ได้สายเลือดนักสู้มาเต็มเปี่ยม สำหรับ “เพิร์ลลี่-ลักษมีกานต์ อิงคะกุล” ลูกสาวของ “อัศวิน อิงคะกุล” แห่งมิราเคิล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจพันล้านที่มีธุรกิจหลักคือโรงแรม และ CIP Lounge ในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง นอกจากจะเป็นหนึ่งในแม่ทัพคนสำคัญที่ช่วยขยายอาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ป ให้เติบโตแล้ว เธอยังลุกขึ้นมาสานต่อแพสชันของตัวเองในการช่วยเหลือสังคมและโลกนี้ให้น่าอยู่ สร้างผลงานชนิดที่เรียกว่า ถ้าจะทำต้องทำให้สุด
หนึ่งในผลงานที่พิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นของเพิร์ลลี่ได้เป็นอย่างดีคือ แกนนำหลักผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพาประเทศไทย คว้าสิทธิ์เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเยาวชน (One Young World Summit-OYM) งานใหญ่ที่มีเยาวชนระดับหัวกะทิจากทั่วโลกถึง 196 ประเทศ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในสาขาที่แต่ละคนเชี่ยวชาญ เมื่อปี 2015 และคงยังเดินสายเป็นวิทยากรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในเวทีนานาชาติมากมาย
พลังแห่งความตั้งใจและเลือดนักสู้ที่มีอยู่เต็มตัว ทำให้สาวเก่งเจ้าของบุคลิกกระฉับกระเฉง ได้รับการทาบทามให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact Network Association-GCNA) หน่วยงานภายใต้การดำเนินงานของสหประชาชาติ (UN) ที่มีวัตถุประสงค์สร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มีความสมดุล นับเป็นตัวแทนหญิงไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่ได้ชื่อว่าอายุน้อยที่สุดในโลก ที่ได้นั่งตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้
จากซีอีโอโรงแรมสู่ซีอีโอเครือข่ายองค์กรนานาชาติ
หลังจบปริญญาตรี 2 หลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจและการจัดการโรงแรมที่ Hotel Institute Montreux สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่อายุ 19 ปี เธอเดินทางกลับประเทศไทยทันที เพื่อมาช่วยสานต่ออาณาจักรมิราเคิล กรุ๊ปแบบเต็มตัว จนเมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัว เธอจึงเบนเข็มมาทำตามเสียงหัวใจที่อยากจะเป็นพลังเล็กๆ ในการช่วยเหลือสังคม กระทั่งวันนี้ เธอได้ก้าวขึ้นเป็นผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ที่ต้องทำงานร่วมกับองค์กรชั้นนำระดับประเทศมากมาย
“สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก เป็นหน่วยงานหนึ่งของยูเอ็น เหมือนที่หลายๆ คนรู้จัก ยูนิเซฟ (UNICEF) หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) แต่ของเราจะเน้นโฟกัสไปที่ภาคธุรกิจ โดยบริษัทที่จะเข้ามาอยู่ในเครือข่ายของเรา ต้องดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ ทั้งด้านการวางยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการที่สอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการของ UN Global Compact ซึ่งครอบคลุม 4 เรื่องสำคัญได้แก่ สิทธิมนุษยชนมาตรฐานแรงงาน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และต่อต้านการทุจริต” เพิร์ลลี่เล่าถึงพันธกิจของหน่วยงานที่คนไทยอาจยังไม่คุ้น ก่อนจะขยายความต่อว่า
UN Global Compact ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 ปัจจุบันมีการดำเนินงานอยู่ในหลายประเทศ โดยผู้ที่ก่อตั้งคือ โคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการยูเอ็น ซึ่งจริงๆ ท่านมีกำหนดจะมาร่วมงานเปิดตัว UN Global Compact ซึ่งจะจัดขึ้นในไทยเร็วๆ นี้ แต่ท่านไม่สบายและเสียชีวิตไปก่อน ตอนนี้เลยจะเป็น บัน คีมุน เลขาธิการยูเอ็น ที่จะเดินทางมาร่วมงานเปิดตัวแทน
บุคคลสำคัญที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งสมาคมฯ ในประเทศไทยคือ “ศุภชัย เจียรวนนท์” รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น (True) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งฐานะประธานคณะกรรมการฯ เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย
“คุณศุภชัยเป็นผู้ที่รวบรวมบริษัทในไทย มีเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเสนอไปทางนิวยอร์กว่า จะขอจัดตั้งเครือข่าย UN Global Compact ในไทย และได้ทาบทามให้เพิร์ลลี่มาเป็นผู้อำนวยการสมาคม
“ถ้าเปรียบเทียบว่าสมาคมนี้เป็นบริษัท เพิร์ลลี่ก็เหมือนเป็นซีอีโอ หน้าที่ของเพิร์ลลี่คือ การสร้างทีม รีครูทเมมเบอร์ ที่จะมาสานต่อพันธกิจของสมาคมให้เกิดขึ้นจริง เพราะทางสมาคมมีมาตรฐานในการตรวจสอบองค์กร ที่เข้ามาเป็นเครือข่ายของเราทุกปี ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็ต้องออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งเพิร์ลลี่คิดว่าการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างสังคมอย่างยั่งยืน จะเป็นเทรนด์ของโลกอนาคต ธุรกิจไม่ใช่เรื่องของกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่ต้องย้อนกลับมาดูว่าธุรกิจของคุณช่วยโลกหรือเปล่า”
ผู้อำนวยการที่อายุน้อยที่สุด
ในวัย 30 นิดๆ กับการก้าวมายืนตรงจุดนี้ สำหรับเพิร์ลลี่ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวแห่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ “เพิร์ลลี่ถือว่าเป็นผู้อำนวยการที่เด็กที่สุด เท่าที่เคยมีมาของเครือข่าย UN Global Compact ทั่วโลก ส่วนใหญ่ผู้อำนวยการจะอายุ 40-50 ปี แต่ละคนจะอยู่ในวาระ 4 ปี เพิร์ลลี่คิดว่าเหตุผลที่ทำให้คุณศุภชัยทาบทามให้เพิร์ลลี่มานั่งตำแหน่งนี้ อาจเพราะเห็นผลงานตั้งแต่ตอนที่ร่วมงาน One Young World เพิร์ลลี่มองว่าอายุไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเพิร์ลลี่จะพิสูจน์ด้วยผลงาน เพิร์ลลี่เป็นคนตั้งเป้าหมายสูงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใน 2-3 ปีจากนี้ เพิร์ลลี่คิดว่าต้องมีบริษัทที่มาเข้าร่วมเครือข่ายเราไม่น้อยกว่า 200 บริษัท
สำหรับเพิร์ลลี่ถือเป็นภารกิจสำคัญ เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่มีการจัดตั้งเครือข่าย UN Global Compact ปัจจุบันมีแค่ที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ส่วนเกาหลีใต้เพิ่งโดนยกเลิกเอ็มโอยูไป เพราะไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของเครือข่ายได้ ขณะที่ สิงคโปร์เองทั้งที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทระดับโลกมากมาย ก็ยังมีบริษัทที่เข้าร่วมเพียง 50 แห่งเท่านั้น ขณะที่ ไทยมีแล้วถึง 41 บริษัท”
ถามว่าองค์กรที่ประสงค์จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมต้องมีกระบวนการอย่างไร ผู้บริหารสาวเก่งย้ำว่า “ไม่ใช่อยากจะเข้ามาเป็นสมาชิกก็เป็นได้ เพราะต้องทำจดหมายไปที่สำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์กโดยตรง เพื่อพิจารณาว่าบริษัทนั้นมียุทธศาสตร์ที่เข้าข่ายหรือไม่ จากนั้นจึงส่งเรื่องมาที่ไทย เพื่อให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ และทำรีพอร์ตส่งกลับไปที่นิวยอร์ก สุดท้ายแล้วทางนิวยอร์กจะเป็นผู้ประกาศผลอีกที อารมณ์เหมือนการมอบมาตรฐาน ISO แต่เป็นเชิงแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนของภาคธุรกิจ”
อย่างไรก็ตาม ถึงวันนี้เพิร์ลลี่จะเล่าถึงการทำงานของ UN Global Compact ได้แบบไม่มีติดขัด แต่ถ้าย้อนไปเมื่อตอนก่อนจะมาร่วมงาน สาวสวยมากความสามารถสารภาพตามตรงว่า ไม่รู้จักหน่วยงานนี้ด้วยซ้ำ
“ตอนแรกไม่รู้จักเลยหน่วยงานนี้ แต่พอได้รู้จักก็หลงรักไปกับสิ่งที่เขาทำ ตอบโจทย์ และเป็นการช่วยเหลือสังคมในสเกลที่ใหญ่กว่าที่เราคิด เราเองมีหลายสิ่งหลายอย่างที่อยากทำ แต่ที่ผ่านมาก็ทำตามกำลัง แต่พอตอนนี้เราได้มาทำงานกับบริษัทใหญ่ มันเหมือนเราได้ช่วยให้โลกดีขึ้นแบบเป็นรูปธรรม ซึ่งเพิร์ลลี่ว่าโอกาสแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ถึงเหนื่อยแต่ก็สนุก ทุกวันนี้เพิร์ลลี่ก็ยังมีตำแหน่งใน One Young World เราทำงานให้ฟรี ไม่รับเงิน มีหน้าที่เดินทางไปร่วมงานประชุม และสร้างการรับรู้ว่า One Young World คืออะไร ที่ผ่านมาเพิร์ลลี่พยายามผลักดันให้มีคนไทยได้ขึ้นเวที One Young World ทุกปี อย่างปีนี้ วู้ดดี้ (วุฒิธร มิลินทจินดา) จะขึ้นเวทีไปพูดหัวข้อ LGBT”
Next Station…ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ฝันจะสร้างโลกที่ยั่งยืน
ตลอดเวลาที่ฟังสาวเก่งถ่ายทอดเรื่องราวที่เปี่ยมไปด้วยแพสชันในการทำงาน แววตาที่เป็นประกายและน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความเชื่อ พาลให้ค่อยๆ เข้าไปอยู่ในโลกของเธอในบัดดล จนอดสงสัยไม่ได้ว่า สาวสวยได้แรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างโลกที่ยั่งยืนมาตั้งแต่เมื่อไหร่
“เพิร์ลลี่สนใจเรื่องนี้มานานแล้ว จนตอนเรียนจบกลับมาเริ่มทำงาน ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากหาเงินให้ได้มากๆ เพื่อที่จะนำเงินไปช่วยเหลือคนอื่น ส่วนใหญ่ที่ทำตอนนั้นจะออกมาในรูปการกุศล จนมาเจอ One Young World คำว่า Charity (การกุศล) เหมือนถูกลบออกจากหัวไปเลย เราเริ่มกลับมาคิดและต่อยอดการช่วยเหลือสังคมในมุมใหม่ว่า แทนที่จะให้อย่างเดียว ทำไมเราไม่ทำให้คนอื่นได้เรียนรู้และต่อยอดสิ่งที่เราหยิบยื่นให้ เปรียบเทียบง่ายๆ แทนที่เราจะให้เงินหรือให้ปลา สู้สอนวิธีให้เขาหาเงินหรือตกปลาดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ถึงจะบ้างานขนาดไหน แต่มาถึงวันนี้ เพิร์ลลี่ได้เรียนรู้แล้วว่า ความพอดี คือสิ่งที่ดีที่สุด “แต่ก่อนตอนกลับมาใหม่ๆ ทำงาน 7 วัน วันละเกือบ 20 ชั่วโมง เข้าโรงพยาบาลถึงหยุด ตอนนี้เรื่องสุขภาพเลยเป็นเรื่องที่เราใส่ใจ พยายามไม่ทำงานหนักมาก ตอนนี้ถ้าเครียดคือต้องหยุดเลย วิธีพักผ่อนง่ายๆ ของเพิร์ลลี่ ที่เพิ่งเริ่มทำมาได้ 2 ปีคือ การอยู่กับตัวเองนั่งระบายสี” งานนี้เพิร์ลลี่ไม่พูดเปล่า แต่ยังคว้าสมาร์ตโฟนมาอวดผลงาน ก่อนจะทิ้งท้ายถึงเส้นทางชีวิตที่เดินทางมาถึงวันนี้ว่า
“เพิร์ลลี่ว่าคุณพ่อคุณแม่ท่านก็น่าจะภูมิใจในตัวเรานะ (ยิ้ม) เพิร์ลลี่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง เพราะคิดว่ามีคนเก่งกว่าเรา ไม่ได้คิดว่าตัวเองสวย เพราะมีคนสวยกว่าเรา เพราะฉะนั้น เพิร์ลลี่ไม่เคยอิจฉาคนอื่นเลย วันนี้เราอาจจะมีเงินใช้ อยู่ได้ แต่มีคนรวยกว่าเรา เพราะฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องแข่งกับคนอื่น แต่แข่งกับตัวเอง ทุกๆ ปีเราจะเป็นคนที่ดีขึ้น”