xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตำนานทายาทผ้าขาวม้า ร่วมอนุรักษ์หัตถศิลป์ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ปภัชญา สิริวัฒนภักดี (กลาง), ม.ล. รดีเทพ เทวกุล (ขวา)
เธอและเขาเหล่านี้คือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ร่วมกันอนุรักษ์-สืบสานศิลปวัฒนธรรม นำภูมิปัญญาของชุมชนมาต่อยอดและสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปี่ยมคุณค่า เปี่ยมความภูมิใจ พลิกฟื้นให้คนในชุมชนหันกลับมาสนใจอาชีพผลิตสินค้าผ้าขาวม้าให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของชีวิต ที่สามารถสร้างรายได้อย่างพอเพียงโดยไม่ต้องละทิ้งถิ่นกำเนิด รวมถึงร่วมกันพัฒนาหัตถกรรมพื้นบ้านให้เป็นสินค้าร่วมสมัยระดับสากล


คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดงาน ‘ผ้าขาวม้าทอใจ’ ภายใต้โครงการ ‘ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ประจำปี 2561’ โดยมีบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรมเกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมให้แต่ละชุมชนสร้างสรรค์ผ้าขาวม้าที่มีอัตลักษณ์อันโดดเด่นชัดเจน และผลักดันให้เกิดการแปรรูปผ้าขาวม้าเป็นสินค้าที่หลากหลาย

ทางโครงการฯ จึงได้จัดกิจกรรม ‘ทายาทผ้าขาวม้าไทย’ และการประกวดภาพถ่ายขึ้น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริม และอนุรักษ์การใช้ผ้าขาวม้าทอมือให้เป็นที่รับรู้แก่สังคมในวงกว้าง พร้อมกันนั้นยังจัดให้มีแฟชั่นโชว์ผลงานผู้ชนะการประกวด ‘นวอัตลักษณ์’ และผลงานออกแบบตัดเย็บโดยชุมชนผลิตผ้าขาวม้าในชุด ‘ทอใจ’

ทั้งนี้ เพื่อหวังว่าเรื่องราว แรงบันดาลใจ ปณิธาน และความมุ่งมั่นของคนกลุ่มนี้จะเป็นที่รับรู้ของสังคม เพื่อสร้างแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

พบกับเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยสานต่ออนุรักษ์หัตถศิลป์ไทยให้ยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นในท้องถิ่นต่างๆ
สุพัตรา แสงกองมี, ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา
1. สุพัตรา แสงกองมี (แยม) กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านสะง้อ จังหวัดบึงกาฬ

ย้อนคืนสู่สีธรรมชาติ สาวน้อยที่ผลักดันให้งานผ้าขาวม้าในชุมชนกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง เธอเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของการพลิกฟื้นกลุ่มชุมชน และสร้างมูลค่าให้กับ ‘ผ้าขาวม้าดารานาคี’

“เอกลักษณ์ของผ้าขาวม้าดารานาคีอยู่ตรงที่เราใช้สีธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนมาย้อมผ้าค่ะ ซึ่งมีสามสีหลัก คือ สีส้มจากดินในชุมชน สีเขียวจากใบไม้ สีเทาจากการผสมสีส้มและเขียว และเราจะหมักผ้าด้วยโคลนจากแม่น้ำโขง ชุมชนของเราอยู่ชายฝั่งแม่น้ำโขง เราก็เลยนำสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน สิ่งที่ครั้งหนึ่งเราอาจดูเหมือนไม่มีคุณค่า กลับมาใช้ มันก็เลยทำให้ผ้าของเรามีความแตกต่างจากที่อื่น ผ้าขาวม้าทั่วไปอาจจะมีความแข็งอยู่ แต่พอเรานำไปหมักด้วยโคลนแม่น้ำโขงมันก็จะมีความนุ่มขึ้น”

วิมพ์วิภา โพธิวิจิตร
2. วิมพ์วิภา โพธิวิจิตร (ตอง) กลุ่มทอผ้าและตัดเย็บบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย

ทายาทผ้าขาวม้าที่ผสมผสานวิถีเก่า-ใหม่ เธอนำผ้าขาวม้าลวดลายสัญลักษณ์ของท้องถิ่นมาดีไซน์แปรรูปทำกระเป๋าใบเก๋ที่คนรุ่นใหม่สามารถนำมาใช้ได้ เข้าสไตล์ทันสมัยแบบไม่มีตกเทรนด์
กฤตธนทรัพย์ โยงรัมย์
3. กฤตธนทรัพย์ โยงรัมย์ (บอมบ์) กลุ่มทอผ้าไหมทอมือบ้านสำโรงพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์

นักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ นำความรู้ที่เรียนมารังสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมงานหัตถศิลป์ อย่างเครื่องกรอไหมเส้นยืน ที่จะช่วยเบาแรงและจะช่วยพัฒนาอาชีพและภูมิปัญญาของการทอผ้าทอมือต่อไป
ผกาวดี แก้วชมภู
4. ผกาวดี แก้วชมภู (ปลื้ม) กลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย จังหวัดเชียงใหม่

ทายาทรุ่นที่ 4 แห่งบ้านห้วยทราย เจ้าของผลงานซึ่งได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายในการประกวดออกแบบ ‘นวอัตลักษณ์’ ประเภทลายผ้า ดีไซน์ผ้าลายสวยได้อย่างโดดเด่น

ณัฐชา ทองเหี่ยง
5. ณัฐชา ทองเหี่ยง (แอม) กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

สานต่อพระราชปณิธานองค์พ่อหลวง “อาชีพพระราชทาน” ที่ผลักดันให้ชาวบ้านในหมู่บ้านชาวประมงมีอาชีพเสริมในช่วงหน้ามรสุม สร้างรายได้ด้วยการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ในท้องถิ่นให้เลื่องลือ
ภาณุพัฒน์ จันทะเลิศ (ซ้าย)
6. ภาณุพัฒน์ จันทะเลิศ (โอ) กลุ่มสืบสานต่อผ้าทอมือบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

วิศวกรหนุ่มผู้เป็นกำลังสำคัญในงานออกแบบและการตลาด ให้ผ้าขาวม้า 7 สี หรือลายอีโป้ ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าขาวม้า และวัฒนธรรมอื่นๆ ของบ้านผือเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป อีกทั้งยังต้องการค้นพบ เรียนรู้ สร้างสรรค์ พัฒนาจนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนสืบต่อไป
อิฐธิพงษ์ ทิพราชา,  ฐาปน สิริวัฒนภักดี
7. อิฐธิพงษ์ ทิพราชา (อาร์ม) กลุ่มอาชีพผ้าฝ้ายอำพัน จังหวัดเชียงใหม่

จากเด็กหนุ่มที่หลงใหลในภูมิปัญญาการถักทอผ้าของชุมชน จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เลือกศึกษาต่อด้านการออกแบบสิ่งทอและเครื่องประดับ จากนั้นก็ใช้ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับสืบต่อมาต่อยอดการสร้างสรรค์ผ้าขาวม้า สู่งานฝีมือร่วมสมัย เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่กลมกลืนด้วยฝีมือละเอียดประณีต

แบรนด์ Donn Manee จังหวัดราชบุรี
8. ฐิติภัทร ศิริวงษ์ (แอน) ดลมณี จังหวัดราชบุรี

อดีตผู้ช่วยสัตวแพทย์ ที่เคยคลุกคลีอยู่กับการทอผ้าในชุมชนอย่างห่างๆ วันหนึ่งมีโอกาสได้เข้าร่วมงานจริงจัง เธอก็ค่อยๆ ซึมซับและมีความสนใจ กระทั่งได้ร่วมออกแบบผลงานเธอจึงประยุกต์งานผ้าขาวม้าให้เป็นกระเป๋าคาดเอวสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย ที่มีการจับคู่สีโทนสีฟ้าและเทา แตกต่างจากกระเป๋าปกติของแบรนด์ Donn Manee ด้วยหวังจะให้ผ้าไทยมีโอกาสออกมาเผยแพร่ได้มากขึ้น
กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นเมืองบ้านดินทรายอ่อน จังหวัดหนองบัวลำภู
9. โยธกา อินทร์เพชร (มายด์) กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์พื้นเมืองบ้านดินทรายอ่อน จังหวัดหนองบัวลำภู

สืบสานงานฝีมือจากคุณย่าตั้งแต่อายุ 16 ปี เรียนรู้ที่จะใจเย็นและประณีตกับงาน เพื่อมาเป็นกำลังเสริมให้กับ ‘ภูริษาผ้าไทย’ ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าที่ได้ชื่อว่ามีสีธรรมชาติที่หลากหลายจากการคิดค้นไม่หยุดยั้ง และเนื้อผ้าที่นุ่มจากภูมิปัญญาการหมักผ้าด้วยน้ำซาวข้าว สร้างชื่อและความสำเร็จให้กับชุมชนได้อย่างดี
ศิริประภา ปัญญา  (ซ้าย)
10. ศิริประภา ปัญญา (น้ำ) กลุ่มทอผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติบ้านฮ่องแฮ่ จังหวัดร้อยเอ็ด

ทายาทรุ่นที่สามของครอบครัว และเป็นผู้สืบสานงานผ้าทอของกลุ่ม ซึ่งแม้จะเลือกเรียนวิชาชีพทางการแพทย์ ทว่ายังมีใจรักในงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น เธอจึงกลายเป็นพลังสำคัญของกลุ่มด้านการออกแบบ อีกทั้งยังช่วยดูแลเรื่องการตลาดและประชาสัมพันธ์ผ้าทอลายน้ำไหลฮ่องแฮ่ และผลิตภัณฑ์แบรนด ‘ร้อยรัก’ ควบคู่ไปด้วย
พิมวิลัย ไกรยะวงษ์ , ฐาปน สิริวัฒนภักดี
11. พิมวิลัย ไกรยะวงษ์ (มด) กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์หัตถกรรม ชุมชนทรัพย์ปัญญาบ้านนานิคม จังหวัดหนองบัวลำภู

สาวน้อยวัยยังไม่บรรลุนิติภาวะ หยิบเศษผ้าจากการตัดเย็บผ้าขาวม้าแปรรูปมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งพวงกุญแจ ที่คาดผม โบผูกผม ฯลฯ จนได้รับกระแสตอบรับที่ดีทางการตลาด ถึงขั้นทำให้ชีวิตของเธอต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และพร้อมจะต่อยอดไปสร้างกลุ่มแปรรูปใหม่ ส่งต่อภูมิปัญญา พัฒนาศักยภาพ
วรเทพ ลิมติยะโยธิน
12. วรเทพ ลิมติยะโยธิน วิสาหกิจชุมชนคอตตอนดีไซน์ จังหวัดปทุมธานี

นายตำรวจยศร้อยเอกผู้คิดนอกกรอบ ใฝ่หาความรู้ และมุ่งมั่นกับสิ่งที่เลือกอย่างเต็มที่ จากการศึกษาการทำผ้าขาวม้าและผ้าฝ้ายทอมือ ทำให้เขามีความเชื่อว่าการมีวัสดุที่ดีและมั่นคงแข็งแรง ไม่ว่าจะออกแบบผลิตสินค้าอะไรก็ออกมาดีได้ และใช้ความพยายาม ความสามารถ นำคุณค่าของผ้าขาวม้าภายใต้แบรนด์ ‘worlacha’ ออกสู่สากลได้สำเร็จ
หทัยรัตน์ มูลสานต์
13. หทัยรัตน์ มูลสานต์ (รัตน์) กลุ่มทอผ้าไหมบ้านห้วยเคียน จังหวัดเชียงราย

สาวเก่ง ทายาทรุ่นที่ 4 ผู้ทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่กระบวนการผลิตผ้าไหมผ้าขาวม้าทอมือของกลุ่มฯ การออกแบบ การบริหารจัดการ ไปจนถึงการเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้คนและชุมชนต่างๆ เธอพร้อมจะพัฒนาให้ผ้าขาวม้ามีคุณภาพ แปลก และเป็นที่ยอมรับในตลาดแฟชั่นมากขึ้น

อนุกูล แกล้วกล้า, ฐาปน สิริวัฒนภักดี
14. อนุกูล แกล้วกล้า (แมนยู) กลุ่มอาชีพสตรีบ้านโนนโพธิ์ จังหวัดสุรินทร์

ทายาทผ้าขาวม้าวัยเพียง 12 ปี แต่ลงมือทำได้ทุกกระบวนการของการผลิตผ้าขาวม้า และสามารถทอผ้าเพื่อขายได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ นี่คือภาพการส่งต่อภูมิปัญญาที่ชัดเจน เพราะมากกว่าฝีมือคือการพัฒนาศักยภาพ และมากกว่าศัพยภาพคือการเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่หวนกลับมาคิดอนุรักษ์ผ้าขาวม้า ให้เป็นสมบัติทางภูมิปัญญาของชุมชนต่อไป

15. สุพัตรา อนุไพร (ฝ้าย) กลุ่มทอผ้าบ้านหนองปิง จังหวัดหนองบัวลำภู

หลังจากเรียนรู้และทดลองทำ ทุกวันนี้เธอเป็นกำลังสำคัญในทุกกระบวนการ และเป็นส่วนเติมเต็มก่อนการนำเสนอผ้าสู่ภายนอก ทั้งการซักรีด การนำเสนอ การขาย และการรวบรวมไอเดียกลับมา เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาต่อ ขณะเดียวกัน ในกระบวนการภายในเธอก็เรียนรู้เพื่อจะพัฒนาลงลึกมากขึ้นเรื่อยๆ










กำลังโหลดความคิดเห็น