xs
xsm
sm
md
lg

FORWARD YOUR WISDOM ความคิดที่ยิ่งใหญ่ ส่งต่อแรงบันดาลใจได้ไม่รู้จบ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



>>10 ความคิดของการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าจาก 10 บุคคลที่ประสบความสำเร็จ กับโปรเจกต์พิเศษ “FORWARD YOUR WISDOM” ที่จัดทำขึ้นในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของบริการเดอะวิสดอม ธนาคารกสิกรไทย

ท่านเหล่านี้ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ยังมีความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และทุ่มเทสรรพกำลัง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลัง ให้แก่ผู้คนมากมายได้เดินทางสู่เส้นความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกัน นั่นคือ ความหมายอันทรงคุณค่าของ THE WISDOM ที่ให้นิยามมากกว่าความสำเร็จตนเอง

ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เริ่มจากบุคลากรสำคัญด้านสาธารณสุขของไทย “ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์” เธอเป็นผู้ริเริ่มวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ “ยาเอดส์” ซึ่งทำให้ผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสทั้งชาวไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกมีสิทธิ์ในการเข้าถึงการรักษาด้วยยาได้อย่างเท่าเทียม แม้จะได้รับการยกย่องจากองค์กรและบุคคลระดับโลกมากมาย แต่เธอยังคงใช้ชีวิตธรรมดาในแต่ละวันไปกับการช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากที่สุด และแม้ในระหว่างทางของการทำงานจะต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมาย แต่ไม่มีอะไรสามารถหยุดความมุ่งมั่นในการถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือผู้คนของเธอได้ ดร.กฤษณาระลึกอยู่เสมอว่า “ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่ยิ่งใหญ่อะไร คิดว่าตัวเองเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจเหมือนคนอื่นๆ ในเมื่อเรามีความสามารถช่วยเหลือพวกเขา แล้วทำไมเราถึงจะไม่ทำ”
พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา
“พิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา” ผู้ช่วยประธานมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ นักพัฒนาผู้มีความมุ่งมั่น เธอเริ่มทำงานช่วยเหลือสังคมที่ดอยตุง ทั้งการช่วยพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของดอยตุงให้กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ของคนเมือง เพิ่มมูลค่าและลดช่องว่างระหว่างคนบนดอยกับคนในเมือง และอีกบทบาทของเธอในตอนนี้คือการทำงานกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่มีเป้าหมายในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาที่ได้พระราชทานไว้เพราะถือได้ว่าเป็นสัจธรรมอันมีค่า ถ้านำมาปรับใช้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้คนมากมาย “เราเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ ในการช่วยเหลือและแบ่งปันให้สังคม ถ้าต้องการผลักดันและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น เราทุกคนต้องช่วยกัน”
ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์)
สำหรับ “ม.ล.ภาวินี สันติศิริ (ศุขสวัสดิ์)” นายกสมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ เป็นนักออกแบบสร้างสรรค์สังคม ที่ช่วยสร้างพลังเครือข่ายนักออกแบบเพื่อส่งเสริมเรื่องการออกแบบและยกระดับงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเพื่อสามารถส่งออกไปยังตลาดโลกได้ โดยเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วเธอยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการริเริ่มให้นำผักตบชวา ซึ่งเป็นปัญหาระดับประเทศ มาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์อีกด้วย

ม.ล.ภาวินีได้กล่าวไว้ว่า “อยากให้งานฝีมือไทยมีบทบาทในโลกสมัยใหม่ การนำศิลปหัตถกรรมไทยมาพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้น่าใช้ น่าชื่นชม เป็นเรื่องท้าทาย และเชื่อว่ามันจะสร้างความภูมิใจให้คนไทยได้”
บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์
ผู้หญิงเก่งอีกหนึ่งคนสำหรับโปรเจกต์นี้ “บุบผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์” หรือครูอ้อน ผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี โรงเรียนวิถีพุทธที่เน้นสร้างความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียนและครอบครัวเพื่อให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ “ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต” ประโยคสำคัญที่ได้รับมาจากพระอาจารย์ชยสาโร เธอจึงนำมาเป็นแนวคิดหลักในการเรียนการสอนของโรงเรียน และนำประโยคสำคัญที่ว่านั้นส่งต่อในการสร้างมุมมองเรื่องของการศึกษาให้ทั้งผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนเอง “เด็กไทยเรียนเก่งนะ แต่เก่งเฉพาะวิชาการเขาได้รับโจทย์จากตำราเท่านั้น เมื่อมาเจอโจทย์ในชีวิตจริงหลายคนแก้ปัญหาไม่ได้ เราจึงมองว่าสิ่งที่สำคัญกว่าวิชาการคือวิชาชีวิต” ครูอ้อนกล่าว
นิติกร กรัยวิเชียร
ด้านอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ “นิติกร กรัยวิเชียร” หรือคุณโรบิ้น ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาในมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ช่วยสนับสนุนวงการถ่ายภาพ จัดหาทุน และส่งเสริมความรู้ให้ทุกคนที่สนใจการถ่ายภาพ รวมถึงงานสำคัญอย่างการอนุรักษ์ฟิล์มกระจกที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติได้รวบรวมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 กว่า 40,000 ภาพ ถือเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติที่ทำให้คนรุ่นนี้ได้เห็นภาพประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศชาติ คุณโรบิ้นกล่าวว่า “ปัจจุบันการถ่ายรูปมันง่ายขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเรารักษาและบันทึกเรื่องราวของยุคสมัยนี้ไว้ด้วยภาพถ่าย ก็ถือว่าได้ส่งต่อประวัติศาสตร์ให้กับคนรุ่นต่อไป”
ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ
ถ้าพูดถึงผลงานด้านดนตรี หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ศ.ดร.ณัชชา พันธุ์เจริญ” อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางคศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอถือได้ว่าเป็นศาสตราจารย์ด้านดนตรีแห่งยุค ที่ทุ่มเทในการถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีให้กับลูกศิษย์มากมายตลอด 30 ปี และยังได้สร้างประวัติศาสตร์บทสำคัญอย่างการสร้างพจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์ รวมถึงตำราดนตรีอีกกว่า 20 เล่ม เพื่อส่งต่อแบบแผนและความรู้ด้านดนตรีไทยให้กับนักดนตรีรุ่นต่อๆ ไป “คุณค่ามนุษย์ ก็คือ คุณสามารถช่วยเหลือและสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมได้มากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมามีโอกาสได้สร้างประโยชน์เพื่อวงการดนตรี นั่นถือว่าได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าแล้ว”
โจน จันได
“โจน จันได” นับเป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ที่มองหาวิถีการใช้ชีวิตแบบพอเพียง หลายคนอาจรู้จักเขาจากการทำบ้านดิน แต่ผลงานสำคัญอีกอย่างของเขาคือการก่อตั้ง “พันพรรณ” ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เก็บเมล็ดพันธุ์พืชซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยในอนาคต และช่วยให้พืชผักที่หลากหลายยังคงอยู่ต่อไป พร้อมเดินหน้าถ่ายทอดภูมิปัญญาต่างๆ ที่ไม่เพียงแต่สำหรับคนในพื้นที่นั้น แต่ทุกคนยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านสังคมออนไลน์ เพราะเขา “นอกจากเมล็ดพันธุ์พืชหลากหลายชนิดที่จะสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับเรา อยากให้เมืองไทยมีเมล็ดพันธุ์ทางความคิดที่มุ่งหวังความยั่งยืน”
นภินทร์ จอกลอย
สำหรับ “นภินทร์ จอกลอย” อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางจังหวัดอุดรธานี ผู้เปรียบเสมือนพ่อพระผู้สร้างแดนธรรมในเรือนจำ เขาใช้ธรรมะในการขัดเกลาจิตใจผู้ต้องโทษให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และแม้ทุกวันนี้เขาจะเกษียณแล้ว แต่ก็ยังมุ่งมั่นในการให้ความรู้และเผยแพร่หลักธรรมในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นอุทาหรณ์ไม่ให้คนกระทำความผิด โดยเขากล่าวว่า “ธรรมะไม่เพียงให้ชีวิตใหม่ แต่ทำให้สังคมได้คนดีเพิ่มขึ้น พุทธศาสนาสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงผู้ต้องโทษได้ เราแค่ต้องทำให้เขาเปิดใจและเข้าใจ”
แสงเดือน ชัยเลิศ
ด้านสาวแกร่งคนนี้ “แสงเดือน ชัยเลิศ” ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ผู้หญิงตัวเล็ก ที่อุทิศกายและใจเพื่อดูแลเพื่อนร่วมโลกตัวใหญ่อย่างช้าง เธอเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัครให้แพร่หลายมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในธุรกิจปางช้างและลดการทารุณกรรมช้างลงได้ โดยทุกวันนี้มูลนิธิของเธอดูแลทั้งช้างแก่ ช้างป่วย และช้างบาดเจ็บ พิการ รวมไปถึงสัตว์อีกสารพัดชนิดที่ต้องการความช่วยเหลือ “ถ้าช้างพูดได้ เขาน่าจะบอกว่าไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นข้าทาสของคน เขาก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกับเรา”
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์
ปิดท้ายด้วย “นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก คุณหมอผู้มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือคนชาติไหนๆ ในพื้นที่ห่างไกลกับคำว่าความเจริญ โดยไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นคนมีอุดมการณ์หรือเสียสละใดๆ คุณหมอแค่รู้สึกมีความสุขกับงานที่ทำอยู่ และรู้สึกดีที่ความรู้ความสามารถของเขาสามารถช่วยเหลือผู้คนได้ “ถ้าคุณเป็นหมอแล้วเห็นคนไข้อาการหนัก คุณจะไม่ช่วยพวกเขาหรือ? ต่อให้ไม่ใช่หมอ อย่างไรก็คงต้องหาทางช่วยอยู่ดี”

#FORWARDYOURWISDOM #10thAnniversaryTHEWISDOM


กำลังโหลดความคิดเห็น