xs
xsm
sm
md
lg

กงสุลกิตติมศักดิ์...ดีกรีใหม่มหาเศรษฐีเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

>>มีหลายครั้งที่เรามักจะสงสัยกับตำแหน่งอันทรงเกียรติ "กงสุลกิตติมศักดิ์" ที่พ่วงท้ายเซเลบริตีนักธุรกิจเมืองไทยชื่อดังหลายคนว่า ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่อะไรกันแน่ ? หรือนี่เป็นเทรนด์ใหม่ที่มหาเศรษฐีเมืองไทยต้องการยกระดับฐานะทางสังคม เหมือนดังที่บรรดาคุณหญิงคุณนายทั้งหลายแห่กันไปแย่งชิงตำแหน่งนายกสมาคมต่างๆ เป็นต้น

วันนี้ Celeb Online ขออาสาพาไปทำความรู้จักกับคำว่า “กงสุลกิตติมศักดิ์” ที่มิใช่เพียงแค่มีเงินเท่านั้นที่สามารถเป็นได้ หากแต่ต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อีกมากมาย และมีคนดังของเมืองไทยคนไหนบ้างที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้

ความจริงประเทศไทยเริ่มมีตำแหน่ง "กงสุลกิตติมศักดิ์" มาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นยุคที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อย่างเช่นการเสด็จไปเยือนประเทศต่างๆ ในยุโรป ร.5 ทรงแต่งตั้งทูตประจำ 2 ประเทศคืออังกฤษและฝรั่งเศส ส่วนประเทศอื่นๆ ทรงแต่งตั้งนักธุรกิจของประเทศนั้นๆ เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2525 ได้มีการจัดตั้งสมาพันธ์กงสุลโลกขึ้น โดยมีสมาชิกกงสุลกิตติมศักดิ์ทั่วโลกเข้ามาเป็นสมาชิก ส่วนเมืองไทยมีการจัดตั้งคณะกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2539 ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 55 ประเทศ โดยมี อมรินทร์ คอมันตร์ เป็นประธานคณะกงสุลฯ คนแรก และ ดร.ศรีภูมิ ศุขเนตร เป็นประธานคนปัจจุบัน

ในงานฉลองวันชาติสาธารณรัฐเอสโตเนียครบรอบ 100 ปี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ดร.วีรชัย เตชะวิจิตร์ ในฐานะกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์แห่งสาธารณรัฐเอสโตเนีย ประจำกรุงเทพฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จึงจัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยมากกว่า 10 ประเทศ สมาชิกกงสุลกิตติมศักดิ์ชื่อดังของเมืองไทยต่างมาร่วมแสดงความยินดีกันอย่างคับคั่ง

ดร.วีรชัย เล่าถึงการทำหน้าที่กงสุลกิตติมศักดิ์ว่า หลักๆ นั้นต้องช่วยเหลือประชาชนของประเทศที่ตนได้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในด้านพาสปอร์ต การออกวีซ่า จดทะเบียนสมรส หรือถ้าประชากรของประเทศนั้นกำลังตกระกำลำบากก็ต้องเข้าไปดูแล นอกจากนี้ ต้องดูแลเรื่องความสัมพันธ์ทางการค้า วัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย

ดร.วีรชัยเล่าย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วถึงสาเหตุที่ได้รับความไว้วางใจจากสาธารณรัฐเอสโตเนีย ให้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ว่า เมื่อปี 2542 เขาดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ขณะนั้นทางการเอสโตเนียได้ส่งหนังสือมาที่นายกรัฐมนตรี เพื่อให้แต่งตั้งบุคคลที่สามารถช่วยเหลือชาวเอสโตเนียที่ติดคุกอยู่ในประเทศไทยจำนวน 6 คน ให้กลับสู่มาตุภูมิได้อย่างปลอดภัย และด้วยความที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการต่างประเทศ ทางรัฐบาลเอสโตเนียจึงได้ให้ความเห็นชอบและออกสัญญาบัตรแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐเอสโตเนีย ประจำกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันนั้น

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของ ดร.วีรชัย ที่ต้องการเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นไป เขาจึงใช้เวลาเพียง 3 ปีเท่านั้นในการช่วยเหลือนักโทษทั้ง 6 คนชาวเอสโตเนีย ให้กลับไปยังแผ่นดินเกิดของตัวเองอย่างปลอดภัย และทุกวันนี้อดีตนักโทษที่เขาเคยให้การช่วยเหลือนั้น ยังส่งสิ่งของอันเป็นการแสดงความระลึกถึงและความขอบคุณจากใจจริง อย่าง ช็อกโกแลต มาให้เป็นประจำทุกปีเช่นกัน

กว่า 20 ปีที่ ดร.วีรชัยได้ดำรงตำแหน่งนี้ นอกจากเขาจะเป็นตัวแทนในการสร้างสัมพันธไมตรีและดึงนักลงทุนชาวเอสโตเนียเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย หนึ่งหน้าที่สำคัญในฐานะที่เป็นทั้งนักการศึกษาและกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์นั้นคือ การสร้างนักเรียนที่มีความเป็นผู้นำรอบด้าน ซึ่งเด็กเหล่านั้นต้องเป็นบุคลากรที่ดีที่จะทำให้โลกน่าอยู่ สงบสุข และสามารถเชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และสาธารณรัฐเอสโตเนียให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ประเทศไทย นอกจากมี ดร.วีรชัยที่ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่แล้ว ยังมีมหาเศรษฐีของเมืองไทยอีกหลายคน ที่ได้ดำรงตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้เช่นกัน

สนั่น อังอุบลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐมัลดีฟส์ประจำประเทศไทย และได้รับการยอมรับจากบรรดาเพื่อนๆ กงสุลด้วยกันว่าเป็นคนหนุ่มไฟแรงที่มีผลงานให้กับมัลดีฟส์มากมาย และทุกๆ ปีสนั่นจะต้องเดินทางไปมัลดีฟส์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมฉลองวันชาติของมัลดีฟส์ และตั้งแต่มีสถานกงสุลมัลดีฟส์ขึ้นมา มีคนไทยไปท่องเที่ยวประเทศนี้มากขึ้น ทำให้สนั่นต้องบินไปเยือนประเทศนี้บ่อยขึ้น เพียง 9 เดือนแรกของการรับตำแหน่งเขาก็บินไปถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานใหญ่แห่งบริษัทล็อกซเล่ย์ ด้วยประสบการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งการเป็นอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของประเทศจาเมกาประจำประเทศไทย

ดร.ศรีภูมิ ศุขเนตร นอกจากจะเป็นประธานคณะกงสุลของประเทศไทยแล้ว เขายังเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของราชรัฐโมนาโกประจำประเทศไทยอีกด้วย

ตามด้วยนักธุรกิจสาวสวยไฮโซ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ อีกคน เพราะเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกอนุมัติบัตรรับรองให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สาธารณรัฐลิทัวเนีย ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมทั่วราชอาณาจักรไทย โดยกงสุลไฟแรงบอกว่า กว่าจะได้ดำรงตำแหน่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเข้าสัมภาษณ์กับรัฐมนตรีของลิทัวเนียที่บินมาพูดคุย โดยมีหน่วยงานต่างๆ มาร่วมฟังการสัมภาษณ์อยู่หลายรอบ ซึ่งหน้าที่ของกงสุลกิตติมศักดิ์ของลิทัวเนียประจำประเทศไทยนั้น คือการทำให้ลิทัวเนียเป็นที่รู้จัก ด้วยการพานักท่องเที่ยวไทยไปสัมผัสและเที่ยวชมประเทศน้องใหม่ที่ได้รับการขนานนามว่า “ไข่มุกแห่งทะเลบอลติก” ให้จนได้

ล่าสุด ทำเนียบกงสุลกิตติมศักดิ์ก็ได้เปิดต้อนรับ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด หนุ่มไฟแรงวัย 30 เขยคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี แห่งค่ายช้าง ที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สหรัฐเม็กซิโก ประจำจังหวัดระยอง โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว และตราด นับเป็นกงสุลที่อายุน้อยที่สุดเลยก็ว่าได้

กว่าจะได้ดำรงตำแหน่งกิตติมศักดิ์นี้ว่ายากแล้ว แต่การรักษาและทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ในการเชื่อมประสานไมตรีระหว่างประเทศให้มั่นคงสืบไปนั้นยากยิ่งกว่า แต่คงไม่ยากเกินความสามารถของกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทยอย่างแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น