xs
xsm
sm
md
lg

ทำไม? พระบรมราชสรีรางคาร ถึงบรรจุไว้ที่วัดราชบพิธฯ และวัดบวรฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


>>ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ริ้วขบวนที่ 6 จะเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มุ่งหน้าสู่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารไปยังบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ เพื่อบรรจุลงในถ้ำศิลา ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร

ตามราชประเพณีโบราณการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และการบรรจุพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารนั้น เริ่มครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งที่สมเด็จเจ้าฟ้าหญิง กรมพระเทพสุดาวดี (สา) ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี สิ้นพระชนม์ จึงทรงโปรดให้เริ่มมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ เก็บพระอัฐิและพระสรีรางคาร จนกลายเป็นพระราชประเพณีสืบต่อกันมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

“ตามราชประเพณีโบราณนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ในวันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จมาทรงเก็บพระอัฐิลงพระโกศด้วยพระองค์เอง โดยจะทรงเก็บพระอัฐิอย่างละชิ้นจนครบพระสรีระ สำหรับพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์นั้น ตามราชประเพณีจะอัญเชิญพระโกศไปประดิษฐาน 2 แห่งคือ พระโกศที่หนึ่งประดิษฐานที่ “หอเก็บพระอัฐิ” ซึ่งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และพระโกศที่สองอัญเชิญไปประดิษฐานยัง “วัดประจำพระองค์” ที่ทรงสร้าง หรือบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่

ส่วนพระอัฐิที่เหลือก็จะให้พระราชโอรส พระราชธิดา และพระประยูรญาติที่ใกล้ชิดเก็บไว้บูชา จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะทำการแปรสภาพพระอัฐิให้เป็นพระบรมราชสรีรางคาร และพระสรีรางคาร เพื่อนำไปบรรจุไว้ยังวัดประจำพระองค์ เหมือนดังในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ จะได้ร่วมกันส่งเสด็จพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย จากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปบรรจุไว้ในถ้ำศิลาใต้ฐานพระประธานอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร”

วัดราชบพิธ อนุสรณ์สถานคำนึงถึง พระบรมราชบุพการี

นอกเหนือจากความงดงามของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่มีลักษณะผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตกแล้ว วัดราชบพิธฯ แห่งนี้ก็ยังเป็น สุสานหลวง ที่มีอนุสรณ์สถาน อนุเสาวรีย์ ที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร พระราชสรีรางคาร ของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกด้วย

ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระบรมราชสรีรางคารของ ในหลวง ร.๙ ก็จะอัญเชิญโดยริ้วขบวนกองทหารม้าเกียรติยศ เพื่อนำพระผอบพระบรมราชสรีรางคาร มาบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส ซึ่งเป็นพระประธานโบถส์ของวัด

เหตุผลที่อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาบรรจุไว้ที่วัดแห่งนี้นั้น ก็เพราะส่วนหนึ่งของวัดแห่งนี้ มีอนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” อันตั้งโดดเด่นเป็นสง่าอยู่ในสุสานหลวง โดยภายในอนุสรณ์สถานแห่งนี้ เป็นที่บรรจุพระราชสรีรางคารของพระราชบุพการีของในหลวง ร.๙ แทบทั้งสิ้น อันประกอบด้วย พระราชสรีรางคารของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้า, เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ พิมลรัตนวดี, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (ยังไม่มีพระนาม) พระราชธิดาองค์ที่ 88 และพระราชสรีรางคารแห่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชสรีรางคารของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

แต่ด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระบรมราชสรีรางคาร จึงไม่ได้บรรจุไว้ในสุสานหลวง หากแต่ได้รับการบรรจุไว้ยังถ้ำศิลาใต้ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส อันเป็นพระประธานประจำโบถส์ วัดราชบพิตรฯ ซึ่งใต้ฐานพุทธบัลลังก์ ยังได้บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสรีรางคารของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๗

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร อนุสรณ์แห่งธรรมของพระราชาผู้ทรงธรรม

อีกหนึ่งวัดที่ริ้วขบวนทหารม้ากองเกียรติยศจะยาตราขบวน เพื่ออัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานพระประธานของโบถส์ ก็คือวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร อันเป็นวัดที่ถือได้ว่า ในหลวง ร.๙ ทรงมีความผูกพันกับวัดนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งก่อนทรงพระผนวช โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดบวรนิเวศฯ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2481 พร้อมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อครั้งเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรก

กระทั่ง ทรงพระผนวชในปี พ.ศ. 2499 จึงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่พระตำหนักปั้นหยาซึ่งเดิมเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระผนวช ต่อมาจึงเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระผนวช และเสด็จพระราชดำเนินมาประทับในวัดบวรนิเวศฯ โดยก่อนทรงพระผนวชได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดในขณะนั้น เพื่อทรงสดับพระธรรมด้วยความสนพระราชหฤทัยอยู่เสมอ

อีกหนึ่งความผูกพันที่ในหลวง ร.๙ ทรงมีต่อวัดบวรนิเวศฯ คือทุกวันเข้าพรรษาของทุกปี ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะเสด็จพระราชดำเนินมาถวายพุ่มเทียนเข้าพรรษา และถวายผ้าพระกฐินเป็นวัดแรก และตลอดพระชนม์ชีพก็ทรงทำนุบำรุงวัด ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญ และสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องในพระองค์ กลายเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงในปัจจุบัน อีกทั้งเมื่อทรงริเริ่มโครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา ทรงนำกังหันมาทดลองที่คลองเต่าภายในวัดบวรนิเวศฯ เป็นที่แรกๆ เนื่องด้วยทอดพระเนตรเห็นน้ำในคลองที่ไหลเวียนไม่ดีนัก คลองเต่าในปัจจุบันจึงมีเต่า มีปลาอาศัยอย่างร่มเย็น

อีกทั้งในเวลาที่ทรงว่างจากพระราชกรณียกิจ มักจะทรงขับรถยนต์พระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และทรงพระดำเนินมาที่ตำหนักคอยท่าปราโมช หรือหากเสด็จแปรพระราชฐานประทับแรมต่างจังหวัด จะทรงอาราธนาเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ให้เสด็จไปด้วยเสมอ

ดังนั้น ในวันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระบรมราชสรีรางคาร ของในหลวง ร.๙ จะได้อัญเชิญบรรจุลงในถ้ำศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ อันเป็นพระประธานองค์หนึ่งของวัด และใต้ฐานบัลลังก์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ อีกด้วย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสร้างราชธานีขึ้นใหม่เป็นกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองก็มีความสงบพอสมควรแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมชนกาธิบดี ตามแบบอย่างของการถวายพระเพลิงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงศรีอยุธยา (เป็นการถวายพระเพลิง ณ ท้องสนามหลวง ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์)

หลังจากทรงถวายพระเพลิงแล้ว ทรงพระราชปรารภว่า “พระบรมอัฐิ” นั้นถ้าอัญเชิญไปบรรจุท้ายจรนำในพระอุโบสถ หรือที่พระเจดีย์ในพระอารามหลวงในพระราชวัง เหมือนธรรมเนียมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา แม้จะเป็นพระเกียรติยศและเปิดโอกาสให้ปวงชนได้สักการะบูชาก็จริงอยู่ แต่กรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนั้นเพิ่งจะสถาปนาใหม่ ยังไม่มั่นคงแข็งแรงนัก หากมีข้าศึกศัตรูรุกรานจนไม่สามารถรักษาพระนครไว้ได้ การอพยพหลบหนีไปไม่ว่าจะเป็นเวลานานหรือชั่วคราว ก็จะต้องทิ้งกระดูกพระบรมราชบุพการีไว้ให้ถูกเหยียบย่ำทำลาย

ฉะนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิไว้ที่พระราชมณเฑียรที่ประดับ เพื่อที่จะได้หยิบฉวยติดพระองค์ได้ง่าย และทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสำหรับประดิษฐานพระบรมอัฐิคือ “หอพระธาตุมณเฑียร” ในพระบรมมหาราชวัง จากการที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอพระธาตุมณเฑียรไว้นั้น พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มาจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบูรพการีประดิษฐานไว้ ณ หอพระบรมอัฐิ บนพระราชมณเฑียรสืบต่อกันมาเป็นราชประเพณี

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท” เพื่อทรงรำลึกถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระบรมราชชนนี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) และสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ จากหอพระธาตุมณเฑียรขึ้นประดิษฐานในพระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงเป็นธรรมเนียมที่โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท สืบต่อกันมาทุกรัชกาล จนมาถึงรัชกาลที่ ๙ พระบรมอัฐิของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็จะอัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานในพระวิมาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เช่นเดียวกัน

การเก็บรักษาพระอัฐิในพระราชวงศ์จักรี หลังจากที่ได้มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระราชทานเพลิงพระศพแล้วนั้น จะต้องดูว่าพระองค์นั้นทรงมีพระอิสริยยศในชั้นใดแล้ว จึงนำไปประดิษฐานในสถานที่นั้นๆ ตามพระเกียรติ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังต่อไปนี้

หอประดิษฐานพระบรมอัฐิ ตั้งอยู่ข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฯ ในพระบรมมหาราชวัง จะมีพระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี 3 พระองค์ รวมไปถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย ได้แก่

-พระวิมานกลาง จะเป็นพระบรมอัฐิ รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ รวมไปถึง พระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกผู้เป็นพระราชบิดาในรัชกาลที่ ๑ อีกด้วย

-ทางพระวิมานด้านขวา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนนีพระราชชนนี ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๑ และ สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒

-ทางพระวิมานด้านซ้าย เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าแก้ว กรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสา กรมพระยาเทพสุดาวดี และสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระราชชนนี ในรัชกาลที่ ๓

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

-พระวิมานทองกลาง พระที่นั่งองค์กลางชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นที่ประดิษฐานของพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๘ รวมไปถึงสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๗ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระบรมราชวงศ์จักรีชั้นสูงอีกหลายพระองค์ด้วยกัน รวมทั้งพระบรมอัฐิของในหลวง ร.๙ ด้วย

-ทางด้านชั้นบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทองค์ตะวันตก เป็นสถานที่ประดิษฐานของพระมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่

สำหรับวัดที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร ของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีนั้นส่วนใหญ่จะประดิษฐานไว้ที่วัดประจำรัชกาล หรือวัดที่ทรงมีคุณูปการต่อวัดนั้นๆ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

รัชกาลที่ ๑ ประดิษฐาน ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
รัชกาลที่ ๒ ประดิษฐาน วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือวัดแจ้ง วัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ ๓ ประดิษฐาน วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ ๔ ประดิษฐาน วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ ๕ ประดิษฐาน วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ ๖ ประดิษฐานไว้ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ที่วัดพระปฐมเจดีย์
รัชกาลที่ ๗ ประดิษฐานไว้ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
รัชกาลที่ ๘ ประดิษฐาน วัดสุทัศน์เทพวรารามราชวรวิหาร
รัชกาลที่ ๙ ประดิษฐาน วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น