ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายการ ‘มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์’ ที่เริ่มแพร่ภาพทางช่อง 7 HD มาตั้งแต่เมื่อสองปีก่อน ทำให้ชื่อและใบหน้าของ ‘เชฟป้อม’ หรือ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล กลายเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้น รวมถึงวลีฮิตของเธอที่บอกว่า “เตือนแล้วนะ!” จนกลายเป็นวลีติดปากใครต่อใครไปทั่ว
บทบาทที่คุ้นตา … กรรมการสุดโหด
“ในรายการมาสเตอร์เชฟ ผู้เข้าแข่งขันจะเป็นคนบ้านๆ ที่มีใจรักอาหาร ไม่ใช่มืออาชีพ” คุณป้อม-หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล เล่าถึงรายการซึ่งเธอทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสิน “รายการมีซีซันส์ละ 17 ตอน เราก็ให้โจทย์ผู้เข้าแข่งขันแก้ปัญหาและทำอะไรต่ออะไร ในฐานะกรรมการตัดสิน ดิฉันก็จะมีวิธีการสอดแทรกหรือสอนไปในตัว หรือบางทีมีโจทย์ยากๆ เราก็จะทำตัวอย่างให้เด็กหลังฉาก ซึ่งเราจะมีการสอนพื้นฐาน แล้วเด็กก็จะต้องไปสู้เอาเอง ถ้าคนติดตามดูทั้ง 17 ตอนจะรู้ว่า พวกเขามีพัฒนาการจากวันแรกจนถึงวันสุดท้ายเยอะมาก”
บุคลิกของคุณป้อมในรายการเป็นที่รับรู้ทั่วไปเช่นกันว่า “ดุค่ะ และตัวจริงก็ดุด้วย เพราะว่าดิฉันเป็นคนเสียงดุ และบางครั้งการที่จะไปเล่นกับผู้แข่งขันมันไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางทีวิธีสอนก็ต้อง ‘เตือนแล้วนะ!’ จริงๆ ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างให้เกิดอะไรขึ้นจากคำพูดนี้นะคะ เพียงแต่ ‘เตือนแล้วนะ!’ คือการที่เราเป็นกรรมการตัดสิน เราจะไปจับมือสอนก็ไม่ได้ แต่เรามีวิธีการไปแยงๆ เตือนๆ ให้เขาเชื่อ หรือระวัง หรือแก้ไข เขาก็จะผ่านไปได้”
ในแต่ละซีซันส์จะมีการคัดเลือกผู้สมัครรอบแรกจากจำนวนพันกว่าคน โดยมีทีมงานเป็นฝ่ายคัดเลือกก่อนจากคลิปที่ผู้สมัครส่งมา เกณฑ์การคัดเลือกนั้นดูจากบุคลิกของผู้สมัคร และความสามารถในการทำอาหาร
“เราก็จะดูจานอาหารของเขา วิธีที่เขาเขียนเล่า จากพันกว่าคนก็คัดเหลือประมาณร้อยกว่าคน ถึงตอนนั้นกรรมการจะเข้าไปจริงๆ นั่นคือว่า อย่างพวกเรา ถ้าเป็นเชฟเองแล้วจะรู้ว่า ลักษณะหรือหน่วยก้านเป็นอย่างไร ทำจริงหรือไม่จริง หรือบางคนตบตามาหลอก เป็นมืออาชีพ ซึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์ของเรา เป็นมืออาชีพแล้วมาทำ จะตบตาเราไม่ได้ แล้วเราก็จะชิมอาหารจริงๆ เพื่อให้รู้ว่า ที่ส่งคลิปมาน่ะเขาทำเองหรือเปล่า”
คุณป้อมรับผิดชอบในส่วนของอาหารไทย และมี เชฟเอียน-พงษ์ธวัช เฉลิมกิตติชัย ดูแลในส่วนของอาหารตะวันตก และอาหารประเภท molecular gastronomy ซึ่งเป็นการใช้สารต่างๆ ในการทำอาหารรุ่นใหม่ นอกจากนั้นยังมี ม.ล. ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ เป็นนักชิมอีกหนึ่งคน
“แต่ทีนี้ในรายการมันมีความหลากหลาย เราก็ต้องยึดต้นแบบที่ซื้อลิขสิทธิ์มา แต่เพราะนี่คือมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ เราก็เลยต้องยึดความเป็นไทยไว้ด้วย เพราะฉะนั้น อาหารจะมีหลากหลายจริงๆ วัตถุดิบมีตั้งแต่ราคาถูกยันแพง นั่นคือโจทย์ที่เราตั้งใจเสมอว่า คุณจะต้องชูวัตถุดิบให้ได้ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และอาหารที่ปรุงต้องมีรสชาติอร่อย”
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของเชฟที่ดีควรจะมีอะไรบ้าง คุณป้อมให้ความเห็น “ดิฉันบอกได้เลยว่า เชฟเป็นคนทำอาหารที่ไม่ได้ทำเงินมากมายเหมือนอาชีพในธุรกิจอื่นๆ ฉะนั้น คนที่จะยึดอาชีพนี้จะต้องมีใจรักจริงๆ มีความอดทนในการเรียนรู้ และต้องทำงานหนักนะ คุณจะมานั่งคิดแบบ...เข้างานแปดโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็นไม่ได้ บางงานมันลากยาวไป ทั้งเหม็น ทั้งงานหนัก นอกจากความอดทนแล้วยังต้องมีใจรักจริงๆ ซึ่งดิฉันเชื่อว่า คนที่มีใจรักจริงๆ เขาต้องมากับรสมือที่ดี และอย่าหยุดตัวเอง พยายามเรียนรู้จากสิ่งรอบข้าง เรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า หลายคนที่คิดว่าตัวเองแน่แล้ว มักจะไปไม่ค่อยรอด แต่คนที่ขวนขวาย พัฒนาตัวเองจากสิ่งที่เราบอก สิ่งที่เราแอบสอน สอดเข้าไปเรื่อยๆ พวกนี้จะอยู่ยาวและจะเป็นผู้ชนะในที่สุด”
เธอบอกต่อว่า “ความจริงดิฉันก็เจอมาเยอะนะคะ ในอาชีพนี้ คนที่เป็นเชฟทำอาหารมักจะมีอีโก้สูงไป พออีโก้สูงคุณก็ไปต่อไม่ได้น่ะ ถ้าคิดว่าตัวเองเก่ง โถ...ดิฉันเองขนาดนี้ มีอะไรใหม่จากเด็กรุ่นใหม่ดิฉันก็ยังเรียนรู้เลย เพราะว่าทุกอย่าง ไม่ว่าวัตถุดิบหรืออะไร มันจะมีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ
อย่างเมื่อก่อนเราไม่มีเครื่องทุ่นแรง พริกแกงก็ตำกันไปสิ แต่เดี๋ยวนี้คุณมีเครื่องบดสารพัด บดเปียกบดแห้ง เอามาใช้ให้เป็น คือบางคนยืนยันว่าต้องตำอย่างเดียว อย่างนั้นก็ไม่ใช่นะคะ สมัยก่อนคุณมีแต่ครก ไม่มีอะไรเลย แต่เดี๋ยวนี้มีเครื่องทุ่นแรงแล้ว วัตถุดิบ เห็นง่ายๆ อย่างเนื้อวัว เมื่อก่อนเนื้อวัวเนื้อควายต้องเคี่ยวอย่างเดียวเลย เพราะมันเหนียวน่าดู แต่เดี๋ยวนี้มีหมด เนื้อ A4, A5 เนื้อมีลายมันแทรกน้อยแทรกมาก ยุคสมัยเปลี่ยนไป คุณต้องตามทุกสิ่งทุกอย่างให้ทัน อย่าจม อย่ามีอีโก้ว่าข้าเก่งข้าแน่ ไม่ใช่ค่ะ”
ส่วนตัวคุณป้อมเองนั้น เป็นที่รับรู้กันว่ามีพื้นฐานด้านโภชนาการและการทำอาหารจากครอบครัว ในรั้ววังเทวะเวสม์ ซึ่งเป็นที่พำนักของ หม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์ เทวกุล ซึ่งมีศักดิ์เป็นคุณปู่ของเธอ
“ดิฉันไม่ได้เรียนมาแบบเข้มข้นหรอกค่ะ” เธอบอก “มันเหมือนกับว่า ดิฉันมาจากครอบครัวที่ถือเรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญ และถือว่าดิฉันโชคดี คุณย่า (หม่อมราชวงศ์สอางค์ เทวกุล) คุณแม่ (ประเทือง เทวกุล ณ อยุธยา) และครอบครัวของคุณย่าคล้ายคนโดนติวเข้มมาตั้งแต่เกิด เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และเกร็ดความรู้ต่างๆ ผู้ใหญ่สอนกันแบบไม่ต้องมีการสอบ ไม่ต้องมีหลักสูตรใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องอาหารจึงเป็นสิ่งที่ครอบครัวดิฉันให้มาเยอะมาก และตัวดิฉันเอง บางครั้งก็เบื่ออาหารไทย ก็ไปขวนขวายหาความรู้อื่นเอง อย่าง เบเกอรี หรืออาหารฝรั่ง ซึ่งสามารถนำมารวมกับพื้นฐานความรู้เดิมได้ มันก็ยิ่งแตกแขนงออกไปได้ ฉะนั้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ดิฉันบอกเลยว่า อย่างไรเสียคนเราต้องขวนขวายหาความรู้ และคนเราไม่แก่เกินเรียนค่ะ”
ทุกวันนี้ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นกรรมการตัดสินในรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์อยู่ เธอยังมีทีมงานรับทำข้าวแช่ประจำทุกปีในช่วงหน้าร้อน “ตั้งทีมทำกันเฉพาะสิบวันเท่านั้น ในช่วงหน้าร้อน ไม่ได้รับแค่ร้อยชุด ตอนนี้ทางทีมรับเต็มที่ ตลอดสิบวัน สั่งมาเถอะ” รวมถึงอาหารชุดวันแม่ และในเร็วๆ นี้ยังจะมีซีรีย์น้ำพริก ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะตัวของเธอออกวางจำหน่ายอีกด้วย
บทบาทใหม่ … โชว์น้ำเสียงบนเวทีการแสดง
พ้นจากเรื่องบทบาทกรรมการตัดสินและรายการอาหารแล้ว ยามนี้ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล ยังมีบทบาทที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่าง การแสดงบนเวทีละคร กับผลงานเรื่อง ‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ ของดรีมบอกซ์ ซึ่งเปิดรอบแสดงที่ M Theatre ระหว่างวันที่ 15-30 มิถุนายนนี้
“ตอนนี้ดิฉันโดนแซวว่า ทิ้งกระทะทิ้งตะหลิวมาเล่นละคร” คุณป้อมบอกพลางยิ้ม “เปล่าค่ะ ดิฉันกลับมาที่จุดเดิมต่างหาก” หลังจากที่เคยร่วมแสดงใน ‘นางพญางูขาว’ ผลงานละครแนวมิวสิคัลเมื่อปี 2542 ในยุคที่ดรีมบอกซ์ยังใช้ชื่อว่า แดส เอ็นเตอร์เทนเมนต์
“ดิฉันร้องเพลงคาแรกเตอร์มาก่อน เคยร้องให้กับการ์ตูนของวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งไม่ใช่เสียงสวยงามของเรา ดิฉันไม่เคยได้เป็นนางเอกหรืออะไรทั้งสิ้นนะคะ ส่วนใหญ่เป็นแนวตลกหรือแนวแก่เสียมากกว่า” เธอจบคำด้วยเสียงหัวเราะ
“ดิฉันร้องเพลงมาตั้งแต่อยู่เยาวชนไทยค่ะ ตั้งแต่ยังอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดา อาจเป็นเพราะมีนักเรียนน้อย ฉะนั้น ใครพอจะทำกิจกรรมได้ก็ต้องทำในหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะ เรื่องการร้องเพลง และที่จิตรลดาก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ดิฉันได้ร้องเพลง
“ทีนี้ คุณหญิงมาลัยวัลย์ บุณยะรัตเวช ท่านคงเห็นว่าร้องได้ เสียงดี ตัวกลมปุ๊ก ท่านก็เลยจับไปเล่นนั่นเล่นนี่ แสดงนั่นแสดงนี่ จนในที่สุดทางกรมศิลปากรเขาก่อตั้งคณะประสานเสียงเยาวชนไทยขึ้นมา ดิฉันก็ไปคัดเลือก บังเอิญติดหนึ่งในห้าสิบคนจากทั่วประเทศ แต่พอเข้าไปก็พบก็รุ่นพี่ๆ ที่เก่งๆ ทั้งนั้นเลย ดิฉันเรียนจบจากโรงเรียน แล้วเลือกเรียนคณะรัฐศาสตร์อีกต่างหาก จะทำอย่างไรดีคะ ก็เหนื่อยพอสมควร แต่พี่ๆ ในวงก็ช่วยเหลือกัน เขาไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว
“ในที่สุดด้วยเสียงหรืออะไรไม่รู้ พอดิฉันได้ขึ้นเป็น Soloist ขึ้นมา ไม่ได้ละ ดิฉันต้องไปเรียนร้องเพลงให้จริงจังกว่านี้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะอายเขา ดิฉันก็เลยไปเรียนร้องเพลงต่อ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะเอาไปทำอะไรต่อได้ เพียงแค่มันเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ”
และนั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอพยายามหนีจากครัว คุณป้อมบอก “เพราะเรื่องครัวเป็นอะไรที่ดิฉันได้มาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อก่อนนี้เคยมีความรู้สึกว่ามันไม่โก้ มันไม่เท่เลยนะ และมีแต่กลิ่นอาหารติดตัว ก็พยายามจะหนี เหมือนเด็กโดนบังคับล่ะค่ะ จะรู้สึกว่าไม่อยากทำ ก็หนีไปร้องเพลงบ้างโน่นนี่บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นคนที่ทำงานใช้เสียงมาตั้งแต่เด็ก อยู่ที่โรงเรียน นอกจากร้องเพลงแล้ว คุณครูยังส่งไปประกวดอ่านทำนองเสนาะ โคลงฉันท์กาพย์กลอนอ่านได้หมด ก็เป็นคนที่รู้จักการใช้เสียงมากกว่า จนในที่สุดก็ขยำตัวเองรวมกันหลายๆ อย่าง ร้องเพลงบ้าง เป็นพิธีกรบ้าง ก็สนุกดี” เธอย้ำคำเป็นการยืนยันว่า “อะไรที่เราทำแล้วมีความสุขมันไม่ใช่งาน”
‘นางฟ้า เดอะ มิวสิคัล’ เธอรับบทบาทเป็น ‘เม้า’ แม่ค้าขายข้าวแกง (ตำรับชาววัง) “ความจริงก็ขำนะคะ ผู้กำกับ (สุวรรณดี จักราวรวุธ) โทร.มาบอก ‘พี่...มันคือบุคลิกของพี่เลย เหมือนเขียนให้พี่เลย’” คุณป้อมเล่าพลางหัวเราะ “แต่พอมาเล่น ดิฉันก็สนุกนะคะ กับทีมงาน หรือผู้กำกับฯ เองก็ทำให้ดิฉันรู้สึกสบายใจที่จะทำงาน ยังคอยชี้แนะ ทีมงานทั้งหลายก็ช่วยในขณะที่ตัวเองก็ไม่มีเวลา เพลงต่างๆ ได้อ่านโน้ตรอบหนึ่งเสร็จปั๊บ มันไม่มีเวลาท่อง จะทำอย่างไร ช่วยเอาทุกอย่างอัดให้ดิฉันไว้เปิดกรอกหูตัวเองทุกวัน เพราะบางครั้งการแอคติงไปด้วยร้องเพลงไปด้วย หรือลุกขึ้นเอ็ดตะโรคนด้วยเพลง มันต้องมีทั้งอารมณ์ มันต้องมีทั้งเมโลดี้ มันต้องมีทั้งจังหวะ ต้องมีทั้งแอคติง ซึ่งการกรอกหูมันต้องแม่นพอแล้ว แอคติงมันถึงจะมา ทุกอย่างจะมา ก็ช่วยกันเต็มที่มาก”
การกลับมาทำงานแสดงบนเวทีอีกครั้ง เป็นเสมือนการกลับมาที่เดิม คุณป้อมบอก “มาทำสิ่งเดิมๆ เพียงแต่ต้องเคาะสนิมกันบ้าง ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้หายไปไหนหรอกค่ะ เพราะว่าบังเอิญคุ้นกับการออกหน้าจอหน้ากล้องอยู่แล้ว มันก็เลยเหมือนกับไม่ได้ยาก แต่จริงๆ การแสดงละครเวทีจะค่อนข้างยากกว่า ตรงที่มันไม่สามารถเทคได้ ทุกอย่างต้องปึ้งแล้วให้จบไปได้ด้วยดี แต่รายการทีวีที่มีการบันทึกเทปมันเทคได้ แต่ดิฉันไม่ได้ห่วง กลัว หรือประหม่าอะไร เพราะว่าดิฉันชินกับการอยู่หน้ากล้องเสมออยู่แล้ว”
นอกจากงานละครมิวสิคัลเรื่องนี้แล้ว เธอยังมีงานแสดงในซีรีย์อีกเป็นระยะๆ และในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมที่จะถึงก็ยังมีละครแนวมิวสิคัลอีกเรื่องหนึ่ง จัดแสดงที่โรงละคร M Theatre อีกเช่นกัน เรื่อง ‘สุดเสน่หา’
“เรื่องนี้เคยเป็นละครที่ดีมาก่อน แต่จะนำกลับมาทำเป็นมิวสิคัล เรื่องนั้นดิฉันยังไม่รู้ว่าบทบาทแม่ของพระเอกจะต้องเล่นเรียบร้อยแค่ไหน” เธอว่าพร้อมรอยยิ้ม
งานอิสระ ชีวิตอิสระ
...หลังจากหย่าร้างกับสามีแล้ว ทุกวันนี้ หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุลได้ย้ายที่พักจากบ้านหลังเดิมที่เคยอยู่ มาใช้ชีวิตเป็นส่วนตัวในห้องพักคอนโดมิเนียม เธอเล่าถึงการตัดสินใจให้ฟัง
“ลูกเต้าของดิฉันก็โตกันหมดแล้ว และเขาก็มีที่ทางของเขา แล้วพอดีบ้านที่เคยอยู่ เป็นบ้านของอดีตสามี คือตอนหย่ากันแล้วดิฉันก็ขอให้เขาออกไป เพราะดิฉันจะอยู่เลี้ยงลูก แต่ทีนี้เมื่อลูกโตแล้ว เขามีที่อยู่แล้วอะไรแล้ว ดิฉันไม่คิดว่าดิฉันจะต้องอยู่ตรงนั้น เพราะว่าเราก็ต้องมีความเกรงใจเจ้าของบ้านตัวจริงเขาหน่อย เราก็เลี้ยงลูกเสร็จแล้วทุกอย่างก็เรียบร้อยดีแล้ว
“อดีตสามีเขาอยู่ที่นั่นนะคะ ดิฉันให้เขาแยกไปอยู่ตึกหน้า แต่พอลูกโตๆ กระจายกันไปแล้ว ดิฉันก็มีมารยาทหน่อย ไม่ไปยึดถือยึดครองอะไรของเขา ก็เลยออกมาใช้ชีวิตอยู่อิสระ ตอนเลี้ยงลูกก็พยายามเลี้ยงดูอย่างอิสระ ดูแลตัวเอง และคิดถึงกันเป็นระยะๆ ก็แค่นั้น ดิฉันต้องการใช้ชีวิตอิสระ ทั้งๆ ที่ความจริงดิฉันเป็นคนชอบอยู่บ้านมาก อยากอยู่บ้านที่มีบริเวณ แต่ชีวิตดิฉันตอนนี้คงอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เพราะว่าดิฉันออกทำงานตลอดเวลา เวลาอยู่บ้านไม่ค่อยมี ฉะนั้น ดิฉันก็เลยอยากจะอยู่ในที่ที่ดิฉันไม่ต้องดูแลรักษามาก และดิฉันสามารถปิดประตูทิ้งมันได้หลายๆ วัน เพราะคอนโดฯ มีคนดูแลความปลอดภัยใช่ไหมคะ ไม่ต้องดูแลต้นไม้หรืออะไร ชีวิตก็เลยมีความสุขดี”
ลูกชายสามคนที่เชฟป้อมกล่าวถึง ปัจจุบันต่างคนต่างเลือกชีวิตของตนเอง “ลูกๆ ก็เคยบอก ดีนะที่คุณแม่เป็นฟรีแลนซ์ เพราะลูกๆ ของดิฉันก็ไม่ได้มีใครทำงานประจำ หรือรับราชการสักคนเดียว ทุกคนทำงานของตัวเอง
“ลูกคนโต (สกุลชัย สามเสน) ซึ่งเรียนจบศิลปกรรม เป็นศิลปินมาก ยังอยู่ที่บ้านเดิม เขาได้ที่ตรงนั้น เขาก็เปิดร้านชาไข่มุกที่หน้าบ้านก่อน ตอนนี้เขาจะเปิดร้านกาแฟและอาหารด้วย โดยเอาตัวบ้านเดิมมาทำ เนื่องจากว่ามันไม่ค่อยมีใครอยู่แล้ว เขาก็ใช้สถานที่ตรงนั้นมาทำร้าน
“ลูกคนที่สอง (กุลพัชร สามเสน) หลังจากเรียนจบด้านการเงินมา เขาก็เริ่มรู้สึกว่าเขาไม่ชอบทำงานประจำ เขาก็หาตัวเองได้โดยการไปทำเทรดดิ้ง อิมพอร์ตของมาขาย เขาเก่งด้านกีฬา ฉะนั้น เขาก็จะมีสินค้าประเภทอุปกรณ์การกีฬา แล้ววันหนึ่งเขาก็ลุกขึ้นมาเปิดร้านราเมงในราคาที่ทุกคนรับได้ ไม่อยากจะบอกว่าราคาถูก แต่เป็นราคาที่ทุกคนรับได้ ไม่ใช่ราเมงชามละสองร้อย-สามร้อย ของเขาไม่เกินร้อย แม้ว่าเขาไม่ใช่คนทำอาหาร แต่เขาก็มีวิธีการที่จะมีคนมาปรุงบางส่วน และจัดสิ่งสำเร็จรูป เพื่อทุ่นต้นทุนของเขาบางส่วน ก็เป็นร้านราเมงเล็กๆ เป็นการหาชีวิตเพื่อทำงานอิสระของเขาได้
“ส่วนคนเล็ก (กุลพล สามเสน) หลังจากเรียนจบนิเทศศาสตร์ ไปทำงานดนตรีอยู่พักหนึ่งก็ลุกขึ้นหาตัวเอง ทุกคนจะมีช่วง...คือดิฉันถือว่าตัวเองโชคดีที่ลูกหาตัวเองเจอ คนเล็กนี่เขาหาตัวเองได้ อยู่ดีๆ เขาก็หันมาทำอาหาร แต่เขาบอกเลยว่า เขาจะไม่ทำในแนวที่ซ้ำกับแม่ เพราะว่ามันไม่ดีต่อใครเลย คือถ้าเขาทำอาหารไทยอย่างแม่ คนต้องเปรียบเทียบแน่นอน ไม่ติเขาก็ติแม่ ฉะนั้น เขาเลยไปทางอาหารจีน พยายามหาคอร์สเรียน และไปอยู่ฮ่องกงจนจบ แล้วไปหาประสบการณ์ที่เมืองจีนต่อ ตอนนี้เขากลับมาเปิดร้านอาหารสไตล์นีโอ-ไชนีส ชื่อร้าน ‘ยุ้งฉาง’ อยู่ตรงซอยอารีย์สัมพันธ์ 6”
สรุปแล้วลูกชายทั้งสามคนของเธอ หันมาจับงานอาชีพด้านอาหารกันหมด ทั้งๆ ที่ผู้เป็นแม่บอกว่า ไม่มีใครเคยส่อแววว่าจะสนใจเรื่องนี้สักคน
“แต่ถามว่า แม่ได้ยุ่งได้ช่วยอะไรไหม บอกเลยว่าแม่ไม่ยุ่งนะ ขอความช่วยเหลือได้ แม่พร้อมจะสนับสนุน แต่เขาต้องทำด้วยตัวของเขาเอง เช่น ระบบดูดหรือระบายควัน ดิฉันจะแนะนำและหาคนให้ แล้วให้ไปคุยกันเอง ซัพพลายเออร์อาหารเป็นใครที่ไหนบ้าง ดิฉันให้ชื่อแล้วให้เขาไปคุยกันเอง เขาต้องทำเอง และนั่นก็คือความภูมิใจของเขา”
และแน่นอนว่าคุณแม่จำต้องไปชิม
“เขาก็ชวนนะคะ การทำอาหารของดิฉัน ของลูกๆ หรือของใครก็แล้วแต่ ดิฉันจะไม่วิจารณ์ถ้าไม่ถาม อย่างไปชิมอาหารร้านของลูก ดิฉันก็บอกในแง่ของแม่นะ แต่ลูกต้องรู้เรื่องตลาดมากกว่า เพราะว่า...อย่างบางทีน้ำซุปอร่อยมากเลย แต่โดยวัยแม่ แม่ว่ามันมันไป แต่ถ้าส่วนใหญ่บอกว่าอร่อย และเป็นสูตรที่เธอต้องการ จบ”
ครั้นเมื่อถามเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงดูลูกๆ คุณป้อมให้คำตอบว่า “ในช่วงสิบห้าปีแรกก็จะเสมือนเป็นแม่ที่บังคับโน่นนี่นั่น แต่พอเขาอายุสิบห้าแล้ว ดิฉันก็เริ่มปล่อย เพราะคิดว่าเขาน่าจะผ่านความรับผิดชอบชั่วดีมาตลอดสิบห้าปีแล้ว หลังจากนั้นดิฉันจะคุยเลยว่า ต่อจากนี้ไปไม่ว่าทุกคนทำอะไรจะต้องรับผิดชอบในการกระทำและความคิดของตัวเอง นั่นคือ ถ้าจะเลือกอาชีพ ก็ต้องเลือกที่เลี้ยงตัวเองได้
“และอย่าลืมว่า พวกเธอเป็นผู้ชาย ต้องมีศักดิ์ศรี เธอต้องเลี้ยงตัวเองได้ และถ้าจะมีครอบครัว เธอก็ต้องเลี้ยงดูผู้หญิงอีกคนหนึ่งได้ ให้ดีกว่า หรือเสมอกับที่พ่อแม่ของเขาที่เลี้ยงดูมา ถ้าจะมีลูก ก็ต้องคิดว่าเลี้ยงดูลูกได้อีก และถ้าคิดว่ารับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ ก็ไม่ต้องมี เขาก็เข้าใจนะคะ และดิฉันก็จะไม่เข้าไปยุ่งมาก อายุสิบห้าแล้ว การทำเอกสารสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยหรืออะไรก็ตาม ลูกจะต้อง...ทำเอง”
แม้ว่าปัจจุบันทั้งแม่และลูกๆ ต่างคนต่างแยกย้ายไปใช้ชีวิตอิสระของตนเอง ทว่าก็ยังมีสิ่งยึดโยงความเป็นครอบครัว อย่างน้อยสิ่งหนึ่งคือ ไลน์กลุ่มแม่-ลูก
“เวลามีปัญหาติดขัดอะไรก็ไลน์เข้ากลุ่ม ก็ช่วยกัน ซึ่งความจริงพี่น้องเขาก็ช่วยกันอยู่แล้ว ก็ถึงบอกว่า ชีวิตนี้ ณ จุดนี้ ดิฉันรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข งานที่ทำทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข เป็นสิ่งที่เรารัก”
ลูกๆ ทั้งสามคนห่วงใยคุณแม่ในเรื่องอะไรบ้างไหม เป็นคำถามที่คุณป้อมฟังแล้วถึงกับหัวเราะก่อนให้คำตอบว่า “เขาไม่ห่วงแล้ว เขาไม่ห่วงเลย ลูกคนเล็กเคยบอกว่า คุณแม่ไปมีชีวิตของตัวเองได้แล้วนะ อยากทำอะไรทำ ลูกโตแล้ว ผมเป็นลูกคนเล็ก ผมบอกผมอยู่ได้ พี่อีกสองคนก็ต้องอยู่ได้ อะไรที่คุณแม่แล้วมีความสุขคุณแม่ทำไปเลย คุณแม่อยากจะทำอะไร จะไปไหน จะมีใคร คุณแม่ทำไปเลย
“และไม่ว่าชีวิตดิฉันจะก้าวไปอยู่ตรงไหน เปลี่ยนแปลงไปอยู่ไหน ทำอะไรกับใคร ลูกยินดีกับดิฉันหมดเลย และพอหายไป เขาก็จะโทร.มาถาม คุณแม่อยู่ไหน ไปกินข้าวกัน คือความที่เราไม่ค่อยไปยุ่งกับเขามาก เขาจะกลับมาหาเราเอง แต่ถ้าคุณไปจี้เขา ทำอะไรที่ไหนตลอดเวลา เขาวิ่งหนีเรานะ
“ทุกคนต้องมีอิสระของตัวเอง” เธอย้ำ “แล้วเราก็จะคิดถึงกัน”
ส่วนตัวเธอเองในฐานะคุณแม่ ยังคงมีความห่วงใยลูกๆ อยู่บ้าง แต่ไม่ถึงกับห่วงจริงจัง เธอว่า “มันจะเป็นระยะๆ เมื่อเขามีปัญหาติดขัดอะไร มาคุยกับแม่ แม่ก็จะกังวลเป็นระยะๆ แล้วก็ช่วยกันจนผ่านพ้นไปได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะว่าเขาโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว และรู้จักกลั่นกรองแก้ปัญหาของตัวเองมาแล้ว ก็ไม่ได้ห่วงอะไรแล้ว”
ถึงแม้จะผ่านความล้มเหลวในการใช้ชีวิตคู่มาแล้ว แต่หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุลยังเชื่อในเรื่องของชีวิตคู่ เธอว่า “ดิฉันยังเชื่อในชีวิตคู่นะคะ แต่มันก็มีบทเรียน ดิฉันไม่ถึงกับเข็ดหรืออะไร ถ้าเจอคนที่ดูแลกันได้ ดิฉันก็ยินดี อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมขึ้นมาก็คือว่า เราก็โตขึ้น เราก็มีความสุขในจุดของเรา ดิฉันก็จะไม่เปลี่ยนตัวเอง แต่ถ้ายอมรับกันได้ ยอมปรับตัวเองได้ แต่จะไม่เปลี่ยนตัวเอง การที่เราเปลี่ยนตัวเองเพื่อใครสักคน มันไม่นานหรอก อย่างไรก็ต้องกลับมาเป็นตัวเอง แต่ปรับได้
“ถามว่าเชื่อในชีวิตคู่ไหม ก็ต้องถามอีกฝ่ายหนึ่งด้วยนะว่า รับดิฉันไหวหรือเปล่า เพราะดิฉันก็เป็นคนที่ทำอะไรค่อนข้างอิสระ และทำหลายอย่างมาก อาจจะไม่ใช่ผู้หญิงหวานๆ แต่ดิฉันก็...คือเราก็ทำอะไรเพื่อคนที่เรารักได้ แต่ไม่ใช่ผู้หญิงหวาน ดิฉันทำหน้าที่ของตัวเองได้ แต่ประเภทง้องแง้งุ้งงิ้งจะไม่มี”
ในวันที่คุณป้อมอยู่กับตัวเอง เธอบอกว่าตนเองจะเป็นคนปล่อยตัวสบายๆ “จนบางครั้งในกลุ่มเพื่อนที่สนิทๆ ก็จะบอก อ้าว...มาดเจ๊ป้อมไม่เหลือเลย คือดิฉันจะเป็นคนก๊องแก๊งๆ สนุก สบายของดิฉันไปเรื่อยๆ และโก๊ะๆ หลงๆ ก็มีอยู่เยอะเหมือนกัน เล่นตลกก็ได้ด้วยอีกต่างหาก”
ชีวิตนี้ไม่มีคำว่า “ทำไม่ได้”
ตลอดหลายสิบปีในชีวิตการทำงานของหม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล คติพจน์หนึ่งซึ่งเธอยึดถือมาตลอด นั่นคือ “ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้” เธอบอก “ถ้าลองทำให้สุดกำลัง เราทำได้ทั้งนั้นแหละค่ะ ดิฉันไม่ชอบคนที่จะกินอะไรกินไม่เป็น จะทำอะไรทำไม่เป็น ถามว่าได้ลองหรือยังคะ กิน กินเข้าไป ไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง ทำอะไรอย่าบอกว่าทำไม่เป็น ทำได้ แต่มันใช่สิ่งที่ตัวเองชอบไหม มันก็เท่านั้น คิดให้มันไม่ยากน่ะ ลองทำ ลองกิน ลองทุกอย่างก่อน มันได้ทั้งนั้น
“ตอนนี้เหมือนชีวิตดิฉันทำอะไรมากเยอะแล้วนะ จริงๆ แล้ว ดิฉันไม่สามารถบอกได้ว่าตัวเองมีความอยากอะไร เพราะวิธีการทำงานของดิฉัน ดิฉันไม่เคยเป็นคนที่คิดออกมาว่า อยากจะทำอะไร แต่จะมีคนคิดให้ว่าอยากได้อะไร แล้วจะโยนมาที่ดิฉัน และดิฉันพยายามหาทางทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ แต่ดิฉันไม่คิดว่าตัวเองจะสร้างสิ่งนั้นขึ้นมา ดิฉันเพียงทำกระบวนการของสิ่งนั้นให้สำเร็จ”
คุณป้อมยกตัวอย่าง “อยากจะออกอาหารชุดวันแม่ ดิฉันเองไม่เคยคิดหรอกว่าดิฉันจะออกอาหารชุดวันแม่ แต่พอเขาโยนโจทย์มาให้ ดิฉันก็จะคิดว่ามันควรจะมีอะไร ทำอย่างไร เหมือนน้ำพริกที่ดิฉันจะทำ มันก็จะมีโจทย์จากพาร์ตเนอร์ของดิฉันก่อนว่า เราจะทำน้ำพริกขาย นั่นละดิฉันถึงไปเริ่มนั่งคิดว่า มันจะออกมาเป็นน้ำพริกอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง น้ำพริกไหนจะเก็บได้หรือเก็บไม่ได้ อย่างนี้ละค่ะ คือดิฉันจะไม่เป็นคนคิดโจทย์ แต่ดิฉันจะเป็นคนทำโจทย์ทุกอย่างให้สำเร็จ
“เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่าดิฉันอยากทำอะไร ดิฉันไม่มีจุดเริ่มความอยาก แต่โยนมา แล้วดิฉันจะทำให้ แล้วดิฉันจะตอบว่าดิฉันสนุกกับมันหรือเปล่า เท่านั้นเองค่ะ”
ส่วนงานที่ทำแล้วไม่สนุกก็มี เธอบอก “แต่ดิฉันก็ทำมันจนสำเร็จ ไม่ว่าโจทย์อะไรยากๆ อย่างตอนที่ดิฉันยังทำงานบริษัท เจ้านายโยนเรื่อง ISO มาให้ดิฉันทำ ทั้งๆ ที่ดิฉันยังไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่อง ISO มาก่อน โยนมาให้ดิฉันรับผิดชอบงานเกี่ยวกับ ISO ทั้งหมด งานขายดิฉันก็ไม่รู้ งานวิศวกรก็ไม่รู้ แต่ดิฉันทำจนได้ ทำจนบริษัทได้มาตรฐาน ISO และรักษามันได้ ซึ่งนั่นถามว่าดิฉันชอบไหม ไม่ชอบค่ะ แต่ทำให้สำเร็จได้
“ดิฉันถึงบอกว่า คุณอย่าพูดว่าคุณทำอะไรไม่ได้ ทำได้ทั้งนั้นละ แต่ชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง งานเอกสารท่วมหัวใครชอบบ้าง ไม่ชอบหรอก แต่ในเมื่อต้องทำ เราก็ต้องทำให้ได้”
เมื่อชื่อเสียงและหน้าตากลายเป็นที่รู้จักของผู้คนมากขึ้น อย่างน้อยวลีอย่าง ‘เตือนแล้วนะ!” เป็นที่ติดปากของคนในสังคม แน่นอนว่าความเป็นส่วนตัวอาจต้องถูกเบียดเบียนจากสาธารณชนไปบ้าง เรื่องนี้คุณป้อมบอกเล่าให้ฟังในช่วงท้ายของบทสนนา
“จริงๆ แล้วดิฉันอยากบอกว่า ดิฉันค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองเยอะมาก ทั้งในการแสดง ในบทบาทกรรมการตัดสินรายการมาสเตอร์เชฟ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ชีวิตดิฉันค่อนข้างสบาย และคนที่ติดตามดิฉันหรือเป็นแฟนคลับเขาก็ได้เห็นตัวจริงๆ เพราะฉะนั้นดิฉันก็แค่ปรับตัวเองนิดหน่อย เวลาออกไปไหน ดิฉันจะออกไปแบบยับเยินตามสบายไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวจะมีคนจำได้ จะมาทักทาย
“แต่ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนทั้งหลายในประเทศไทย ที่นิยมการทำงานของดิฉัน และมีมารยาทกับดิฉันมากๆ บางคนเคยมาสวัสดีดิฉัน ดิฉันก็จำได้ไม่แม่นว่าเป็นเพื่อนลูกคนไหน แต่จริงๆ แล้วเขาคือแฟนรายการที่ติดตามดิฉัน ซึ่งเขาก็ให้ความเคารพ ก็คือสวัสดีด้วยการยกมือไหว้แบบคนไทย เขาอยากถ่ายรูป แต่เห็นเรานั่งกินข้าวอยู่ ก็รอจนเรากินเสร็จ อะไรอย่างนี้ค่ะ มีมารยาทและน่ารักทุกคน ซึ่งดิฉันต้องขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่สนับสนุนงานของดิฉันและให้เกียรติดิฉันเสมอ
“เรื่องการไปไหนมาไหนเป็นส่วนตัว” เธอว่า “พ่อแม่ดิฉันก็ไม่ได้สอนให้ทำอะไรเสียหายอยู่แล้ว ดิฉันก็เลยไม่ค่อยลำบากใจสักเท่าไหร่ค่ะ”