xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมเนียม “วันครอบครัว” 4 ตระกูลใหญ่ ที่ยึดถือปฏิบัติในวันสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>ท่ามกลางความรื่นเริงของเทศกาลสงกรานต์ ที่หนุ่มสาวถวิลหามาแรมปี และกระแสเรื่องการท่องเที่ยวสาดน้ำสงกรานต์ ที่กำลังได้รับการโปรโมตอยู่นั้น หากแต่อีกด้านหนึ่งของขนบธรรมเนียมอันดีงามของประเพณีสงกรานต์ ยังคงฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของลูกหลานตระกูลใหญ่ ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชสกุล และตระกูลขุนนางใหญ่แห่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งลูกหลานยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตราบจนวันนี้

ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ไทย หรือเทศกาลสงกรานต์ และวันแห่งครอบครัว Celeb Online อาสาพาไปสัมผัส 5 ตระกูลใหญ่ ที่ยึดธรรมเนียมสงกรานต์ที่ลึกซึ้งกว่าการเล่นสาดน้ำมาฝาก
1.ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล หน้าวังวรดิศ
อีกความหมายหนึ่งของวันสงกรานต์คือขนบอันดีงาม ที่ลูกหลานทุกคนในราชสกุล “ดิศกุล” ยังคงให้ความสำคัญ ด้วยเป็นวันที่ทุกคนจะได้ร่วมรำลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษ ของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะ ลูกหลานใกล้ชิด การร่วมรำลึกถึงบรรพบุรุษนั้นเป็นการรำลึกถึงบุคคลผู้ทรงคุณต่อประเทศชาติด้วย

ม.ล. ปนัดดา ดิศกุล (ดิศกุลรุ่นที่ 4) ผู้ซึมซับประเพณีสงกรานต์ของ “วังวรดิศ” มาตลอดชีวิต เล่าถึงธรรมเนียมปฏิบัติในวันสงกรานต์ว่า ลูกหลานทุกคนในราชสกุลดิศกุล จะมารวมตัวกันในวันที่ 13 เมษาฯ เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่วังวรดิศ บนถนนหลานหลวง อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ซึ่งเมื่อกาลก่อนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเข้าไปกราบถวายบังคมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ห้องพระบรมอัฐิเป็นประจำทุกวัน จนมาถึงพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ช่วงเช้าจะมีการสรงน้ำพระบรมอัฐิ ซึ่งจะทำเพียงปีละครั้งโดยทายาทครอบครัวดิศกุล จากนั้นรอจนพิธีกรรมทางสงฆ์และจรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ของราชสกุลเสร็จสิ้นแล้ว ทุกคนก็จะรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเมนูที่จัดเตรียมไว้โดยเจ้าของวัง และอีกส่วนหนึ่งจากผู้แวะมาเยือนจัดเตรียมกันมา ซึ่งเป็นการร่วมรับประทานในบรรยากาศที่อบอุ่น

ส่วนช่วงบ่ายจะเปิดให้ผู้ที่มาร่วมประเพณีสงกรานต์ ขึ้นกราบไหว้พระบรมอัฐิในเวลาประมาณ 14.00 น. และร่วมฟังพระสงฆ์สดับปกรณ์เวลา 15.00 น. จากนั้นก็จะเชิญชวนให้ชมรอบบริเวณวัง เพื่อซึมซับถึงพระจริยวัตร ตลอดจนคุณูปการทั้งปวงของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
ในยามที่โลกหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านยุคสมัย จนคนรุ่นใหม่แทบไม่คำนึงถึงแง่งามแต่เก่าก่อน ทว่าในรอบรั้วขอบชิดของบ้านสไตล์ยุโรปประยุกต์ของราชสกุล “อิศรเสนา” ซึ่งเจ้าของปัจจุบันคือ “พงศ์”-พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทายาทคนเดียวของ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ร่วมประเพณีสงกรานต์ของครอบครัวอิศรเสนาตั้งแต่ครั้งอดีต ยังคงจารึกไว้ในวิถีปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างอบอุ่น สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบัน

พงศ์เล่าว่า ทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนมีนาคมของทุกปี ขณะที่ คนไทยทั้งประทศเตรียมนับถอยหลังเพื่อต้อนรับวันปีใหม่ไทย แต่บ้านอิศรเสนากลับง่วนกับการจัดเตรียมสถานที่ และเครื่องข้าวแช่ ไว้ต้อนรับญาติพี่น้องกว่า 80 ชีวิต ที่เป็นอันรู้กันว่าต้องมารวมตัวกันครั้งใหญ่ เพื่อร่วมทำบุญสงกรานต์ ฉลองพระบรมอัฐิ พระอัฐิและอัฐิของบรรพบุรุษ และก็ถือโอกาสรดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ในราชสกุลตามขนบอันดีงาม
ข้าวแช่เมนูหลักที่เตรียมไว้ต้อนรับสมาชิกอิศรเสนา
“ในวันสงกรานต์ตามธรรมเนียมไทย นอกจากจะทำบุญเลี้ยงพระต้อนรับศักราชใหม่แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ซึ่งสมาชิกในตระกูลอิศรเสนาจนถึงรุ่นที่ 7-8 ในวันนี้ยังคงเหลือผู้หลักผู้ใหญ่อยู่หลายท่าน และใช่เพียงเชื้อสายที่สืบทอดจากฝั่งอิศรเสนาเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาแห่งความอบอุ่นนี้ จำนวนเครือญาติราวครึ่งที่มาร่วมงานก็ยังอุ่นหนาฝาคั่งด้วยพี่น้องจากราชสกุลสนิทวงศ์ และราชสกุลกุญชร เป็นต้น”

พงศ์เป็นอีกคนหนึ่งที่ภาคภูมิใจกับขนบธรรมเนียมไทยอย่างมาก และพยายามสืบสานไว้ไม่ให้สูญหายหรือผิดเพี้ยนไปจากเดิม ซึ่งช่วงสงกรานต์นี้เป็นประเพณีดีงามที่สืบต่อกันมา คือการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ที่พงศ์บอกเล่าถึงวิธีการที่ถูกต้องไว้ว่า
ลูกหลานรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในตระกูลอิศรเสนา
“ตามธรรมเนียมไทย เวลารดน้ำผู้หลักผู้ใหญ่ เด็กต้องเป็นฝ่ายขอพรจากท่าน ไม่ใช่เด็กไปอวยพรผู้ใหญ่ ซึ่งผิดหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมอย่างมาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ถือเรื่องอาวุโสมาก ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะให้พรเด็ก ที่บ้านอิศรเสนาการรดน้ำขอพรจะจัดให้ลูกหลานรดน้ำผู้ใหญ่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเท่านั้น ส่วนท่านอื่นๆ ต่อให้ท่านจะมีพระคุณกับเราขนาดไหนก็ตาม หากอายุท่านไม่ถึง 60 ปี หรือพ้นวัยเกษียณ เราก็จะไม่รดน้ำท่านเด็ดขาด เพราะคนไทยถือว่าเป็นการแช่ง ส่วนลูกหลานเองก็มีหน้าที่ต้องเตรียมของไปมอบให้ญาติผู้ใหญ่ด้วย นอกจากน้ำอบไทยแล้ว ตามธรรมเนียมของที่เตรียมให้ท่าน ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะเป็นผ้าตัดเสื้อหรือผ้าป่านรูเบีย ที่มาจากเมืองแขก ส่วนผู้ชายก็จะเตรียมกางเกงแพรให้ท่าน”
พลเรือเอกสุภา-คุณหญิงทรงสมร คชเสนี
ช่วงสงกรานต์จะเป็นวันหยุดยาว หลายคนวางแผนไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หากแต่ น้อยหน่า-เพ็ญสุภา คชเสนี เซเลบสาวผู้สืบเชื้อสายมาจาก 2 ตระกูลใหญ่ทั้ง คชเสนี และ กิตติขจร ตั้งแต่จำความได้จนบัดนี้ กลับไม่เคยเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหน นอกจากอยู่ในรั้วบ้านอันร่มเย็นของตระกูลกิตติขจรทางฝ่ายคุณแม่ (คุณหญิงทรงสมร คชเสนี ลูกสาวของจอมพลถนอม และท่านผู้หญิงจงกล กิตติขจร) น้อยหน่าจึงถือว่าเป็นหลานตาของจอมพลถนอม อดีตนายทหารผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เพ็ญสุภา คชเสนี
น้อยหน่าเล่าว่า ที่บ้านกิตติขจรจะให้ความสำคัญกับวันสงกรานต์มาก เพราะถือเป็นวันของครอบครัว ตั้งแต่จำความได้ที่บ้านในซอยระนอง 2 อันเป็นที่ตั้งของตระกูลกิตติขจร ทุกวันที่ 13 เมษายนจะอบอุ่นไปด้วยญาติพี่น้องมากมาย มารวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ในวันนี้ และตัวเธอก็สนุกกับการได้เจอะเจอญาติพี่น้องรุ่นราวคราวเดียวกัน จนตราบถึงทุกวันนี้ แม้จะไม่มีคุณตากับคุณยายอยู่แล้ว แต่ลูกหลานทุกคนยังคงระลึกถึง และยึดถือธรรมเนียมอันดีงามที่บรรพบุรุษฝากไว้เสมอ
ลูกหลานรวมตัวกันขอพรผู้ใหญ่ในตระกูลกิตติขจร
“ทุกวันที่ 13 เมษายน ลูกหลานตระกูลกิตติขจร จะต้องมารวมตัวกันทำกิจกรรมที่บ้าน ตั้งแต่ช่วงเช้าจะมีการสรงน้ำพระ ซึ่งจะไม่เหมือนที่อื่น คือเราจะนำน้ำมะขามป่อยมาสรงน้ำพระก่อน และปิดท้ายด้วยการนำน้ำอบมาสรงน้ำพระอีกทีหนึ่ง จากนั้นรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยเฉพาะ ข้าวแช่ ซึ่งเป็นสูตรที่คุณยาย (ท่านผู้หญิงจงกล) ให้ความพิถีพิถันในการทำมากที่สุด จนมีชื่อเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ส่วนช่วงบ่ายจะรดน้ำอัฐิของบรรพบุรุษ และรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ในอดีตลูกหลานจะรดน้ำขอพรคุณตากับคุณยาย แต่ตอนนี้ทั้งสองท่านเสียไปแล้ว ลูกหลานจึงเปลี่ยนมารดน้ำขอพรคุณลุงกับคุณป้าแทน ซึ่งเป็นความอบอุ่นที่ไม่เคยจางหายไปจากใจเรา”
ปรียวรรณ บุนนาค และน้องสาว
ส่วนธรรมเนียมสงกรานต์บ้านบุนนาค ตระกูลขุนนางเก่าแก่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ลูกหลานกว่า 100 ชีวิต ต่างให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติมาถึงทุกวันนี้

“ตู๋-ปรียวรรณ บุนนาค” เลขานุการชมรมสายสกุลบุนนาค ทายาทของ นาวาเอกสมารมภ์-พริ้มพราย บุนนาค ย้อนอดีตสงกรานต์ของบ้านบุนนาคเมื่อ 50 ปีที่แล้วว่า “ด้วยความที่บ้านบุนนาคมีความเกี่ยวดองกับหลายสกุล ทั้ง ไกรฤกษ์ และแพ่งสภา ดังนั้น ถึงวันสงกรานต์ทีไร คุณพ่อต้องพาลูกๆ ทั้ง 4 คน คือปรียวรรณและน้องๆ อีก 3 คน พรรณพิมล-กลวิตร และ กรกมล ตระเวนไปบ้านผู้ใหญ่ที่เคารพจนครบ เพื่อรดน้ำขอพรผู้อาวุโส”
ของไหว้ผู้ใหญ่ของตระกูลบุนนาค
“ก่อนสงกรานต์อาทิตย์หนึ่ง คุณแม่จะจัดเตรียมข้าวของไหว้ผู้ใหญ่ โดยแยกสำหรับผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายจะเป็นกางเกงแพร-เสื้อกุยเฮง พร้อมสบู่ก้อนยาร์ดเลย์ ซึ่งเป็นสบู่ที่คนเฒ่าคนแก่ในยุคนั้นนิยมใช้กันมาก และที่ต้องเป็นสบู่ก้อนเพราะผู้ใหญ่บอกว่าใช้สบู่น้ำแล้วยังลื่นตัวเหมือนล้างออกไม่หมด ส่วนของผู้หญิง แม่จะจัดเตรียมผ้าซิ่น ผ้านุ่ง และผ้าขนหนู ซึ่งเป็นของใช้กลางๆ ที่ผู้ชายผู้หญิงใช้ได้ พร้อมด้วยน้ำอบไทยใส่ขวดแก้วเจียระไนหนามขนุนสวยงาม

ด้วยความที่สกุลบุนนาคมีสมาชิกเยอะมาก เราจึงกำหนดให้วันที่ 8 เมษายนของทุกปี หลังประชุมคณะกรรมการชมรมสายสกุลบุนนาคเสร็จแล้ว รับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นจะรดน้ำขอพร พล.อ.บรรจบ บุนนาค, คุณป้าประภา บุนนาค รวมถึง พล.ต.ม.ร.ว. ศุภวัฒน์ เกษมศรี ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสายสกุลบุนนาค” ตู๋สาธยาย

ถือเป็นขนบธรรมเนียมอันดีงามที่ลูกหลานชาวไทย ต้องร่วมกันอนุรักษ์สิ่งดีงามที่บรรพบุรุษสร้างไว้ให้คงอยู่ เพราะการได้รับพรอันประเสริฐจากผู้ใหญ่ที่เคารพนั้น ถือเป็นสิริมงคลของชีวิต ในการเริ่มต้นใช้ชีวิตในวันปีใหม่ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น