ตระเวนเช็คอินมาทั่ว ทั้งประเทศยอดฮิตในยุโรปและเอเชีย แต่สำหรับ “ภูฏาน” ดินแดนในหุบเขาอันแสนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยความงามของธรรมชาติ รุ่มรวยด้วยวัฒนธรรม กลับเป็นจุดหมายปลายทางที่ “อ้อมแอ้ม-ศรัณย์ภัค เพ็ญชาติ” เก็บไว้เป็นบักเก็ตลิสต์มาตลอด จนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีโอกาสไปค้นหาความงามในดินแดนแห่งหุบเขา ที่ทำให้เชื่อแล้วว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น”
“ทริปนี้ไปกับคุณพ่อคุณแม่แล้วก็เพื่อนสาวอีกคนค่ะ ไปกันมา 5 วัน จริงๆ ภูฏานเป็นประเทศที่อยากไปมานานแล้ว โดยเฉพาะ คุณแม่อยากไปมาก จริงๆ ตั้งใจไปตั้งแต่สงกรานต์ แต่คิวไม่ลงตัว ประกอบกับไกด์ท้องถิ่นก็แนะนำว่า ให้ไปช่วงซัมเมอร์ซึ่งก็คือช่วงนี้จะดีกว่า เลยจัดเป็นไพรเวตทริปไปกัน 4 คนค่ะ”
ยังไม่ทันได้ถามต่อว่า ทำไมถึงอยากไปภูฏาน? อ้อมแอ้มก็เฉลยความในใจที่มีต่อดินแดนแห่งนี้อย่างออกรสว่า “ภูฏาณคือประเทศที่คิดว่าครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไป เอาจริงๆ เราก็ไม่ได้รู้จักประเทศนี้มากมาย รู้จักครั้งแรกตอนที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน เสด็จมาทรงร่วมงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ถึงได้รู้ว่ามีประเทศที่ชื่อว่าภูฏาณอยู่ในทวีปเอเชียด้วย จากนั้นก็ได้มีโอกาสติดตามเรื่องราวของภูฏาณผ่านช่องทางต่างๆ มาตลอด จนเรียนจบจากอังกฤษ ก็เริ่มสนใจท่องเที่ยวประเทศโซนเอเชียมากขึ้น อย่าง พม่า ลาว ไปมาแล้วก็ชอบ ครั้งนี้เลยอยากมาเปิดประสบการณ์ที่ภูฏานบ้าง”
สำหรับการเดินทางทริปนี้ อ้อมแอ้มยอมรับว่าทรหดไม่เบา ตั้งแต่เริ่มออกเดินทาง ซึ่งเธอเลือกเดินทางด้วยสายการบินภูฏานแอร์ ไปยังสนามบินพาโร ซึ่งเป็นสนามบินเพียงแห่งเดียวของประเทศ
“ภูฏานสมกับเป็นดินแดนแห่งหุบเขาจริงๆ ตอนที่เครื่องจะแลนดิ้งจะเห็นเลยว่าทิวทัศน์รอบตัวมีแต่ภูเขา ต้นไม่เขียวขจี จุดหมายแรกของเราคือ เมืองพาโร ซึ่งเป็นเมืองที่ว่ากันว่ามีที่ราบมากที่สุดแล้ว วันแรกที่เดินทางมาถึงเราได้ไปเยือนสถานที่ยอดฮิตของเมือง อย่าง พาโร รินปุงซอง หน้าตาเหมือนป้อมปราการที่มีวัด และสถานที่ราชการอยู่บริเวณเดียวกัน มีมุมสวยๆ ให้เก็บภาพความประทับใจเยอะเลย
พอตกกลางคืน คณะเราก็ไปเดินชมบรรยากาศของเมือง มีตลาดนัดเล็กๆ ขายของท้องถิ่น เพื่อให้ดูกลมกลืนเหมือนเป็นคนท้องถิ่น คุณแม่ อ้อมแอ้มและเพื่อน เลยจัดเต็มซื้อชุดกีร่า (Kira) ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของผู้หญิง มาเตรียมพร้อมสำหรับจุดหมายในวันพรุ่งนี้”
เป้าหมายถัดไปที่จะไปเยือนคือ การเดินทางเข้ากรุงทิมพู “คืนนี้เราย้ายโรงแรมไปนอนที่เมืองหลวง จากพาโรกว่าจะไปถึงก็หลายชั่วโมงอยู่ เพราะถนนบ้านเขาช่วงที่เป็นจุดขึ้นเขา ทางก็ยังไม่ดี
“ระหว่างทางก่อนจะไปถึง ไกด์ให้เราแวะที่สะพานแห่งหนึ่งที่ชาวภูฏานนิยมนำธงหลากสีสันมาประดับ เพราะเชื่อว่าเมื่อไหร่ที่ลมพัดมาแล้วผืนธงปลิวไสว จะนำความโชคดีมาสู่ผู้นั้น หลังจากนั้นพอไปถึงทิมพู เราได้ไปทิมพู ซอง ซึ่งเป็นที่ทรงงานของกษัตริย์จิกมี วันนั้นนอกจากจะได้ชมการซ้อมการแสดงของชาวเมืองแล้ว คณะของเรายังโชคดีมากๆ ได้มีโอกาสถวายความเคารพสมเด็จพระสังฆราชของภูฏาน เพราะตอนที่จะกลับมีเสียงเพลงดังขึ้น แล้วไกด์ก็บอกว่า ถ้าได้ยินเสียงเพลงแบบนี้หมายความว่า อีกสักครู่พระสังฆราชจะเสด็จออกมา คณะเราก็เลยอยู่รอ”
มาถึงอีกหนึ่งไฮไลต์ของทริปที่ไม่มาเหมือนมาไม่ถึง นั่นคือ การเดินทางไปไทเกอร์ เนสท์ เพื่อพบบททดสอบแห่งความแข็งแกร่งของร่างกายและจิตใจ
“เตรียมพร้อมมาตั้งแต่อยู่เมืองไทยมาประมาณหนึ่งแล้วค่ะว่า ต้องเจออะไรบ้าง (หัวเราะ) เราเดินทางมาถึงจุดสตาร์ทที่จะต้องขี่ม้าขึ้นเขาตอน 9โมงครึ่ง กว่าจะกลับมาจุดนี้อีกทีก็ปาเข้าไป4 โมงครึ่ง เพราะการขึ้นไป เราขี่ม้าไปได้แค่ครึ่งทางจะมีจุดแวะพัก แล้วเดินต่ออีกประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ขี่ม้าครั้งแรกถามว่ากลัวมั้ย? กลัวค่ะ! ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เขาก็เตือนว่า ถ้าไม่อยากตกม้า ขึ้นม้าแล้วห้ามกรี๊ด แต่ด้วยความที่เราเป็นคนวีดว้าย (หัวเราะ) ก็ต้องอาศัยมีสติ เวลาม้าเดินผ่านไปตรงเหว ก็พยายามไม่มองลงไป ไม่มัวแต่ถ่ายรูป ยกเว้นเวลาม้าแวะกินน้ำ ซึ่งเราก็หาจังหวะตอนนั้น”
หลังจากม้าพามาส่งได้ครึ่งทาง ถึงเวลาเข้าสู่บททดสอบความแข็งแกร่งของกำลังขา
“ไกลแค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าเหนื่อยค่ะ (หัวเราะ) แต่ก็สู้นะคะ คิดว่ามาถึงที่นี่แล้วก็ต้องขึ้นไปให้ได้ พอขึ้นไปถึงหายเหนื่อยเลยค่ะ วิวตรงหน้าสวยมาก เข้าใจคำว่าทิวเขาที่ทอดไปไกลสุดลูกหูลูกตาจริงๆ นอกจากความงามของธรรมชาติแล้ว ด้านบนยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้สักการะ รวมทั้งพระแก้วมรกตครบทั้ง 3 ฤดูด้วย เชื่อมั้ยว่าขึ้นมาแล้วอ้อมแอ้มใช้เวลาอยู่ตรงนี้ได้เป็นชั่วโมงเลยกว่าจะกลับลงไป”
ประสบการณ์ 5 วันในภูฏาน อ้อมแอ้มบอกว่าเป็นอีกหนึ่งทริปแห่งความประทับใจ ที่นอกจากจะดื่มด่ำกับวิถีของวัฒนธรรมที่แตกต่างจากบ้านเราแล้ว ยังได้สัมผัสกับความมีน้ำใจของชาวภูฏาน ได้เปิดโลกทัศน์
“อีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ถ้ามีโอกาสอ้อมแอ้มอยากกลับมาที่นี่อีก กลับมาซึมซับกับบรรยากาศเดิมๆ และการเปลี่ยนแปลงของดินแดนแห่งนี้”