ใครจะไปคิดว่าจากเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ไม่ได้มีใจรักในแฟชั่น แถมไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจการตลาดแม้แต่น้อย วันหนึ่งโชคชะตาจะนำพาให้มาปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทย ที่มีชื่อเก๋ๆ แต่ติดหูว่า “อิชชู่” (Issue) จนโด่งดังเป็นที่รู้จักทั้งในหมู่แฟชั่นนิสต้าบ้านเราและในต่างประเทศเป็นอย่างดี ด้วยคาแรกเตอร์ของแบรนด์ที่แข็งแรง เพียงแค่เห็นก็รู้แล้วว่า นี่คือคอลเลกชันใหม่ของอิชชู่ แม้เรื่องแพตเทิร์นอาจไม่เด่นเหนือใคร แต่เรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่ใส่ลงไปในทุกคอลเลกชันนั้นจัดจ้าน จนถ้าเปรียบเทียบเป็นอาหารก็ต้องบอกว่า ครบเครื่องจนใครได้ชิมเป็นต้องติดใจ
หลายคนที่เป็นแฟนของแบรนด์อิชชู่ อาจคุ้นหูกับชื่อเสียงของดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จจนก้าวสู่ปีที่ 20 อย่าง “โรจ-ภูภวิศ กฤตพลนารา” มาบ้าง แต่อาจยังไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็นโรจ อิชชู่นั้น ครบเครื่องไม่แพ้ความจัดจ้านของผลงานการออกแบบของเขา ถ้าพร้อมแล้วไปหาคำตอบกัน
จังหวะชีวิตนำพาสู่เส้นทางแฟชั่น
เส้นทางชีวิตดีไซเนอร์หลายคนมักเริ่มต้นด้วยแพสชั่นที่รักในแฟชั่น แต่ไม่ใช่สำหรับโรจเพราะแม้โอกาสจะพาให้เข้าไปอยู่ในแบรนด์แฟชั่นแถวหน้าของเมืองไทย แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะปลุกปั้นแบรนด์ของตัวเองแม้แต่น้อย
“ถ้าย้อนกลับไปสู่ก้าวแรกในวงการแฟชั่น ต้องบอกว่าเป็นจังหวะของชีวิต ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมาทำแบรนด์เสื้อผ้า เพราะผมไม่ได้จบดีไซน์มาโดยตรง เรียนจบ Fine Art จากวิจิตรศิลป์ เลยพอมีความรู้ด้านศิลปะติดตัว เคยมีโอกาสทำงานที่แบรนด์เกรย์ฮาวด์อยู่ 6 ปี เป็นตั้งแต่พนักงานขาย ประสานงาน ทำดิสเพลย์ เป็นสไตลิสต์ จนได้ไปอยู่แผนกดีไซน์ แต่เชื่อมั้ยว่าตลอดเวลาที่ทำงานตรงนั้น ไม่เคยคิดเลยว่าอยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง เพราะธรรมชาติผมเป็นสายกิน เลยเป็นที่มาของการเปิดคาเฟ่เล็กๆ ที่จตุจักร ชื่อ Room Service ช่วงวันธรรมดาก็ทำงาน เสาร์-อาทิตย์ก็ทำร้าน สนุกและมีความสุขมาก” โรจเปิดฉากเล่าถึงเส้นทางชีวิตที่กำหนดเอง ก่อนที่โชคชะตาจะพลิกผัน เมื่อเพื่อนรุ่นน้องชวนให้ลงขันเช่าล็อกว่างที่สยามสแควร์
“สมัยก่อนเป็นที่รู้กันว่าที่สยามสแควร์เป็นแหล่งรวมของวัยรุ่น โดยเฉพาะ ซอย 3-4 พอดีรุ่นน้องผมไปเจอล็อกว่างในซอยนั้นปล่อยเซ้ง เลยมาช่วยให้เช่าด้วยกัน จำได้ว่าเขาเซ้ง 50,000 บาท ซึ่งสมัยนั้นก็ถือว่าเยอะนะ เพราะล็อกที่จะเช่าก็เล็กนิดเดียว แต่เราก็หาเงินทุนกันมาเพื่อเช่าจนสำเร็จ ช่วงแรกผมทำเป็นคาเฟ่เล็กๆ ไว้เป็นที่นัดรวมตัวของเพื่อนๆ ส่วนเพื่อนรุ่นน้องทำเสื้อขาย ผมเองด้วยความที่เห็นโอกาสทางธุรกิจ ก็เลยเอาประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำเสื้อยืด มาเพนต์ลายที่เราออกแบบเอง โดยหยิบเอาแรงบันดาลใจในการเดินทางมาออกแบบ” โรจรำลึกความหลัง พร้อมเล่าถึงที่มาของแคปซูล คอลเลกชันแรกอย่างออกรส ที่นำแรงบันดาลใจจากทริปเนปาล ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสศึกษาคำสอนของท่านดาไล ลามะ ที่ชื่อว่า Never Give up จนนำมาใช้เป็นไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมใช้ชื่อคำสอนของท่าน ตั้งเป็นชื่อแคปซูลคอลเลกชันด้วย
“ผมมักนำแรงบันดาลใจจากการเดินทาง มาเป็นแกนในการออกแบบ นอกจากลวดลายยังรวมถึงการเลือกใช้สีจากชุดประจำชาติ การจับคู่สี โครงเสื้อ งานฝีมือต่างๆ ที่เราไปซึมซับจากวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ ระหว่างที่เดินทาง ทำให้เสื้อผ้าของอิชชู่ไม่เหมือนใคร เพราะนำความคิดสร้างสรรค์ การสร้างลวดลายที่เป็นงานฝีมือมาใส่ จนเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์”
จากจุดเริ่มต้นที่ดูเหมือนจะทำแบบสนุกๆ แต่ด้วยเบื้องลึกของดีไซเนอร์ที่มีความมุ่งมั่นเป็นแรงผลักดันในชีวิต จึงทำให้ผลงานที่ทำด้วยความตั้งใจ เริ่มเป็นที่ติดใจของแฟชั่นนิสต้า
“พูดตรงๆ ว่า บ้านผมไม่ได้มาจากคนมีฐานะ พ่อขับแท็กซี่ แม่เป็นแม่บ้านขายอาหารอยู่ในโรงอาหารโรงเรียน การที่เราลำบากตอนเด็ก ทำให้เรารู้ว่าโตมาเราจะทำเพื่ออะไร เราต้องการทำงานในทุกๆ วัน แม้เราจะสนุกกับการทำงานและใช้ชีวิตวัยรุ่นปาร์ตี้ แต่เราไม่ลืมว่าจุดมุ่งหมายของเราคือการหารายได้ เพื่อซัพพอร์ตครอบครัว”
ถ้าถามว่าอะไรเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้อิชชู่แจ้งเกิดในวงการ ดีไซเนอร์คนเก่งยกเครดิตให้งาน Elle Fashion Week 2003 ที่ทำให้อิชชู่ดังชั่วข้ามคืน นับเป็นความภูมิใจของยังก์ดีไซเนอร์ที่เพิ่งเริ่มทำแบรนด์ได้ 4 ปี
“จำได้ว่าปีนั้นคอนเซ็ปต์ของโชว์คือ Non Violent เราให้นางแบบใส่เสื้อสีขาวแล้วมีเอฟเฟกซ์เป็นเหมือนนางแบบถูกยิง เพื่อต่อต้านความรุนแรง ซึ่งโชว์ในครั้งนั้น ทำให้คอลเลกชันของเราได้ออกสื่อเยอะมาก และกลายเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า ทุกครั้งที่เราทำโชว์ นอกจากจะโชว์คอลเลกชันแล้วยังต้องมีความคิดสร้างสรรค์สอดแทรกอยู่ด้วย”
นอกจากจะมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ เป็นอาวุธลับสำคัญในการสร้างแบรนด์แล้ว ความโด่งดังของอิชชู่ที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสินค้าอย่างเสื้อชนเผ่าเป็น must have ไอเท็มที่สาวๆ ต้องๆ มี อาจทำให้หลายคนสงสัยว่า อิชชู่มีไม้ตายที่เป็นกลยุทธ์สร้างแบรนด์อย่างไร ให้ยืนยงมาจนก้าวสู่ศตวรรษที่ 2
คำถามนี้ โรจตอบแบบไม่กั๊กว่า “อาศัยคอมมอนเซนส์ ไม่ได้มีการวางแผนซับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น (หัวเราะ) ตอนที่ทำแบรนด์ผมไม่ได้มองเลยว่าใครเป็นลูกค้า เพราะผมเองอย่างที่บอกไม่ได้จบการตลาด ทุกอย่างที่ทำอาศัยประสบการณ์ล้วนๆ เพราะสมัยนั้นไม่มีคลาสสอนเรื่องแฟชั่น ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ครูพักลักจำ มองจากรุ่นพี่ที่ทำงาน ผมคิดบนพื้นฐานง่ายๆ ด้วยการเทียบจากบรรทัดฐานของตัวเองว่า เสื้อแบบนี้ถ้าทำแล้วจะใส่มั้ย หรือถ้าเราไม่ใส่แล้วใครจะใส่ ราคาเท่านี้ซื้อมั้ย ซึ่งจนกระทั่งตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนี้ บริหารแบรนด์แบบไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมาเหมือนเดิม”
โลกปรับ แบรนด์ต้องเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม แม้จะบริหารแบบฟรีสไตล์ ตามใจสั่งมา แต่โรจยอมรับว่ามีหลายอย่างที่ต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันโลกดิจิทัล ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
“ตอนนี้เรามีอยู่ 3 สาขา ที่สยามสแควร์ สยามพารากอน และเอ็มควอเทียร์ แต่ถามว่าจากนี้เราจะขยายสาขาอีกมั้ย บอกเลยว่าไม่ได้อยู่ในแผนการขยายของเราอีกต่อไป เพราะเราจะขยายช่องทางออนไลน์มากขึ้น มีการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเอง ซึ่งนอกจากทำให้เรามีช่องทางในการสื่อสารกับลูกค้า รู้กลุ่มเป้าหมายของเรามากขึ้น สมัยนี้ใครที่อยากเป็นนายแบบ นางแบบของอิชชู่ เพียงแค่ลงทะเบียนส่งรูปมา คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับอิชชู่ได้ ส่วนช่องทางโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook Youtube IG Line@ เรามีหมด เพราะอย่างที่บอก ลักษณะการชอปปิ้งของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างอยู่ในมือถือหมด เราก็ต้องปรับ”
“วันที่เหนื่อยมีอยู่แล้ว แต่ผมมีคติประจำใจคือ Never Give Up ตราบที่กายใจเรายังแข็งแรง อย่ายอมแพ้ ผมมักฝึกจิตให้แข็งแรง ด้วยการนั่งสมาธิ เข้าวัดปฏิบัติ อ่านพวกปรัชญาและศาสนาบ้าง ที่บริษัททุกปีมีการทำบุญ ฝึกพนักงานให้มีจิตอาสา มีคลาสปฏิบัติธรรมปีละครั้ง
มองอดีตถึงปัจจุบัน 20 ปีแห่งความสำเร็จ
“ทุกอย่างผ่านไปเร็วจัง” นี่คือความรู้สึกที่โรจสะท้อนออกมา เมื่อถามถึงความสำเร็จของแบรนด์อิชชู่ที่เติบโตมาจนก้าวสู่วัย 20 ปี
“เราไม่เคยคิดว่า 10 ปีทำอะไร 20 ทำอะไร พอมาถึงจริงๆ มันคือความภูมิใจเล็กๆ ในฐานะคนทำงาน มาถึงวันนี้เรามองไกลกว่าการหาสิ่งที่จะมาขับเคลื่อน พัฒนาแบรนด์ แต่มองไปไกลถึงขั้นว่า จะทำอย่างไรเพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจเหล่านี้ ให้กับคนรุ่นต่อไป ทุกวันนี้ผมมีความสุขกับชีวิตตามสมควร ได้ออกแบบ ได้เดินทาง ได้ทะเลาะกับลูกน้อง (หัวเราะ) สำหรับแบรนด์ ผมพอใจกับทุกๆ ปีที่ผ่านมา เราเต็มที่กับทุกๆ ปี อาจจะมีบ้างที่มีจุดอ่อน แต่เรามองว่าจุดอ่อนเป็นโอกาสที่จะนำเราไปสู่การพัฒนาเสมอ เพราะจุดแข็งของอิชชู่คือ เป็นแบรนด์ที่มีการเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ อะไรที่เป็นซิกเนเจอร์ของเรา เรายังเก็บไว้ แต่เราก็ปรับไปตามแฟชั่นร่วมสมัยด้วย นอกจากนี้ เรายังมีเพื่อนร่วมอาชีพเป็นแรงบันดาลใจ ที่จะสะท้อนให้เราเห็นว่าสิ่งที่เขาเป็น เขาพัฒนาอย่างไร ขณะเดียวกัน ผมมองว่าเพื่อนๆ เป็นคนที่สะท้อนการทำงานของเรา ให้รู้ว่าเราควรปรับปรุงและพัฒนาตัวเองอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่แบรนด์เติบโตมาจนครบรอบ 20 ปี ซึ่งเจ้าตัวนิยามแบบตรงไปตรงมาว่า “มีแค่ครั้งเดียว” ในฐานะดีไซเนอร์สายครีเอท เลยถือโอกาสดีนี้จัดเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ด้วยการทำโชว์สุดพิเศษ รวมพลนายแบบ-นางแบบไว้มากที่สุดเท่าที่เคยใช้มาคือ 99 คน ณ จีเอ็มเอ็ม ไลฟ์เฮาส์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งถือเป็นสถานที่ที่ใหญ่ที่สุดที่เราเคยทำโชว์มา นับเป็นอีกโชว์คุณภาพ ที่คนในวงการแฟชั่นประทับใจไม่ลืม
“คำว่าครบ 20 ปีมีเพียงครั้งเดียว ครบ 21 ปี ก็ไม่เหมือน 20 ปี ครบ 30 ปี ก็ไม่เหมือน 20 ปี ฉะนั้น นี่คือโอกาสที่เราจะได้ส่งต่อแรงบันดาลใจ ที่เราได้สั่งสมมาตลอด 20 ปี ให้คนรุ่นต่อไป เพื่อที่จะกลายเป็นความภูมิใจที่เราได้ส่งต่อเรื่องราวดีๆ ให้คนที่ชื่นชอบผลงานของเรา การทำแบรนด์มาได้มา 20 ปี คือเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว และต่อจากนี้ไปคือโบนัสในการทำงานของเรา"
ตลอดเส้นทาง 20 ปีแห่งความทรงจำนี้ สิ่งที่โรจย้ำด้วยแววตาเป็นประกายคือ นอกจากจะเพลิดเพลินในโลกแฟชั่นแล้ว ต้องไม่ลืมตอบแทนสังคม
“อาจเพราะพื้นฐานครอบครัวตั้งแต่เด็ก แม่สอนเสมอเรื่องการแบ่งปันและการทำบุญ เราเลยสั่งสมตรงนี้มาตลอด พอโตมาเราก็คิดว่า เมื่อเราอยู่ในสังคมและเราสามารถแบ่งปันได้ เราก็ต้องทำอะไรเพื่อตอบแทนสังคมบ้าง จะเห็นว่าหลายครั้งที่อิชชู่ร่วมมือกับมูลนิธิรามาธิบดี หรือทำโปรเจกต์การกุศลอื่นๆ เพราะผมถือว่าการได้ทำคือรางวัลของการทำงาน ผมตั้งใจทำเต็มที่ และมองว่าการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโปรเจกต์ดีๆ เหล่านี้ คือความภูมิใจ” ดีไซเนอร์ระดับตำนานกล่าวทิ้งท้าย