xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวัดประจำตระกูล ของเซเลบนามสกุลดัง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ช่วงเทศกาลวันปีใหม่ไทย อย่าง วันสงกรานต์ นั้น นอกจากทุกคนจะได้สนุกสนานกับการเล่นน้ำสงกรานต์เพื่อดับร้อนแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย หันมาเข้าวัดทำบุญชำระล้างจิตใจให้สะอาดเพื่อต้อนรับปีใหม่ไทย รวมถึงบรรดาเซเลบเมืองไทยหลายคน ที่พากันไปทำบุญตามวัดประจำตระกูล ซึ่งนอกจากจะได้ทำบุญตามหลักพุทธศาสนาแล้ว ยังได้ไปเคารพสักการะบรรพบุรุษเพื่อเสริมสิริมงคลอีกด้วย


เริ่มที่ ราชสกุลยุคล มี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำตระกูล เพราะทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันเกิด หรือวันสงกรานต์ ลูกหลานทุกคนในราชสกุลยุคล ก็จะพากันไปทำบุญที่วัดราชบพิตรเป็นประจำ โดยเฉพาะ หม่อมอัญชลี ยุคล ณ อยุธยา ชายาของ ท่านใหม่-ม.จ. จุลเจิม ยุคล มักจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ

วัดราชบพิธ มีความสำคัญสำหรับราชกุลยุคล ภายในพระปรางสามยอดที่จำลองจากลพบุรีมานั้น ก่อสร้างแบบศิลปะของลพบุรี บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ หรือพระองค์ชายเล็ก, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร หรือพระองค์ชายกลาง และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 พระองค์เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร์

และหนึ่งในเจดีย์ 34 องค์ ในวัดราชบพิธฯ มีอนุสาวรีย์พระปรางสามยอดแบบลพบุรี ที่บรรจุพระสรีรางคารของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศร์ ต้นราชนิกุลยุคล, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเกียรติมงคล และประยูรญาติแห่งราชสกุลยุคล

ส่วน วัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชาธิวาสวิหาร และเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ได้ทรงผนวชและจำพรรษา และได้ก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดประจำราชสกุลสายตรงที่ได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ 4 ไม่ว่าจะเป็น เทวกุล, สุจริตกุล และสวัสดิวัตน์ เป็นต้น โดยแต่ละสายราชสกุลมีการรวมตัวกันที่วัดนี้ เพื่อทำบุญวันเกิด หรือทำบุญให้บรรพบุรุษ แล้วแต่วาระและโอกาสที่แตกต่างกันไป

จุ๋ย-จรสพรรณ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ลูกสาวคนสวยของ พลตรี ม.ล. เพิ่มวุทธ์ สวัสดิวัตน์ และเป็นหลานสาวของท่านปู่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หรือเจ้าของป้ายเชลล์ชวนชิม ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ไปร่วมทำบุญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำ

จุ๋ยเล่าว่า “ความจริงแล้ว วัดราชาธิวาสวิหารแห่งนี้ ไม่ใช่วัดประจำราชสกุลสวัสดิวัตน์แต่อย่างใด แต่เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระราชโอรสพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิวัตน์ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าเป็นท่านเทียดของจุ๋ย เสด็จมาประกอบพิธีสำคัญต่างๆ ที่วัดราชาธิวาสแห่งนี้ รวมถึงเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของราชสกุลสวัสดิวัตน์ จนถึงตอนนี้ เหล่าลูกๆ หลานๆ ก็ได้มาทำบุญให้บรรพบุรุษ หรือทำบุญวันเกิดที่วัดแห่งนี้อยู่เนืองๆ ณ ศาลาสวัสดิวัตน์”

แม้จะเป็นที่รู้กันว่า วัดประจำราชินิกุลตระกูลบุนนาค จะมี 2 วัดหลักคือ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่ต้นตระกูลบุนนาคสายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่” ได้สร้างขึ้น และวัดพิชยญาติการามวรวิหาร ที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือ “สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย” ได้บูรณะปฎิสังขรณ์จากวัดร้าง

แต่ทุกวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี บรรดาลูกหลานสายสกุลบุนนาค ต่างไปรวมตัวกันที่ วัดบุปผาราม เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน เนื่องในวันครบรอบวันพระราชทานนามสกุลบุนนาค ที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้ ซึ่ง วัดบุปผาราม เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ หรือ ช่วง บุนนาค เป็นบุตรชายคนโตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ซึ่งท่านเคยได้เป็นถึงผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้บูรณะวัดนี้ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงช่วยในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ด้วย พร้อมพระราชทานนามใหม่ว่า วัดบุปผาราม ซึ่งภายในวัดนอกจากจะมีพระอัฐิของสมเด็จช่วงแล้ว ที่บานประตูของพระวิหารยังมีตราสุริยมณฑลแบบฝรั่ง ซึ่งเป็นตราประจำของสมเด็จเจ้าพระยาฯ (ช่วง บุนนาค) ใช้ประทับตรากำกับสิ่งของเครื่องใช้ หรือก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ กำกับไว้เสมอ

แม้ ราชสกุลเทพหัสดิน จะมีหลายสาย แต่พอถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม ลูกหลานเทพหัสดิน จะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญแด่บรรพบุรุษต้นราชสกุลคือ “เจ้าขรัวเงิน” พ่อค้าชาวจีน ซึ่งได้เสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอในรัชกาลที่ 1 และหลังจากนั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดเลียบ แห่งนี้ขึ้น และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณราชวรวิหาร”

ทุกๆ ปี ราชสกุลเทพหัสดิน จะนัดรวมตัวกัน 2 ครั้ง ครั้งแรกคือเดือนมีนาคม โดยแต่ละสายจะรับเป็นเจ้าภาพเชิญเครือญาติมาร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านของตัวเอง และครั้งที่ 2 เดือนกรกฎาคมของทุกปี ก็จะรวมตัวกันไปทำบุญให้บรรพบุรุษที่วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของราชสกุลเทพหัสดิน โดยจะมีศาลาเทพหัสดินเพื่อการประกอบราชพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงพระ ถวายผ้าไตร โดยเครือญาติทั้งหมดในราชสกุลเทพหัสดิน และเทพหัสดิน ณ อยุธยา จะมีจำนวนกว่าพันคน ซึ่งนอกจากลูกๆ หลานๆ จะได้ทำบุญร่วมกันแล้ว ยังถือโอกาสนี้ให้เด็กและผู้ใหญ่ในราชสกุลได้พบปะกันด้วย

วัดประเสริฐสุทธาวาส ตั้งอยู่ในซอยสุขสวัสดิ์ 27 เขตราษฎร์บูรณะ เป็นวัดที่มีความสวยแปลกตาด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีน หน้าบันชั้นลด ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนพระอุโบสถเป็นรูปทรงเก๋งจีน ได้รับการบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย พระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเส็ง เศรษฐบุตร) ผู้เป็นต้นสกุลของเศรษฐบุตร เป็นผู้บูรณะวัดทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 3 และปัจจุบันนี้ วัดประเสริฐสุทธาวาส กลายเป็นวัดประจำจระกูลเศรษฐบุตร ที่เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาคราใด ลูกหลานทุกคนในตระกูลจะมารวมตัวกันเพื่อทำบุญ

จากสภาพวัดเสื่อมโทรมการเดินทางแสนยากลำบาก หากแต่ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนเข้าขั้นมหาเศรษฐี อย่าง สุมาลี จิราธิวัฒน์ ภรรยาของ วันชัย จิราธิวัฒน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน), อดีตประธานกรรมการบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท เซ็นทรัลเทรดดิ้ง จำกัด เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในวัดโปร่งแมลงวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นอย่างยิ่ งจึงได้ช่วยคนในชุมชนพัฒนาวัดแห่งนี้ให้เจริญขึ้น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2539 ได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็น “วัดจิราธิวัฒน์” ตามชื่อตระกูลของผู้อุปถัมภ์ ซึ่งทุกครั้งที่มีงานบุญกฐินผ้าป่า เจ้าสัวสุทธิเกียรติ ก็จะนำสมาชิกในครอบครัวและพนักงานทุกคนมาร่วมทำบุญที่วัดแห่งนี้เป็นประจำอยู่เนืองๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น