xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานปณิธานทูลกระหม่อมพ่อ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงตั้ง “สยาม กลิตเตอร์ 1957”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


>>นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เมื่อพ.ศ.2552 พระองค์ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประชาชนชาวไทยที่ยากไร้ ให้หายจากอาการเจ็บป่วย มีสุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จากวันนั้นจนวันนี้ พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆจำนวนมาก ให้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด อันนำมาซึ่งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ก่อนขยายเป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มุ่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือพสกนิกรทุกด้าน โดยไม่นานนี้ทรงเปิดศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่ศูนย์ราชการ เปิดรับรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์นทางการแพทย์ รวมถึงห้องปฏิบัติการเอ็ม อาร์ ไอ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้ครอบคลุม ในการบริการแบบโรงพยาบาลเอกชน

นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเงินสงเคราะห์แก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่ยากไร้ ทั้งค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการศึกษาของบุตรหลานผู้ป่วยผู้ยากไร้

ไม่เพียงทำให้พวกเขาเหล่านั้นหายจากอาการป่วย แต่ยังพระราชทานโอกาส และอนาคตทางการศึกษาของคนในครอบครัวให้เรียนจนจบ เป็นกำลังสำคัญแก่ครอบครัวต่อไป ให้คนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งการช่วยเหลือนั้น จำเป็นต้องใช้ทุนทรัพย์จำนวนไม่น้อย

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ จึงทรงมีพระดำริที่จะระดมทุนทรัพย์ด้วยวิธีต่างๆ หนึ่งในนั้นคือทรงใช้พระอัจฉริยภาพสร้างสรรค์งานศิลปะ ทรงออกแบบเครื่องประดับด้วยพระองค์เอง โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นแรงบันดาลพระทัย ดังความตอนหนึ่งในหนังสือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้าศิลปิน ทรงชุบชีวินปวงชน ว่า

“ตั้งแต่จำความได้ ก็เห็นแม่ของเราทรงเครื่องประดับที่สวยงาม จึงทำให้เราชอบและใฝ่ฝันที่จะมีร้านเครื่องประดับเป็นของเราเองตั้งแต่นั้นมา”

ช่วงแรกพระองค์ทรงริเริ่มโครงการการกุศลที่ใช้พระอัจริยภาพด้านการออกแบบของพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ อาทิ โครงการถักร้อย สร้อยรัก เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ เพื่อโรงพยาบาลจุฬาภรณ์, โครงการ ดร.น้ำจิตหารายได้เพื่อการกุศล สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ และทรงออกแบบเครื่องประดับช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ กับบริษัทเครื่องประดับ แอสปรี ของประเทศอังกฤษ ในคอลเลกชัน นิรันดร์รัก และ Circle of life ได้รับความสนใจจากนักสะสมอัญมณีไม่น้อย

เหล่านี้จึงเป็นที่มาให้พระองค์ทรงก่อตั้ง บริษัท สยามกลิตเตอร์ 1957 จำกัดขึ้น เพื่อจำหน่ายเครื่องประดับที่พระองค์ทรงออกแบบ ด้วยทรงอยากสืบสานความฝันในวัยเยาว์ และทรงอยากให้คนไทยได้ซื้อเครื่องประดับในราคาสมเหตุสมผล ภายใต้เครื่องหมายการค้า CM 1975 โดยทรงตั้งบริษัทขึ้นข้างพระตำหนักจักรีบงกช อ.เมือง จ.ปทุมธานี

เครื่องประดับทุกชิ้นนั้น พระองค์ล้วนมุ่งมั่นพระทัยที่จะแบ่งปันความสุขผ่านเส้นสายงานศิลปะ โดยช่างฝีมือที่ดีที่สุด ทรงพิถีพิถันในทุกรายละเอียดของชิ้นงาน ผสมผสานกับเทคนิคชั้นสูงในการทำงานแต่ละชิ้น ทำให้อัญมณีทุกชิ้นมีความวิจิตรสวยงามอย่างแท้จริง

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ไปทรงเปิดบริษัทด้วยพระองค์เอง พร้อมทอดพระเนตรการแสดงแฟชั่นโชว์คอลเลกชันเครื่องประดับ จากนางแบบแถวหน้าของไทย จากนั้นทรงเสด็จทอดพระเนตรการจัดแสดงสินค้าประเภทต่างๆภายในร้าน และพระราชทานสิ่งของแก่ผู้ร่วมงานที่ได้เลือกซื้อสินค้า

งานนี้เหล่าเซเลบริตีไทยร่วมงานคับคั่ง อาทิ นวลพรรณ ล่ำซำ, สุพรทิพย์ ช่วงรังษี, สุริยน ศรีอรทัยกุล, นภัสนันท์ พรรณนิภา, สุมิตรา กิจกำจาย, รศ.พญ.ยุวดี เลี่ยวไพรัตน์, ชนัดดา จิราธิวัฒน์ ,อภิชาต-ม.ล.พลอยนภัส ลีนุตพงษ์, นีรนาท เผ่าสวัสดิ์, สิริโสภา จุลเสวก, ฉัตรเบญจา นันทาภิวัฒน์, หลุยส์ เตชะอุบล, นลินี วรวงศ์วสุ, อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ , คุณหญิงจรัสศรี ทีปิรัช, ท่านผู้หญิงภรณี มหานนท์ และนารีลักษณ์ วิมุกตานนท์

จากนั้นทรงทอดพระเนตรการประมูลสิ่งของ 8 รายการ เพื่อนำรายได้สมทบทุนช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยยากไร้ ตลอดจนพระราชทานความช่วยเหลือแก่ครอบครัวของผู้ป่วยในพระอนุเคราะห์ ซึ่งได้รับรายได้สมทบทุนทั้งสิ้นจำนวน 6,474,442 บาท อาทิ

รศ.พญ. ยุวดี เลี่ยวไพรัตน์ ประมูลชุดสร้อยคอและต่างหูเพชรเป็นเงิน 2,555,555 บาท, สุมาลี ศรีสุภรวาณิชย์ ประมูลเข็มกลัดติดเสื้อ 3 ชิ้น มูลค่า 999,999 บาท, สุริยน ศรีอรทัยกุล ประมูลชุดต่างหูและเข็มกลัดติดเสื้อไปในราคา 888,888 บาท,จงกลณี เยี่ยมวัฒนา ประมูลชุดสร้อยคอทับทิมและเข็มกลัดติดเสื้อทับทิมไปในราคา 750,000 บาท และอุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ประมูลสร้อยคอมุกในราคา 300,000 บาท

สำหรับแรงบันดาลพระทัยในการก่อตั้งบริษัท สยามกลิตเตอร์ 1957 จำกัดนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ว่า สืบเนื่องจากบริษัท แอสปรี ของประเทศอังกฤษ เคยจ้างให้พระองค์เป็นดีไซเนอร์ออกแบบเครื่องประดับ ซึ่งขายดีมากแต่มีราคาสูง ทำให้ทรงคิดว่าเรื่องนี้คนไทยควรได้ซื้อของที่มีราคาสมเหตุสมผลและราคาจับต้องได้ จึงได้ทรงก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นเพื่อออกแบบสินค้าภายใต้แบรนด์ของพระองค์เอง

ที่มาของชื่อบริษัทนั้น ทรงเห็นว่า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาพระองค์โตในพระองค์ ทรงมีบริษัทรับออกแบบ ตกแต่งวัด เจดีย์ ชื่อสยาม รีโนเวท จึงได้ทรงพระราชทานชื่อบริษัทของพระองค์ เพื่อให้มีความคล้องจองกันกับบริษัทของพระธิดา ขณะที่ CM 1957 ที่เป็นเครื่องหมายทางการค้านี้ พระองค์ทรงมีรับสั่งว่ามาจากชื่อภาษาอังกฤษของพระองค์ Chulabhorn Mahidol ขณะที่ 1957 นั้นเป็นปีพระราชสมภพของพระองค์

ทรงออกแบบเครื่องประดับ ทั้งสร้อย แหวน กำไล เข็มกลัด เป็นลวดลายต่างๆ อาทิ ผีเสื้อหลากสี ดอกไม้ ม้า โดยมีชิ้นเด่นๆ อย่าง เข็มกลัดรูปดอกไม้และผีเสื้อ สร้อยคอมุกประดับเพชร ต่างหูรูปดอกรัก นอกจากนี้ ยังทรงออกแบบพวงกุญแจ และกระเป๋าหนังสำหรับสุภาพบุรุษและสตรี ผ้าพันคอ และน้ำหอมอีกด้วย โดยใช้ช่วงเวลากลางคืนในการออกแบบ เพราะเป็นเวลาที่เงียบและไอเดียจะมา ทรงออกแบบลวดลายต่างๆ ไว้จำนวนมาก แต่มีสัตว์ที่พระองค์ทรงชื่นชอบมากแต่ไม่ได้นำมาใช้คือเสือ ซึ่งได้ออกแบบไปแล้วมากกว่า 180 ตัว

นับได้ว่าทรงใช้พระอัจฉริยภาพในการออกแบบของพระองค์ สานต่อพระราชปณิธานของทูลกระหม่อมพ่อ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะแห่งหนใดในประเทศไทย อย่างแท้จริง






กำลังโหลดความคิดเห็น