สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ องค์กรที่อุทิศตนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของระบบนิเวศ เช่น ป่าชายเลน ทุ่งหญ้าทะเล และที่ราบลุ่มน้ำเค็ม ได้แสดงความคิดเห็นถึงความร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชนที่จะสามารถรักษาท้องทะเลและชายฝั่ง ณ งานประชุมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ กรรมการสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ เน้นถึงความสำคัญของท้องทะเลและชายฝั่งที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรงและผ่านทางการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความท้าทายมากมายที่รอความช่วยเหลือจากการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ
“ระบบนิเวศชายฝั่งมีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพไม่ใช่เฉพาะทางตรงที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล และเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งระบบนิเวศชายฝั่งยังเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพในระดับโลก โดยเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนและช่วยบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย” ดร.วิทย์กล่าว
"ระบบนิเวศชายฝั่งนั้นต้องการให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อมชายฝั่งที่เสื่อมโทรม เช่น การทำวิจัยเพิ่มความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องมลพิษ การเปลี่ยนแปลงวิธีกำจัดของเสีย การลงพื้นที่จริงในการทำความสะอาด และการเข้าถึงชุมชนในท้องถิ่น ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย”
การประชุมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล ปทุมวัน ในครั้งนี้ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับโครงการ Biodiversity Finance Initiative (BIOFIN) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญกว่า 80 คนเข้าร่วมงาน ทั้งตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานจากภาคเอกชน เช่น ดร.นวรัตน์ ไกรพานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม ดร.เจสสิกา แอลฟ์ซิลเวอร์ (Dr. Jessica Alvsilver) ผู้แทนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) นายสุรพล ดวงแข ประธานกรรมการกลั่นกรองโครงการด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสิ่งแวดล้อม และนายเดชา ศิริภัทร ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิข้าวขวัญ