xs
xsm
sm
md
lg

จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดี จากตี๋ร้าน VDO สู่เจ้าแม่คอนเทนต์ทีวีไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เปลี่ยนแรงกดดัน ให้เป็นแรงขับดัน” และ “หน้าที่ต้องมาก่อนสิทธิ” คือประโยคฮิตติดปากที่ แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์อินเดียยอดฮิต อย่าง สีดาราม อโศกมหาราช นาคิน ฯลฯ และผู้สร้างปรากฏการณ์ภารตะฟีเวอร์ในเมืองไทย มักหยิบยกขึ้นมาอธิบายถึงเรื่องจริงไม่อิงนิยายของตัวเอง

จากเด็กหนุ่มที่ค้นพบตัวเองมาแต่เด็กว่าเกิดมาผิดร่าง แต่จำต้องเก็บกดสิ่งที่เป็นไว้ เพราะคิดว่าหน้าที่ต้องมาก่อนสิทธิ เพราะฉะนั้นเขาจึงตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ลูกชาย กลับมาสานต่อธุรกิจร้านวิดีโอของครอบครัว พร้อมสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จ จึงกล้าปลดแอกความรู้สึกของตัวเองซึ่งเป็นสิ่งที่หัวใจเรียกร้องมาเกือบสี่สิบปี นั่นคือเปลี่ยนตัวเองจากแอนดรูว์ เป็นแอน และภาคภูมิใจกับการเป็นผู้นำในการนำเข้าคอนเทนต์ดีๆ จากทั่วโลกมาเสิร์ฟผ่านหน้าจอ

โชคชะตากำหนดให้เขาเกิดมาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวคนจีน ทำธุรกิจร้านเช่าวิดีโอในย่านบางแค กิจวัตรประจำวันหลังเลิกเรียนจึงหนีไม่พ้นการเสพความบันเทิงผ่านม้วนวิดีโอที่เปรียบเสมือนโลกกว้างอีกใบ

“ทุกอย่างเหมือนฟ้ากำหนด เราเกิดมาในครอบครัวที่ทำร้านเช่าวิดีโอ หลังเลิกเรียนเด็กคนอื่นกลับถึงบ้านทำอะไรไม่รู้ แต่เรานั่งดูวิดีโอ ดูภาพยนตร์ ละครต่างประเทศ ทั้งหนังฝรั่ง ละครจีน ละครอินเดีย พูดง่ายๆ ว่าอะไรที่เป็นวิดีโอดูหมด ม้วนวิดีโอเหล่านี้เหมือนเป็นไบเบิลที่สะสมไว้ในหัว ไม่เคยดูละครไทยเลย เพราะชอบดูวิดีโอต่างประเทศ ได้เห็นสังคมบ้านเมืองของเขาจนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้สนใจภาษาอังกฤษ และตัดสินใจขอคุณพ่อไปเรียนต่อที่ซิดนีย์”

หลังจากคุณพ่อไฟเขียว เขาไม่ได้หลงระเริงไปกับโอกาสที่ได้รับ เขาเรียนไปพร้อมกับหาประสบการณ์การทำงานเป็นเด็กพาร์ตไทม์ในปั๊มน้ำมัน กระทั่งเรียนจบรัฐศาสตร์ และกลับมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว

“ช่วงที่อยู่ที่ซิดนีย์มีความสุขมาก ได้ไปเปิดโลก เป็นตัวของตัวเอง ไปฝึกฝนภาษาอังกฤษ และยังมีโอกาสเสพคอนเทนต์มากมาย พอบวกกับเรียนรัฐศาสตร์ยิ่งอิน เพราะได้ติดตามเรื่องราวข่าวสาร เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศต่างๆ จนพอกลับมาเมืองไทย ก็มาช่วยสานต่อธุรกิจร้านวิดีโอ จึงเริ่มปรึกษากับคุณพ่อว่าน่าจะลองนำเข้าสารคดีจากต่างประเทศ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครทำ สารคดีเรื่องแรกที่นำเข้ามาคือ Walking with dinosaur ปรากฏว่าขายไม่ได้เลย”

ในช่วงที่เคว้งคว้างในโลกธุรกิจ เพราะสารคดีชุดแรกที่คิดว่าจะปังกลับพัง ทำเอาหนุ่มนักเรียนนอกกลุ้มจนนอนไม่หลับ มีเพียงโทรทัศน์เป็นเพื่อนคู่ใจที่อยู่ข้างกายในเวลานั้น

“ตอนนั้นนอนไม่หลับเลย ตี 1 ก็แล้ว ตี 2 ก็แล้ว ปรากฏว่าดูโทรทัศน์ไปๆ มาๆ ก็ไปเจอจอร์จกับซาร่าขายเครื่องออกกำลังกาย เลยปิ๊งไอเดียว่า ทำไมไม่ลองเปลี่ยนช่องทางการขายใหม่ เลยติดต่อไป เชื่อมั้ย 3 วันขายได้ล้านก็อปปี้ ตอนนั้นอายุแค่ 21 ปี ก็ได้เป็นเจ้าของเงิน 10 ล้านแล้ว” แอนเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น “ตอนนั้นเริ่มคิดแล้วว่าทางนี้แหละใช่เลย จากนั้นก็เริ่มบุกเบิกนำเข้าสารคดีจากต่างประเทศมาอีกมากมาย”

แม้ธุรกิจจะไปได้สวย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของแอน เริ่มมองเห็นเทรนด์การตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป จึงพลิกธุรกิจจากขายม้วนวิดีโอสู่การขายคอนเทนต์เต็มตัว

“ตอนนั้นเข้าช่วงเบญจเพสพอดี ถามว่าธุรกิจยังไปได้ดีมั้ย ก็ไปได้แต่เริ่มดร็อป จึงเริ่มกลับมาทบทวนว่าธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวันนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่การขายม้วนวิดีโอ แต่สิ่งที่ขายอยู่ในม้วนวิดีโอ เรียกว่าคอนเทนต์ เรามองว่าอนาคตม้วนวิดีโอจะไม่มีแล้ว และกลายเป็นดิจิทัลทั้งหมด จึงปรับตัวเองไปสู่นักขายคอนเทนต์ ซึ่งปรากฏว่ามาถูกทาง ธุรกิจประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด กลายเป็นสตรีข้ามเพศคนเดียวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเอเชียแปซิฟิก มีทรัพย์สินหลายพันล้านบาทด้วยการสร้างด้วยตัวเอง ไม่ได้พึ่งใคร”

ผู้บริหารสาวเก่งยังย้ำถึงคัมภีร์ในการทำธุรกิจ ให้มีแต่คำว่าเดินไปข้างหน้า อย่าใช้ตัวเงินเป็นที่ตั้ง แต่ให้คุณภาพเป็นตัวนำ

“ไม่ว่าจะทำอะไร แอนคิดเสมอว่าใจเขาใจเรา ถ้าลูกค้าได้ของชิ้นนี้ไปเขาจะรู้สึกอย่างไร ลูกน้องจะมีความสุขหรือเปล่า คนที่อยู่ข้างๆ ตัวจะมีความสุขมั้ย คือเป็นคนคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนพลังแห่งคุณภาพ พลังแห่งการคิดบวก พลังแห่งการคิดสร้างสรรค์มันเลยหล่อหลอมให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปในทางที่ดี เคล็ดลับความสำเร็จของเราคือ คิดบวก และทำดี เราเรียนรู้ตลอดเวลา อย่างกระแสละครอินเดียที่ช่วงนี้มาแรง หลายคนอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วบริษัทเรามี 8 กลุ่มคอนเทนต์ที่นำเข้ามา ทั้งสารคดี ซีรีส์ฝรั่ง เกาหลี การ์ตูน ฯลฯ ซึ่งทำมานานแล้ว หลายช่องก็ใช้บริการของเรา จนปีที่แล้วมีรายรับ 1,200 ล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าแตะ 1,500 ล้านบาท”

ขึ้นชื่อว่าโลกธุรกิจไม่มีคำว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบ บทเรียนที่เรียกว่าหนักสุดสำหรับผู้บริหารหญิงข้ามเพศที่ใครๆ ก็ชื่นชมคือ การเลือกคอนเทนต์มาแล้วไม่โดนใจผู้บริโภค เพราะไว้ใจพาร์ตเนอร์มากเกินไป

“ปัญหาของเราคือจริงใจมากเกินไป หลายๆ คนไม่คิดแบบเรา บางคนคิดว่าแค่ทำได้แล้วก็จบ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด คนเราถ้าไม่คิดเรื่องความกตัญญู พลังแห่งธรรมชาติจะทำร้ายคุณ นี่คือสิ่งที่แอนคิดอยู่เสมอว่า การคิดดี คิดอย่างมีคุณธรรม ทำงานอย่างมีคุณภาพ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกวันนี้ผลงานที่ผ่านมาของเรา ซึ่งได้มีโอกาสอวดโฉมทั้งในไทยและต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนเชื่อมั่นโดยไม่ต้องอธิบายตัวเอง”

ในวันที่ก้าวสู่การเป็นสตรีข้ามเพศที่ประสบความสำเร็จสูงสุด แอนเผยถึงความมุ่งมั่นจากนี้ว่า เธอตั้งใจใช้ทุกโอกาสที่มีทำประโยชน์ให้แก่สังคม

“เราไม่ใช่คนฟุ้งเฟ้อ เวอร์วัง บ้าบอ มีบ้างที่ใช้เงินเพื่อให้รางวัลกับชีวิต แต่แอนจะใช้เงินกับการกตัญญูมากกว่าโชว์ออฟ ชอบทำอะไรที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม อย่างพ็อกเกตบุ๊กที่บอกว่าเปิดตัวสิ้นปีนี้ แอนจะเปิดตัวพร้อมมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงและสตรีข้ามเพศ เพราะเราเกิดมาต่าง เรารู้เลยว่าการถูกกดดัน เข้าใจผิด เหยียดหยามคืออะไร เราอยู่กับการถูกดูถูกมาทั้งชีวิต แต่ก็อยากทำให้ทุกคนเห็นว่าสามารถเปลี่ยนความกดดันเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ได้ ใช้แรงกดดันให้กลายเป็นแรงผลักดัน ท้าทายตัวเองว่าถ้าไม่เกิดเรื่องนี้ ฉันก็ไม่เก่งขึ้น ถ้าไม่ถูกกดดันก็ไม่มีแรงท้าทาย แทนที่จะเอาแต่บอกตัวเองว่าซวย ทำไมชีวิตไร้คุณค่า เกิดมาก็ผิดเพศ พ่อแม่ก็ไม่รวย พูดแบบนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไร”

นิยามการทำประโยชน์ให้สังคมแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่สำหรับแอนที่เกิดมาจากการขายคอนเทนต์ เธอเลือกจะใช้วิธีขายอาหารสมองที่ให้แนวคิดและแรงบันดาลใจแก่คนไทย

“การขายคอนเทนต์ คือการขายอาหารสมองให้แก่คน ฉะนั้น ต้องให้แนวคิดและแรงบันดาลใจ ให้คอนเทนต์บวกสตอรีที่สร้างสรรค์ ให้คนคิดในแง่ดี ฟันฝ่าอุปสรรคได้ เราเองก็เป็นคอนเทนต์อย่างหนึ่งของบริษัท มาเล่าเรื่องให้สังคมฟังและลุกขึ้นมาต่อสู้ หลายคนฟังเรื่องแอนกลายเป็นขำตัวเองว่า เจอเรื่องราวมานิดเดียวยังไม่ได้เศษเสี้ยวส่วนร้อยของแอน แล้วท้อได้อย่างไร คือคุณกระดูกอ่อนขนาดนั้นเลยเหรอ ลองมองดิฉันสิ ทั้งที่ไม่ใช่ชายแท้หญิงแท้แต่กำเนิด โดยเฉพาะ ชายแท้อกสามศอกทำไมแพ้ง่ายแบบนี้ หลายๆ ครั้งให้กำลังใจคนด้วยการพูด ทำให้เรามีประโยชน์ต่อสังคม อันนี้เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และเจริญที่สุด ซึ่งเราก็คิดว่าเรา born to be this way คือการให้แรงบันดาลใจ ความคิดคน”

สำหรับอนาคต แอนหมายมั่นว่าต้องสร้างทีมที่แข็งแกร่ง “เราต้องเป็นอาจารย์ที่ดี สอนลูกศิษย์ทุกคน ธุรกิจนี้ยูนีค ทั้งประเทศทำอยู่คนเดียว เพราะฉะนั้น ไม่มีใครให้เรียนรู้ และมาแข่งเราได้ เพราะเราเก็บรวบ ลูกค้าหลายคนอึ้งที่ต้องมาซื้อเราคนเดียว เป็นโมโนโพลี เราเป็นตำราที่ต้องถ่ายทอดให้ทุกคน แต่เราเรียนมาตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ 5 ขวบ แต่แอนก็ยังปรารถนาที่จะเห็นว่า ถ้าวันหนึ่งเราไม่นั่งทำงานอยู่บริษัทสักเดือนแล้วทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ แอนจะดีใจมาก แต่ถึงอย่างไรเราก็ไม่เลิกทำงานแน่นอนเพราะเป็นคนบ้างาน

“ตอนนี้แอนก็ไม่ได้ทำงานหนักเหมือนเมื่อก่อน เรื่องเกษียณไม่เคยคิด เพราะเรามีความสุขกับการทำงานก็ทำไปเรื่อยๆ ลองนึกดูว่าถ้าเกษียณแล้วให้อยู่บ้านเฉยๆ จะทำอะไร สุดท้ายก็ต้องผันตัวเองไปเป็นที่ปรึกษาหรือนักลงทุนอยู่ดี” เธอทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด


กำลังโหลดความคิดเห็น