สร้างกระแสกลายเป็นเดสติเนชันสำหรับคนรักขนมหวานได้อย่างรวดเร็ว สำหรับ แกรม แพนเค้ก
(Gram Pancakes) คาเฟ่สีเขียวที่มีต้นกำเนิดในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เบื้องหลังความสำเร็จนี้ต้องยกให้เป็นผลงานของ ตุ่น-กองทอง ใบหยก ผู้ช่วยประธานกรรมการกลุ่มใบหยก ผู้นำเข้าแบรนด์ แกรม ประเทศไทย หนึ่งในทีมผู้บริหารที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการนำความอร่อยของแพนเค้กแบบออริจินัลมาเสิร์ฟถึงไทย
“ครอบครัวเราชอบไปญี่ปุ่นอยู่แล้ว ไปบ่อยมาก ไปทีไรก็ต้องไปตระเวนหาคาเฟ่ และร้านขนมที่กำลังอินเทรนด์ แกรมก็เป็นร้านหนึ่งที่เราไปแล้วติดใจ ไม่แปลกใจเลยทำไมถึงมีคิวยาวตลอดเวลา ซึ่งนอกจากแกรมจะเป็นร้านโปรดของตุ่นแล้ว พี่เบียร์ (ปิยะเลิศ ใบหยก รองประธานกลุ่มใบหยก ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำปรากฏการณ์ความอร่อยของพาโบล (Pablo) ชีสทาร์ตจากโอซากาเข้ามายังประเทศไทย) ก็ไปกินแพนเค้กที่นี่แล้วติดใจเหมือนกัน เราเลยเห็นพ้องว่าน่าจะนำแบรนด์นี้เข้ามาในไทย”
หลังจากตกลงปลงใจว่าจะนำเข้าแกรม ตุ่นบอกเล่าถึงเส้นทางธุรกิจที่ไม่หอมหวานเหมือนชื่ออย่างออกรสว่า “เราใช้เวลาถึง 2 ปีเต็มค่ะ เพราะแกรมเป็นร้านที่ไม่เคยมีสาขานอกญี่ปุ่นมาก่อน ตอนที่เราติดต่อไปเขายังไม่ได้เปิดสาขาที่ฮ่องกงด้วยซ้ำ แต่ในญี่ปุ่นถือว่าเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดมาก มีถึง 56 สาขาทั่วญี่ปุ่น ด้วยความที่เขาไม่เคยมีสาขาต่างประเทศ ทำให้พอเราติดต่อไปเขาต้องคิดเยอะ กังวลในเรื่องการควบคุมคุณภาพ การจัดหาวัตถุดิบเพื่อคงรสชาติแบบออริจินัลไว้ เพราะมีวัตถุดิบหลายอย่างที่ถึงจะเหมือนกันแต่พอนำมาใช้จริงรสชาติของบ้านเขากับบ้านเรากลับต่างกัน เพราะฉะนั้น เราต้องทำงานร่วมกันเยอะเพื่อหาจุดที่ลงตัว อย่างตอนนี้วัตถุดิบส่วนใหญ่อย่าง แป้ง ไข่ เรานำเข้า แต่น้ำตาลนำเข้าไม่ได้ เราก็อาศัยปรับสูตร เนยก็เลือกแบบที่มาตรฐานใกล้เคียง เตาก็ใช้ตามสเปกที่เขาระบุ”
อย่างไรก็ตาม ถึงจะยาก แต่ในมุมผู้บริหารสาวไฟแรง เธอไม่กังวลสักนิดว่าดีลนี้จะปิดไม่สำเร็จ อาจเพราะเธอผ่านประสบการณ์การทำงานในสายอาหารและโรงแรม รวมทั้งมีธุรกิจคาเฟ่เล็กของตัวเองเป็นโรงเรียนฝึกความอดทน และความพยายามเพื่อไปให้ถึงจุดหมายมาก่อนหน้าแล้ว
“ตั้งแต่เด็กตุ่นก็โตมากับธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ติดตามคุณแม่ (กิ่งทอง ใบหยก) ไปทำงานตลอด พอเริ่มโตก็เข้ามาช่วยงานคุณแม่ เลยทำให้คิดอยู่เสมอว่าวันหนึ่งเมื่อเรียนจบก็คงต้องกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว ตอนแรกตุ่นตั้งใจเรียนต่อสายบริหาร แต่เพราะไม่ถนัดตัวเลขขนาดจะเรียนบัญชีหรือเศรษฐศาสตร์ เลยเบนเข็มมาเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารด้วยแต่จะเน้นเชิงทฤษฎีมากกว่า”
หลังจากเรียนจบ ตุ่นเลือกที่จะมาหาประสบการณ์ด้วยการเป็นผู้ช่วยคุณแม่ โฟกัสในส่วนร้านอาหารที่ใบหยก คิดโปรโมชันพิเศษในเทศกาลต่างๆ พร้อมกับสานฝันที่อยากจะสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง ด้วยการเปิดร้านขายข้าวแกงที่สีลม
“ตั้งแต่เด็ก คุณแม่จะเลี้ยงตุ่นให้ลองถูกลองผิดด้วยตัวเอง จะไม่มานั่งสอน อย่างตอนทำงานก็ให้ตามไปเรียนรู้จากสิ่งที่แม่ทำ พอตอนที่ตุ่นจะทำร้านอาหารคุณแม่ก็ให้ลุยเอง โดยคุณแม่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ตุ่นก็ไปเช่าตึกแถวตรงสีลมเปิดร้าน ถามว่าทำไมเป็นร้านข้าวแกง ตุ่นคิดว่าสีลมเป็นย่านออฟฟิศ น่าจะเปิดเป็นร้านอาหารแบบข้าวแกง ก็เลยเปิด “ร้านพริกน้ำปลา” วันหนึ่งมีอาหารให้เลือก 30 อย่าง ถือว่าเป็นธุรกิจที่หนัก เหนื่อยแต่สนุก และรายได้ดีมากๆ เพราะเป็นร้านที่กินง่ายๆ มีลูกค้าเข้าตลอด ตอนนั้นเพื่อให้ธุรกิจไปได้ดีตุ่นก็ไปลุยเองหน้างาน นั่งคิดเมนูอาหารว่าจะมีอะไรดี ไปนั่งเก็บเงิน เพื่อที่จะได้เรียนรู้ปัญหาจากหน้างานจริงๆ”
หลังจากเปิดร้านขายข้าวแกงได้ 3 ปี ตุ่นก็ตัดสินใจแปลงโฉมธุรกิจมาสู่ร้านกาแฟ เพราะภาระหน้าที่การงานเพิ่มมากขึ้นจนเริ่มดูแลร้านไม่ไหว
“ร้านกาแฟรายได้สู้ร้านข้าวแกงไม่ได้นะคะ (หัวเราะ) แต่เหนื่อยน้อยกว่า ใช้คนน้อยกว่า การบริหารจัดการหลายๆ อย่างง่ายกว่า ซึ่งตอนที่เราคิดจะเปลี่ยนจากพริกน้ำปลามาเป็นคาเฟ่เล็กๆ ชื่อว่า TKT'S ROW HOUSE เป็นจังหวะเดียวกับที่เริ่มคุยกับทางแกรม จนกระทั่งได้นำเข้ามาในที่สุด”
เวลานี้ถึงจะต้องรับถึง 3 บทบาทที่หนักหน่วง แต่ผู้บริหารร่างเล็กแต่พลังเกินร้อยบอกว่า “จริงๆ ถ้าทำไหวก็ยังอยากจะทำทั้งร้านกาแฟ และร้านข้าวแกงนะคะ แต่อย่างที่บอกว่า พอเราต้องเข้ามาทำงานในส่วนอื่นมากขึ้น ก็จำเป็นต้องลดบางบทบาทลง อย่างทุกวันนี้ตุ่นจะดูแกรมเป็นหลัก ถ้ามีเวลาจะพยายามเข้ามาที่ร้านทุกวัน ส่วนคาฟ่ตอนนี้อยู่ตัวแล้วพอปล่อยได้ ส่วนงานที่โรงเรมจะเป็นช่วงๆ อย่างช่วงเทศกาล โอกาสพิเศษจะหนักหน่อย”
สำหรับเป้าหมายต่อไปของผู้บริหารรุ่นใหม่ ตุ่นยังย้ำหนักแน่นว่า จะขอปลุกปั้นแบรนด์แกรมให้แข็งแกร่ง ขยายสาขาให้ได้ 5 แห่งภายในปีหน้า และอาจจะนำเข้าแบรนด์ขนมจากญี่ปุ่นมาเพิ่ม
“ธุรกิจร้านขนมบ้านเรามีแบรนด์ใหม่ๆ เยอะก็จริง แต่เราไม่ได้มองในจุดนั้น เรามองถึงจุดแข็งของแบรนด์ที่เราเลือกเข้ามามากกว่า อย่างตอนที่คิดว่าจะนำเข้าแกรมเรามองว่าเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจ มีโอกาสพัฒนาไปได้ไกล ซึ่งหลังจากเปิดตัวมาก็ต้องยอมรับว่ากระแสดีเกินคาด แฮปปี้มากๆ ตอนแรกคิดว่าวันธรรมดาอาจจะลูกค้าไม่เยอะ แต่ปรากฏว่าลูกค้าก็ยังเยอะ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าวันไหนขายดีที่สุด ตอบไม่ได้ เพราะคนเยอะทุกวัน (หัวเราะ)”
ส่วนที่หลายคนจับตาว่าโลเกชันของร้านแกรมนั้นปักหมุดอยู่ตรงข้ามกับพาโบล ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเดียวกันนั้น ตุ่นชี้ชัดว่า “เป็นความบังเอิญที่มาลงตัวตรงนี้ แต่ไม่มีปัญหาค่ะ เพราะสิ่งที่พี่เบียร์แนะนำตลอดคือ ถึงเราจะเจ้าของเดียวกัน แต่ให้มองว่าเราก็เหมือนแบรนด์คู่แข่ง อย่างวันที่แกรมเปิดวันแรก วันถัดมาพาโบลก็จัดโปรโมชันหนึ่งแถมหนึ่งชนเลย เพราะพี่เบียร์สอนให้เรามองว่า ถ้าเราเห็นว่าฝั่งตรงข้ามมีร้านใหม่มาเปิดเราจะทำอย่างไร”
นอกจากนี้ เพื่อคงความนิยมของแบรนด์ให้ไม่ใช่แค่กระแสเพียงช่วงหนึ่ง ตุ่นทิ้งท้ายว่า จากนี้จะยังมีการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเมนูพิเศษตามฤดูกาลและเมนูที่คิดร่วมกับทางแกรม
“อย่างเมนูแพนเค้กทูโก เราก็มีแค่ที่ไทยนะคะ ทางแกรมคิดสูตรให้ แต่พอทางเขาเห็นว่าเราขายดีมาก ก็เริ่มมีไอเดียว่าจะเอากลับไปขายที่ญี่ปุ่นด้วย แต่อย่างที่บอก ตุ่นเชื่อว่าเทรนด์สมัยนี้มาไวไปไว เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้คือ ดแข็งของแบรนด์นั้นๆ อย่างแกรม เราเชื่อมั่นในรสชาติแบบออริจินัลจากโอซากาแท้ๆ ที่นำมาเสิร์ฟถึงเมืองไทยแบบไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น”
หลังจากพาเพลินกับโลกของการทำงาน และธุรกิจมาพอหอมปากหอมคอ ผู้บริหารสาวเก่งทิ้งท้ายถึงไลฟ์สไตล์วันว่างที่ทำให้หายสงสัยเลยว่าทำไมถึงดูมีความสุขกับงานที่ทำ “ตุ่นชอบเดินทางค่ะ ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ถ้ามีเวลาต้องเดินทาง อย่างญี่ปุ่นก็ไปบ่อย ไปกี่ทีต้องไปตามหาร้านอาหาร หรือคาเฟ่ที่ฮิตๆ เพื่ออัปเดตเทรนด์อยู่ตลอด เพราะคาเฟ่ญี่ปุ่นเกิดใหม่ไวมาก ไปอย่างไรก็ไม่หมด (หัวเราะ)”