xs
xsm
sm
md
lg

สดุดีจอมราชา ‘องค์อัครศาสนูปถัมภก’ พระมหากรุณาธิคุณเกริกฟ้าก้องแผ่นดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกมาตั้งแต่เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนาด้วยพระองค์เองมาโดยตลอด ทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธมามกะ เป็นพระราชพิธีที่ประกาศว่าเป็นผู้เข้าถึงพระพุทธศาสนา

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อย่าง วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา Celeb Online ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเกริกฟ้าก้องแผ่นดิน ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อพระบวรพุทธศาสนา ในฐานะองค์อัครศาสนูปถัมภก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนามาโดยตลอด เมื่อครั้งที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ และจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปีพุทธศักราช 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดพระราชพิธีแสดงองค์เป็นพุทธมามกะ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

จากนั้นในปี พ.ศ. 2521 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาจึงเสด็จออกทรงผนวช เพื่อสนองพระเดชพระคุณพระราชบุพการี และเพื่อทรงศึกษาตลอดจนปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดพระราชพิธีทรงผนวชขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมี สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ สมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายพระสมณนามว่า วชิราลงกรโณ” ทรงผนวชเป็นเวลา 15 วัน

ขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เฉกเช่นพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ทรงทำวัตรเช้า-เย็น และทรงศึกษาพระธรรมวินัยร่วมกับพระภิกษุอื่นๆ เสด็จไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาตจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ยังความปลาบปลื้มปีติให้แก่พสกนิกรทั่วหล้า และในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลาสิกขา จากนั้นได้เสด็จไปถวายสักการะทูลลา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และตอนบ่ายในวันเดียวกันได้เสด็จไปยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9

ในพระราชกรณียกิจด้านศาสนาอื่นๆ นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวเนื่องในพระพุทธศาสนา ในฐานะผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่หลายต่อหลายครั้ง หรือเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้วก็ตาม ก็ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในพระพุทธศาสนาตามเดิม เช่น ในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวันวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เข้าพรรษา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเนื่องในพระราชพิธีอุปสมบทนาคหลวง ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรตามฤดูกาล

โอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับ “มูลนิธิพระรัตนตรัย” ที่มี พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา เป็นประธานมูลนิธิ เพื่อส่งเสริมการศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์การเผยแผ่ธรรมะ และกิจกรรมเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไว้ในพระราชูปถัมภ์ของพระองค์ด้วย

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ รับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นพระอารามหลวง และได้พระราชทานนามว่า วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร ตั้งอยู่ในซอย 101/1 สุขุมวิท แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ เดิมทีวัดแห่งนี้คหบดีชาวลาวเป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2399 เล่ามาว่าเป็นวัดร้างมาก่อน ชาวลาวท่านนี้อพยพมาในสมัยเวียงจันท์แตก หลังจากคหบดีท่านนี้ถึงแก่กรรมวัดนี้เลยร้าง เนื่องจากไม่มีใครอุปถัมป์ ประกอบกับเจ้าอาวาสองค์สุดท้ายมรณภาพลงจึงไม่มีใครสืบสาน และในสมัยก่อนนั้นวัดนี้อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นทุ่งนาส่วนใหญ่

**ทรงสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี”
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชบูรพการีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสืบสานธรรมะของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเป็นพระราชมารดา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถ เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประจำทุกเดือน

ในพิธีมหามงคลแต่ละครั้งที่จัดขึ้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงออกแบบปกหนังสือเจริญพุทธมนต์ด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานให้แก่ประชาชนที่มาร่วมในพิธี ด้วยพระองค์ทรงมีพระราชปรารถนาให้บ้านเมืองไทยเป็น “บ้านแสนสุข” ประชาชนชาวไทยมีความสุขความเจริญโดยทั่วหน้า โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกล่อมเกลาจิตใจ ให้พบกับสติปัญญาและความสุข ดังที่ได้ปรากฏในพระราชหัตถเลขา ซึ่งได้อัญเชิญมาบนปกสวดมนต์ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2560 ว่า

“ความสุขในตัวเริ่มจากใจ และทัศนคติที่ดีต่อผู้อื่น ส่วนรวมและตนเอง ความสุขในการบำเพ็ญพระโยชน์ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีความสุข สุขในการเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น สุขในการให้ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ ให้ผู้อื่นและส่วนรวมมีสุข สุขในการพัฒนาร่างกาย จิตใจ และปัญญา ในทางสร้างสรรค์ความเจริญให้ตนเองและผู้อื่น การสวดมนต์และปฏิบัติธรรม ทำให้มีความสงบ มีสติ สมาธิ และปัญญา ตลอดจนเป็นกุศล สิริมงคล ต่อทุกคน และจะนำมาสู่ความเจริญและความสุขที่กล่าวมานั้น แล...”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแห่งจอมราชาที่ทรงมีคุณูปการแก่พระบวรพุทธศาสนา ในฐานะ ‘องค์อัครศาสนูปถัมภก' ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่กับแผ่นดินไทยสืบไป

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา 28 กรกฎาคม 2561 ข้าพระพุทธเจ้ากองบรรณาธิการ Celeb Online ขอพระราชทานพระราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคล ขอพระองค์ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ศูนย์รวมชาวไทย สิ่งที่ประสงค์จำนงนานขอพระไตรรัตน์บันดาลสัมฤทธิ์เทอญฯ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม



กำลังโหลดความคิดเห็น