จั่วหัวมาแบบนี้ ใครที่ชื่นชอบเครื่องประดับฝีมือระดับคราฟต์ คงใจเต้นโครมครามที่จะได้ทำความรู้จักกับ “เติ้ง-ธามาริน เจริญพิทักษ์” คนหนุ่มรุ่นใหม่ที่เข้ามาสืบสานงานฝีมือช่างทองทำมือโบราณ ในชื่อ ต้นมะขาม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่พอ ยังสืบทอดงานฝีมือกันมานานกว่า 100 ปี เขาคือ ทายาทรุ่น 4 ของตระกูลที่เข้ามาสืบสานธุรกิจ พร้อมแตกไลน์ไปสู่แบรนด์ลูกอย่าง “ทีเอ็มเค เมน” (TMK MEN) นำดีไซน์ที่มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงชื่อแบรนด์จะดูพุ่งตรงเป้าหมายไปที่กลุ่มลูกค้าผู้ชาย แต่เติ้งบอกเลยว่า สินค้าของเขาเป็นยูนิเซ็กซ์ ผู้หญิงก็ใส่ได้เหมือนกัน
นอกจากสองธุรกิจหลักที่ดูแลอยู่แล้ว เติ้งยังเป็นหุ้นส่วนโปรดักชันเฮาส์ที่มีชื่อติดหูว่า Storyboard และยังช่วยคู่หมั้นคนสวย “บุ๋ม-จารุจิต ใบหยก” ดูแลด้านการผลิตให้กับแบรนด์เครื่องประดับ Gemster อีกด้วย
“ตอนนี้นอกจากดูแลธุรกิจของครอบครัว ผมก็มาช่วยบุ๋มดูแลด้านการผลิตของ Gemster ซึ่งเป็นเครื่องประดับจากพลอยสังเคราะห์ ข้อดีคือ ลูกค้าสามารถเลือกสีพลอยได้ดั่งใจ ในราคาที่เอื้อมถึง เมื่อเทียบกับพลอยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งด้วยจรรยาบรรณในการทำธุรกิจ เราต้องบอกลูกค้าให้เข้าใจชัดเจนก่อนเสมอ” เติ้งเรียกน้ำย่อยของการพูดคุยในวันนี้ ด้วยการอัปเดตถึงบทบาทหน้าที่ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเขา ซึ่งคลายข้อสงสัยไปได้ในบัดดลเลยว่า ทำไมก่อนที่จะถึงเวลานัดหมาย ถึงเห็นชายหนุ่มนั่งหน้าเครียดอยู่หน้าโน๊ตบุ๊กคู่ใจ ก่อนจะคลี่ยิ้ม พลันพับหน้าจอคอมฯ ลง เพื่อเปิดโอกาสให้ทำความรู้จักเขามากขึ้น
:: จากเด็กเกเรสู่นักธุรกิจหนุ่ม
ไม่เฉลยคงไม่รู้ว่า ครั้งหนึ่งเติ้งเคยเป็นเด็กเกเรไม่เบา สมัยเด็กท่องยุทธจักรไปเรียนมาแล้วทั้งสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ก่อนจะมาจบ ม.ต้น ที่สาธิตประสานมิตร และไปอยู่อังกฤษยาวถึง 6 ปี
“โชคดีที่ผมมีภาษาอังกฤษติดตัว ช่วงไปอยู่ที่อังกฤษเลยโอเค สมัยที่ผมไป ย้อนไป 20 กว่าปีก่อน การจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ ด้านอาร์ต ไม่ได้มีกฎเกณฑ์เหมือนปัจจุบัน แค่มีพอร์ตที่ทางมหาวิทยาลัยพิจารณาแล้วว่าโอเค ก็เข้าเรียนได้ ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ทำพอร์ตเพื่อสมัครเรียนด้าน Product Design ที่เซนต์ มาร์ติน แต่เรียนไปเรียนมาผมเริ่มไม่ไหว จึงตัดสินใจย้ายมาเรียนที่ London College of Communication (LCC) ซึ่งสมัยผมเรียนยังใช้ชื่อว่า London College of Printing (LCP)
ถึงการเรียนการสอนจะยังเน้นไปที่การทำหนังสือแบบเก่า มีการล้างฟิล์ม เรียนโปรแกรมจัดหน้า ทำกราฟิกแต่ข้อดีของคอร์สนี้ที่เป็นวิชาติดตัวผมมาจนถึงทุกวันนี้คือ วิชาซ่อมหนังสือโบราณ ไม่ว่าจะเป็นพจนานุกรม จดหมายเหตุต่างๆ ที่อยู่ตามห้องสมุดหรือหอสมุด ซึ่งผมคิดว่า สมัยที่เรียนน่าจะมีคนไทยที่ทำได้ไม่เกิน 20 คน แต่วันนี้น่าจะเหลือไม่เกิน 3 คนเท่านั้น”
หลังจากคว้าปริญญาตรีมาได้ เติ้งตัดสินใจกลับมาทำงานที่เมืองไทย แม้จะยังไม่เห็นภาพอนาคตว่าอยากจะทำอะไรก็ตาม
“ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ ผมทำหลายอย่างมาก เปิดร้านอาหาร ทำอู่ซ่อมรถมินิคลาสสิก เปิดผับ ทำงานนิตยสาร เรียกว่าอยากทำอะไรก็ทำ แต่ระหว่างนั้นผมก็ช่วยธุรกิจที่บ้านมาตลอด ตั้งแต่การผลิต จนถึงเฝ้าร้านเวลาคนขาด (หัวเราะ) จึงได้ซึมซับมาตลอด แต่ถ้าถามว่าคิดมาแต่เด็กมั้ยว่าวันหนึ่งจะกลับมาสานต่อ คำตอบคือไม่เลย จนกระทั่งวันหนึ่งคุณแม่คิดอยากวางมือ ผมเองในฐานะรุ่นที่ 4 ก็อดเสียดายไม่ได้ จึงตัดสินใจเข้ามาสานต่อ (แบบจำเป็น) โดยธุรกิจของเราจะเน้นในส่วนที่เป็นไฟน์ จิวเวลรี ผมเข้ามาดูแลตั้งแต่ออกแบบ ผลิต ขาย บอกตรงๆ ก็ทำได้ไม่ดีครับ เพราะเราไม่ถนัด โชคดีอยู่บ้างที่ผมพอมีความรู้เรื่องการทำเครื่องประดับ เรียนรู้วิธีการทำทองแบบโบราณมาบ้าง เลยมาโฟกัสเรื่องการผลิต และค่อยๆ พัฒนาด้านอื่นๆ จนตอนนี้ทำมา 5-6 ปีก็เริ่มอยู่ตัว”
ส่วนงานโปรดักชันเฮาส์ ที่ดูเหมือนเป็นเส้นขนานกับธุรกิจหลักที่ทำอยู่ แต่เติ้งตอบชัดว่าเป็นอีกอาชีพที่ไม่ใช่แค่รัก แต่ตอบโจทย์เทรนด์โลกยุคใหม่ ที่ทุกอย่างต้องอาศัยการเล่าแบบใหม่ ซึ่งคลิปวิดีโอเป็นหนึ่งในนั้น โดยการได้ลองทำทั้งธุรกิจที่คนรุ่นก่อนสร้างมา และ ธุรกิจที่ปลุกปั้นกับหุ้นส่วน ก็เหมือนได้เทกคอร์สสอนวิชาธุรกิจที่มีความยากและท้าทายต่างกันไปในเวลาเดียวกัน
“สำหรับเป้าหมายต่อไปของแบรนด์ต้นมะขาม และ Gemster ผมตั้งใจว่าจะขยายตลาดไปในกลุ่มตะวันออกกลางในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะจากการศึกษาตลาดอย่างหนักหน่วง ทำให้พบว่าตลาดสิงคโปร์ที่ดูเหมือนเงินสะพัด แต่จริงๆ แล้วคนที่อยู่หรือไปทำงานที่สิงคโปร์ ส่วนใหญ่ไปหาเงินมากกว่าใช้เงิน ส่วนญี่ปุ่น ส่วนใหญ่นิยมซื้อจิวเวลรีชิ้นเล็กๆ มากกว่าชิ้นใหญ่ ผิดกับลูกค้าตะวันออกกลาง ที่นิยมเครื่องประดับชิ้นใหญ่ เราเลยเลือกไปเปิดตลาดที่นั่น ส่วนธุรกิจโปรดักชันเฮาส์ คงมีการแตกไลน์บริการใหม่มากขึ้น”
:: จุดพลิกผันของชีวิต
นั่งฟังเส้นทางอนาคตที่เติ้งบอกเล่าอย่างเป็นสเต็ป ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคตแล้ว พาลให้เกือบลืมเด็กเกเรคนเก่าที่เติ้งเกริ่นไว้ไปสนิท จนอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรคือจุดเปลี่ยนของชีวิต ที่ทำให้เติ้งกลายเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ที่วางแผนอนาคตอย่างรอบคอบ
“ถึงจะดูเหมือนทำหลายอย่าง แต่ผมก็ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้น ต้องขอบคุณเทคโนโลยีที่ทำให้ใน 1 วัน เราสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง ผมไม่เหนื่อย ตราบที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ ในแต่ละวันผมยังมีเวลาเหลือ ไปเรียนทำทองสัปดาห์ละ 1-2 วัน ซึ่งผมเองทำเป็นบล็อก สำหรับผู้ที่สนใจติดตามผลงานการทำเครื่องประดับ คลิกไปดูใน YouTube ค้นหาคำว่า Baan Tonmakham เพื่อสะท้อนองค์ความรู้ของการทำทองโบราณ ทำด้วยมือเกือบ 100%” เติ้งเล่าอย่างออกรส ก่อนเผยถึงจุดหักเหของชีวิตที่เขาบอกว่า เป็นรสชาติชีวิตที่จำจนตาย
“สมัยไปเรียนต่อที่อังกฤษแล้วปรากฏค่าเงินบาทลอยตัว จากตอนแรกไปเช่าบ้านเดือนละพันกว่าปอนด์ พอวิกฤตฟองสบู่ต้องขออยู่หอโรงเรียน แล้วทำงานเป็นค่าอยู่ เป็ด โฟร์ ซีซั่น ที่เคยไปกินกับเพื่อนจนเชฟจำได้ ตอนหลังขอแค่ข้าวกับผัก โชคดีที่เชฟใจดีให้เศษหนังเป็ดติดมาด้วย” เติ้งเล่าไปขำไป ถึงชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยาย
“บทเรียนชีวิตครั้งนั้นสอนให้รู้ว่า อย่างน้อยเราก็ทนลำบาก และมีสติในการใช้ชีวิตมากขึ้น เชื่อมั้ยว่าตั้งแต่นั้นมา ผมไม่เคยกินอาหารเหลือเลย บางทีไปกินข้าวกับบุ๋ม เขากินไม่หมดผมกินแทน ผมใช้ทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพราะรู้รสชาติคำว่าลำบากเป็นอย่างไร ซึ่งเหตุผลที่หลังจากวิกฤตฟองสบู่แล้ว ผมเลือกไม่กลับมาเมืองไทย เพราะตอนนั้นประเทศไทยก็แย่ ยิ่งธุรกิจจิวเวลรีไม่ต้องพูดถึง ผมเลยเลือกที่จะอดทนและเรียนต่อจนจบ”
อีกจุดพลิกผันที่สำคัญในชีวิตคือ ตอนที่คุณพ่อคุณแม่มีปัญหากัน และตัดสินใจเลิกทำแบรนด์ต้นมะขาม ซึ่งมีช็อปอยู่ที่ชิดลม “ตอนนั้นผมเป็นแฟนกับบุ๋มใหม่ๆ เขาคอยเป็นกำลังใจ ให้คำปรึกษาในวันที่ผมแย่ และทำให้มีแรงฮึดและผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวเอง จากที่ชอบปาร์ตี้ แฮงก์เอาต์กับเพื่อนก็เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น”
นอกจากจะรอติดตามบันทึกหน้าใหม่ของเติ้ง จากการขยายธุรกิจไปตามเส้นทางที่ตั้งใจ ก็คือ บทบาทการเป็นสามี โดยทั้งคู่มีฤกษ์จะเข้าพิธีแต่งงานกันเมษายนปีหน้า ส่วนแผนการหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร โปรดรอติดตาม เพราะถ้าถามเติ้งวันนี้ เขายอมรับว่าแพ้ให้กับความอบอุ่นของครอบครัวใบหยก จนได้แต่กระซิบว่าที่เจ้าสาวคนสวยว่า ตักตวงช่วงเวลาแห่งความสุข จากการเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวที่อบอุ่นนี้ไว้ให้มากที่สุด