัวเรา รวมถึง Land คนไทยที่อยู่ในที่ต่างๆ ทั่วโลก จากนี้สามารถมีช่องทางอาชีพด้วยการเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มของเรา ซึ่งเป็นสื่อกลางในการพานักเดินทาง (Traveller) มาเจอกับ Land คนไทยที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ เพราะเราช่วยคัดกรอง ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนหลอก หรือโดนทิ้ง ลดช่องว่างเรื่องภาษาในการสื่อสาร เพราะเรามีการทำสัญญา จะโอนเงินให้ต่อเมื่อจบทริปเรียบร้อย ร่วมกับออกแบบโปรแกรมให้ตอบโจทย์กับรสนิยมการเดินทางของคนไทย ซึ่งหลักๆ ที่ขาดไม่ได้คือ ชอบถ่ายรูป เน้นเรื่องอาหารการกิน คนขับรถต้องไม่สูบบุหรี่ หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส เป็นต้น เรามองว่าแอปฯ นี้น่าจะตอบโจทย์เทรนด์โลกหลังโควิด-19 ซึ่งคนจะออกไปเที่ยวเองเยอะขึ้น”
หริ่นบอกว่า ขณะที่ระบบใกล้เสร็จเรียบร้อย โดยตัวแอปฯ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ยกเว้นถ้าโปรแกรมไหนขายดี 100 อันดับแรก เราอาจจะแปลภาษาไทย เพราะฐานลูกค้าของเรามีทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเรามองว่าคนไทยที่มีความต้องการเดินทางไปต่างประเทศ น่าจะพอสื่อสารภาษาอังกฤษได้อยู่แล้ว
“ในช่วงที่ Land ทุกคนกำลังว่าง เราก็ทยอยทำโปรแกรม ทำสัญญา ทุกคนให้ความร่วมมือดีมาก ต้องบอกว่าวิกฤตกลายเป็นโอกาสที่ทำให้ทำงานได้ง่ายมาก สิ่งที่เราบอกกับทีมงานเสมอคือ หลังโควิด-19 คนจะเที่ยวเยอะ ถ้าเรายังทำงานแบบเดิมๆ เราจะรับลูกค้าได้ไม่กี่กรุ๊ป แต่ถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้รองรับลูกค้าได้เยอะขึ้น ตอนนี้ที่ตั้งเป้าไว้ในใจคือ จะเตรียมไว้ให้ได้ 500 โปรแกรมทั่วโลก”
งานสังคม เพื่อบ้านเกิด
ดูเหมือนว่าแผนชีวิตและธุรกิจผ่านการตกผลึกอย่างรอบคอบแล้ว แต่หริ่นยังเผยความในใจว่า มีอีกสองสิ่งที่เธอสนใจและอยากจะทำให้เป็นรูปเป็นร่าง หนึ่ง คือ การนำความรู้ในการโปรโมตท่องเที่ยวชุมชนแบบยุโรปมาประยุกต์กับการโปรโมตท่องเที่ยวชุมชนในไทย โดยเอาเทคโนโลยีมาใช้ ซึ่งเธอได้เริ่มทำแล้วที่กาฬสินธุ์ อีกงานที่อยากทำและได้อีกโอกาสทำแล้วเช่นกันคือ ช่วยเหลือผู้ต้องหาในเรือนจำ
“เราเป็นคนอุบลฯ เลยตั้งต้นที่เรือนจำที่อุบลฯ ก่อน สิ่งที่พบคือ 90% ของผู้ต้องหาในเรือนจำไม่ใช่คดีฆ่าชิงทรัพย์ วิ่งราว แต่เป็นคดียาเสพติดที่เกิดจากการหลงผิดเสพ มีข้อจำกัดที่ต้องทำ ไปจนถึงรับผิดแทนลูกหลาน เรามองว่าคนกลุ่มนี้วันหนึ่งเขาก็ต้องกลับคืนสู่สังคม แต่ถ้าออกมาแล้วไม่มีอะไรให้ทำ สุดท้ายก็จะกลับไปวังวนเดิม ฉะนั้น ถ้าเรากลัวว่าเขาจะสร้างปัญหาให้สังคมอีก เราก็ต้องพัฒนาคน เราเคยเห็นมาตรฐานเรือนจำที่ต่างประเทศค่อนข้างดี และส่งเสริมให้คนที่เคยทำผิดสร้างตัวตนได้อีกครั้ง แต่ของไทยยังไม่เป็นเช่นนั้น เราเลยอยากช่วยตรงนี้”
สิ่งที่ผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างเธอทำได้คือ การเข้าไปสร้างอาชีพ ด้วยการสอนโยคะ “โยคะสอนได้ไม่ยาก แถมยังทำให้จิตใจสงบ คนในเรือนจำเล่นโยคะเก่งมาก เพราะเขามีเวลาซ้อม มันจะดีแค่ไหน ถ้าเยาวชนที่หลงผิดวันหนึ่งจะออกมาเป็นครูโยคะที่หุ่นดีมากๆ นอกจากนี้ เรายังสนใจเรื่องเด็กติดท้องแม่ที่อยู่ในคุก ช่วงปัญหาคือ ช่วงท้องคุณแม่ก็ไม่ได้กินอาหารบำรุงเพียงพอ พอลูกคลอดออกมาตามระเบียบเด็กจะอยู่กับแม่ได้ถึง 1 ขวบ แล้วต้องออกไปอยู่กับญาติ โดยสามารถเบิกแพมเพอร์สได้เดือนละ 2-3 ชิ้น เรามองว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้ผิดเลย ฉะนั้น ถ้ารัฐบาลเข้าถึงเราทุกคนก็ต้องเข้าไปช่วยดูแลเขา เราเลยช่วยเหลือด้วยการเอาแพมเพอร์ส เสื้อผ้าไปบริจาคเพราะหน้าหนาวเสื้อผ้าไม่พอ พาหมอเข้าไปให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงเด็ก บางทีก็ไปเรือนผู้ป่วย ถามว่ากลัวมั้ยเราก็กลัว แต่เราไปเพราะอยากให้เขารู้ว่ายังมีคนที่ไม่รังเกียจเขา ไปให้คลายเหงา จะได้ไม่เกลียดชังสังคม” หริ่นฉายภาพให้เห็นพร้อมเล่าอย่างออกรส ถึงความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนเล็กๆ ทำประโยชน์เพื่อสังคม ได้ทำเพื่อแผ่นดินเกิด
“เชื่อมั้ยว่าหลายคนอาจจะมองว่าเราไปมีชีวิตหรูหรา แต่ก่อนเราไม่รู้จักแบรนด์เนมเลย เคยมีรายการหนึ่งพาไปซื้อ สุดท้ายก็ยกให้ช่างภาพไป เพราะกระเป๋าหนักไม่เหมาะกับเรา เรามองว่าแบรนด์เนมเป็นงานอาร์ตอย่างหนึ่งนะ แต่ราคาอาจจะสูงเกินจริง เราเป็นคนขี้เหนียวนะ ถ้าให้ซื้อแบรนด์เนม เราขอเอาเงินไปบริจาคให้เรือนจำดีกว่า มันซื้อคุณค่าที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่า (หัวเราะ) แต่ก็ยอมรับนะว่า การที่เรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป มันก็จำกัดโอกาสในชีวิตบางอย่าง ถ้าเราแต่งตัวมากกว่านี้ มีโอกาสเข้าสังคมมากกว่านี้ก็มีโอกาสทำธุรกิจมากกว่านี้ เป็นที่ยอมรับมากกว่านี้เช่นกัน”
บทสรุปความรัก
มาถึงวันนี้ หริ่นย้ำว่าชีวิตลงตัวทุกเรื่อง ยกเว้นโควิด-19 รอให้หายไปเร็วๆ จะได้กลับมาเที่ยว ใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง
“ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขได้กลับมาอยู่เมืองไทย ทำงานด้านการท่องเที่ยวที่รัก แม้โควิด-19 เข้ามาทำให้ชีวิตสะดุดนิดหน่อย แต่ถ้าปรับตัวไปกับมันได้ มองออกว่าอนาคตต้องไปทิศทางไหน เราก็มีความหวัง ตอนนี้พยายามศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ เรื่องเทคโนโลยี มีคอร์สให้เรียนเยอะแยะ สิ่งสำคัญคือ อย่าท้อแท้ หรือบิดเบี้ยวความฝันของตัวเอง”
มาถึงคำถามทิ้งท้ายที่เชื่อว่าคาใจหลายๆ คนคือ เสียดายมั้ยที่วันนี้ต้องทิ้งชีวิตที่หลายคนอิจฉา
หริ่นตอบชัดว่า “ไม่เสียดายเลย เพราะความรักไม่เหมือนธุรกิจ หรือความสำเร็จในด้านอื่นๆ ที่ถ้าเรามุ่งมั่น เราทำดี สุดท้ายย่อมได้ดีแน่นอน แต่ความรักไม่เป็นอย่างนั้น ต่อให้คุณแสนดีหรือทำดีแค่ไหน แม้จะสมบูรณ์แบบอย่างไร แต่ถ้าไม่ใช่ชะตาฟ้าลิขิตก็อาจผิดหวังได้ ความรักไม่มีความถูกความผิด ความรักไม่มีความสำเร็จและล้มเหลว เราสามารถเพียงแค่ชื่นชมยามความรักเบ่งบานสุกงอม และยอมรับมันจนถึงวันที่มันจากลาอย่างมิตรภาพเท่านั้นเอง”
“ถ้าคนมันจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” อันนี้คนสัมภาษณ์บอกตัวเองเบาๆ