xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจนักธุรกิจรุ่นใหม่เรือด่วนเจ้าพระยา “ฟาน ศรีไตรรัตน์ & พิริยะ วัชจิตพันธ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การปรากฏตัวของอภิมหาโปรเจกต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลายโครงการ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือบทพิสูจน์ชั้นดีที่สะท้อนว่า ความเรืองรองของแม่น้ำเจ้าพระยา เส้นเลือดใหญ่ในการดำรงชีวิตของคนไทย เคยเป็นศูนย์กลางความเจริญของการขนส่งและการค้าขายในอดีตนั้น ยังไม่เสื่อมมนต์ขลังและกำลังเฉิดฉายกลายเป็นประตูแห่งโอกาสบานใหม่ ที่ไม่อาจมองผ่านอีกครั้ง

ร่วมไขมุมมองความงดงามของแม่น้ำเจ้าพระยาผ่าน 2 ตัวแทนนักธุรกิจรุ่นใหม่ แห่งธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยา ที่มีความผูกพันกับสายน้ำแห่งชีวิต พร้อมแนวคิดในการนำพาธุรกิจให้โลดแล่นฝ่ากระแสกาลเวลา และสายน้ำอย่างเต็มภาคภูมิ

หากจินตนาการถึงวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยาเวลานี้ หนึ่งในสีสันที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของเจ้าพระยาไปแล้วคือ เรือโดยสารที่ทำหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้โลดแล่นไปบนผืนน้ำอย่างสะดวกสบาย


“ฟาน ศรีไตรรัตน์” ทายาทรุ่นที่ 4 ของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ลูกชายของ “ภัทราวดี มีชูธน” หลานยายของ “คุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ให้บริการเดินเรือโดยสารประจำทาง และกรรมการผู้จัดการของโรงแรมริวา เซอร์ยา (Riva Surya) และ ริวา อรุณ (Riva Arun) คือหนึ่งในตัวแทนของผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจที่ต้องพึ่งพาสายน้ำนี้

“ตอนนี้หลายบริษัทในเครือ มีการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจเรือด่วนเจ้าพระยา มีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงด้านความปลอดภัยให้ได้มาตรฐานสากล และมีโครงการที่จะยกระดับท่าเทียบเรือให้มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย เข้าถึงบริการได้ง่าย ในส่วนของเรือท่องเที่ยว เมื่อปีที่แล้วเพิ่งต่อเรือท่องเที่ยวใหม่ 3 ลำ เป็นเรือคาตามารัน (Catamaran) ผลิตจากอะลูมิเนียม มีน้ำหนักเบา ทำให้เกิดคลื่นต่ำ เวลาสัญจรแทบไม่ส่งผลกระทบต่อท่าเรือและการจราจรทางน้ำ ที่สำคัญค่อนข้างปลอดภัย นอกจากนี้ เรายังมี โบ๊ต ชาร์เตอร์ เซอร์วิส ให้บริการเช่าเรือสำหรับโรงแรม คอนโดมิเนียมริมน้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับแขกหรือลูกค้าของโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องต่อเรือเอง หรือปวดหัวกับปัญหาในการหาคนขับเรือ และซ่อมบำรุงเรือซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง”

อย่างไรก็ตาม ฟานเชื่อว่าความเจริญบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังพัฒนาไปได้อีกไกล โดยเฉพาะ การมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการขยายความเจริญเข้าไปตามคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา

“ผมเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า เจ้าพระยาก็เหมือนกับถนนสุขมุวิท ที่วันนี้พื้นที่ริมถนนส่วนใหญ่ถูกจับจองไปแล้ว จนทำให้ราคาที่ดินถีบตัวสูงขึ้น หลายโครงการจึงมองหาทางเลือกใหม่ ด้วยการเปลี่ยนทำเลไปอยู่ในซอยสุขุมวิท ซึ่งราคาอาจจะถูกกว่า แต่ยังเดินทางได้สะดวก เช่นเดียวกันกับแม่น้ำเจ้าพระยา โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ จะเริ่มขยายไปตามคลองที่เชื่อมกับเจ้าพระยา อย่าง คลองบางกอกน้อย ซึ่งเวลานี้ยังเป็นพื้นที่สวนอยู่เยอะ ในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแบบโลว์ไลฟ์ หรือทำเป็นที่จอดเรือ และเมื่อความเจริญเข้าไปเมื่อไหร่ ลำคลองก็จะได้รับการพัฒนาให้ใสสะอาดตามไปด้วย ผมเชื่อว่าตรงนี้คือโอกาส แต่ยังไม่มีใครเข้ามาพัฒนา”

ถามถึงความผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยา ฟานตอบว่า “ผมใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำกับคุณยายตั้งแต่เด็ก ตอนนี้บ้านกลายเป็นที่ตั้งของร้านอาหารสุภัทรา ริเวอร์ เฮาส์ไปแล้ว สมัยเรียนอยู่ราชินีช่วง ป.1-ป.4 ผมนั่งเรือข้ามฟากไปโรงเรียน ชอบชีวิตริมน้ำนะ เพราะนอกจากจะอากาศดี ยังสามารถทอดสายตามองออกไปไกลๆ ได้แบบสบายตา ที่เห็นชัดคือ ตอนที่กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ผมรู้เลยว่าเวลามาทำงาน หรือได้ใช้ชีวิตริมแม่น้ำ หายใจสะดวกกว่ามาก ผมถึงมองว่าการใช้ชีวิตริมน้ำเป็นเสน่ห์ที่อยากให้ทุกคนมาสัมผัส”


ในส่วนของความท้าทายในฐานะทายาทคนรุ่นใหม่ ที่กลับมาบริหารธุรกิจครอบครัว ฟานเผยถึงข้อดีว่า เป็นการผสมผสานแนวคิดคนรุ่นเก่าที่มีความประสบการณ์ความชำนาญในธุรกิจ และคนรุ่นใหม่ที่มีโนว์ฮาวใหม่จนกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัว

“ทุกธุรกิจย่อมมีความท้าทาย และธุรกิจครอบครัวก็มีความท้าทายไปอีกแบบ ส่วนตัวผมเองช่วงแรกๆ ที่เข้ามา ไฟแรงมีไอเดียเยอะ จนผู้ใหญ่ก็ต้องเบรก แรกๆ ยังไม่เข้าใจ ต้องอาศัยเวลาค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองจนได้รับความไว้วางใจ ผมอยากฝากไปถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัวว่า ไฟแรงได้แต่อย่าใจร้อน เพราะพอวันหนึ่งเราเป็นผู้ใหญ่เราก็จะเข้าใจความห่วงใยที่ท่านมีให้ ผมเชื่อว่าท่านก็อยากให้โอกาส แต่ก็คงไม่อยากให้เราทำธุรกิจแล้วเจ๊ง (หัวเราะ) ฉะนั้น ต้องให้เวลาพิสูจน์ผลงาน อย่าหงุดหงิดและผิดหวัง”

เกือบ 20 ปีในการเป็นฟันเฟืองของบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา ฟานบอกว่า เมื่อมีโอกาสก็ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ และไม่หยุดนิ่งที่จะมองหาไอเดียธุรกิจใหม่ๆ โดยต่อยอดจากความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากรที่มีอยู่

เรือไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก
เรียกน้ำย่อยด้วยแม่ทัพใหญ่แห่งเรือด่วนเจ้าพระยามาแล้ว มาเปิดมุมมองด้านเรือท่องเที่ยวและการบริหารสื่อโฆษณาทางน้ำโดย “พิ-พิริยะ วัชจิตพันธ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ้าพระยาทัวร์ริสต์โบ๊ต จำกัด และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดซ์ เจ้าพระยา จำกัด กันบ้าง

“ผมดูแลในส่วนเรือท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และเราเพิ่งเปิดตัวเรือ "Catamaran อะลูมิเนียม 2 ชั้น" จำนวน 3 ลำ ขนาด 200 ที่นั่งต่อลำ ภายในออกแบบให้โปร่ง ชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 360 องศาบนชั้น 2 โดยมีไกด์บริการข้อมูลตลอดเส้นทาง พร้อมระบบเสียงแจ้งที่หมายปลายทาง และเรื่องราวของสถานที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาตามระบบ GPS

“เรือคาตามารันที่ว่านี้ เราเป็นผู้ออกแบบ แล้วนำเข้าชิ้นส่วนจากออสเตรเลีย มาประกอบต่อที่อยุธยา ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่นำเรือแบบนี้มาใช้บริการท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ ยังนำเรือด่วนเจ้าพระยามาปรับปรุงเพิ่มอีก 2 ลำ พร้อมเตรียมอัปเกรดการให้บริการให้จ่ายค่าโดยสารผ่านคิวอาร์โค้ด และแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ เพื่อตอบโจทย์สังคมไร้เงินสด”

ส่วน แอดซ์ เจ้าพระยา เริ่มสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับการโฆษณาทางน้ำเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสื่อโฆษณาในระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าบีทีเอส

“เรานำคอนเซ็ปต์เดียวกันมาใช้ เพราะประเมินแล้วว่า แต่ละวันเรือด่วนมีผู้มาใช้บริการราว30,000-50,000 คนต่อวัน ถ้ารวมกับเรือประเภทอื่นๆ ก็ร่วมๆ หลักแสนคนต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มากพอสำหรับต่อยอดธุรกิจโฆษณาทางน้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นการ Wrap โฆษณารอบเรือ ติดตั้งป้ายและจอโฆษณาบริเวณท่าเรือที่ไม่ใช่สาธารณะ ซึ่งเราได้เจรจากับพันธมิตรเรือข้ามฟาก ท่าเรือเอกชนอื่นๆ เพื่อขยายขอบเขตการโฆษณาในแม่น้ำให้ครอบคลุม เพราะความถนัดของเราคือ ธุรกิจทางน้ำ ไม่คิดจะไปชิงส่วนแบ่งการตลาดบนบก แต่เลือกขยายช่องทางใหม่ๆ ไปตามคลองสายต่างๆ ซึ่งได้รับความเมตตาจากเจ้าของพื้นที่ เรือที่แล่นในคลองแสนแสบ ท่าเรือ ช่วยบริหารจัดการสื่อโฆษณา ปัจจุบันมีเรือที่ใช้เป็นพื้นที่โฆษณาเกือบ 200 ลำ มี 50-60 ท่าเรือที่รองรับ และยังเรือที่รองรับทัวร์จีนเข้าคลองบางกอกน้อยอีก 40-50 ลำ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าบางกลุ่มที่ต้องการโฟกัสตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น”

พิสะท้อนมุมมองที่น่าสนใจว่า “ที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ให้ความสนใจ กลุ่มผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารกลุ่มเดิมๆ ที่เดินทางจากนนทบุรีมากรุงเทพฯ ตัวเลขการเติบโตไม่มาก นักท่องเที่ยวที่มาก็ยังกระจุกตัว ส่วนใหญ่มาเป็นวันเดย์ทริป มาชมความงามของสถานที่สำคัญริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือไม่ก็มากินอาหาร ล่องเรือตอนกลางคืน ทั้งที่ความจริง สองฝั่งเจ้าพระยามีความสวยงามที่รอให้มาสัมผัสมากมาย จนระยะหลังเมื่อเริ่มมีการเปิดตัวคอมมูนิตี แหล่งท่องเที่ยวชิคๆ มีโครงการที่อยู่อาศัย ตลอดจนโรงแรมห้าดาว จึงทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลับมาคึกคักอีกครั้ง เปิดโอกาสให้คนไทยเปิดใจที่จะมาสัญจรทางเรือมากขึ้น”
พิริยะ วัชจิตพันธ์, ฟาน ศรีไตรรัตน์
“เราเองในฐานะที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับทางน้ำ ก็ไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาบริการ และพัฒนาเรือของเราให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก ที่หันมาเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการทดลองพัฒนาเรือไฟฟ้าลองวิ่ง เพื่อประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว”

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ผูกพันกับลำน้ำเจ้าพระยา พิรีบออกตัวก่อนเลยว่า ความจริงแล้วไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ริมน้ำตั้งแต่เกิด แต่เพราะครอบครัวสนิทกับครอบครัวสุภาพรรณ พิชัยรณรงค์สงคราม ตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่า จึงเหมือนเป็นใบเบิกทางที่ทำให้มีโอกาสซึมซับกับวิถีชีวิตริมน้ำ

“ตอนที่ผมลาออกจากงานมาเปิดร้านอาหาร ก็ตั้งอยู่บนพื้นที่ของคุณป้าสุภาพรรณ ทำไปทำมาตอนหลังได้เข้ามาร่วมงานในธุรกิจของท่าน จนทุกวันนี้มีออฟฟิศอยู่ริมน้ำ ใช้ชีวิตโดยมีสายน้ำเป็นส่วนหนึ่ง10กว่าปีแล้ว นอกจากจะได้นั่งมองแม่น้ำทุกวัน ได้เห็นความเคลื่อนไหวของวิถีชีวิตริมน้ำจนรู้สึกผูกพัน ยังอิ่มเอมกับงานที่รับผิดชอบ เพราะด้วยความเป็นทัวร์ริสต์โบ็ต ทำให้มีโอกาสพบปะกับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มาด้วยความสุขที่ได้มาสัมผัสแม่น้ำ ได้มาชมความงดงามของสถานที่สำคัญของประเทศเรา เราเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมถ่ายทอดความงามของประเทศก็มีความสุขไปด้วย ผมเองก็อยากให้คนไทยมาสัมผัสประสบการณ์ตรงนี้มากๆ และภาคภูมิใจกับความเป็นไทยของเรา”

“ส่วนตัวผมเดินทางเยอะไม่ว่าไปประเทศไหนก็ต้องลองนั่งเรือท่องเที่ยว ผมคิดว่าไปมาแทบจะทั่วโลก ไปเก็บเอาข้อดี-ข้อด้อยที่เจอกลับมา จนวันนี้กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ เรือเราไม่แพ้ใครในโลก” พิทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น