xs
xsm
sm
md
lg

10 เรื่องสำคัญที่คนไทยควรรู้ในวัน “วันจักรี” ประจำปี พ.ศ. 2561

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปีนั้น ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของไทย นั่นก็คือ “วันจักรี” อันเป็นวันที่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า จะได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์ รวมถึงมหาจักรีบรมราชวงศ์ ที่ทรงคุณต่อแผ่นดิน และทรงทำให้แผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่กันอย่างเป็นปึกแผ่นตราบเท่าทุกวันนี้

ด้วยเพราะพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี วันนี้ Celeb Online จะพาผู้อ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับความสำคัญของวันจักรีผ่าน 10 เรื่องราว ที่จะทำให้คนไทยได้ซึมซับถึงความผูกพันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ กับประชาชนชาวไทยที่มีมาช้านาน อันเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย

1. วันจักรี ภาษาอังกฤษคือ Chakri Memorial Day ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้น ในวันที่ 6 เมษายนของทุกปี จึงนับเป็นวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี

2. นอกจากจะเป็นวันแห่งการก่อตั้งราชวงศ์จักรีแล้ว ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ยังเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของไทยอีกด้วย จึงนับเป็นวันครบรอบกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบัน (พ.ศ. 2561) กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 236 ปี

3. ในวันจักรีตามธรรมเนียมโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯ บำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว และเสด็จฯ วางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยในปีนี้ ในเวลา 17.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จฯ ไปยังปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อทรงวางพานพุ่ม ถวายเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายองค์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช จากนั้นเสด็จฯ ไปยังปราสาทพระเทพบิดร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช

4. ในวันเดียวกันนี้เอง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้พสกนิกรชาวไทย เข้าถวายบังคมสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชที่ปราสาทพระเทพบิดร ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. โดยปรกตินั้นปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระแก้วจะเปิดให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวได้ชมความงดงามเพียงปีละไม่กี่ครั้งเท่านั้น และวันที่ 6 เมษายนของทุกปี จึงเป็นวันสำคัญที่ปวงพสกนิกรชาวไทย จะได้ร่วมถวายบังคมและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และชมความงดงามของปราสาทพระเทพบิดรอย่างใกล้ชิด

5. นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หรือพระรามาธิบดีที่ 1 เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี จนถึงทุกวันนี้ราชวงศ์จักรีมีผู้สืบเชื้อสายราชสกุลทั้งหมด 131 ราชสกุล โดยสมาชิกราชสกุลที่ไม่ได้มีชั้นยศ ตั้งแต่ระดับ ม.จ., ม.ร.ว. และ ม.ล. นั้น จะใช้คำเติมท้ายนามสกุลว่า “ณ อยุธยา” ด้วยเหตุผลว่า องค์ปฐมพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสืบเชื้อสายมาจากสกุลใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จึงใช้ “ณ อยุธยา” สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

6. วันที่ 6 เมษายน 2561 นี้ ถือเป็นวันแรกที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17) ทุกชนิดราคา เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวียนทั่วไป ซึ่งธนบัตรแบบใหม่นี้ ออกแบบภายใต้แนวคิดเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี โดยธนบัตร 3 ชนิดราคาแรกที่จะใช้ในวันวันที่ 6 เมษายน คือ 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ส่วนอีก 2 ชนิดราคาคือ 500 บาท และ 1,000 บาท จะออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ธนบัตรแบบ 17 ที่จะออกใช้ในวันที่ 6 เมษายนนี้ มีขนาดและสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16 ด้านหน้าของธนบัตรได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ มาออกแบบเป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา ด้านหลังของธนบัตรออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีโดยได้เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาลเป็นภาพประธานของธนบัตรแต่ละชนิดราคา โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย

7. ขณะเดียวกัน ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก็ได้เปิดใช้ตราไปรษณียากรทั่วไปเพื่อการใช้งานชุดใหม่ คือ แสตมป์พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งชุดประวัติศาสตร์ของวงการแสตมป์ไทย ภาพแสตมป์เป็นพระฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ประกอบลวดลายไทย และคำว่า ประเทศไทย THAILAND พร้อมตัวเลขบอกชนิดราคาเลขไทยและเลขอารบิก มีด้วยกัน 12 ชนิดราคา กำหนดขึ้นตามความจำเป็นของการใช้งาน ได้แก่ ราคา 1 บาท 2 บาท 3 บาท 5 บาท 6 บาท 7 บาท 9 บาท 10 บาท 12 บาท 15 บาท 50 บาท และ 100 บาท พิมพ์สีแตกต่างกันตามชนิดราคา โดยราคาหลักหน่วยพิมพ์หนึ่งสี ทั้งนี้ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้พระราชทานพระราชานุญาตให้นำพระฉายาลักษณ์ครึ่งพระองค์ ทรงประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ มาเป็นแบบตราไปรษณียากรสำหรับใช้งานทั่วไปชุดล่าสุด ซึ่งจะออกจำหน่ายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

8. ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชอนุสรณ์คำนึงถึง องค์สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ จัดงานเถลิงศกสุขสันต์ มหาสงกรานต์ ตำนานไทย เพื่อให้ปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันปลูกฝังความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณและอดีตพระมหาราช อีกทั้งยังส่งเสริม สืบสานศิลปวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติ โดยงานมีขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 เมษายน 2561 ตั้งแต่เวลา 14.00-21.00 น. ณ พระลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า โดยวันที่ 6 เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ สนามเสือป่า ในเวลา 18.00 น. ในส่วนวันที่ วันที่ 7-8 เมษายน 2561 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธกำเนิดกาสาวพัตร์ พระพุทธรูปสำคัญที่หล่อขึ้นเมื่อครั้งทรงผนวช วันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและสรงน้ำเพื่อเป็นสิริมงคล และได้จัดสถานที่ให้ประชาชนรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ในครอบครัว พร้อมชมนิทรรศการความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ การแข่งขันก่อพระเจดีย์ทราย ชิงโล่พระราชทาน และชมการแสดงละเล่นไทยอันสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของวิถีไทยในอดีตอีกมากมาย โดยได้มีการเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานแต่งกายด้วยชุดสุภาพ หรือชุดผ้าลายดอก งดกางเกงขาสั้น เสื้อสายเดี่ยว และปืนฉีดน้ำ

9. ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” เพื่อสืบสานการจัดงานฤดูหนาวในสมัยรัชกาลที่ 5 ตลอดจนการจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี อันเป็นเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพัน ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนชาวไทย อีกทั้งยังเป็นการพระราชทานความสุขให้ปวงชนชาวไทย โดยเชิญชวนให้ผู้มาชมงานแต่งกายด้วยชุดไทย จนเกิดกระแสทำให้คนไทยลุกขึ้นมาแต่งกายด้วยชุดไทยย้อนยุคกัน ทาง บมจ.การบินไทย จึงลุกขึ้นมาขานรับนโยบายไทยนิยม ด้วยการเปลี่ยนเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจากชุดสีม่วงเป็นชุดไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเสื้อลูกไม้แขนหมูแฮม อันเป็นแบบเสื้อที่ประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกในยุครัชกาลที่ 5 นำมาใส่คู่กับโจงกระเบน บนเที่ยวบิน ช่วงวันที่ 2-30 เมษายน 2561 เส้นทางบินภายในประเทศ และเส้นทางบินต่างประเทศ ไป-กลับ กรุงเทพฯ-สิงคโปร์, ไป-กลับ กรุงเทพฯ-ฮ่องกง และไป-กลับ กรุงเทพฯ-อินโดไชน่า


10. นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้น จนถึงวันนี้มีอายุกว่า 236 ปี แต่รัชสมัยของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ล้วนมีประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าแก่การจารึกไว้ในแผ่นดิน โดยเฉพาะ เรื่องการแต่งกายตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 9 นั้น การแต่งชุดไทยของผู้คนในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีความสวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก โดยในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่ได้แตกต่างจากสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรีมากนัก ทรงผมของผู้หญิงในยุคนั้นจะเปลี่ยนจากการปล่อยยาวทั้งหมด มาเป็นผมสองชั้นด้านบนเปิดเสยใส่น้ำมัน ส่วนผู้ชายไว้ผมทรงมหาดไทย และการแต่งกายนั้น ผู้หญิงจะห่มสไบเฉียงนุ่งผ้าจีบไว้ชายพกมีชายสะบัดสามเหลี่ยม ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าจีบคล้ายนุ่งโสร่ง ไม่สวมเสื้อ

ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่ประเทศไทยได้ติดต่อกับชาติตะวันตก โดยมีเจ้านายหลายพระองค์เสด็จไปทรงศึกษายังประเทศตะวันตก ดังนั้นการแต่งกายในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีความแตกต่างจากสมัย ร.1-ร.4 อย่างชัดเจน โดยผู้ชายเลิกไว้ทรงผมมหาดเล็ก แต่เปลี่ยนมาไว้ผมยาวแบบฝรั่ง และการแต่งกายนั้นผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบน เสื้อราชปะแตน ส่วนผู้หญิงจะใส่เสื้อลูกไม้แขนหมูแฮมหรือแขนพอง อันเป็นแบบเสื้อที่ได้รับความนิยมจากประเทศตะวันตก โดยนุ่งกับโจงกระเบน พร้อมสวมถุงน่องและใส่รองเท้าเช่นเดียวกับผู้ชาย

สำหรับสมัยของรัชกาลที่ 9 ทรงผมผู้ชายจะไว้แบบสากล ส่วนผู้หญิงจะเกล้าผมเก็บให้เรียบร้อย ส่วนการแต่งกายนั้นผู้หญิงสวมใส่ชุดไทยพระราชนิยม อันเป็นชุดที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเป็นผู้พระราชทานไว้ ด้วยทรงตั้งชื่อชุดตามพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าจะเป็นชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย เป็นต้น โดยลักษณะของเสื้อนั้นจะเป็นคอแบบต่างๆ มาสวมใส่กับผ้าถุง ผ้านุ่ง หรือกระโปรง ส่วนผู้ชายนั้นสวมเสื้อทรงกระบอก นุ่งโจงกระเบน หรือใส่แบบสากล

ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อให้คนไทยทุกคนได้เข้าใจถึงวันจักรี ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วันหยุดราชการธรรมดาๆ แต่เป็นวันที่คนไทยควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ที่ทรงแผ่พระบารมีปกเกล้าชาวไทย ให้ร่มเย็นเป็นสุขตราบเท่าทุกวันนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น