xs
xsm
sm
md
lg

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของชาวปารีเซียงหลังพบวิกฤต COVID-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่โดนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นอย่างมาก และตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้การใช้ชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของชาวปารีเซียงที่อยู่ในปารีส เมืองแห่งแฟชั่นและสถานที่ท่องเที่ยวสุดโรแมนติกแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกิดวิถีชีวิตใหม่ๆ หลายด้านซึ่งเราจะพาไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวปารีเซียงที่ต้องปรับตัวเพื่อผ่านวิกฤตนี้

เครื่องสำอางถูกเมิน
จากเดิมที่คนส่วนใหญ่ต้องตื่นเช้าไปทำงานทุกวัน กลับกลายเป็นการนั่งทำงานจากที่พักอาศัย รวมทั้งถุงมือยางและหน้ากากอนามัย ก็ได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตสูงสุดของการระบาดที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีมาตรการกักตัวประชาชนเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน จนถึงปัจจุบันที่มีข้อบังคับให้ทุกคนต้องสวมหน้ากาก สาวชาวปารีสที่ธรรมดาขึ้นชื่อว่ารักสวยรักงามเป็นอันดับต้น ๆ ลดระดับการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงและเสริมความงามลง ขั้นตอนการบำรุงผิวและเสริมความงามของหญิงสาวบางคนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากการสำรวจของบริษัท NPD Group พบว่าสินค้าลิปสติกมียอดจำหน่ายลดลงมาก แต่สินค้ากลุ่มสกินแคร์หรือครีมบำรุงผิวกลับตกลงไม่มากนัก เพราะไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ผิวพรรณยังต้องได้รับการดูแลเหมือนเดิม ส่วนกลุ่มเครื่องสำอางแบบติดทนนาน กันน้ำ กันเหงื่อ หรือกันเลอะเลือน กลับมาได้รับความนิยมสูงขึ้นมากเช่นกัน ในช่วงเวลาที่สาวๆ จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน


จักรยานกลับมาเป็นพาหนะยอดนิยมอีกครั้ง
นโยบายการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร เป็นไปค่อนข้างลำบากสำหรับระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ต่างๆ ที่มักมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จึงได้เกิดแนวคิดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาเดิน หรือใช้จักรยาน เป็นพาหนะทางเลือก เช่น ในกรุงปารีส มีการปิดถนนรวมประมาณ 50 กิโลเมตร โดยเฉพาะในเส้นทางที่ซ้อนทับทางรถไฟใต้ดินสายสำคัญ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้จักรยานหรือเดินได้อย่างปลอดภัย พร้อมทั้งช่วยลดมลภาวะ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคกลับมาระบาดได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้เปิดให้บริการจุดจอดรถสำคัญ ณ บริเวณชานเมืองเพื่อให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ไกลจาก ตัวเมือง ขับรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อนำมาจอดโดยไม่เสียค่าบริการ และสามารถใช้บริการจักรยานสาธารณะหรือเดินต่อไปยังจุดหมาย ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้อาจทำให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะทางเลือกมากขึ้น

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงปารีส ได้ให้ข้อมูลต่อผู้ประกอบการไทยว่า จากปัจจัยทั้งหมดรวมกันนี้อาจส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานมากยิ่งขึ้นทั้งในกรุงปารีสตลอดจนถึงเมืองใหญ่อื่น ๆ โดยฝรั่งเศสนำเข้ายางนอกจักรยานจากทั่วโลกในปี 2562 เป็นมูลค่า 41.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการนำเข้าจากไทยถึง 13.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือนับเป็นร้อยละ 31 ของการนำเข้ารวม ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมทางด้านสินค้าที่เกี่ยวข้องกับจักรยาน โดยปัจจุบันสินค้าเกี่ยวกับจักรยานที่ไทยส่งออกมายังฝรั่งเศสเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ยางนอก และยางในของจักรยาน



ช่องทางช้อปปิ้งที่เปลี่ยนไป
มาตรการยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐประกาศใช้บังคับให้ผู้บริโภคต้องลดการเดินทางลงไปโดยปริยาย ทั้งยังต้องเพิ่มความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายหรือการสัมผัสต่อเชื้อโรคได้ส่งผลให้ลักษณะพฤติกรรมการบริโภคของผู้ซื้อเปลี่ยนไป โดยหันมาจับจ่ายสินค้าจากช่องทางอื่น เช่น ห้างค้าปลีกที่อยู่ใกล้ที่พักอาศัยมากที่สุด ซึ่งโดยมากจะเป็นซูเปอร์มาเก็ตหรือห้างค้าปลีกขนาดกลางและเล็ก แม้กระทั่งในพื้นที่ชนบทที่มีจำนวนร้านค้าปลีกไม่มากนัก แต่ผู้บริโภคเลือกที่จะจับจ่ายสินค้าจากร้านค้าปลีกสะดวกซื้อขนาดเล็กมากกว่าร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

ส่วนสั่งซื้อออนไลน์จากเว็บไซต์ของห้างค้าปลีกและไปรับสินค้าด้วยตนเองนั้น จากเดิมที่มีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 13 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ กลับมียอดขายที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 74 ในช่วงกักตัว



การบริโภคสินค้าสบู่เพิ่มสูงขึ้น
ประชาชนเพิ่มการรักษาสุขอนามัยเป็นพิเศษโดยทำความสะอาดมือและร่างกายบ่อยกว่าปกติ หลังจากกลับบ้าน หรือสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรคในที่สาธารณะ จึงจำเป็นต้องหันมาใช้สบู่ในการทำความสะอาดมือ และทำให้ความต้องการของสบู่ในตลาดฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 20 ขณะเดียวกันกระแสการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้การบริโภคสบู่ทั่วไปที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งด้วยเช่นกัน สคต. ณ กรุงปารีส ยังแนะนำว่าเป็นโอกาสในการค้าสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเสนอสบู่ชนิดใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ที่อาจใช้ส่วนผสมตามธรรมชาติที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต เช่น น้ำมันมะพร้าว และพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่มีเอกลักษณ์หรือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย อย่างไรก็ดี สบู่เป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอาง ซึ่งการส่งออกมายังประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบว่าด้วยการนำเข้าเครื่องสำอางอย่างเคร่งครัด


กำลังโหลดความคิดเห็น