xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทใหม่ที่ไม่เคยฝันว่าจะทำ! ของ “ม.ล.ทรงลักษณ์ สวัสดิวัตน์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จั่วหัวชื่อ “เฟม- ม.ล.ทรงลักษณ์ สวัสดิวัตน์” เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นตาเวิร์กกิ้งวูแมนคนสวยเป็นอย่างดี แต่ใครที่มีภาพจำของเธอในฐานะเซเลบที่เฉิดฉายในวงสังคม ตั้งแต่วัยกระเตาะ คงต้องอัปเดตเพิ่มเติม เพราะวันนี้เธอไม่เพียงเปลี่ยนสถานะจากสาวโสด มาเริ่มสร้างครอบครัวในฐานะศรีภรรยาคนสวยของนักธุรกิจหนุ่ม (กิตติศักดิ์ สุทธิพันธ์) แต่เธอยังรับอีกหลายบทบาท ทั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK รับหน้าที่ดูแลด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการบริหารโรงเรียนในเครือทรงวิทยาของครอบครัว ล่าสุด ยังกระโจนมาลุยธุรกิจอาหาร ที่เธอออกปากว่าไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าชีวิตนี้จะได้ทำ

อย่างไรก็ตาม เรามาอัปเดตงานหลักๆ ก่อนว่าทำอะไรบ้าง ประเดิมจากหนึ่งในคณะกรรมการของแบรนด์ SIRIVANNAVARI BANGKOK

“จริงๆ พระสหายทุกคนก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เป็นกรรมการบริษัท อย่าง ฝน (รติรส จุลชาต) ช่วยดูแลด้านการเงิน เฟมดูแลด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ครอบคลุมไปถึงพวกโซเชียลมีเดีย ซึ่งเฟมอาศัยความรู้จากที่ร่ำเรียนจากนิเทศศาสตร์ (อินเตอร์) จุฬาฯ มาปรับใช้”


นอกจากนี้ เฟมยังสวมหมวกผู้บริหารโรงเรียนในเครือทรงวิทยา ซึ่งเป็นธุรกิจชองครอบครัว ปัจจุบันมี 3 สาขา โดยแบ่งหน้าที่กับคุณแม่ (ดร.ทรงสมร สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา) บริหาร

“หลังจากเรียนจบนิเทศฯ เฟมบินไปเรียนต่อด้าน Master of Communication in Education ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา เพราะรู้อยู่แล้วว่าวันหนึ่ง เฟมในฐานะที่เป็นลูกสาวคนโต ก็ต้องกลับมาช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่หลังจากเรียนจบกลับมาจริง เฟมก็ยังไม่ได้เข้ามาช่วยทำธุรกิจที่บ้านทันที เพราะที่บ้านเฟมมีค่านิยมว่า อยากให้ออกไปหาประสบการณ์นอกบ้านก่อน เฟมจึงเริ่มต้นด้วยการกลับมาทำงานที่ ไลน์ ประเทศไทย เพราะชอบด้านไอทีและดิจิทัล ตอนนั้นเฟมเป็นผู้จัดการและ Team Leader ด้านคอนเทนต์ ทำอยู่ 3 ปี ก็ค่อยเข้ามาทำงานที่โรงเรียน ช่วยคุณแม่ขยายสาขาและหลักสูตร จากเดิมที่มีแต่หลักสูตรสามัญ ก็เพิ่มมาเป็นหลักสูตร Intensive English Program (IEP) และหลักสูตร English Program (EP)”

ถ้าถามว่าวางเป้าอนาคตกับธุรกิจนี้อย่างไร เฟมตอบว่า ยังอยากขยายโรงเรียนเพิ่มเติมอีก ถึงขนาดไปซื้อที่ไว้แล้ว

“ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าอยากขยายฐานไปเปิดโรงเรียนที่เป็นสายอาชีวะ โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรอินเตอร์ แต่ลองศึกษาแล้วคิดว่าแนวโน้มน่าจะยังยาก เลยคิดว่าจะเบนเข็มกลับมาสู่จุดเดิม คือเป็นโรงเรียนสายสามัญ แต่ขยายในส่วนของอีพี ไปในโลเกชั่นที่ยังไม่ค่อยมีคู่แข่ง โดยยังชูจุดแข็งของโรงเรียนว่า มาพร้อมคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึง ยึดมั่นในชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือที่มีมา 50 ปีเป็นแต้มต่อ ควบคู่ไปการรีแบรนด์โรงเรียนให้ดูทันสมัย ทำเว็บไซต์ โลโก้ใหม่ ซึ่งเท่าที่ผ่านมาสัดส่วนนักเรียนของโรงเรียนเรายังอยู่ในช่วงขาขึ้น“

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ตรงจากการทำงานโรงเรียน ทำให้เฟมค้นพบเสน่ห์ของการบริหารธุรกิจนี้ว่า สนุกไม่พอ ยังเลิกงานเป็นเวลา “ธรรมชาติของโรงเรียน 4 โมงเย็นก็เลิกแล้ว” เฟมบอกเล่าอย่างอารมณ์ดี พร้อมเสริมว่า เพราะฉะนั้น หลังจากเลิกงานที่โรงเรียน เฟมจึงสามารถบริหารเวลาในแต่ละวันได้อย่างลงตัว จนมีเวลาพอที่จะลุยธุรกิจใหม่ที่เธอเกริ่นมาแล้วว่า ไม่เคยคิดและคาดฝันมาก่อนในชีวิต

“เฟมเพิ่งมาลงขันทำร้านอาหาร Clay Bangkok อยู่แถวพหลโยธิน ซ.2 เชื่อมั้ยว่า ตั้งแต่เกิดมาไม่คิดมาก่อนว่า วันหนึ่งจะมาทำธุรกิจร้านอาหาร เพราะชอบกินก็จริง แต่ทำอาหารก็ไม่เป็น ดังนั้น ไม่ต้องจินตนาการเลยว่า ถ้าคิดว่าจะเปิดร้านอาหารคนเดียวจะยุ่งยากแค่ไหน คิดง่ายๆ ว่า ถ้าอาหารที่ร้านไม่อร่อยเราก็ไม่รู้ทำอย่างไร ต้องเปลี่ยนเชฟตลอด(หัวเราะ) แต่สุดท้ายด้วยจังหวะและโอกาสทำให้ได้มาทำ พอดีเฟมไปเจอหุ้นส่วนสองคน ซึ่งจบ Cordon Bleu ทั้งคู่ คนหนึ่งจบที่ซิดนีย์ อีกคนจบที่ Cordon Bleu ไทย และหลักสูตร OHAP ของโอเรียนเต็ล ซึ่งคนนี้เป็นสามีของเพื่อนสนิทเฟม (ปลาทู-ธันย์ชนก วิริยะบูรณ์) ซึ่งเขาอยากทำร้านอาหาร เลยชวนเฟมมาทำ เฟมก็โอเคไว้ใจ เพราะรู้จักกันมาเป็น 10 ปีแล้ว บวกกับคิดอีกมุมว่า ถ้าเขาไม่ชวนก็คงไม่มีโอกาสมาลองทำธุรกิจด้านอาหาร”

เฟมเลือกเอาจุดแข็งที่มีเรื่องการตลาดและพีอาร์บวกไอที มาเป็นกลไกสำคัญในการปลุกปั้นร้านอาหารให้เป็นที่รู้จัก

“พอมาลองทำร้านอาหารจริงจังไม่ง่ายเลย ในแง่การโปรโมตก็เช่นกัน ตอนแรกตั้งใจปล่อยออร์แกนิกเลย ไม่มีการโปรโมตเฟสบุ๊ก อินสตาแกรมใดๆ กะว่าให้ลูกค้าค่อยๆ รู้จักเอง อาจจะมีลงในโซเชียลมีเดียบ้างว่าร้านเปิดแล้ว ใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นเพื่อนของเรา แต่สุดท้ายเปิดร้านมา 2 เดือนก็เป็นที่รู้จักนะ แต่ยังอยู่ในวงแคบๆ เฟมเลยเข้ามาดูด้านนี้โดยตรง ใช้โซเชียลช่วย เริ่มทำความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ร้านเราไม่ใช่ขายแต่บรันซ์ เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่วันธรรมดาเราก็เปิดด้วย เพียงแต่เปิดเป็นดินเนอร์เวลา 17.00-22.00 น.”

งานนี้เพื่อให้เห็นภาพของร้านอาหารที่ทุ่มสุดตัว เพื่อให้เป็นอีกจุดเช็กอินของสายกิน เฟมนิยามถึงตัวตนของร้านว่า ตอบโจทย์ทั้งผู้ที่มองหาบรันซ์ดีๆ และดินเนอร์ที่มาพร้อมเครื่องดื่มอย่าง ค็อกเทล และไวน์ เซเลกชั่น เข้ามาแล้วบรรยากาศอบอุ่น ชวนนั่ง เหมือนมากินข้าวบ้านเพื่อน โดยคอนเซ็ปต์ของอาหารที่ร้านส่วนใหญ่เป็นฟิวชั่น รวมทั้งอาหารไทยที่ฟิวชั่นให้ออกมาอร่อย เน้นซีฟู้ดสดๆ เพราะพาร์ตเนอร์คนหนึ่งมาจากพัทยา ดังนั้น จะคัดทะเลสดๆ จากเรือมาเป็นวัตถุดิบ

อย่างไรก็ตาม ถึงจะต้องควบสามจ็อบแถมยังมีครอบครัวน้อยๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตคู่ให้ต้องดูแล ถามว่าเฟมมีเคล็ดลับการจัดสรรเวลาอย่างไร เฟมอมยิ้มก่อนเฉลยว่า “อย่างที่บอกว่า ตอนนี้กลับมาทำงานที่บ้าน 4 โมงเย็นโรงเรียนเลิก ก็มีเวลาพอสำหรับไปทำสิ่งที่สนใจ อย่างที่ร้าน บางทีเฟมก็เข้ามาเย็นๆ หรือบางที เสาร์-อาทิตย์ ก็ให้หุ้นส่วนถ่ายรูปแล้วส่งมาให้เรามาทำพีอาร์ต่อได้

ส่วนเรื่องการดูแลตัวเอง ช่วงหลังยอมรับว่าหย่อนลงไป ดูแลตัวเองน้อยลง แต่คิดว่าจากนี้ต้องกลับมาดูแลจริงจัง เพราะเฟมตั้งใจจะมีลูก ต่อให้ใช้วิธีธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรงไว้ก่อน”

ปิดท้ายด้วยเทคนิคการทำงาน เพื่อบริหารทุกบทบาทให้ไม่สะดุด เฟมเฉลยง่ายๆ ว่า “ทุกงานขึ้นกับคน ถ้าเราดูแลพนักงานหรือคนในองค์กรดี สุดท้ายเฟมเชื่อว่าสิ่งดีๆ ก็จะวนกลับมาสู่ในรูปของผลงาน ไม่ว่าเฟมจะอยู่ในธุรกิจไหน ทำงานที่โรงเรียน ร้านอาหาร เฟมเชื่อเสมอว่า ตราบที่คนในองค์กรมีความสุข องค์กรก็ก้าวหน้า” เฟมทิ้งท้ายด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม









กำลังโหลดความคิดเห็น