สาวน้อยน้องเล็กแห่งบ้านอิสสระ “ปลาเข็ม-กรัชเพชร อิสสระ” ทายาทตระกูลอสังหาริมทรัพย์ระดับต้นของเมืองไทย ที่นอกจากจะช่วยดูแลกิจการของครอบครัวแล้ว เธอเลือกเดินตามความฝันของตัวเองบนเส้นทางสายแฟชั่น เปิดแบรนด์เสื้อสุดชิก “KEMISSARA” ที่เธอเป็นทั้งเจ้าของและดีไซเนอร์เอง จึงไม่น่าแปลกใจที่สาวอาร์ตอย่างเธอเลือกท่องเที่ยวในสถานที่แสนเก๋ แปลกแหวกแนวไม่เหมือนใคร อย่างทวีปแอฟริกา
“เข็มชอบแอฟริกามากค่ะ เคยไปมาหลายครั้ง มันมีเสน่ห์ที่แปลก แบบไม่มีในที่อื่น มีประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้ ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม อารยธรรม ทุกครั้งที่ได้ไปเหมือนกับได้เปิดโลก ไปสัมผัสดินแดนใหม่ๆ ไปเห็นว่าเขาอยู่กันแบบไหน อาหารการกิน วิถีชีวิตทุกอย่างมันดูแปลกไปหมด และธรรมชาติที่นั่นทุกอย่างมันดูยิ่งใหญ่ อย่างสัตว์ป่าบางอย่างคือต้องไปดูที่นั่นเท่านั้น และใกล้จะสูญพันธ์แล้ว ถ้าไม่ไปตอนนี้ก็อาจไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วค่ะ”
เข็มเล่าให้ฟังถึงทริปท่องเที่ยวแอฟริกาที่เธอได้ไปตระเวนมาในหลายประเทศ “ครั้งแรกไปตอนเด็กค่ะ อายุประมาณ 9 ขวบ ตอนนั้นคุณยายพาไปทั้งครอบครัวใหญ่ๆ ไปเคนยา เที่ยวซาฟารี ก็รู้สึกชอบมาตั้งแต่นั้น แต่ก็ไม่ได้มีโอกาสไปอีก จนมาช่วงตอนโตนี่ถึงได้กลับไปอีกหลายครั้ง โดยเริ่มจากหลังพี่วาฬ (ปลาวาฬ-วรสิทธิ์ อิสสระ) แต่งงาน ก็ได้จัดทริปไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวพร้อมพี่สะใภ้ โดยครั้งนี้ไปประเทศบอตสวานา ซึ่งถือว่าค่อนข้างเจริญ เพราะมีฝรั่งไปลงทุนกันเยอะ พักในแคมป์กลางป่า แต่เป็นแคมป์แบบทันสมัย ติดแอร์ หรูหรา มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบ และที่นี่เขาเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะพื้นที่กว้างห่างไกลกัน และไม่ค่อยมีถนน ก็จะต้องนั่งเครื่องบินเล็กไปยังแคมป์ต่างๆ เพื่อเที่ยวในแต่ละจุด”
“ถัดมาเมื่อ 3 ปีที่แล้วค่ะ ไปประเทศยูกันดา กับรวันดา อันนี้เป็นทริปไปตระเวนดูกอริลลา โดยเราต้องไปตามอุทยานต่างๆ ที่แต่ละแห่งจะมีกอริลลาต่างครอบครัวกัน บางทีก็มีลูกเล็ก บางทีก็เป็นครอบครัวใหญ่ ซึ่งเราต้องทำการจองไปล่วงหน้า เพราะเขามีโควตาให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมได้วันละแค่ 10 คน แต่ละวันก็ต้องตื่นเช้าไปจับฉลากกันว่ากลุ่มเราจะได้ไปดูครอบครัวไหน แล้วก็ต้องเดินป่ากันหลายกิโลฯ แม้จะเหนื่อยแต่คุ้มค่ามาก เพราะเราได้ไปเห็นเขาใกล้ๆ คือถ้าตามกฎแล้วต้องไม่เข้าไปใกล้กว่า 7 เมตร แต่มีครั้งหนึ่งได้เห็นใกล้มากเพราะเขาเดินผ่านมาเฉียดเรา ก็ตื่นเต้นและประทับใจมาก”
เมื่อได้ยินแบบนี้หลายคนอาจจะคิดว่านี่เป็นการไปทำลายธรรมชาติหรือแทรกแซงวิถีชีวิตสัตว์ป่าหรือเปล่า แต่สาวเข็มอธิบายว่า “คือที่จริงนี่นับว่าเป็นโปรแกรมช่วยเหลือสัตว์ป่านะคะ เพราะแต่ก่อนที่นี่เขาจะมีพวกต่างชาติมาล่ากอริลลา ชาวบ้านก็จะเป็นไกด์พาไปล่า หารายได้เลี้ยงครอบครัว พอมาตอนหลังมีนักอนุรักษ์เข้ามารณรงค์แล้วก็ทำเป็นโปรแกรมท่องเที่ยวแทน ซึ่งการที่เราจะเข้าไปเที่ยวได้มันต้องเสียค่าใบอนุญาต ค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นเงินไม่น้อย ซึ่งเงินพวกนี้เขาก็จะกลับไปสู่ชุมชน ที่ดินทุกแปลงที่เราเดินผ่าน ชาวบ้านเจ้าของที่จะได้รับส่วนแบ่งด้วย ทำให้คนที่นั่นช่วยกันหันมาอนุรักษ์ ไม่ไปเป็นไกด์ล่าเหมือนแต่ก่อน ทำให้กอริลลาได้อยู่ในป่าแบบสบายๆ ไม่ต้องกลัวอันตราย มันเป็นการช่วยเหลือแบบยั่งยืนค่ะ”
สำหรับทริปล่าสุด เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วเข็มกับครอบครัวได้เดินทางไปเอธิโอเปีย “ทริปนี้ไม่ได้ไปดูสัตว์แล้ว แต่จะออกแนววัฒนธรรมค่ะ ไปดูสถาปัตยกรรม แบบโบสถ์โบราณ มีที่หนึ่งเขาขุดเขาเป็นแท่นไม้กางเขนสูงกว่า 12 เมตรเลย แล้วไปดูอารยธรรมชนเผ่าต่างๆ ซึ่งเขามีเป็นร้อยเป็นพันเผ่าเลยค่ะ แล้วมีที่ยังไม่ค้นพบอีกนะ
ไปดูความเป็นอยู่ของแต่ละเผ่า แต่ละหมู่บ้านก็จะการแต่งตัว อาหารการกิน พิธีกรรมแตกต่างกันไป สนุกมาก แต่ก็อันตรายไม่น้อย เพราะบางแห่งเขายังใช้ชีวิตแบบคนป่าอยู่เลย คนเขาไม่คุ้นกับนักท่องเที่ยว แถมยังสะพายปืนกันเป็นเรื่องปกติ อย่างบางทีเขาเห็นเราถ่ายรูป นี่มียกปืนขู่เลยนะคะ ปาหินใส่ก็มี เพราะเขาเชื่อว่ากล้องดูดวิญญาณ โดนสั่งให้ลบรูป อะไรสารพัด
บางทีก็เห็นเขาดักปล้นรถน้ำมันกันกลางถนนก็มี คือไปแบบนี้ห้ามไปกันเอง หรือไปกันแบบคนสองคน เราต้องมีไกด์ดูแล แล้วก็ไปเป็นขบวนเลย จะปลอดภัยมากขึ้น แล้วก็ระมัดระวังตัวเองอยู่ตลอด ไปเที่ยวนี้ก็ได้ประสบการณ์อะไรกลับมาเยอะ ทั้งได้ไปเห็นถึงความหลากหลายของผู้คน นอกจากเรื่องความเป็นอยู่แล้ว ทัศนคติ วิธีคิด ก็มีอะไรให้เราเรียนรู้ ไปบางแห่งเราดูว่าเขาจนมาก คิดแทนเขาเองว่าเขาลำบาก แต่ที่จริงเขามีความสุข เป็นวิถีชีวิตเขา มันทำให้เราฉุกคิดว่า อย่าเอาความคิดเราไปตัดสิน”
สาวเข็มได้มีโอกาสไปดูพิธีกรรมประกาศความเป็นชายของชนเผ่า ซึ่งเด็กหนุ่มที่กำลังก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่จะต้องกระโดดข้ามวัว เหล่าผู้หญิงในครอบครัวจะถูกเฆี่ยน ฟังแบบนี้หลายคนอาจจะรู้สึกขัดแย้งในใจ แต่สาวเข็มบอกว่า “มันเป็นวัฒนธรรมเขา เราเป็นนักท่องเที่ยว เราไปเพื่อรับรู้ เรียนรู้ ไม่ใช่ตัดสิน ซึ่งเขาเองก็ดูมีความสุขมาก มันเป็นความภาคภูมิใจ เราซึ่งเป็นคนนอกอย่าเอาความคิดเราไปตัดสินว่า อะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ”
นอกจากประสบการณ์ชีวิตแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ดีไซเนอร์สาวอย่างเธอไม่ลืมเก็บเกี่ยวกลับมา ก็คือเรื่องของแฟชั่นและเสื้อผ้า “ขอบอกว่าละลานตามากค่ะ ยิ่งได้ไปเห็นหลายๆ เผ่า แต่ละเผ่าเขาก็จะมีคาแรกเตอร์ต่างกันไป ทั้งเรื่องของการใช้สีสันที่จัดจ้าน การใช้เครื่องหนัง สร้อย ลูกปัด หรือการร้อยเครื่องประดับ เขาไปในชุดหนัง เขาก็ทำได้แบบน่าสนใจ เรียกได้ว่าอะเมซิ่งไปทุกสิ่งเลยค่ะ”