>>จากความสัมพันธ์ที่มีต่อราชวงศ์ภูฏานด้านการศึกษา โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ ได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระราชชนนีดอร์จิ วังโม วังชุก พระอัครมเหสีพระองค์ที่ 1 ใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระบรมราชชนกในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏานพระองค์ปัจจุบัน เยือนประเทศไทยและเสด็จเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ ของ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์
ในการนี้ สมเด็จพระราชชนนีทรงสนทนากับนักเรียนชาวภูฏานที่เรียนที่โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ ตลอดจนคณะครูและนักเรียนคนอื่นๆ อย่างไม่ถือพระองค์ พร้อมกันนี้ ได้เสด็จเยี่ยมชมห้องศูนย์ดนตรีและห้องรับรองสำหรับผู้ปกครอง จากนั้นทรงลงพระนามในหนังสือของโรงเรียน พร้อมกับฉายพระรูป โดยได้เสด็จยังหอประชุมทอดพระเนตรการแสดงรำไทยของนักเรียนนานาชาติ การแสดงดนตรีของนักเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ ที่ได้รับรางวัลระดับโลก การแสดงของนักเรียนชาวภูฏาน
สมเด็จพระราชชนนีทรงมีพระราชดำรัสต่อคณะนักเรียนและคณะครู ความว่า "ตั้งแต่แรกเริ่มถึงปัจจุบันมีนักเรียนชาวภูฏานมาเรียนที่โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ รวม 54 คน และยังคงศึกษาอยู่ 13 คน ซึ่งเด็กที่มาเรียนที่นี่มีความขยัน เอาใจใส่เป็นอย่างมาก โดยเมื่อเรียนจบแล้วก็จะเตรียมกลับไปช่วยเหลือประเทศ บางคนก็ไปถวายงานกษัตริย์จิกมี"
สมเด็จพระราชชนนีดอร์จิ วังโม วังชุก ยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานของมูลนิธิทารายานะ ซึ่งเน้นการฝึกอบรมพัฒนาเยาวชนที่มีศักยภาพสูงในเมือง เพื่อจะได้ช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ในการออกไปพัฒนาเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบท ปัจจุบันมูลนิธิทารายานะทำงานช่วยเหลือหมู่บ้านที่ห่างไกลในชนบท 350 แห่ง
สมเด็จพระราชชนนี รับสั่งถึงมูลนิธิทารายานะว่า "เป็นมูลนิธิที่ให้ความช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและเด็กยากจนในภูฏาน โดยจะมีนักเรียนจิตอาสาเข้ามาช่วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีทารายานะ สกูล คลับ มากกว่า 100 แห่งที่ไปช่วยในถิ่นทุรกันดารกว่า 20 พื้นที่ของประเทศ ซึ่งที่โรงเรียนเดอะรีเจ้นท์มีระบบการเรียนการสอนให้เด็กเก่งรอบด้าน มีจิตอาสา ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และให้เกียรติสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมให้เด็กนักเรียนชาวภูฏานเติบโตอย่างมีศักยภาพ และฝากให้นักเรียนคิดตลอดเวลาว่า ฉันสามารถทำได้"
โอกาสนี้ ได้พระราชทานสัมภาษณ์ ถึงเรื่องการศึกษาช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศว่า “การศึกษาช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่ได้มีนักเรียนจากภูฏานมาเรียนที่โรงเรียนเดอะรีเจ้นท์เท่านั้น แต่ยังมีเรียนและโรงเรียนอื่นๆ ในกรุงเทพฯ โรงเรียนในแถบภาคเหนือ และยังมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งโดยมวลรวมของประเทศไทยแล้วเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจด้านการศึกษา”
พร้อมกันนี้ มีรับสั่งถึงความรักที่ชาวภูฏานมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า "คนภูฏานมีความรักและเคารพในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถมาก สิ่งที่ชาวภูฏานนำไปใช้คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำมาเป็นต้นแบบในการดำรงชีวิต"
สมเด็จพระราชชนนี ให้ความเห็นในเรื่องที่ประเทศภูฏานซึ่งมีอัตราดัชนีความสุขสูงที่สุดในโลก ว่า "ประเทศภูฏานให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะความสุขมีความสำคัญ ภูฏานมีอัตราความสุขของประชากรค่อนข้างสูง จึงนำนโยบายนี้ไปปรับใช้ในการศึกษาโดยการเรียนต้องมีความสุขด้วย"
หลังพระราชทานสัมภาษณ์ สมเด็จพระราชชนนี ทรงมีพระจริยาวัตรอันนอบน้อม ได้ตรัสเป็นภาษาไทยว่า "ขอบคุณค่ะ" พร้อมทรงยกพระหัตถ์ไหว้อย่างงดงามอีกด้วย
ทางด้าน “นุ่น-ขวัญชนก เตชะวิจิตร์” ผู้อำนวยการโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ บุตรสาวคนเล็กของ ดร.วีระชัย เตชะวิจิตร์ ผู้ก่อตั้งและประธานคณะกรรมการกลุ่มโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ โดยคุณนุ่นซึ่งได้ทำหน้าที่บริหารภาพรวมของทางโรงเรียน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนนานาชาติใช้ระบบอังกฤษทั้งหมด แต่ที่แตกต่างจากโรงเรียนนานาชาติที่อื่นคือ นอกจากความเก่งทางวิชาการแล้ว นักเรียนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความคิดที่ดี จิตใจที่ดี ให้รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น ได้เรียนรู้การเป็นอาสาสมัคร ทำกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ สามารถพัฒนาตนเองเพื่อให้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดีๆ ได้ต่อไป ซึ่งสมัยนี้ การศึกษาไม่ได้มองในเรื่องของวิชาการอย่างเดียว จะต้องพัฒนาในด้านของจิตใจ และช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย ซึ่งเด็กที่มาเรียนที่นี่ก็จะได้รับตรงนี้ติดตัวไปค่ะ”
พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวอย่างตื้นตันใจว่า “ทางโรงเรียนได้รับเกียรติจากสมเด็จพระราชชนนีดอร์จิ วังโม วังชุก พระอัครมเหสีพระองค์ที่ 1 ใน สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก พระบรมราชชนกในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรภูฏานพระองค์ปัจจุบัน ให้ร่วมงานกับมูลนิธิทารายานะ ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระราชชนนีเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธาน ทรงเน้นการฝึกอบรมเยาวชนที่มีศักยภาพสูงในเมือง เพื่อจะได้แบ่งเบาพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านในการออกไปพัฒนาเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในชนบท โดยพระองค์ทรงคัดเลือกมาศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ภายใต้โครงการที่ชื่อว่าทุนสมเด็จพระราชชนนี
สมเด็จพระราชชนนีทรงมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนทุนได้ใช้โอกาสได้อย่างดีที่สุด เพื่อที่จะเติบโต เรียนรู้ก้าวไกลด้านการศึกษาและสังคม มีความเก่งรอบด้าน มีความรับผิดชอบและมั่นใจในตนเอง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยพัฒนาให้โลกของเราน่าอยู่และมีความสงบสุขมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางครอบครัวได้มอบทุนการศึกษา 100 % ให้กับเด็กที่ผ่านการคัดเลือกจากมูลนิธิทารายานะเป็นจำนวน 2 ทุนเพื่อเรียนในโรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ เป็นระเวลา 2 ปี มาตั้งแต่ปี 2013
นอกจากนี้ ทางครอบครัวได้ก่อตั้งทุนที่ชื่อว่า โกโบล คอนเน็ก (Global Connect) ให้แก่นักเรียนชาวภูฏานที่เป็นบุตรข้าราชการระดับสูงที่ได้ถวายงานแด่พระราชาธิบดีอีกด้วย ทุนการศึกษาดังกล่าวมีบทบาทสำคัญที่เชื่อมความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างประเทศไทยและประเทศภูฏาน”
เธอเล่าย้อนถึงความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นนี้ว่า “เรามีความสัมพันธ์กับประเทศภูฏานจากการที่มีราชวงศ์ภูฏานมาศึกษาที่นี่ ซึ่งเป็นลูกของพระขนิษฐาองค์เล็กของสมเด็จพระราชชนนี จากนั้นเป็นต้นมาก็ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงในราชวงศ์ภูฏาน มีนักเรียนจากประเทศภูฏานที่มาศึกษาที่ประเทศไทย ตั้งแต่แรกเริ่มถึงปัจจุบันรวม 54 คน และกำลังศึกษาอยู่ปัจจุบัน 13 คน นักเรียนทุกคนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ว่าเป็นบุตรข้าราชการระดับสูงก็ไม่ถือตัว อีกทั้งตั้งใจเรียน และทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนๆ “
เธอทิ้งท้ายถึงระบบการศึกษาของบ้านเราว่า “การศึกษาของประเทศไทยเติบโตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการศึกษาในระบบอังกฤษ ที่ความต้องการค่อนข้างมาก ทำให้หลายโรงเรียนพัฒนาหลักสูตรนานาชาติขึ้นมา ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ผู้ที่อยากศึกษาในระบบอังกฤษไม่ต้องเดินทางไกล เรียนได้ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะที่โรงเรียนนานาชาติเดอะรีเจ้นท์ กรุงเทพฯ ได้คัดเลือกอาจารย์จากประเทศอังกฤษ ซึ่งจะทำให้เด็กได้รับภาษาที่แท้จริง รวมถึงบรรยากาศของโรงเรียน ที่เหมือนกับเรียนที่ประเทศอังกฤษเลยค่ะ”