xs
xsm
sm
md
lg

วัยใสของคุณหมอสุดเปรี้ยว พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ในโอกาสครบรอบ 14 ปีของ นิตยสาร Celeb Online ทาง Celeb Online จึงภูมิใจนำเสนอบทสัมภาษณ์พิเศษ 10 เซเลบริตีระดับตัวแม่ของแวดวงสังคม ซึ่งมาถ่ายทอดเรื่องราวทั้งในปัจจุบัน และย้อนวันวานวัยใสเมื่อครั้งอายุ 14 ปี ให้ได้ติดตามกันทุกวันจันทร์

วัยใสของคุณหมอสุดเปรี้ยว พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน

“คุณหมออ้อม-พญ. พักตร์พิไล ทวีสิน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผิวพรรณ และเป็นผู้ก่อตั้งเอส เมดิคัล สปา หันมาศึกษาศาสตร์ของการดูแลสุขภาพเชิงส่งเสริม และการป้องกันการเกิดโรค (Aniti Aging) อย่างจริงจัง เสริมทัพความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ที่เคยมี

“ตอนที่พี่ชายและคุณแม่จากไปด้วยมะเร็ง ทำให้หมอรู้เลยว่า การแพทย์ปัจจุบันเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป หมอเลยตัดสินใจไปเรียนต่อเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือก และเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับประกาศนียบัตร Post-University Education in Anti-Aging Medical Therapeutics by the World Society of Anti-Aging Medicine เมื่อปี 2547-2548“ คุณหมอคนสวยเล่าด้วยความภาคภูมิใจ พร้อมย้ำถึงเคล็ดลับ 5 อ. ที่เธอคิดว่าเป็นสุดยอดคัมภีร์ในการดูแลสุขภาพสำหรับทุกคน

“นิยามของคำว่า Anti Aging ของหมอคือ ทำอย่างไรก็ได้ เพื่อให้มีสุขภาพดีจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ไม่ใช่ว่าพออายุมากขึ้น หรือเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิตแล้วต้องมาเผชิญหน้ากับโรคเบาหวาน ความดัน แค่เราเริ่มต้นดูแลตัวเองด้วยหลัก 5 อ. ได้แก่ อาหาร ออกซิเจน ออกกำลัง เอนหลัง(การพักผ่อน) และอารมณ์ ซึ่งสำคัญมาก เพราะหมอมีความเชื่อลึกๆ มาตั้งแต่เริ่มเรียนหมอแล้วว่า คนเรามีใจเป็นนายกายเป็นบ่าว หลายๆ โรคอย่าง มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าต้นเหตุ 60-80% มาจากความเครียดเป็นส่วนประกอบ”

จากประสบการณ์ตรงบวกกับการสั่งสมความรู้นี้เอง ทำให้ พญ.พักตร์พิไล ตั้งใจปลุกปั้นให้ เอส เมดิคอล สปา เป็นมากกว่าสถาบันดูแลความงาม แต่ลงลึกไปถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เน้นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ต้นเหตุ โดยใช้เทคโนโลยีควอนตัม เอเนอร์จี จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาเป็นอาวุธลับในการช่วยหาต้นเหตุของความผิดปกติในร่างกาย

“การทำงานของควอนตัน เทคโนโลยี เหมือนกับเวลาหมอจีนแมะ แต่อันนี้เราใช้คอมพิวเตอร์แมะ เพื่อให้มีการส่งผ่านข้อมูลระหว่างร่างกายมายังคอมพิวเตอร์ ข้อดีคือไม่เจ็บตัว ไม่ต้องเจาะเลือด ไม่โดนรังสี แถมยังรู้ผลได้ทันทีว่าร่างกายตรงไหนทำงานบกพร่อง ผิดปกติ เพื่อจะแก้ไขได้อย่างตรงจุด”

ไม่เพียงเท่านั้น คุณหมอคนสวยยังพานั่งไทม์แมชชีนย้อนวันวานไปรู้จักกับเด็กหญิงพักตร์พิไลสมัยอายุ 14 ปี เมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นใสๆ จนก้าวสู่การเป็นแพทย์หญิงผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและความงาม

“ย้อนกลับไปสมัย 14 หมอไม่ใช่สาวเปรี้ยว แต่ค่อนข้างเป็นเด็กเรียนด้วยซ้ำ สอบได้ที่ 1ตลอด ตั้งแต่สมัยเรียนอยู่สาธิตปทุมวันจนจบ มศ.5ก็ขึ้นรับรางวัลเรียนดีทุกปี ถึงจะเป็นเด็กเนิร์ด แต่ก็ทำกิจกรรมไปด้วย ทั้งเล่นกีฬาและเป็นทีมโต้วาทีของโรงเรียน ตั้งแต่อยู่ มศ.4 ซึ่งปกติทีมโต้วาทีต้องอยู่ มศ.5 อาจจะด้วยฝีปากของเรา(หัวเราะ) พอขึ้น มศ.5 ถึงจะยังไม่ได้เป็นหัวหน้าทีม แต่ก็ได้โต้วาทีในตำแหน่งหัวหน้าทีมอยู่ดี”

แม้จะเป็นเด็กเรียนแต่คุณหมอก็มีวีรกรรมเฮี้ยวๆ เหมือนกัน “พีคที่สุดสมัยนั้นคือ ไปสยามสแควร์ (หัวเราะ) เพราะกิจกรรมสมัยนั้นก็มีแค่ดูหนัง ไม่สกาล่า ลิโด ก็สยาม เราเรียนอยู่สาธิตปทุมวัน สมัยเด็กๆ บ้านหลังแรกอยู่สุขุมวิทซอย 8 พอ 1 ขวบก็ย้ายมาอยู่สุดซอยสุขุมวิท31 (ซอยสวัสดี) สมัยนั้นยังเป็นทุ่งนา เรายังวิ่งไล่ควายอยู่เลย เวลาควายมาแอบกินยอดมะม่วงที่แม่ปลูก ว่างๆ ก็เดินไปตลาดเล็กๆ แถวบ้านซึ่งอยู่ติดกับคลองแสนแสบ”

ส่วนวีรกรรมที่ถือว่าแสบสุดคือ โดดเรียนจากสาธิตปทุมวันไปนั่งกินข้าวที่เตรียมอุดมศึกษา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีรั้วกั้น “ปกติอยู่โรงเรียนเป็นอาหารถาด มีกับข้าว 2 อย่าง ขนม 1 อย่าง แต่ถ้าข้ามไปฝั่งเตรียมอุดมศึกษาเราจะได้เลือกซื้ออาหารทานเอง ตอนนั้นถือว่าเฟี้ยวแล้ว (หัวเราะ) ชีวิตวัยรุ่นสมัยนั้นไม่เหมือนตอนนี้ ทีวียังเป็นขาวดำ ดูเป็นเวลา กว่าจะเปิดสถานีก็ 4โมงเย็น ระหว่างวันไม่มีรายการ แต่ถ้าเสาร์-อาทิตย์จะมีรายการให้ดูทั้งวัน จำได้ว่าตอนที่คุณพ่อซื้อทีวีสีมาอยากดูมาก เพราะตอนนั้นมีละครเรื่องห้องสีชมพู เราอยากจะรู้ว่าห้องนั้นสีชมพูจริงหรือเปล่า

สมัยก่อนถ้าจะได้ออกไปเปิดหูเปิดตาก็ต้องผ่านการทำกิจกรรมของโรงเรียน อย่างตอนอยู่ ป.4 ก็ได้ไปร่วมงานเปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง3 เพราะอยู่ในวงเครื่องดีดสีตีเป่าของโรงเรียนสาธิตประสานมิตร

สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เวลาว่างก็จะอ่านหนังสือ ฟังเพลง ฟังละครจากวิทยุ ช่วยงานบ้าน เข้าครัวเป็นลูกมือช่วยคุณแม่ทำอาหาร ทำขนม ทุกวันนี้ก็ยังชอบทำขนมนะ ยังจำสูตรขนมกลีบลำดวนที่แม่สอนได้ ครอบครัวมีพี่น้อง 4 คนจะจัดเวรกันช่วยงานบ้าน พี่น้องทุกคนเป็นเด็กเกียรตินิยมทั้งบ้าน แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งอาจจะมาจากคุณพ่อ ซึ่งพูดเสมอว่าไม่มีสมบัติให้ สิ่งที่ให้ได้คือความรู้ พ่อบอกจะเรียนอะไรก็ตาม พ่อจะพยายามหาเงินมาส่งให้เรียน”

นอกจากเรียนดีกิจกรรมเด่น มีแตกแถวบ้างนิดหน่อย เด็กหญิงพักตร์พิไลในเวลานั้นยังโด่งดังไม่เบา เพราะสร้างชื่อให้โรงเรียนหลายต่อหลายครั้ง ด้วยการไปคว้าที่ 1 ในการชิงทุน กพ. เพื่อไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ไป เพราะคุณพ่อห่วงเลยให้สละสิทธิ์

“เชื่อมั้ยว่า เมื่อนานมาแล้ว มีผู้ชายคนหนึ่งบอกว่าจำชื่อเราได้ เลยอยากมาขอบคุณเพราะว่าพอเราสละสิทธิ์เขาเลยได้รับทุน กพ.แทน พอ มศ.4 ก็ไปชิงทุนของสำนักงานข่าวสารญี่ปุ่นได้อีก คุณพ่อก็ไม่ให้ไปเหมือนเดิม จน มศ.5 สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง ตอนนั้นสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แล้วก็ใช้ทุนนี้เรียน”

พอก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตไม่น้อย “เทรนด์แฟชั่นและความสวยความงามในยุคนั้น ถ้าไม่ขาบานก็เดฟ กระโปรงก็เป็นกระโปรงบานแล้วต่อเป็นชั้น ตัวหมอเองอย่างที่บอกสมัยก่อนออกแนวเนิร์ด อย่าว่าแต่แต่งหน้า กันแดดยังไม่รู้จักแค่ทาแป้งเด็ก จนเข้ามหาวิทยาลัยถึงเริ่มทากันแดด เริ่มมีทาลิปมัน สมัยเรียนแพทย์ พักตร์พิไลนี่เรียกว่าเปรี้ยวสุดในแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ใส่ตุ้มหูรูปรองเท้าสีแดง ใส่สร้อยข้อเท้า สวมรองเท้าส้นสูงนิดๆ สีแดง ซึ่งปกตินักเรียนแพทย์ไม่ใส่ ซึ่งหมอว่าแฟชั่นทั้งหมดที่บอกมา ถ้ามาถึงตอนนี้อาจเรียกว่าเชย (หัวเราะ)” คุณหมอคนเก่งถ่ายทอดความทรงจำ ก่อนจะเผยถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต

“ความตั้งใจแรกตอนที่เรียนหมอคืออยากเป็นจิตแพทย์ แต่ด้วยเนื้อหาหลักสูตรในเวลานั้นที่เรายังได้สัมผัสกับวิชาเกี่ยวกับจิตแพทย์น้อย เลยทำให้เบนเข็มไปสู่การเป็นหมอศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งก็ทำได้ดี สมัยเรียนเป็นคนเดียวที่ใช้มือซ้ายตัดไหม-ผูกไหมได้ เพราะบางทีการเป็นผู้ช่วย ด้วยตำแหน่งที่ยืนอาจจะไม่สามารถใช้มือข้างขวาที่ถนัดได้อย่างเดียว พอเรียนจบ ตอนแรกคิดว่าจะศึกษาต่อด้านศัลยกรรมตกแต่ง แต่เพราะตัดสินใจใช้ทุนเรียนหลวงตอนปีสุดท้าย ด้วยเหตุผลส่วนตัว เลยจำเป็นต้องพับแผนนี้ไปก่อน”

ช่วงนั้นเธอเบนเข็มไปศึกษาและฝึกปฏิบัติการด้านผิวหนังจาก ศูนย์การแพทย์ไลออนส์ สุพรรณหงส์ กรุงเทพฯ และไปศึกษาและฝึกปฏิบัติด้านแสงเลเซอร์ที่สหรัฐอเมริกา

“หมอกล้าพูดเลยว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ไปเรียนด้านนี้ และนำเทคโนโลยีเลเซอร์เข้ามาใช้ หลังจากนั้นก็ได้ทุนไปเรียนต่อด้านเลเซอร์ที่ญี่ปุ่นอีก 1 ปี พอกลับมาเมืองไทยตั้งใจมาเรียนต่อด้านศัลยกรรมตกแต่ง ปรากฏว่าติดเงื่อนไขว่าเราไม่มีสังกัด บวกกับสมัยนั้นยังมีการกีดกันทางเพศ สังคมยังไม่ค่อยเปิดรับหมอศัลยกรรมตกแต่งที่เป็นผู้หญิง พอมาเจอเงื่อนไขว่าต้องไปเรียนต่อความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศัลยกรรมก่อน 3 ปี ถึงมาเรียนต่อได้ หมอเลยตัดสินใจบอกลาเส้นทางนี้”

“ยอมรับว่าตอนนั้นโกรธมาก เพราะเราไม่ใช่ผู้ชายเลยต้องไปเสียเวลา 2-3 ปี กว่าจะได้เรียนในศาสตร์ที่อยากเรียน มันไม่แฟร์เลย สุดท้ายเลยบอกกับตัวเองว่าไม่เอาแล้ว กลับไปทำงานด้านผิวพรรณต่อดีกว่า”

จากวันนั้นจวบจนวันนี้เป็นเวลา 30 ปีแล้ว ที่คุณหมอคนเก่งหักเหเส้นทางชีวิตตัวเองมาสู่การทำงานในแวดวงผิวพรรณและความงาม ควบคู่ไปกับการศึกษาในศาสตร์ Anti Aging ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเห็นทุกคนมีสุขภาพดีแบบองค์รวม


กำลังโหลดความคิดเห็น