xs
xsm
sm
md
lg

สู้เพื่อพ่อแม่! “สโรชา พรอุดมศักดิ์” ผู้ประกาศข่าวคนดัง สาวเก่งที่เคยเกือบยอมแพ้ให้กับมะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ถึงจะเตรียมใจรับมือไว้แล้วว่า หากวันหนึ่งชีวิตต้องพบกับฝันร้ายที่ชื่อว่า “มะเร็ง” เธอจะไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา และยินยอมจากไปอย่างสงบโดยไม่ทรมานสังขาร เพียงแต่เมื่อมะเร็งมาเยือนในห้วงเวลาที่เร็วกว่าที่คิดไว้ ทำให้ แอ้ม-สโรชา พรอุดมศักดิ์ ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรข่าวคนดัง ที่จู่ๆ ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะ 2 ในวัย 41 ปี ไม่สามารถทำตามเจตนารมณ์ เพราะเธอต้องทำหน้าที่ลูกที่ดีเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการมอบของขวัญสุดล้ำค่าชิ้นสุดท้ายให้แด่ผู้เป็นแม่ที่ขอให้เธอสู้อีกครั้ง

ใครที่ได้ติดตามเรื่องราวของแอ้ม อาจพอทราบว่าเธอหายหน้าหายตาจากหน้าจอโทรทัศน์ไปพักใหญ่หลังจากเลิกจัดรายการตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จนกระทั่งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเธอกลายเป็นที่ข่าวทอล์กออฟเดอะทาวน์เมื่อพบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งเธอบังเอิญคลำเจอก้อนเนื้อที่หน้าอกด้านซ้าย

ในช่วงเวลาที่ราวกับโลกทั้งใบที่เคยสดใสกลับกลายเป็นสีเทา แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่เธอเคยจินตนาการไว้ล่วงหน้าเพราะเติบโตมาในครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคนจากไปด้วยโรคมะเร็ง ทำให้มีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าวันหนึ่งเธอก็ต้องจากไปด้วยโรคนี้ แต่พอช่วงเวลาสุดท้ายจะมาถึง กลับไม่ง่ายเลยที่จะข้ามผ่าน

ภารกิจนี้เดิมพันด้วยชีวิต
“เราเชื่ออยู่แล้วว่าชีวิตนี้เราอายุไม่ยืน และต้องป่วยเป็นมะเร็ง แต่ไม่คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้ เร็วกว่าที่คาดไว้ 10-15 ปี แอ้มเป็นลูกสาวคนเดียว เราสามคนพ่อแม่ลูกเคยคุยกันอยู่แล้วว่าถ้าวันหนึ่งมีใครคนใดคนหนึ่งเป็นมะเร็ง เราจะไม่รักษา อย่างคุณพ่อคุณแม่ทุกวันนี้ถามว่าท่านมีเชื้อมะเร็งหรือเปล่า ก็ไม่รู้นะ เราไม่เคยตรวจ เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่เคยคิดจะรักษา เพราะฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนที่จะรู้ จะได้ไม่เป็นทุกข์ ถ้าถึงจุดหนึ่งที่ทรุดจริงๆ ก็หมายความว่าใกล้มาถึงวาระสุดท้ายแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำใจ” แอ้มเปิดฉากเล่าถึงทัศนคติที่มีต่อมะเร็งอย่างเปิดอก

“พูดง่ายแต่ทำยากนะคะ พอเจอเข้าจริงๆ มันไม่ง่ายเลย เป็นเรื่องลำบากใจที่จะยอมรับ โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ แอ้มเชื่อในบาปบุญคุณโทษ เชื่อว่าแรงกตัญญูที่ทำหน้าที่ดูแลคุณแม่มาตั้งแต่เริ่มทำงานจะทำให้เราไม่ไปเจออะไรที่น่ากลัว เราไม่เคยกลัวความตาย ต่อให้คืนนี้นอนแล้วพรุ่งนี้ไม่ตื่นก็ไม่เป็นไร เรารู้สึกว่าชีวิตนี้เราก็ไม่ได้ขาด เรามีคุณพ่อคุณแม่ที่รักและดูแลเรามา และวันหนึ่งเราก็ได้กลับมาดูแลท่าน

ส่วนในเรื่องครอบครัว เคยมีความรักที่ยิ่งใหญ่ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง พอถึงเวลาไม่ใช่ก็จากกันด้วยดี ไม่ได้เกลียดกัน ไม่มีมือที่สาม แต่เราแยกทางกันเพราะเงื่อนไขของชีวิตไม่ลงตัวกันเท่านั้นเอง เราคิดว่าชีวิตนี้เราครบแล้ว อยากเที่ยวก็ได้ไป ได้ใช้ชีวิตคุ้ม มีเงินเก็บเป็นเงินสำรองให้คุณพ่อคุณแม่ในอนาคตแล้ว แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ พอมาเจอว่าเราป่วยในวัยที่เร็วกว่าที่คิด ท่านกลับทำใจไม่ได้ที่จะเสียเราไป” แอ้มบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่ยากจะทำใจ ก่อนจะย้อนถึงที่มาที่ทำให้พบว่าตัวเองป่วย

“ช่วงที่พักจากงานทีวี เหมือนเป็นช่วงที่แอ้มได้พัก ได้มีเวลาค้นหาแพสชันอื่นๆ ของตัวเองที่นอกเหนือจากการทำงานโทรทัศน์ ด้วยความเป็นคนชอบเรื่องความสวยความงามเป็นทุนเดิม ชอบทดลองผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งเครื่องสำอางและสกินแคร์ มีอยู่วันหนึ่งเราไปซื้อผลิตภัณฑ์ตัวหนึ่งมาลอง ปรากฏว่าพอเอามาลองตรงหน้าอกดันคลำไปเจอก้อนเนื้อ ตอนนั้นช็อกไปประมาณหนึ่ง ตั้งสติอยู่ 3 วัน ไม่กล้าบอกคุณพ่อคุณแม่เพราะยังไม่แน่ใจ ตัดสินใจโทร.ไปนัดคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดโรงพยาบาลโทร.มาคอนเฟิร์มนัดหมาย แต่ติดต่อแอ้มไม่ได้เลยโทร.หาคุณแม่ ตอนแรกคุณแม่ก็งงคิดว่าโทร.ผิด โชคดีที่แอ้มอยู่ข้างๆ เลยบอกว่าไม่ผิดหรอก”

จากเหตุการณ์นั้นเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของลางร้าย และทำให้นับตั้งแต่วันนั้นบรรยากาศในบ้านที่เคยอบอวลไปด้วยความสุขก็เริ่มเปลี่ยนไป

“พอไปตรวจผลปรากฏว่าแอ้มเป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 2 ก้อนเนื้อใหญ่ประมาณ 3 เซนติเมตร วินาทีนั้นถามว่าตกใจมั้ย ก็ไม่นะ จนกระทั่ง กลับมาบ้านได้เห็นหน้าคุณพ่อ ซึ่งปกติท่านเป็นคนที่นิ่งที่สุดในบ้านไม่ว่าจะเจอวิกฤตอะไรก็ตาม แต่วันนั้นพ่อเข้ามากอด แล้วถามว่าทำไมล่ะลูก ทำไมต้องเป็นแอ้ม ทำไมไม่เป็นพ่อ แค่นั้นแหละปล่อยโฮเลย ตอนนั้นแม่ก็เดินออกมาจากห้องเข้ามากอด”

ของขวัญชิ้นสุดท้ายจากลูก
หลังจากวินาทีที่ราวกับฟ้าผ่านั้น แอ้มยังคงใช้ชีวิตที่เหลือตามเจตนาเดิมคือ ไม่เข้ารับการรักษา นอกจากจะเตรียมหาข้อมูลเพื่อรับมือกับความทรมานที่ต้องเผชิญจากผลข้างเคียงของโรค พร้อมเตรียมงานศพของตัวเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระกับคุณพ่อคุณแม่ ในระหว่างนั้นคุณแม่ที่ปกติสุขภาพไม่ดีอยู่แล้วก็ยิ่งทรุดหนัก บรรยากาศบนโต๊ะอาหารเปลี่ยนจากเสียงหัวเราะเป็นความเงียบงัน จนกระทั่งวันหนึ่งคุณแม่ตัดสินใจเอ่ยปากขอให้เธอมอบของขวัญชิ้นสุดท้ายในฐานะลูก

“เราอยู่ด้วยกันสามคมมาตลอด พอคิดว่าอีกไม่นานเก้าอี้ตัวนี้จะว่างลง ก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่อดเศร้าไม่ได้ เราเองก็คิดนะว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ต่อไปอย่างไร ขณะที่คุณพ่อคุณแม่ท่านเองก็คงไม่สามารถทำใจได้เช่นกันถ้าต้องเห็นเก้าอี้ตัวนี้ว่างลงในเร็ววัน เพราะตอนนั้นแอ้มคุยกับหมอแล้วว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจากวันที่ตรวจเจอไป 3 เดือนมะเร็งจะขยายเป็นเท่าตัว อาจจะลามไปปอด กระดูก ตับ หรือสมอง ซึ่งตอนนั้นคุณหมอก็บอกไม่ได้ว่าเราจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน แต่คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า

พอเป็นแบบนี้ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่งคุณแม่ท่านบอกกับแอ้มว่า ถ้าแอ้มคิดว่าจะให้ทำอะไรเป็นอย่างสุดท้ายในชีวิตของแอ้มหรือของแม่ แม่ขอให้แอ้มเข้ารับการรักษา เพราะแม่ทำใจไม่ได้จริงๆ ที่ต้องเสียลูกไปเวลานี้ จากประโยคนั้นของคุณแม่เปลี่ยนชีวิตแอ้มอีกครั้ง ให้ตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยมีข้อแม้เดียวคือ ถ้าหลังจากนี้แอ้มตรวจพบว่าเป็นมะเร็งที่ส่วนอื่นอีก แอ้มขอไม่รักษาอีกแล้ว ซึ่งคุณแม่ท่านก็ยอมรับ” หญิงแกร่งสุดสตรองค่อยๆ ถ่ายทอดเรื่องราวที่เศร้าอย่างเข้มแข็ง

ด่านแรกของกระบวนการรักษาคือ การนำก้อนเนื้อเจ้าปัญหาออกไปเข้าแล็บเพื่อตรวจสอบว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดไหนและคุณหมอจะจัดการอย่างไร ผลที่ออกมาคือ แอ้มเป็นมะเร็งเต้านมชนิด triple negative ซึ่งคุณหมอเลือกผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไว้ แล้วให้ใช้การฉายแสงร่วมกับการทำเคมีบำบัด

“ตอนแรกคุณหมอบอกว่าจะให้คีโมอย่างน้อย 6 เข็มและฉายแสง แต่หลังจากรู้ผลจากผ่าตัด คุณหมอบอกว่า 6 เข็มไม่น่าเอาอยู่ให้เพิ่มเป็น 8 เข็มแล้วฉายแสงเพิ่มเป็น 35 ครั้ง ตอนนี้แอ้มผ่าน 4 เข็มแรกไปแล้ว กำลังเข้าสู่การให้คีโมโดสสองซึ่งคุณหมอซอยจาก 4 เข็ม เป็น 12 เข็ม เพื่อลดความรุนแรงจากผลข้างเคียงของคีโมลงเหลือ 1 ใน 3 แต่ต้องเพิ่มความถี่จากที่ให้คีโมทุก 3 สัปดาห์มาเป็นทุกอาทิตย์ เพราะคุณหมอเห็นแล้วว่าสภาพร่างกายและจิตใจเราค่อนข้างแย่จาก 4 เข็มแรก”

เพื่อให้เห็นภาพตามว่าผลลัพธ์จากการให้คีโมทำให้ยิ้มไม่ออกขนาดไหน แอ้มบอกเล่าอย่างออกรสว่า “4 เข็มแรกมันทรมานมากจริงๆ ถึงจะให้คีโม 4 ชั่วโมงแล้วก็กลับบ้าน แต่สภาพร่างกายคือหมดเรี่ยวหมดแรง ตอนนั้นหมอให้ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อขับตัวยา แต่เราเองแค่แรงจะดื่มน้ำ กินข้าวยังไม่มี ระบบขับถ่ายก็มีปัญหา ต้องอาศัยยาระบายช่วยตลอด แถมตลอดเวลาที่รักษา ทุกวันยังต้องกินไข่ขาวให้ได้ 7-8 ฟอง ไม่เช่นนั้นเม็ดเลือดขาวจะตกทำให้ไม่สามารถให้คีโมได้ ทุกวันนี้เรียกว่าเห็นไข่ขาวก็แทบเบือนหน้าหนี ถึงตอนหลังคุณแม่จะทำการบ้าน แล้วให้เรากินไข่ขาวสกัดผงผสมน้ำเป็นรสต่างๆ ก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่เราก็จำเป็นต้องฝืนกิน

เชื่อมั้ย! ตอนที่คุณหมอบอกว่าจบ 4 เข็มแรกแล้วจะซอยเป็น 12 เข็ม เราเกือบถอดใจ เพราะคิดว่าแค่ 4 ยังไม่ไหว แต่พอคุณหมออธิบายว่านี่เป็นการปรับสูตรเพื่อช่วยเรา ก็โอเค ผ่านมาแล้วครั้งแรก คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก อย่างวันนี้ที่เจอกันจะเห็นว่าเราโอเคแล้ว ไปไหนมาไหนได้ แต่เบื้องหลังคือเราก็ต้องบริหารแรงตัวเอง รู้ว่าวันนี้ตื่นมาต้องมาสัมภาษณ์ ถ่ายรูป เย็นมีไปงานศพ ช่วงบ่ายเราต้องกลับไปนอนพักเพื่อเก็บแรงชาร์จแบตฯ ถ้าฝืนลากจนค่ำเอาไม่อยู่แน่นอน ซึ่งคำว่าไม่อยู่ในที่นี้คือไม่มีแรงแม้แต่จะยืนอาบน้ำ”

ชีวิตก็ยังต้องสู้ต่อ
แม้จะผ่านบททดสอบที่แสนสาหัสมาแล้วครึ่งทาง แต่ศึกที่มีเดิมพันด้วยชีวิตครั้งนี้ยังไม่จบ งานนี้แอ้มเปรียบเปรยคุณหมอที่ทำการรักษาว่า เหมือนเป็นโค้ชที่ต้องศึกษาคู่ต่อสู้ตลอดเวลา ประมาทไม่ได้ ต้องคอยปรับกลยุทธ์ตลอดเวลา เพราะมะเร็งไม่เหมือนไข้หวัดใหญ่ที่มีวัคซีนที่ฉีดป้องกัน มีระยะพักฟื้นกี่วันก็หาย แต่มะเร็งแต่ละชนิดมีความซับซ้อน และขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล

“มาถึงตอนนี้ก็ยังกลัวนะ เพราะมะเร็งเป็นโรคที่ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะหาย อย่างตอนแรกจะให้คีโมแค่ 6 โดส พอไปเข้าห้องแล็บจริง ปรากฏหมอบอกว่าโรคซับซ้อนกว่าที่คิดต้องขอปรับวิธีการรักษา เพราะฉะนั้นเราต้องพร้อมยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราในอนาคต ที่เห็นเราแข็งแรงวันนี้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าทุกอย่างจะจบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง ซึ่งกระบวนการรักษาจากนี้ หลังจากให้คีโมเรียบร้อย ต้องไปฉายแสงทุกวัน จันทร์ถึงศุกร์ ต่อเนื่อง 6 อาทิตย์

นอกเหนือจากความทุกข์ทรมานทางร่างกายแล้ว ความทุกข์ทางจิตใจที่ได้รับจากผลข้างเคียงของการเข้าสู่กระบวนการรักษา เป็นอีกสิ่งที่ยากทำใจ โดยเฉพาะผู้หญิงที่รักสวยรักงาม

“ตอนแรกเราไม่ห่วงเรื่องความสวยความงาม แต่ห่วงความทุกข์ทรมานจากการรักษามากกว่า อย่างตอนที่คิดจะโกนผม เราก็แค่คิดว่าเดี๋ยวพอให้คีโมผมจะร่วง เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการบั่นทอนจิตใจว่าตื่นมาต้องเห็นผมร่วงทุกวัน โกนเลยดีกว่า ตอนแรกเราเริ่มจากตัดผมสั้นก่อน จนหลังผ่าตัดก็โกนหมด คราวนี้สบายเลย รู้สึกโล่ง แต่ถึงจะโกนตอนที่รักษาคุณหมอก็ยังให้ใส่หมวกเย็น เพราะเชื่อว่าการทำเคมีบำบัดจะทำให้ร่างกายร้อน การใส่หมวกเย็นตลอดเวลาที่ทำคีโมจะช่วยรักษารากผมไม่ให้ตาย ซึ่งก็ได้ผล แต่ความทรมานคือหมวกเย็นนี้เย็นสมชื่อ เย็นจนปวดหัวชนิดที่ต้องกินยาแก้ปวด”

ผ่านด่านผมร่วงมาได้แบบชิลๆ ก็จริง แต่อีกเรื่องที่ทำให้แอ้มเสียความมั่นใจคือ เมื่อคิ้ว มงกุฎบนใบหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครต่อใครมักชื่นชมว่า เป็นส่วนที่สวยที่สุดบนใบหน้าของเธอค่อยๆ ร่วง

“ตอนให้คีโม 4 เข็มแรก คิ้วเรายังอยู่นะ แต่พอหลังจากนั้นร่วงเลย (หัวเราะ) ทุกวันนี้ไม่ว่าเราจะมีแรงหรือไม่มีแรง ถ้าจะออกจากบ้านต้องเผื่อแรงไว้แต่งหน้า เพราะมันเหมือนเป็นกำลังใจให้เราว่าเรายังโอเค ดูไม่เหมือนคนป่วย ยังใช้ชีวิตได้ปกติ อย่างที่บอกว่าเราเป็นคนชอบเรื่องเครื่องสำอาง ชอบทดลองของใหม่ๆ ยังคิดเล่นๆ ว่าถ้าสมมติรักษาหาย แล้วยังไม่รู้วงการทีวีเมืองไทยตอนนั้นจะไปทิศทางไหน อาจจะไปทำธุรกิจสกินแคร์ เพราะเราสนใจและศึกษาจริงๆ ตั้งแต่ก่อนรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เพราะมีไอเดียว่าจะทำสกินแคร์ของตัวเอง โดยใช้ความรู้ที่เรามีมาคิดสูตรเอง ทดลองใช้เอง ซึ่งในอนาคตถ้ารักษาตัวหายดีแล้วเราอาจจะเปลี่ยนสายอาชีพไปสู่การทำธุรกิจที่ไม่ได้มีเป้าหมายสูงมาก แค่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เป็นแพสชันอีกอย่างของชีวิต”

คนรอบตัว คือขุมพลังแห่งกำลังใจ
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังใบหน้าเปื้อนยิ้มที่ฉายให้เห็นถึงแววตาที่ยังมีความหวังของแอ้มวันนี้ เธอย้ำว่าพลังใจสำคัญมาจากครอบครัวและเพื่อนๆ ที่อยู่เคียงข้าง

“ทุกวันนี้ นอกจากครอบครัวก็ยังมีเพื่อนฝูงที่ให้กำลังใจ ทั้งเพื่อนที่ปัจจุบันและเพื่อนเก่าที่เจอกันมา 25 ปี จำได้ว่าตอนที่แอ้มผ่าตัดแล้วมีเพื่อนคนหนึ่งอินบ็อกซ์มาถามไถ่อาการ ตอนแรกเราก็ไม่ได้เอะใจว่าเขาเป็นเพื่อนเก่า ก็ตอบข้อความไปตามปกติ จนเขาอินบ็อกซ์มาถามอีกว่า จำเขาได้มั้ย แล้วก็ส่งรูปเก่าๆ มาให้ดู ถึงจำได้ ซึ่งความตลกคือ ตอนที่รำลึกความหลัง เขาบอกเขาไม่ได้เป็นแค่เพื่อนเก่าสมัยแอ้มเรียนมหาวิทยาลัยที่ไทยอยู่ 1 เทอมก่อนไปเรียนต่อที่อเมริกาเท่านั้น แต่เคยเป็นแฟนเก่า (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้เขาก็แต่งงานมีครอบครัวไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่า นั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ได้กลับมารวมตัวกับก๊วนเพื่อนที่ไม่เจอกันมา 25 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเขาเห็นเราในสื่อมาตลอด”

นอกจากเพื่อนจะเข้ามาสร้างสีสัน และรอยยิ้มให้ชีวิตเพื่อทุเลาความเจ็บปวดระหว่างการรักษา เพื่อนบางกลุ่มยังชักนำให้แอ้มนำธรรมะมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ด้วยการไปปฏิบัติธรรม

“แอ้มชอบคำพูดของเพื่อนมัธยมที่บอกว่า การที่เรารู้ทันการเจ็บปวดมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี อย่างน้อยถ้าเรามีสติเราจะไม่ฟุ้งซ่านไปกับความเจ็บปวดนั้น จากที่ไม่เคยเข้าหาพระธรรม แอ้มได้มีโอกาสไปลองปฏิบัติธรรมที่เสถียรธรรมสถาน ได้มีโอกาสพบแม่ชีศันสนีย์ ท่านยังแซวว่าถ้ามานั่งหลับตาอย่างเดียว กลับไปนั่งที่บ้าน แต่ถ้าตั้งใจและพยายามทำตามจะได้ผลดี ท่านยังว่าต้องขอบคุณมะเร็งนะ ถ้ามันไม่หาเรา เราจะมานั่งตรงนี้มั้ย มะเร็งทำให้เราวิ่งเข้าหาธรรมะ ความสงบ ความนิ่ง ความสุขที่แท้จริง ไม่ฟุ้งไปตามสถานการณ์ภายนอกที่เราเจอ ถ้าเราฝึกจิตเราได้มากพอ จะรู้ว่าความเจ็บปวดไม่จีรัง มีจุดที่สิ้นสุด เราก็จะสบายใจมากขึ้น เหมือนไปคีโม เราเจ็บปวด เราก็บอกตัวเองว่าเดี๋ยวก็หาย เช่นเดียวกับเวลาที่มีความสุข ต้องรู้ว่าความสุขก็มีวันสิ้นสุด”

ได้เวลาย้อนกลับมาดูแลตัวเอง
มาถึงวันนี้ แอ้มยอมรับว่าที่ผ่านมาเธอละเลยตัวเอง และทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้าชีวิตมีโอกาสได้เริ่มใหม่อีกครั้ง เธอจะไม่กลับไปทำตัวแบบสุขนิยมเหมือนเดิม แต่จะหันมาออกกำลังกายให้มากขึ้น

“ช่วงรักษาตัว โชคดีคุณหมอหัวสมัยใหม่ คุณหมอไม่ห้ามอะไรเลย แม้แต่แอลกอฮอล์ ขอแค่อย่ากินของดิบ ของดอง ของหมักไม่ควร เหตุผลที่คุณหมอให้ตามใจปาก เพราะคุณหมอบอกว่าคนไข้ที่เป็นมะเร็งก็ทรมานมากพออยู่แล้ว การที่ไปจำกัดมีเงื่อนไขเยอะแล้วคนไข้จะมีกำลังใจสู้โรคได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าคิดว่าอะไรที่กินเข้าไปแล้วไม่ทำร้ายร่างกาย กินเลย ขอแค่กินให้ครบหมวดหมู่ก็พอ”

ในวันที่ชีวิตอยู่ท่ามกลางสายฝนและคลื่นลม ซึ่งกำลังรอคอยวันฟ้าใส แอ้มยังรู้สึกขอบคุณ “มะเร็ง” ที่เปลี่ยนมุมมองการใช้ชีวิตของเธอให้เป็นคนใหม่

“ขอบคุณมะเร็งที่ทำให้เราเห็นความรักที่อยู่รอบตัวชัดขึ้น จริงๆ มันอยู่มาตลอด เพียงแต่ไม่ได้ใช้เวลาหรือเปิดโอกาสให้ตัวเองได้มองเห็นแบบชัด ความรักของพ่อแม่ที่ใหญ่หลวง เรารู้อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกเจ็บร้อย คุณพ่อคุณแม่เจ็บแสนเจ็บล้าน คุณพ่อคุณแม่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้แอ้มบอกตัวเองว่า ต้องหายเพื่อให้ท่านหายทุกข์ ขอบคุณมะเร็งที่นำพามิตรภาพมากมายเข้ามาในชีวิต ถ้าเราไม่ป่วย เพื่อนก็คงไม่ติดต่อมาหาเรา ที่สำคัญ มะเร็งทำให้เราได้กลับมาดูแลตัวเอง หลังจากทุ่มเทกับการหาเงินและการสร้างชื่อเสียง ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเครียดจากการทำงานที่มีการแข่งขันสูง ได้เปลี่ยนมุมมองในการใช้ชีวิต ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องแข่งกับคนอื่น แต่แค่แข่งกับตัวเองและทำในสิ่งที่มีความสุข

จากนี้เป้าหมายในชีวิตของเราไม่ต้องสูงมากก็ได้ แค่อยู่ในจุดที่เราพอใจก็พอแล้ว เพราะที่สุดแล้วในยามที่นอนป่วย ต่อให้มีเงินในบัญชีธนาคารเท่าไหร่ก็ไม่มีประโยชน์ การป่วยครั้งนี้ทำให้เราคิดว่าสิ่งที่เราเคยไขว่คว้าในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา อาจเหมาะกับวัยหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว แต่พอมาถึงวัยหนึ่ง ความพอเพียงคือสุขที่สุด หลังจากผ่านวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดที่เราไม่เคยคิดว่าต้องเผชิญมาได้ เราเชื่อว่าจากนี้ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว” แอ้มทิ้งท้าย

ขอขอบคุณ Fabb academy of coffee เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ


กำลังโหลดความคิดเห็น