ความฝันที่จะเป็นคุณหมอของ “ต้น-ศ.ดร.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา” ต้องมีอันพลิกผัน เมื่อเขาดันไปเห็นอินไซต์ของอาชีพหมอจากการไปร่วมงานจุฬาฯ วิชาการสมัยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย และคิดว่าคงไม่ใช่ทาง เลยจำต้องหักเหเส้นทางชีวิต จากที่คิดจะสวมเสื้อกาวน์รักษาคนไข้ มาเป็นหนุ่มวิศวะสวมเสื้อชอปแทน
ใครจะคิดว่าเส้นทางชีวิตที่ไม่ได้ออกแบบไว้แต่ต้นจะกลายเป็นเส้นทางที่ใช่ จนทำให้ ดร.ต้นไม่เพียงสนุกกับโลกของการศึกษาและเรียนรู้ไปจนสุดทางถึงขั้นคว้าปริญญาเอกมาครอง แต่สุดท้ายยังนำวิชาความรู้ที่มีมาถ่ายทอดในฐานะรองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด)
“ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นหมอครับ แต่เพราะสมัยเรียนได้มีโอกาสไปงานจุฬาฯ วิชาการกับเพื่อนๆ แล้วได้เห็นว่าอาชีพหมอไม่ใช่แค่รักษาคนไข้ แต่ยังต้องมีการผ่าตัด ผ่าศพอีก ซึ่งผมเองไม่ได้กลัวผีนะ (หัวเราะ) แต่แค่เห็นเลือดก็จะเป็นลมแล้ว เลยคิดว่าเป็นหมอคงไม่ไหว เบนเข็มดีกว่า ซึ่งตามสไตล์เด็กสวนกุหลาบยุคผม ถ้าไม่เป็นหมอก็ต้องเป็นวิศวะ พอคิดว่าหมอไม่ใช่ทาง ผมก็เบนเข็มมาสายวิศวะเลย” ดร.ต้นย้อนวันวานถึงสมัยวัยใสอย่างออกรสราวกับภาพในอดีตยังชัดเจนอยู่ในความทรงจำ
พอเลือกเส้นทางใหม่ให้ชีวิตแล้ว ดร.ต้นตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อด้านวิศวกรรมเคมี ที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ พอเรียนจบก็ลัดฟ้าไปเรียนต่อด้าน Chemical Engineering ทั้งปริญญาโทและปริญญาเอกที่ McGill University ประเทศแคนาดา
“สมัยเรียนปริญญาตรีผมก็ชอบในสายที่เรียนนะครับ แต่ก็ยังไม่ได้วาดอนาคตไปไกลถึงขั้นจะเรียนต่อจนจบปริญญาเอก แค่คิดไว้ว่าจบมาก็คงต่อปริญญาโท ปรากฏว่าช่วงที่ไปเรียนปริญญาโทผมสนุกกับการเรียนมาก เพราะได้มีโอกาสทำการทดลอง วิจัย และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา เรียนไปก็ทั้งสนุกและตื่นเต้น จนอยากจะศึกษาเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ สุดท้ายผมเลยเรียนต่อจนจบปริญญาเอกที่แคนาดา ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี”
หลังจากเรียนจบ ดร.ต้นบอกว่า แรกเริ่มตั้งใจจะสมัครงานเป็นอาจารย์ที่แคนาดา แต่เพราะคุณแม่ป่วยเลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย และสมัครเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางมด) แทน แต่เปลี่ยนจากวิศวกรรมเคมีมาเป็นวิศวกรรมอาหารแทน
“ด้วยความที่ภาควิชาที่ผมสอนไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี ดังนั้น นักศึกษาที่มาเรียนทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ช่วงแรกๆ ที่ผมมาสอน ผมกับนักศึกษาวัยจะไม่ต่างกันมาก จำได้ว่านักศึกษาปริญญาเอกคนแรกๆ ที่ผมเป็นที่ปรึกษาให้เราอายุห่างกันแค่ 9 วัน” ดร.ต้นเล่าไปขำไปก่อนเสริมว่า “มองย้อนกลับไป จากวันนั้นถึงวันนี้ การเรียนการสอนก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตัวผมเองจากช่วงแรกๆ ที่มาสอน ก็ยังเป็นเด็ก ประสบการณ์ยังน้อย แถมยังเปลี่ยนสายอีก โชคดีที่ความรู้พื้นฐานทั้งสองสายไม่ต่างกันมาก ยังพอไปด้วยกันได้ ก็อาศัยเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักศึกษาด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าวัยเราต่างกันไม่มาก ช่วงแรกๆ ก็มีทั้งนักศึกษาที่เชื่อเราบ้างไม่เชื่อเราบ้าง ก็ต้องอาศัยสั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ”
นอกจากชั่วโมงบินที่มากขึ้นจะติดปีกเสริมความมั่นใจให้ ดร.ต้นในเวลานั้นมากขึ้นตามลำดับ สิ่งที่อาจารย์หนุ่มไฟแรงยึดถือเสมอคือ บทบาทของเขา นอกจากจะเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาแล้ว ในทางกลับกัน นักศึกษายังเป็นครูที่ดีที่สุดของเขาในเวลานั้นเช่นกัน
“พออายุมากขึ้น เราก็มีประสบการณ์ มีองค์ความรู้ที่จะแชร์กับนักศึกษามากขึ้น ถึงเราจะไม่ได้ออกไปเรียนเพิ่มเติมอีกแล้ว แต่การทำงานวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์กับนักศึกษาก็เปรียบเสมือนห้องเรียนชั้นดีของเราด้วย ทุกวันเหมือนเรากำลังเรียนรู้ไปด้วยกัน” เล่ามาถึงตรงนี้ ดร.ต้นบอกว่า พาให้เขานึกถึงคำพูดที่เขาชอบมากๆ นั่นคือ “อาจารย์ที่ดีที่สุดของอาจารย์มหาวิทยาลัย คือนักศึกษา และคนที่สอนเรามากที่สุดในชีวิตการเป็นอาจารย์ ก็คือนักศึกษานั่นเอง”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ระหว่างที่ฟัง ดร.ต้นฉายภาพถึงเส้นทางการเป็นอาจารย์ที่ดูเหมือนจะเครียดเพราะต้องอยู่กับตำรา โลกของวิชาการ แต่ ดร.ต้นก็ยังมีอารมณ์ขันแฝงอยู่เสมอ งานนี้เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ยามสวมบทอาจารย์นั้น ดร.ต้นเป็นอาจารย์แบบไหน
คำถามนี้ทำเอา ดร.ต้นคลี่ยิ้มก่อนตอบว่า “ดุมั้ยไม่รู้ แต่ไม่เห็นนักศึกษากลัว (หัวเราะ) เขาเห็นเราเหมือนพี่ เหมือนเพื่อนมากกว่า เพราะทุกวันนี้นักศึกษาปริญญาโทที่เข้ามาก็อายุห่างกับเราประมาณ 20 กว่าปี ถ้าปริญญาเอกก็ห่างกันเกือบๆ 20 ปี ผมคิดว่าสิ่งสำคัญของการเป็นอาจารย์คือ ต้องทำให้นักศึกษาเชื่อมั่นในตัวเราให้ได้ โดยเฉพาะนักศึกษาที่มาให้เราเป็นที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่าเราจะช่วยให้เขาเรียนจบได้ ส่วนนอกห้องเรียนเราก็เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน”
ถามว่าอะไรคือเป้าหมายในการเป็นอาจารย์ของ ดร.ต้น ซึ่งตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ดร.ต้นได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบุคลากรคุณภาพออกสู่สังคม มีทั้งที่ไปเติบโตในการทำงานบริษัทเอกชน และเป็นอาจารย์เพื่อส่งต่อองค์ความรู้มากมาย
“ผมหวังว่าจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่มีมาเทรนนักศึกษาให้เก่งขึ้น คำว่าเก่งในที่นี้หมายถึงเมื่อเขาไปทำงานบริษัท หรือเป็นนักวิจัย เขาจะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้เอง ไม่ใช่ใครบอกอะไรมาก็เชื่อ หรือไปลอกเลียนแบบผลงานคนอื่นมา โดยเฉพาะนักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญต่อประเทศชาติ ต้องมีทักษะการคิด วิเคราะห์ ถึงจะนำองค์ความรู้ที่มีไปต่อยอดได้”
ในฐานะอาจารย์เอง ดร.ต้นย้ำว่า นอกจากจะไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้จากการทำวิจัยร่วมกับนักศึกษา ทุกปียังต้องเดินทางไปอัปเดตความรู้ในงานประชุมวิชาการอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิชาการไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ ที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารทั้งไทยและต่างประเทศ
“ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นที่ปรึกษาให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของเยอรมนี แต่ตอนนี้ทำโปรเจกต์จบไปเรียบร้อย ข้อดีของการเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศคือ ทำให้เราไม่ตกเทรนด์ ได้เรียนรู้เทรนด์ของตลาด ความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอด บางครั้งการได้ทำงานวิจัยร่วมกับบริษัทเอกชนก็ทำให้ได้ต่อยอดความรู้ และบางหัวข้อยังสามารถนำไปต่อยอดหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาได้”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะดูเป็นหนุ่มเนิร์ดสายวิชาการ แต่เมื่อถามถึงกิจกรรมโปรดยามว่างเว้นจากการทำงาน ดร.ต้นตอบอย่างไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า ที่สุดแห่งความสุขคือ การได้ไปตระเวนชิมของอร่อย
“ผมเป็นสายกินครับ อาจจะไม่ถึงขั้นเรียกตัวเองว่าเป็นนักชิม รู้แต่ว่าว่างเมื่อไหร่ต้องตระเวนไปชิมร้านโน้นร้านนี้ที่เขาบอกอร่อย หรือร้านเปิดใหม่ที่มีชื่อเสียง ส่วนมากอาหารที่ผมชอบเป็นสไตล์ฝรั่งเศสหรือไม่ก็อิตาเลียน สำหรับผมการได้กินของอร่อยเป็นความสุข และเป็นวิธีการคลายเครียดอย่างหนึ่ง ส่วนใหญ่ร้านที่ผมเลือกก็อาศัยหาข้อมูลจากในอินเทอร์เน็ต หรือบางครั้งก็ดูจากมิชลินไกด์ ร้านไหนดูแล้วเข้าท่าก็ตามไปชิม”
นอกจากไลฟ์สไตล์สายกินแล้ว ดร.ต้นสารภาพตามตรงว่ากิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว เขาไม่เน้นเท่าไหร่ “นานๆ ไปทีครับ อย่างต้นปีที่เแล้วก็ไปฝรั่งเศส ต่อด้วยเยอรมนีกับน้องสาว นอกนั้นจะเป็นทริปไปดูงาน หรือประชุมวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่ผมไปทำงานแล้วก็กลับ ส่วนกิจกรรมยามว่างอื่นๆ อย่างออกกำลังกายผมไม่เน้นนะ (หัวเราะ) เน้นชิมอาหารมากกว่า แต่ก็มีบ้าง ว่างก็ชอบไปตีแบตฯ กับนักศึกษา อย่างที่บอกเราก็เหมือนพี่ เหมือนเพื่อน แต่เราไปเล่นกับเขาก็แรงสู้เขาไม่ได้หรอก” ดร.ต้นบอกเล่าอย่างอารมณ์ดี ก่อนทิ้งท้ายถึงเป้าหมายในอนาคต
“ผมก็ตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอาจารย์ไปอีกนานแค่ไหน รู้แต่ว่าตอนนี้มีความสุขกับอาชีพนี้ เคยมีคนมาชวนให้ไปทำอย่างอื่นมั้ย ก็มีนะ แต่ผมยังรักการเป็นอาจารย์ เพราะเป็นงานที่มีอะไรใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้ตลอดเวลา อย่างเดือนที่แล้วมหาวิทยาลัยของจีนเชิญผมไปทำวิจัยร่วม ก็ไปอยู่ที่จีนมา 1 เดือน ได้เปิดหูเปิดตา เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ไปดูงานบริษัทต่างๆ ในเมืองจีนด้วย ข้อดีคือ นอกจากจะได้อัปเดตความรู้ใหม่ๆ กลับมา ได้เห็นวิธีการเรียนการสอนของเขา
และค้นพบว่านักศึกษาจีนขยันมาก เมื่อเทียบกับนักศึกษาไทย ความเก่งอาจสูสี แต่เรื่องความขยันต้องยอม ผมยังได้คอนเนกชันกลับมา สำหรับส่งนักศึกษาของเรามาทำวิจัยในอนาคต เพราะทุกปีทางภาควิชาของเราจะมีการส่งนักศึกษาไปดูงานในประเทศต่างๆ อยู่แล้ว อย่างเดือนหน้าผมก็ต้องไปส่งนักศึกษาเราไปทำวิจัยที่แคนาดา ซึ่งผมมีคอนเนกชันกับอาจารย์ที่นั่นอยู่แล้ว” ดร.ต้นทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี